บทความนี้มิได้มีเจตนาจะห้ามปรามไม่ให้แม่ท้องเลี้ยงสัตว์แต่อย่างใด เพียงแต่จะมาบอกเล่าถึงเชื้อโรคที่แฝงอยู่ในบรรดาสัตว์เลี้ยงเพื่อป้องกันมิให้เกิดอันตรายต่อมาท้องและทารกในครรภ์เท่านั้นค่ะ เพราะสัตว์เลี้ยงเปรียบเสมือนเพื่อนของคนเรานี่เอง แถมยังเป็นเพื่อนที่น่ารักและซื่อสัตย์อย่างเช่น น้องหมา แต่มาดูกันนะคะว่าเจ้าสัตว์เลี้ยงแสนรักนั้นมีเชื้อโรคใดแอบแฝงอยู่ จะได้ป้องกันเพื่อความปลอดภัย ติดตามอ่าน
ระวัง!! 5 โรคร้ายที่ติดต่อจากสัตว์เลี้ยงแสนรักสู่แม่ท้อง
ปัจจุบัน โรคติดต่อจากสัตว์เลี้ยง สู่คน (zoonosis) เป็นภัยคุกคามที่ใกล้ตัวเรามาก มีการสำรวจพบว่า ทั่วโลกมีผู้ป่วยจากโรคติดต่อที่ได้รับเชื้อมาจากสัตว์เลี้ยงมากที่สุด คือ 79% รู้แบบนี้มาร่วมด้วยช่วยกันเพื่อป้องกันเชื้อโรคจากสัตว์เลี้ยงอย่างถูกวิธีกันค่ะ
1. โรคพยาธิ
พยาธิที่มักพบจากบรรดาน้องหมา น้องแมว คือ พยาธิตัวกลม พยาธิไส้เดือน การรับโรคพยาธิจากน้องหมาเกิดขึ้นได้หลายทาง ได้แก่ การสัมผัสโดยตรงกับสัตว์เลี้ยงหรือไปสัมผัสกับวัตถุสิ่งของที่อาจจะมีอึของน้องหมาหรือน้องแมวติดอยู่ การติดพยาธิไส้เดือนจะเกิดขึ้น ก็ต่อเมื่อกลืนไข่พยาธิเข้าไป โดยเฉพาะแม่ท้องและเด็ก ๆ ไปสัมผัสขนที่มีไข่พยาธิติดอยู่แล้วไม่ได้ล้างมือให้สะอาด ไข่พยาธิมีโอกาสสูงที่จะเข้าสู่ร่างกายและทำให้ติดโรค
ผลกระทบสู่คน อาการจะแสดงออกมาในลักษณะของอาการระคายเคืองหรือเป็นไข้ แต่อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอย่างอื่นด้วย เช่น ตับโตและต่อมน้ำเหลืองโต ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจทำให้ตาพร่ามัว หรือถึงขั้นตาบอด
การป้องกัน หมั่นทำความสะอาดกรงหรือที่อยู่อาศัยของน้องหมา น้องแมว โดยเฉพาะบริเวณที่สำหรับอึ หรือฉี่ ที่สำคัญการทำความสะอาดควรใส่ถุงมือทุกครั้ง และใส่รองเท้าหากเหยียบบริเวณที่เป็นพื้นดิน และล้างมือ ฟอกสบู่ หลังจากทำความสะอาดเสร็จเรียบร้อย
2. โรคไข้กระต่าย
สำหรับบ้านใดที่เลี้ยงกระต่ายน้อย โรคไข้กระต่ายเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่มีอันตรายร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต มีสาเหตุจากเชื้อแบคที่เรีย โรคนี้ติดต่อสู่คนโดยถูกเห็บ หรือแมลงดูดเลือดกัด สูดดมละอองเชื้อ กินน้ำและอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อน
ผลกระทบสู่คน ภายหลังได้รับเชื้อประมาณ 3-5 วัน มักมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะรุนแรง อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว ต่อมน้ำเหลืองโต สำหรับที่ได้รับเชื้อทางหายใจ มักมีอาการรุนแรง มีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ โลหิตเป็นพิษ เชื้อแพร่กระจายไปอวัยวะภายใน ทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนรุนแรง และเสียชีวิต หากไม่ได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมโดยเฉพาะแม่ท้อง หากติดเชื้ออาจทำให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้
การป้องกัน หากเลี้ยงกระต่ายไว้ในสวนที่บ้านควรต้องใช้ถุงมือยางและรองเท้า เพื่อป้องกันการสัมผัสดินที่มักจะมีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่ รักษาความสะอาดของกระต่าย ไม่ให้มีเห็บ หมัด ไร หากทำความสะอาดกรงที่อยู่อาศัยต้องสวมถุงมือ สวมรองเท้า และผ้าปิดปาก เมื่อทำความสะอาดเสร็จแล้ว ต้องรีบทำความสะอาดร่างกายหลังทันที สำหรับแม่ท้องควรหลีกเลี้ยงการทำความสะอาดก่อนในช่วงตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากกระต่าย
3. โรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ
เป็นโรคติดเชื้อที่มีสาเหตุมาจาก Rabies virusซึ่งเป็นเชื้อไวรัสก่อโรคในสัตว์เลือดอุ่นเลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น สุนัข แมว ลิง ชะนี กระรอก กระแต หนู ค้างคาว พบมากที่สุดในสุนัข 96% ของจำนวนที่พบเชื้อจากการวินิจฉัยในห้องปฏิบัติการ รองลงมา คือ แมว
ผลกระทบสู่คน เชื้อไวรัสชนิดนี้สามารถติดต่อสู่คนได้โดยการถูกสัตว์ที่เป็นโรค กัด ข่วน เลีย น้ำลายกระเด็นเข้าทางตา ปาก หรือทางผิวหนังที่มีบาดแผล
– เมื่อเชื้อเพิ่มจำนวนมากขึ้นในบริเวณแผลที่ถูกกัด หลังจากนั้นเชื้อจะเข้าสู่ระบบประสาท แพร่ไปยังระบบประสาทส่วนกลาง
– หากเชื้อเข้าสู่สมองและเพิ่มจำนวนขึ้นอีก จะทำให้เกิดอาการคลุ้มคลั่ง ดุร้าย กระวนกระวาย
– หากเชื้อเข้าสู่ไขสันหลังแล้วมีการเพิ่มจำนวนจะทำให้สมองและไขสันหลังทำงานผิดปกติ รุนแรงถึงขั้นเป็นอัมพาตและเสียชีวิตในที่สุด
– สำหรับแม่ท้องหากเกิดการติดเชื้อดังกล่าวจะมีความรุนแรงทั้งต่อตัวแม่และทารกในครรภ์ ถึงขั้นเสียชีวิตได้
การป้องกัน ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้สัตว์เลี้ยง ทั้งน้องแมว น้องหมา หรือหากเป็นสัตว์อื่น ๆ เช่น กระรอก กระแต ควรขอรับคำแนะนำจากสัตว์แพทย์ในการดูแลป้องกันโรค
ข้อควรรู้ หากถูกสัตว์กัด หรือข่วนจนเป็นแผลและมีเลือดออก หรือถูกกัดเป็นแผลที่ใบหน้า ศีรษะ คอ มือ และนิ้วมือ หรือมีแผลลึก แผลฉีกขาดมาก จะต้องได้รับการฉีดอิมมูโนโกลบุลิน(Immunoglobulin; IG) โดยเร็วที่สุด โดยฉีดบริเวณรอบแผลร่วมกับวัคซีนในวันที่ 10 เนื่องจากมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้สูง
4. โรคแมวข่วน
ชื่อฟังดูเหมือนไม่น่าจะมีปัญหา แต่โรคแมวข่วนนี้ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า บาร์โทเนลล่า เฮนเซลเล่(Bartonella henselae) สามารถก่อโรคได้ในมนุษย์ (Zoonoses) เมื่อคนถูกแมวกัดหรือข่วน หรือถูกแมวเลียที่บาดแผลได้ เชื้อโรคนี้จะติดอยู่ตามซอกเล็บ เขี้ยวและฟันของแมว เมื่อแมวเลีย กัด หรือข่วนเจ้าของจนเกิดแผล เชื้อก็สามารถเข้าสู่บาดแผลได้
ผลกระทบสู่คน อาการที่พบคือ พบผื่นแดง ตุ่มพอง แผลหลุมที่บริเวณบาดแผล อาจพบต่อมน้ำเหลืองโต โดยทั่วไป โรคนี้สามารถหายเองได้ภายใน 4-8 สัปดาห์ แต่ในคนที่มีร่างกายอ่อนแอ เด็กเล็ก แม่ตั้งครรภ์ หรือคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง จะมีความเสี่ยงสูงมากต่อการติดเชื้อโรคนี้ แล้วทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด มีไข้ เกิดการติดเชื้อที่ตา ระบบประสาท หรือมีตุ่มนูนที่ผิวหนัง นอกจากนี้ยังพบรายงานการ ติดเชื้อแทรกซ้อนที่หัวใจ และตับอีกด้วย
การป้องกัน รักษาความสะอาดโยป้องกันไม่ให้แมวมีหมัด หากถูกแมวข่วนให้ทำการล้างแผลให้สะอาดด้วยน้ำสบู่ และใช้ยาฆ่าเชื้อทาแผลให้เร็วที่สุด
ข้อควรรู้ หากโดนแมวข่วน แล้วมีอาการดังต่อไปนี้ให้ไปพบคุณหมอ เช่น แผลกัดหรือข่วนหายช้า รอบรอยกัดหรือข่วนแดงขึ้นและกว้างขึ้น ต่อมนํ้าเหลืองบริเวณรักแร้หรือขาหนีบบวมและปวดอยู่นาน ปวดกระดูกหรือปวดข้อ หรือมีอาการอ่อนเพลียอย่างผิดสังเกตและเป็นไข้นานหลายวัน
