วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้เด็ก ถือเป็นเรื่องสำคัญพื้นฐานในชีวิตประจำวันที่ควรเรียนรู้เอาไว้ เพราะหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดกับลูกน้อย คุณจะสามารถช่วยเหลือพวกเขาได้เบื้องต้นก่อนส่งต่อให้กับทีมแพทย์และพยาบาลดูแลต่อไป วันนี้จึงขอแนะนำเคสที่เกิดขึ้นได้บ่อย และการปฐมพยาบาลที่ถูกต้องให้กับคุณพ่อคุณแม่ค่ะ
อุปกรณ์ปฐมพยาบาลที่ควรมีติดบ้าน มีอะไรบ้าง?
ปกติแล้ว แทบจะทุกบ้านจะมี ตู้ยาประจำบ้าน หรืออาจจะเป็นกล่องใส่ยาหรืออุปกรณ์ปฐมพยาบาลต่าง ๆ เอาไว้เฉพาะ หากมีเหตุการณ์คนในบ้านประสบอุบัติเหตุ จะได้หยิบอุปกรณ์ออกมาใช้อย่างทันท่วงที ซึ่งในตู้ยาหรือกล่องยานั้น ควรจะมีอุปกรณ์พื้นฐานดังนี้
- ผ้ากอซ หรือสำลีที่ฆ่าเชื้อโรคแล้ว
- พลาสเตอร์ หรือผ้าพันแผล
- น้ำเกลือปราศจากเชื้อ
- ยาฆ่าเชื้อ ยาใส่แผลสด (ควรให้เภสัชกรแนะนำยาชนิดที่เหมาะสมกับเด็ก)
- กรรไกรขนาดเล็ก
- ยาแก้ปวด ลดไข้ เช่น พาราเซตามอล (ควรให้เภสัชกรแนะนำยาชนิดที่เหมาะสมกับเด็ก)
- ครีมสำหรับบรรเทาอาการจากแมลงสัตว์กัดต่อย
บทความที่น่าสนใจ : ระวัง! พ่อแม่ใช้ยาผิด ลูกตกอยู่ในอันตรายถึงชีวิต ห้ามทำพลาดเด็ดขาด
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้เด็ก ให้ลูกรอดพ้นจากอันตราย
เด็ก 3-5 ขวบ เป็นช่วงวัยที่พัฒนาการของกล้ามเนื้อยังไม่แข็งแรงสมบูรณ์เต็มที่ ทำให้บางครั้งการเล่น วิ่ง กระโดด ตามประสาเด็ก ๆ อาจเกิดพลาดพลั้ง หกล้ม เกิดการกระแทกรุนแรง จนเกิดการบาดเจ็บ ฟกช้ำ เลือดออก เคล็ดขัดยอก ฯลฯ ซึ่งวิธีปฐมพยาบาลอย่างถูกต้อง สามารถแบ่งออกเป็นเคส ได้แก่
1) การปฐมพยาบาลเด็ก แผลถลอก
กรณีที่มีเศษหินติดอยู่ ให้ชะล้างบาดแผลด้วยน้ำเกลือปราศจากเชื้อ ใช้ผ้าสะอาดซับให้แห้ง ทายารักษาแผลสด เช่น โพวิดีน (Povidine) แล้วปิดแผลด้วยผ้ากอซหรือผ้าสะอาด ถ้าบาดแผลมีลักษณะตื้น และมีเลือดไหลซิบ ๆ เท่านั้น ให้ทายาโดยไม่ต้องใช้ผ้าปิดบาดแผลก็ได้
2) แผลถูกของมีคมบาด
โดยมากจะมีเลือดไหลต้องห้ามเลือดก่อน หากเป็นแผลเล็ก ๆ และของที่บาดนั้นไม่สกปรก เพียงแต่ทำความสะอาดแผล และใส่ยาเหมือนแผลถลอก แต่ถ้าหากเป็นแผลใหญ่ เมื่อห้ามเลือดแล้วควรรีบนำเด็กส่งโรงพยาบาลเพราะอาจต้องเย็บแผล สำหรับแผลที่สกปรกมากหรือสิ่งที่บาดนั้นมีสนิม ต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก
3) สิ่งแปลกปลอมเข้าจมูก
ทันทีที่พบว่าลูกมีสิ่งแปลกปลอมเข้าจมูก ให้รีบเอาออกมาโดยที่สิ่งแปลกปลอมเข้าข้างไหนให้เอามืออุดรูจมูกอีกข้างละสั่งออก ถ้ายังไม่ออกให้ไปพบแพทย์ ห้ามคีบเองเด็ดขาด ไม่อย่างนั้นสิ่งแปลกปลอมอาจจะหลุดเข้าไปลึกขึ้น
4) หัวโน ห้อเลือด ฟกช้ำ
ในระยะแรกภายใน 24 ชั่วโมง ให้ประคบด้วยความเย็น โดยใช้ถุงพลาสติกใส่น้ำแข็งหรือใช้ cold – hot pack เป็นถุงที่ใช้ได้ทั้งร้อนและเย็น เพื่อประคบเส้นเลือดให้หดตัวทำให้เลือดหยุดไหล ห้ามนวดคลึงเพราะจะทำให้เลือดที่ออกใต้ผิวหนังยิ่งออกมากขึ้น ไม่ควรใช้ยาหม่อง หรือของร้อนอื่น ๆ ทาบริเวณที่โน เพราะยาหม่องจะทำให้ปวดแสบปวดร้อนและเลือดมาคั่งอยู่บริเวณแผลมากขึ้น หลังจาก 24 ชั่วโมงไปแล้ว จึงเริ่มประคบร้อนเพื่อให้เลือดที่ออกถูกดูดซึมกลับเข้าไปในเส้นเลือดเร็วขึ้น
5) ปฐมพยาบาลเด็ก แมลงเข้าหู
เมื่อพบว่ามีแมลงเข้าหูของลูกน้อยของคุณ อย่างแรกคือต้องทำให้แมลงหยุดเคลื่อนไหวโดยใช้น้ำมันพืช เช่น น้ำมันมะกอกหรือน้ำมันพืชที่ใช้ทำอาหาร หยอดเข้าไปในหู ทิ้งไว้สักครู่แมลงจะตายและลอยขึ้นมาให้ตะแคงหูเพื่อให้แมลงและน้ำมันไหลออกมาให้หมด แล้วใช้สำลีเช็ดทำความสะอาดอีกครั้ง
6) สุนัข หรือแมวกัด
ควรรีบเข้าไปหาลูกน้อย และไล่ให้สัตว์นั้นออกให้ห่างไปไกลที่สุด หรือให้คนช่วยนำไปขังแยกไว้ เพื่อที่จะได้ไม่เกิดการเข้ามาซ้ำขณะที่คุณกำลังปฐมพยาบาลเบื้องต้นอยู่ และควรพาลูกน้อยของคุณไปที่ก๊อกน้ำทันที เพื่อรีบล้างแผลให้สะอาดด้วยน้ำเปล่าและสบู่ ซับแผลให้แห้ง ปิดแผลด้วยผ้ากอซหรือผ้าสะอาด แล้วนำเด็กส่งโรงพยาบาล
7) สิ่งแปลกปลอมติดคอ
หากเป็นเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 1 ขวบ ถ้าเด็กยังไม่หมดสติ ให้รีบเช็กว่าทางเดินหายใจมีการอุดกั้นหรือไม่ โดยดูจากอาการร้องไม่มีเสียง หรือไอไม่ออก จากนั้นใช้ฝ่ามือซัพพอร์ตบริเวณคอของเด็กแล้วจับคว่ำลง ตบหลัง 5 ครั้ง สลับกับนอนหงาย กดหน้าอก 5 ครั้ง ทำสลับไปจนสิ่งแปลกปลอมหลุดออกมา แต่ถ้าหมดสติให้รีบกู้ชีพ
หากเป็นกรณีที่เด็กโตแล้ว ยังไม่หมดสติ แต่พูดแล้วไม่มีเสียงให้รัดกระตุกที่ท้อง เหนือสะดือใต้ลิ่นปี่ จนกว่าสิ่งแปลกปลอมจะหลุดออกมา แต่ถ้าเด็กหมดสติให้รีบกู้ชีพทันที
8) กลืนและดมสารพิษ
