เมื่อลูกมีอาการไอ ทารกไอ ลูกไอแห้ง ๆ ลูกไอตอนกลางคืน ลูกเป็นอะไร ป่วยหรือไม่ อันตรายหรือเปล่า บทความนี้จะพาไปดู วิธีสังเกตอาการไอของลูก แบบไหนที่ควรระวัง แบบไหนที่ต้องพาไปหาหมอด่วน
ลักษณะอาการไอของทารกที่คุณแม่ควรรู้
ทารกที่มีอาการไอเหมือนมีเสียงหวีด เสียงวี้ด อาจเกิดจากการอักเสบของปอด หรือ ทางเดินหายใจตีบ ทำให้ลูกน้อยมีอาการไอแบบมีเสียงหวีด ซึ่งอาการพบได้บ่อยในเด็ก ๆ ที่เป็นโรคหอบหืด และโรคหลอดลมอักเสบ หรือ อาจเกิดจากการที่มีสิ่งแปลกปลอม เข้าไปอุดตันบริเวณทางเดินหายใจ ดังนั้นหากคุณแม่เห็นว่าลูกมีอาการไอแบบมีเสียงวี้ด ควรรีบพาลูกน้อยไปพบแพทย์ทันที
อาการไอแบบมีเสียงก้องในทารก อาจเกิดจากการบวมของทางเดินหายใจ ซึ่งอาจเกิดจากโรคครูป หรือ เกิดจากกล่องเสียงอักเสบ เนื่องจากทางเดินหายใจของลูกน้อย มีขนาดเล็ก เมื่อมีอาการบวมจึงอาจทำให้เด็กหายใจลำบาก โดยเฉพาะลูกน้อยที่มีอายุต่ำกว่า 3 ปี มีโอกาสที่จะเป็นโรคครูปสูง
ไอเรื้อรัง อาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่เป็นไข้หวัดบ่อย และโรคที่อาจทำให้เกิดอาการไอเรื้อรัง ได้แก่ โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ และโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโพรงจมูก และทางเดินหายใจ หากลูกน้อยมีอาการไอเรื้อรัง ติดต่อกันนานกว่า 3 สัปดาห์ คุณแม่ควรพาไปพบแพทย์ทันที
อาการไอตอนกลางคืน อาจมีความรุนแรงมากกว่าปกติ โดยเฉพาะลูกน้อยที่กำลังเป็นไข้หวัด เพราะน้ำมูก และเสมหะ อาจไหลลงช่องคอ ทำให้เกิดอาการไอในขณะที่นอนหลับได้ ซึ่งโรคหอบหืด อาจเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการไอตอนกลางคืน เนื่องจากทางเดินหายใจมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นในตอนกลางคืน มากกว่าตอนกลางวัน อีกทั้งอาจได้รับตัวแปรมากระตุ้น ดังนี้
อากาศเย็น อากาศในช่วงกลางคืนจะมีความเย็นมากกว่ากลางวัน ซึ่งอากาศเย็นจะทำให้หลอดลมตีบตัว ส่งผลให้มีอาการไอได้
อากาศแห้ง อาจทำให้ลูกน้อยมีอาการไอมากขึ้นได้ เนื่องจากความชื้นน้อย เมื่อลูกหายใจก็อาจทำให้เกิดการระคายเคืองบริเวณเยื่อบุจมูกได้
ฝุ่น ฝุ่นในห้องนอน โดยเฉพาะหมอน ปลอกหมอน ผ้าห่ม อาจทำให้ลูกน้อยเกิดอาการไอได้ เพราะฝุ่นต่าง ๆ เหล่านั้น กระตุ้นให้เกิดอาการไอมากขึ้น
อาการไอกรน อาจเกิดจากการติดเชื้อเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ซึ่งจะสังเกตได้หากลูกมีอาการไอติดต่อกัน โดยที่ไม่ได้หายใจเป็นพัก ๆ และเมื่อหายใจเข้าอาจทำให้มีเสียงวู้ปได้ และอาจมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น น้ำมูกไหล มีไข้ หรือจาม ร่วมด้วย
ทารกที่มีอายุตำกว่า 1 ปี หากไม่ได้รับการฉีดวัคซีน อาจทำให้เกิดอาการที่รุนแรงได้ เพราะโรคนี้สามารถแพร่กระจายและเกิดการติดต่อกันได้ง่าย ดังนั้นคุณแม่ก็ควรให้ลูกได้รับวัคซีนตามที่กำหนด
ทารกไอ เด็กไอ เกิดจากอะไร?
