5 อาการแทรกซ้อนแบบนี้ไม่ดีแน่แม่ท้องต้องระวัง
1. ท้องนอกมดลูก
การตั้งครรภ์นอกมดลูก เกิดขึ้นประมาณร้อยละ 1-2 ของการตั้งครรภ์เกิดขึ้นเมื่อไข่ได้รับการผสมแล้วฝังตัวอยู่ในมดลูก และเมื่อฝังตัวแล้ว จะมีการเจริญเติบโตของทารก แต่เนื่องจากตำแหน่งอวัยวะที่ฝังตัวไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต คือ ไปฝังที่ท่อรังไข่ ไม่ใช่ฝังที่ผนังโพรงมดลูก ทำให้มักจะแตกในเวลาต่อมาได้ เพราะผนังของท่อรังไข่บาง ไม่เหมือนผนังโพรงมดลูกซึ่งหนามาก เมื่อมีการลอกหลุดของการตั้งครรภ์หรือการแตกของผนังท่อรังไข่ อาจจะทำให้เลือดออกในช่องท้องปริมาณมาก
อาการ
1. อาการเจ็บที่ท้องหรือท้องน้อย ซึ่งมักพบในผู้ป่วยเกือบทุกคน ลักษณะของการปวดมักเป็นลักษณะบีบรัดเป็นช่วง ๆ อาจจะเป็นข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง อาจหายไปหรือปวดอยู่ตลอดเวลา
2. บางคนมีเลือดออกในช่องท้องจำนวนมากอาจมีการระคายเคืองต่อกระบังลม ทำให้มีการปวดร้าวไปที่หัวไหล่ได้
3. ผู้ที่มาพบคุณหมอมักจะมีอาการหน้ามืดคล้ายจะเป็นลม ซึ่งในระยะนี้มีการแตกของท่อนำไข่แล้ว
การรักษา
1. การใช้ยาสิ่งสำคัญต้องรู้ว่าการท้องนอกมดลูกไม่อาจจะทำให้ตัวอ่อนเติบโตต่อไป และไม่สามารถย้ายตัวอ่อนไปฝังตัวใหม่ให้ถูกที่ถูกทางในโพรงมดลูกได้ ดังนั้น ถึงแม้จะพบได้เร็วตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ก็จำเป็นต้องสละตัวอ่อนทิ้งเพียงอย่างเดียว โดยทางเลือกที่จะใช้ยา methotrexate แทนการผ่าตัดยังคงทำได้ ทำให้มันฝ่อลง พอจะช่วยรักษาสภาพของท่อนำไข่ไว้เพื่อการตั้งครรภ์ครั้งหน้าได้
2. การผ่าตัด ท้องนอกมดลูกที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่จำเป็นต้องทำการผ่าตัดรักษา แต่การจะตัดมากน้อยแค่ไหน เก็บซ่อมแซมท่อนำไข่และรังไข่ได้ดีขนาดไหน ก็ขึ้นกับสภาพความเสียหายที่มันเกาะหรือการแตกของท่อนำไข่นั้น
– ถ้ารังไข่หรือท่อนำไข่ที่แตกมีความเสียหายมาก ก็มักจะตัดท่อนำไข่ออกไปพร้อมๆ กับตัวอ่อนเลย
– ถ้าสภาพท่อนำไข่ยังดีอยู่ไม่แตกออก การพยายามรีดเอาตัวอ่อนออกมาโดยเก็บท่อนำไข่ไว้ก็อาจทำได้
2. โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ สามารถพบได้ ร้อยละ 5 ของหญิงตั้งครรภ์ ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดภาวะดังกล่าว ได้แก่ ญาติพี่น้องมีประวัติเป็นเบาหวาน, อายุ 30 ปีขึ้นไป, เคยคลอดบุตรที่มีน้ำหนักแรกเกิดตั้งแต่ 4 กิโลกรัมขึ้นไป, เคยคลอดบุตรที่มีความพิการแต่กำเนิดโดยไม่ทราบสาเหตุ, เคยมีประวัติทารกเสียชีวิตในครรภ์ โดยไม่ทราบสาเหตุ, เคยมีภาวะเบาหวานแทรกซ้อนในการตั้งครรภ์ครั้งก่อน, อ้วน, มีภาวะความดันโลหิตสูง เป็นต้น
ผลเสียต่อคุณแม่ที่เพิ่มขึ้นมา คือ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดครรภ์เป็นพิษ หรือความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ได้ นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะได้ง่ายขึ้น เป็นต้น
ผลเสียต่อทารกในครรภ์ โอกาสที่จะแท้งมีความเสี่ยงสูงขึ้น และอาจเพิ่มโอกาสที่ทารกจะเสียชีวิตในครรภ์ได้ นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่จะเกิดความพิการแต่กำเนิดสูงขึ้น รวมถึงทารกอาจมีน้ำหนักตัวมากทำให้คลอดลำบาก
การรักษา
1. ปรึกษาโภชนากรเพื่อควบคุมอาหารให้มีสารอาหารเพียงพอสำหรับเด็กและมารดา และไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง
