ทารกนอน อย่าทำแบบนี้! 5 สิ่งที่ห้ามทำเกี่ยวกับการนอนของทารก เพราะการนอนสำคัญอย่างยิ่งต่อพัฒนาการของเด็ก มีอะไรบ้างที่พ่อแม่ไม่ควรทำ เพราะอาจเป็นการรบกวนขณะลูกนอนหลับ ลูกวัยทารกก็ต้องการความเงียบ และความสงบในการนอน ตอนที่ลูกเริ่มนอนก็เช่นกัน หากลูกน้อยไม่ยอมหลับเสียที พ่อแม่อาจจะยังไม่รู้วิธี ลองเข้ามาดูข้อมูลกันค่ะ
5 เรื่องที่รบกวนการนอนของลูก ระวัง!
1. อย่านับการนอนหลับสั้น ๆ ว่าเป็นการนอน
สำหรับเด็กทารกนั้น การนอนหลับอย่างที่เต็มที่คือ การนอนที่นานกว่า 45 นาที การนอนสั้น ๆ ที่กินเวลาไม่ถึง 45 นาทีนั้นไม่ใช่การนอนหลับอย่างเต็มที่
Elizabeth Pantley คุณแม่ลูกสี่ผู้เขียนหนังสือชื่อ The No-Cry Nap Solution ได้ให้คำแนะนำว่า “การนอนหลับสั้น ๆ ของทารกอาจทำให้คุณเข้าใจผิดได้ว่าลูกนอนหลับเพียงพอแล้วในแต่ละวัน แต่ความจริงแล้ว การนอนแบบสั้น ๆ หรือการนอนในระยะเวลาไม่นานนั้น เป็นสาเหตุทำให้ทารกหงุดหงิด และร้องไห้บ่อย ๆ เพราะทารกจะไม่ได้รับประโยชน์ และไม่ได้รับพลังงานเท่ากับการนอนหลับนาน ๆ ”
- ทารกแรกเกิดจะนอนเป็นเวลานาน
แม้จะไม่มีตัวเลขตายตัวที่จะบอกว่า ทารกควรนอนวันละกี่ชั่วโมง แต่ตารางการนอนสำหรับเด็กแต่ละวัย ก็ให้ตัวเลขเฉลี่ยคร่าว ๆ ได้ว่า เด็กทารกแต่ละช่วงอายุ มีชั่วโมงการนอนเฉลี่ยมากน้อยขนาดไหน ดังนี้
- เด็กแรกเกิดจะนอนประมาณวันละ 15 ชั่วโมง ซึ่งรวมทั้งเวลานอนปกติตอนกลางคืน และเวลานอนระหว่างวัน
- เด็กอายุ 3 เดือนจะเริ่มนอนมากขึ้นในช่วงกลางคืน และนอนน้อยลงในช่วงกลางวัน แต่รวมเวลาการนอนทั้งหมด ก็จะกินเวลาประมาณ 15 ชั่วโมงต่อวันเช่นเดียวกัน
- เมื่ออายุถึง 6 เดือน เด็กจะนอนตอนกลางคืน ประมาณ 11 ชั่วโมง และจะนอนกลางวัน วันละ 2 รอบเท่านั้น
- เมื่ออายุ 9 เดือน เด็กจะนอนตอนกลางคืน ประมาณ 11 – 12 ชั่วโมง และจะนอนกลางวัน 2 รอบ รอบละประมาณ 2 – 3 ชั่วโมง
บทความที่น่าสนใจ : สปาทารก ช่วยให้ลูกน้อยผ่อนคลายจริงหรือ สปาทารกมีข้อดีข้อเสียอย่างไร ?