5. โรคท็อกโซพลาสโมซิส
เชื้อนี้เกิดจากเชื้อโปรโตซัว ซึ่งจะเจริญและขยายพันธุ์ในลำไส้ของแมว โดยแมวที่เลี้ยงแบบปล่อย มักจะชอบเที่ยวนอกบ้าน ซึ่งอาจจะไปกินเนื้อดิบ ๆ หรือกินหนู และแมลงสาบที่ติดเชื้อ เชื้อก็จะเข้าสู่ร่างกายแมว ไปอยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ ตลอดจนลำไส้ของแมว และเชื้อจะปนเปื้อนออกมากับอุจจาระของแมว
ผลกระทบสู่คน
– กรณีอาการไม่รุนแรง อาจพบเพียงอาการคล้ายหวัด หรือปวดตามกล้ามเนื้อ 2 – 3 วันจนถึง 2 – 3 สัปดาห์อาการเหล่านี้จะหายไป ซึ่งปกติแล้วคนส่วนใหญ่จะมีอาการแบบไม่รุนแรง
– กรณีอาการรุนแรง อาจพบ อาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงซึ่งไม่ตอบสนองต่อยาแก้ปวด ร่างกายด้านหนึ่งอ่อนแรงชัก มีปัญหาด้านการมองเห็น การพูดและการเดิน
– แม่ตั้งครรภ์จะมีอาการรุนแรงซึ่งผลที่มีต่อเด็ก คือ ถ้าคุณเพิ่งได้รับเชื้อครั้งแรกในขณะที่ตั้งครรภ์หรือก่อนตั้งครรภ์ เชื้อนี้สามารถผ่านไปที่ตัวเด็กได้ โดยที่คุณแม่ไม่ได้แสดงอาการของโรคนี้ออกมา แต่หลังจากคลอดประมาณ 6-7 เดือน เด็กที่ติดเชื้อโรคนี้จะมีอาการ ตาบอด ปัญญาอ่อน มีปัญหาด้านการเรียนรู้หรือภาวะบกพร่องทางด้านจิตใจ (mental disability ) บางครั้งอาจพบเด็กแรกเกิดที่ติดเชื้อ มีอาการตาอักเสบอย่างรุนแรง หรือสมองถูกทำลายตั้งแต่แรกคลอดเลยก็ได้ สำหรับการติดเชื้อก่อนตั้งครรภ์หรือเลยช่วง 3 เดือนแรกไปแล้วมักไม่พบการติดต่อสู่ทารกในครรภ์
สัตวแพทย์ฝากบอก
รศ.สพ.ญ.พญ.เยาวลักษณ์ สุขธนะ หัวหน้าภาควิชาพยาธิโปรโตชัว คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล แนะนำวิธีการป้องกันและดูแลสัตว์เลี้ยงอย่างปลอดภัย ดังนี้
1. ควรพาสัตว์เลี้ยงไปตรวจร่างกายกับสัตวแพทย์
2. จัดตารางเวลาในการฉีดวัคซีนป้องกัน และโปรแกรมการถ่ายพยาธิ
3. หมั่นดูแลสัตว์เลี้ยงให้สะอาด จัดแต่งขนและตัดเล็บให้เรียบร้อย
4. เมื่อจะทำความสะอาดกรง หรือถังเลี้ยงปลา ควรสวมถุงมือแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง
5. อย่าใช้มูลสัตว์เลี้ยงไปทำเป็นปุ๋ย
6. ล้างมือด้วยสบู่กับน้ำร้อนสัก 20 วินาทีทันทีหลังจากเล่น หรือทำความสะอาดให้สัตว์เลี้ยงแล้ว
7. อย่าปล่อยให้สัตว์เลี้ยงกินเนื้อดิบ หรือดื่มน้ำจากโถส้วม หรือปล่อยให้คุ้ยเขี่ยกองขยะ
8. สิ่งสำคัญอีกข้อหนึ่งคือ ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงมาเพ่นพ่านในส่วนที่เตรียมอาหาร
เมื่อได้ทราบอันตรายจากสัตว์เลี้ยงกันแล้ว การป้องกันจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดนะคะ ร่วมแชร์ประสบการณ์หรือบกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการดูแลสัตว์เลี้ยงในช่วงตั้งครรภ์เพื่อให้ความรู้กับแม่ท้องคนอื่น ๆ ด้วย
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://baby.kapook.com/view27660.html
https://health.kapook.com/view7138.html
https://haamor.com/th
https://www.thaihealth.or.th
https://th.theasianparent.com
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
เด็กทารกและสัตว์เลี้ยงอยู่ร่วมกันได้มั้ย?
เหตุผล 5 ข้อที่คุณไม่ควรมีสัตว์เลี้ยง
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!