2. ยาลดน้ำตาลสำหรับผู้ป่วยเบาหวานขณะตั้งครรภ์ แนะนำให้ใช้เป็นยาอินซูลินเนื่องจากปลอดภัย และควบคุมน้ำตาลได้ดีกว่ายากิน
3. การออกกำลังกายสำหรับแม่ตั้งครรภ์ที่เป็นเบาหวานมีความสำคัญ เพราะช่วยละภาวะดื้อยาอินซูลินที่ที่มีผลในการรักษาระดับน้ำตาล ตามปกติแล้วการออกกำลังกายถ้าไม่มีข้อห้ามจากคุณหมอ เช่นความดันโลหิตสูงหรือทารกในครรภ์มีความเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดหรือแท้งบุตร สามารถออกกำลังกายที่เหมาะสมกับคนท้องได้ เช่น การเดิน ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน เต้นรำ โยคะ โดยออกกำลังกายวันละประมาณ 30 นาที แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคำแนะนำคุณหมอที่ดูแลด้วย
บทความแนะนำ ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์
3. การแท้ง
เราเรียกทารกที่เสียชีวิตในครรภ์ก่อนมีอายุได้ 20 สัปดาห์ว่า “การแท้ง” และเรียกการเสียชีวิตของทารกในครรภ์ที่อายุเกินกว่า 20 สัปดาห์ว่า “ทารกเสียชีวิตในครรภ์” ส่วนใหญ่แล้วการแท้งทักเกิดขึ้นใน 12 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ สาเหตุของการแท้งมีได้หลายสาเหตุ แต่สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือ เกิดความผิดปกติของโครโมโซม ซึ่งอาจจะเกิดความผิดปกติที่ไข่ หรือตัวเชื้ออสุจิ หรือช่วงที่ตัวอ่อนแบ่งตัว
นอกจากนี้ ปัญหาเกี่ยวกับฮอร์โมน พบว่า แม่ที่มีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนต่ำ ซึ่งมีผลต่อเยื่อบุโพรงมดลูกซึ่งเป็นที่อยู่ของตัวอ่อน และเป็นแหล่งอาหารสำหรับ การเจริญเติบโต หากฮอร์โมนน้อยเยื่อบุโพรงมดลูกก็มีสภาพไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต ตัวอ่อนก็เจริญต่อไม่ได้จะทำให้เกิดการแท้งได้
บทความแนะนำ 3 วิธีชนะการแท้งลูก
โอกาสแท้งในแต่ละช่วงอายุของแม่ท้อง
1. แม่ท้องที่อายุน้อยกว่า 35 ปีจะมีโอกาสแท้งร้อยละ 15
2. แม่ท้องอายุ 35-45 ปีจะมีโอกาสแท้ง 20-35%
3. แม่ท้องอายุมากกว่า 45 ปีจะมีโอกาสแท้งร้อยละ 50
4. แม่ท้องที่เคยแท้งมาก่อนจะมีโอกาสแท้งร้อยละ 25
อาการ
1. มีอาการปวดหลัง(มากกว่าที่เคยเป็น)
2. น้ำหนักลด
3. มีมูกปนเลือดไหลออกมา
4. เจ็บท้องจริง
5. มีเลือดออกช่องคลอด
6. มีเนื้อเยื่อออกจากช่องคลอด
7. อาการคนท้องหายไป
การรักษา
1. หากมีภาวะปากมดลูกปิดไม่สนิทและมีการแท้งในช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ต้องทำการเย็บปากมดลูกหรือมีเนื้องอกในโพรงมดลูกที่ทำให้เกิดการแท้งซ้ำ ต้องมีการตัดเนื้องอกออก
2. หากเป็นการแท้งแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องทำการขูดมดลูกหรือให้ยากระตุ้นการบีบตัวของมดลูก
3. หากเป็นการแท้งแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องทำการขูดมดลูกหรือให้ยากระตุ้นการบีบตัวของมดลูก
4. หากเป็นการแท้งไม่ครบ ต้องทำการขูดมดลูก
5. หากเป็นการแท้งค้าง คุณหมอจะทำการขูดมดลูกหรือให้ยากระตุ้นการบีบตัวของมดลูก
6. หากมีภาวะขาดฮอร์โมนเพศเช่น โปรเจสเตโรน (Progesterone) ต้องมีการให้ฮอร์โมนเสริม
4. ภาวะรกเกาะต่ำ
มักพบได้ในแม่ตั้งครรภ์ประมาณ 1 ใน 200 คน โดยเฉพาะคุณแม่ที่เคยตั้งครรภ์มาแล้วหรือคลอดหลาย ๆ ครั้ง ยิ่งครรภ์หลัง ๆ จะยิ่งมีโอกาสพบได้มากขึ้น หรือแม่ที่ตั้งครรภ์แฝด รวมไปถึงคุณแม่ที่มีความผิดปกติของปากมดลูก เช่น มีก้อนเนื้องอกในมดลูกหรือมีแผลเป็นที่ตัวมดลูก หรือเคยมีประวัติผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องมาก่อนก็อาจทำให้การเกาะตัวของรกกับผนังมดลูกผิดปกติไป เมื่อคุณแม่ใกล้คลอดจึงมักทำให้เกิดอาการตกเลือด ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ได้