2. อย่าเพิ่งรีบเข้าไปหาทันที เมื่อลูกตื่น
ในช่วงเวลานอนหลับ ทารกอาจจะมีอาการหลับ ๆ ตื่น ๆ บ้าง การรีบเข้าไปหาทันทีเมื่อลูกลืมตา หรือส่งเสียงร้อง อาจเป็นการรบกวน หรือทำให้ลูกตื่นจากการนอนหลับทันที แทนที่จะได้นอนต่อนาน ๆ ลูกวัยทารกก็ต้องการความเงียบ และความสงบในการนอน ตอนที่ลูกเริ่มนอนก็เช่นกัน หากลูกน้อยไม่ยอมหลับเสียที พ่อแม่อาจปล่อยลูกไว้ในเปลคนเดียวประมาณ 30 นาที เพื่อให้บรรยากาศสงบ ลูกจะนอนหลับได้ง่ายขึ้น
3. อย่าปลุกลูก หากลูกหลับนาน
พ่อแม่หลายคนมักกังวลว่า ถ้าลูกนอนตอนกลางวันนาน ๆ จะทำให้ลูกหลับได้ยากในเวลากลางคืน แต่สำหรับเด็กวัย 4 เดือนขึ้นไปนั้น อย่าปลุกลูกจะดีกว่า เว้นแต่ว่าจำเป็นจริง ๆ
Dr. Jennifer Shu กุมารแพทย์ และผู้ร่วมเขียนหนังสือ Heading Home with Your Newborn ได้แนะนำว่า พยายามอย่าปลุกทารกที่กำลังหลับอยู่ เพราะแม้ว่าเด็ก ๆ หลายคนจะหลับนานในช่วงกลางวัน แต่พวกเขาก็สามารถหลับต่อในช่วงกลางคืนได้เช่นเดียวกัน การปลุกลูกจากการนอนหลับ ยังทำให้ลูกนอนไม่อิ่ม และไม่ได้รับประโยชน์เพียงพอจากการนอนหลับ
4. อย่าเมินเฉยต่ออาการง่วง
Dr. Marc Weissbluth ผู้เขียนหนังสือ Healthy Sleep Habits, Happy Child ได้ให้คำแนะนำว่า พ่อแม่ไม่ควรเมินเฉยต่ออาการแปลก ๆ ของลูกเพราะนั่นอาจหมายถึงความง่วงได้ ไม่เพียงแต่การหาวเท่านั้น แต่ยังมีพฤติกรรมหลาย ๆ อย่างของทารกที่บ่งบอกว่าลูกง่วง และต้องการจะพักผ่อนแล้ว เช่น เปลือกตาตก ตาลอย หงุดหงิด ร้องไห้ หากลูกมีอาการเหล่านี้ คุณพ่อคุณแม่ก็ควรกล่อมลูกนอนทันที เพราะหากลูกไม่ได้นอน อาจทำให้เด็กเข้าสู่ภาวะเหนื่อยมากเกินไป (overtired zone) และจะยิ่งงอแงเข้าไปอีก
5. อย่าใช้ผ้าห่ม เครื่องนอนที่ใหญ่เกินไป
สมาคมกุมารเวชศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ได้ให้คำแนะนำว่า พ่อแม่ไม่ควรซื้อ หมอน ผ้าห่ม ผ้านวมคลุมเตียง ผ้ารองผ้าห่ม ผ้านวมบุรอบเตียงมาวางไว้ใกล้บริเวณที่ทารกนอนหลับ เพราะเครื่องนอนที่เยอะเกินไป อาจเป็นอันตรายต่อทารกได้ เนื่องจากที่นอน หมอน ผ้าห่มเหล่านี้ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ทารกหายใจไม่ออก และเสียชีวิตกะทันหัน หรือที่เรียกว่า อาการหลับไม่ตื่นในเด็กทารก (Sudden Infant Death Syndrome หรือ SIDs) ซึ่งเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากการขาดอากาศหายใจ เนื่องจากลูกเอาหน้าเข้าไปซุก จนถูกปกคลุม หรือกดทับด้วยเครื่องนอนเหล่านี้
พ่อแม่พึงระวัง การป้องกันลูกน้อยจาก SIDS
SIDS (Sudden Infant Death Syndrome) หรืออาการหลับไม่ตื่นในเด็กทารก ประเทศไทยเรียกว่า โรคใหลตายในทารก มักเกิดขึ้นในเด็กอายุระหว่าง 2 – 4 เดือน นี่คือ 5 สิ่งที่พ่อแม่ควรระวัง เพื่อป้องกันลูกน้อยจาก SIDS