หากเด็กกลืนสารพิษ พวกน้ำหอม ยาทาเล็บ ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม ดีดีที ยาเบื่อหนู ยากำจัดแมลงสาบ หรืออื่น ๆ ที่เป็นสารเคมีพวกกรดด่าง หรือสารประกอบปิโตรเลียม ให้รีบทำให้เด็กอาเจียนออกมา โดยการใช้นิ้วสะอาดล้วงคอให้ลึก ๆ แต่มีข้อห้ามว่าห้ามทำในผู้ป่วยหมดสติ ได้รับสารพิษชนิดกัดเนื้อ เช่น กรด ด่าง รับประทานสารพิษพวกน้ำมันปิโตรเลียม
9) สารเคมีเข้าตา
คุณจะต้องรีบเก็บสารเคมีที่เป็นอันตรายให้พ้นกับมือเด็กก่อน และต้องรีบเบิกเปลือกตาบนและล่างให้เห็นนัยน์ตากว้างที่สุด แล้วรินน้ำสะอาดผ่านนัยน์ตาทันทีโดยรินผ่านนาน ๆ ประมาณ 5 นาที เพื่อล้างสารเคมีออกให้หมด ขณะที่รินน้ำต้องระวังอย่าให้น้ำที่ไหลออกกระเด็นเข้าตาอีกข้างหนึ่งที่โดนสารเคมี ควรให้เด็กนอนเอียงตาข้างที่โดนสารเคมีออกจากตัว เวลารินน้ำควรรินจากหัวตาไปหางตา จากนั้นใช้ผ้ากอซหรือผ้าสะอาดปิดตาไว้แล้วนำเด็กส่งโรงพยาบาล
10) เลือดกำเดาไหล
อย่าให้เด็ก ๆ เงยหน้าขึ้นเป็นอันขาด เพราะเป็นวิธีที่ผิด ให้เด็กก้มหน้าลงแทน ท่าก้มหน้านั้นจะเป็นนั่งหรือยืนก็ได้แต่ห้ามนอน ใช้นิ้วกดจมูกด้านที่เลือดกำเดาไหล ใช้ความเย็นประคบดั้งจมูก 1-2 นาที หากเลือดยังไม่หยุด ให้ใช้ผ้ากอซหรือผ้านุ่ม ๆ สอดเข้าไปในรูจมูกข้างที่เลือดออกทิ้งไว้สักครู่ใหญ่ สังเกตดูว่าเลือดหยุดไหลหรือยัง กรณีเลือดไหลไม่หยุดเกินครึ่งชั่วโมงขึ้นต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล
อุบัติเหตุ หรือเหตุร้าย เป็นเรื่องไม่คาดคิด แต่เราก็สามารถป้องกัน และลดโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจดูแลลูก และสอนให้พวกเขารู้ว่าการเล่นแบบไหนไม่ปลอดภัย สารเคมีอะไรที่ควรหลีกเลี่ยง ตลอดจนเมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้ว ให้รีบบอกผู้ปกครองโดยด่วนด้วยเช่นกันค่ะ
เพจเลี้ยงลูกง่าย ๆ by คุณแม่พยาบาล โดย ณัฐกฤตา พุทธิไชยธันดร พยาบาลกิ๊ฟ
บทความที่น่าสนใจ :
น้ำร้อนลวก ไฟไหม้อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้ง่ายสำหรับเด็กๆ ภายในบ้าน คุณแม่ควรระวัง
การป้องกัน อุบัติเหตุในเด็กเล็ก ที่พ่อแม่ควรรู้ ช่วง 1-12 เดือน ต้องระวังอะไรบ้าง
10 คอกกั้นเด็ก หลายแบบ หลายสไตล์ แบบนี้ไม่มีไม่ได้แล้ว
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!