อาการไอของเด็ก อาจเป็นสัญญาณที่ร่างกายต้องการกำจัดสิ่งแปลกปลอม ที่เข้ามากีดขวางระบบทางเดินหายใจ เช่น น้ำมูก เสมหะ หรือ สิ่งแปลกปลอมอื่น ๆ โดยสาเหตุที่ทำให้ทารกเกิดอาการไอ อาจมีได้ ดังนี้
1. การติดเชื้อ
อาการไอในทารก อาการไอในเด็ก อาจเกิดจากการเป็นหวัด มีไข้ หรือ ป่วยด้วยโรคใดโรคหนึ่ง ซึ่งหากเป็นหวัด เด็กอาจมีอาการไอที่ไม่รุนแรงมาก แต่หากมีไข้ร่วมด้วย ก็อาจทำให้เกิดอาการไออย่างรุนแรงได้
2. มีสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ระบบหายใจ
เมื่อทารกไอ อาจเกิดจากการสูดหายใจ เอาสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในร่างกาย เช่น อาหาร ของเล่น หรือ สารเคมีที่อาจทำให้เกิดการระคายเคือง อย่างควันบุหรี่ ควันไฟ เป็นต้น ซึ่งสิ่งกระตุ้นเหล่านี้ อาจทำให้ทารกเกิดอาการไอได้
3. อาการเจ็บป่วย
อาการเจ็บป่วย หรือ โรคประจำตัวต่าง ๆ ของทารก อาจเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นให้ทารกเกิดอาการได้ โดยอาจมีสาเหตุมาจากโรคต่าง ๆ ดังนี้
- โรคหอบหืด มักทำให้ทารกเกิดอาการไอแบบมีเสียงวี้ด ซึ่งอาการมักทวีความรุนแรงในเวลากลางคืน และอาการอาจกำเริบได้ ในทุกครั้งที่ต้องมีการขยับร่างกาย อาการเหล่านี้อาจหายไป หากได้รับยาขยายหลอดลม
- โรคภูมิแพ้ และ ไซนัสอักเสบ โรคนี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ทารกเกิดอาการไอเรื้อรังได้ และยังทำให้คออักเสบ ระคายเคือง มีน้ำมูก มีเสมหะ เกิดอาการแพ้ คันตา คันจมูก เจ็บคอ หรือ มีผื่นแพ้ขึ้นตามผิวหนังด้วย
- โรคไอกรน ทารกที่เป็นโรคไอกรน อาจทำให้เกิดอาการไอเป็นพัก ๆ แต่เมื่ออาการไอจบแล้ว อาจมีเสียงหายใจเข้าดังวู้ป ซึ่งอาจมีอาการอื่น ๆ เช่น น้ำมูกไหล จาม หรือ มีไข้ ร่วมด้วย
- โรคกรดไหลย้อน ทารกทีเป็นโรคกรดไหลย้อน อาจทำให้มีอาการไอ อาเจียนบ่อย น้ำลายขม และรู้สึกแสบร้อนกลางอก
อาการไอของลูกน้อย อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคต่าง ๆ หรือ เป็นสัญญาณว่าลูกน้อยอยู่ในภาวะที่ไม่สบายตัว ไม่ว่าจะด้วยสิ่งต่าง ๆ รอบตัว หรือสิ่งกระตุ้นที่ทำให้ลูกน้อยเกิดอาการไอได้ คุณแม่ ๆ ควรสังเกตอาการของลูกน้อยอย่างใกล้ชิด เพราะเพียงสัญญาณเตือนบางอย่าง ก็อาจทำให้เกิดอันตรายต่อลูกได้
ที่มาข้อมูล 1 , mamypoko
บทความที่น่าสนใจ
โรคไอกรน ในเด็กเล็ก ป้องกันได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์
ลูกเป็นหวัด มีน้ำมูก มีไข้ ทำอย่างไรทารกแรกเกิดจะหายหวัด?
เศร้า! แม่แชร์คลิปทารกไอหนัก ป่วยโรคไอกรนจนเสียชีวิต
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!