- ควรให้เด็กนอนในท่านอนหงาย เพราะเด็กจะสามารถหายใจเอาอากาศที่มีปริมาณออกซิเจนเข้าไปได้มากกว่าเด็กที่นอนคว่ำ อยู่ให้ห่างจากควัน และกลิ่นบุหรี่
- ต้องแน่ใจว่าเด็กได้นอนบนที่นอนที่แข็งพอ พ่อแม่ไม่ควรนอนเตียงเดียวกับลูก เพราะมีความเสี่ยงที่จะถูกทับ และเป็นอันตรายได้
- อย่าให้ลูกนอนบนที่นอนที่อ่อนยวบ ย้ายตุ๊กตา และผ้าห่มที่ใหญ่ หรือหนาเกินไปออกจากเตียงของลูก ควรใช้ผ้าห่มที่ลูกสามารถหายใจได้สะดวก เพื่อป้องกันผ้าห่มคลุมหน้าขณะหลับ หากต้องการใช้แผ่นกันชนรอบเตียง ควรใช้ผ้าที่ทอเหมือนผ้าตาข่าย และต้องแน่ใจว่าแผ่นกันชนเตียง ได้ติดตั้งเข้ากับลูกกรงเตียงในลักษณะสอดเข้า และออกสลับกัน เพื่อความมั่นคง ป้องกันการหลุดลงมาคลุมศีรษะ และอุบัติเหตุอื่น ๆ
- ห้องนอนลูกควรมีอุณหภูมิที่เย็นสบาย ไม่ร้อน หรืออบอ้าวจนเกินไป อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับทารกคือ 25 – 26 องศาเซลเซียส อาจให้ทารกดูดจุกนมปลอม เพื่อให้เด็กหลับสบายขึ้นได้
- นมแม่สามารถลดความเสี่ยงของ SIDS ได้ นมแม่เป็นจุดเริ่มต้นของการมีสุขภาพดีของลูกน้อยในหลาย ๆ ด้าน เพราะฉะนั้นแม้ไม่ได้รับการพิสูจน์ ก็ไม่มีอะไรเสียหายที่จะให้ลูกดื่มนมจากเต้า
เมื่อไหร่ที่พ่อแม่จะนอนเตียงเดียวกับลูกได้อย่างปลอดภัย
คุณพ่อคุณแม่อาจจะเป็นกังวลเกี่ยวกับ SIDS (Sudden Infant Death Syndrome) หรืออาการหลับไม่ตื่นในเด็กทารก และมีข้อสงสัยว่าการนอนเตียงเดียวกันกับลูก จะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ขนาด จริงหรือ ? เหตุผลหลัก ๆ ที่พ่อแม่ไม่ควรนอนเตียงเดียวกับลูกทารก เพราะลูกน้อยในวัยนี้ยังไม่สามารถขยับตัวเอง หรือส่งเสียงร้องออกมา เมื่อหายใจไม่ได้ออก หรือถูกกดทับจากการพลิกตัวของพ่อแม่ได้ ความอันตรายถึงชีวิตจึงเกิดขึ้น
เมื่อลูกโตขึ้นจนสามารถที่จะพลิกตัว เคลื่อนที่ หรือเอาตัวเองหลบหนี และเป็นอิสระจากการกดทับ หรือกักขังได้แล้ว จึงอยู่ในระยะที่ปลอดภัย ซึ่งจะเป็นช่วงอายุ 1 ขวบปี หรือมากกว่านั้น ยิ่งลูกโตขึ้นมากเท่าไหร่ การนอนเตียงเดียวกับลูก ก็จะมีความเสี่ยงที่น้อยลง
อีกหนึ่งข้อควรระวังคือ พ่อแม่ไม่ควรนอนเตียงเดียวกับลูก หากอยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ เช่น ดื่มแอลกอฮอล์ หรือมีอาการมึนเมา เพราะอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุขณะลูกนอนหลับได้เช่นเดียวกัน
บทความที่น่าสนใจ :
ทารกเหงื่อออกเยอะเป็นอันตรายหรือเปล่า?
ลูกติดอุ้มนอน หลับยาก วางไม่ได้เลย คุณแม่ไม่ไหวแล้วค่ะ ทำไงดี
15 ประโยคปลอบลูกให้หยุดร้อง ที่ดีกว่าขู่ว่า อย่าร้องไห้ !!
ที่มา : healthline
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!