อาการ
สำหรับในช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ในคุณแม่ที่มีปัจจัยสุ่มเสี่ยงว่าจะเกิดภาวะรกเกาะต่ำ สามารถสังเกตตัวเองได้ หากมีอาการดังนี้เกิดขึ้น
– ไม่มีอาการปวดท้อง แต่มีเลือดไหลออกมาทางช่องคลอด
– เลือดไหลออกมาไม่มาก แต่เลือดออกบ่อยครั้ง
ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นตลอดในช่วงอายุตั้งครรภ์ไตรมาสสุดท้าย หรือใกล้ช่วงที่จะคลอดลูก ให้พบแพทย์ทันที เพื่อจะได้อยู่ในความดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด
5. ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์
มี 2 กลุ่มคือ คุณแม่บางคนเป็นความดันโลหิตสูงอยู่แล้วก่อนตั้งครรภ์ กับอีกกลุ่ณแม่อีกกลุ่มหนึ่งตอนที่ไม่ตั้งครรภ์ความดันไม่สูง แต่เมื่อตั้งครรภ์แล้วความดันกลับสูงได้ กลุ่มหลังเราจะเรียกว่าความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์ ซึ่งพบได้บ่อย คุณแม่จะมีอาการบวม ตรวจปัสสาวะเจอไข่ขาวหรือโปรตีนในปัสสาวะ ถ้าอาการรุนแรงและรักษาได้ไม่ดี คนไข้จะชัก อาจจะมีเส้นเลือดในสมองแตกเสียชีวิตได้
ผลต่อแม่ตั้งครรภ์ : หากไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง อาจทำให้ภาวะของโรครุนแรงจนถึงขั้นชัก นอกจากนี้ยังส่งผลให้การทำงานของอวัยวะสำคัญอื่น ๆ ผิดปกติและเสียชีวิตได้
ผลต่อทารกในครรภ์ : เนื่องจากภาวะนี้ส่งผลให้ปริมาณเลือดที่ผ่านรกมายังทารกลดลง ดังนั้นจึงอาจส่งผลกระทบให้ทารกเกิดภาวะโตช้าในครรภ์ และ/หรือทำให้ทารกมีสุขภาพที่ผิดปกติซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตในครรภ์ได้
อาการ
1. ปวดศีรษะมาก
2. ตามัว
3. จุกแน่นลิ้นปี่
4. ปวดเกร็งท้อง เลือดออกทางช่องคลอด ซึ่งอาจเป็นอาการแสดงของรกลอกตัวก่อนกำหนด
การรักษา
หากมีอาการไม่มาก คุณแม่อาจเลือกพักผ่อน ในขณะที่คุณแม่บางคนอาจจะต้องทานยา หรือต้องเข้าโรงพยาบาล หากมาอาการรุนแรงอาจมีความจำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์ แต่กรณีเช่นนี้พบได้น้อยมาก
ส่วนมากจะรักษาได้ ด้วยการจัดยาป้องกันการชัก ยาลดความดัน ส่วนใหญ่จะประคับประคองไปจนกว่าจะทารกในครรภ์แข็งแรงพอที่จะคลอดได้ มักจะใช้วิธีการผ่าตัดคลอดหรือการให้ยาเร่งคลอดในบางกรณีที่จำเป็นเท่านั้น
บทความแนะนำ ตั้งครรภ์ แต่เป็นความดันโลหิตสูง ลูกอาจตัวเล็กกว่าปกติ!!
ได้ทราบกันแล้วนะคะว่าอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างตั้งครรภ์มีอะไรกันบ้าง แต่สิ่งที่ดีและปลอดภัยสำหรับคุณแม่ คือ เมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ควรรีบฝากครรภ์กับคุณหมอให้เร็วที่สุดเพื่อทำการตรวจร่างกายหากพบภาวะแทรกซ้อนใดคุณหมอจะได้ให้การดูแลได้ถูกต้องเหมาะสมเพื่อความปลอดภัยของทั้งแม่และลูกนะคะ
ร่วมบอกเล่าและแชร์ประสบการณ์ในช่วงตั้งครรภ์ คลอดบุตร รวมถึงการเลี้ยงดูทารกน้อย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวอื่น ๆ กันนะคะ หากมีคำถามหรือข้อสงสัย ทางทีมงานจะหาคำตอบมาให้คุณ
อ้างอิงข้อมูลจาก
rtcog.or.th
dmsc.moph.go.th
haamor.com
si.mahidol.ac.th
บทความอื่น ๆ ที่แนะนำ
ระวัง!! 5 โรคร้ายที่ติดต่อจากสัตว์เลี้ยงแสนรักสู่แม่ท้อง
แม่ท้องเป็นหอบหืดอันตรายถึงลูกในท้องหรือไม่
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!