เชื่อว่าคุณแม่หลายคนอาจจะต้องเคยประสบปัญหาลูกไม่ยอมดูดเต้า หรือไม่ค่อยมีเวลาให้นมลูกจากเต้า ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าถ้าไม่สะดวกหรือมีปัญหานี้จะมีวิธีใดบ้างที่มาทดแทนการให้นมแม่ นี่คือเหตุผลที่ทุกคนอาจจะต้องทำความเข้าใจว่า ทำไมถึงต้องปั๊มนม หากปั๊มนมแล้วกระตุ้นน้ำนมได้จริงหรือ แล้วคุณภาพน้ำนมที่ได้ดีจริงหรือไม่ ตามไปดูพร้อมกันได้เลยค่ะ
การปั๊มนม คืออะไร วิธีปั๊มนม
การปั๊มนม เป็นหนึ่งในวิธีเก็บสำรองน้ำนมไว้ให้ลูกได้ดื่มภายหลังและไม่ขาดตอน วิธีใช้เครื่องปั๊มนม ซึ่งคุณแม่หลาย ๆ คน อาจเลือกที่จะปั๊มนมเมื่อต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ไม่มีเวลาว่างป้อนนมลูก หรือหากลูกไม่ยอมดื่มนมจากเต้า ก็จำเป็นต้องปั๊มนมเช่นเดียวกัน การปั๊มนมนี้ ช่วยให้คุณแม่ประหยัดเวลาได้เยอะ ไม่ต้องกลัวว่าลูกจะกินนมไม่อิ่ม แถมทำให้ลูกได้รับสารอาหารจากนมอย่างเพียงพออีกด้วย
วิธีปั๊มนม วิธีใช้เครื่องปั๊มนม แบ่งออกได้กี่ประเภท
โดยทั่วไปแล้ว คุณแม่สามารถปั๊มนมได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการปั๊มนมด้วยการใช้มือบีบเต้า การใช้เครื่องปั๊มแบบมือ และการปั๊มนมด้วยเครื่องปั๊มไฟฟ้า ซึ่งทั้ง 3 วิธีนี้ ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันออกไป สามารถเลือกใช้ได้ตามสถานการณ์และความถนัด หากคุณแม่สนใจอยากใช้เครื่องปั๊มนม แนะนำให้ใช้เครื่องปั๊มนมไฟฟ้าแบบปั๊มคู่ ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาในการปั๊มนมได้ดีกว่าแบบปั๊มเดี่ยว แต่ก็ควรศึกษาให้ละเอียดว่ารุ่นไหนแรงดูดดีกว่ากัน
บทความที่เกี่ยวข้อง : เครื่องปั๊มนม แนะนำเครื่องปั๊มน้ำนม มาดูกันว่ายี่ห้อไหน ประเภทไหนเหมาะกับเรา
วิดีโอจาก : คนท้อง Everything Channel
คุณแม่ควรเริ่มปั๊มนม ตอนไหน
โดยปกติแล้วเมื่อคุณแม่คลอดลูกออกมาจำเป็นที่จะต้องให้ลูกดูดนมจากเต้าทันทีทุก ๆ 1-2 ชั่วโมงหลังจากการคลอด แต่ก็อาจจะมีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้ไม่สามารถนำลูกเข้าเต้า หรือให้นมจากเต้าได้ เช่น ลูกจำเป็นที่จะต้องอยู่ในห้องเนิร์สเซอรี่เพื่อดูอาการต่อ ลูกไม่ยอมดูดนมจากเต้า หรือร่างกายคุณแม่ต้องได้รับการพักผ่อนก่อน เป็นต้น ทันทีที่คุณแม่ต้องเจอกับเหตุการณ์เหล่านี้ ควรเริ่มปั๊มนมทันทีภายใน 4 ชั่วโมงหลังคลอด เพื่อให้เด็กได้ดื่มนมแม่โดยเร็วที่สุด
เทคนิคและวิธีปั๊มนมง่าย ๆ ให้เกลี้ยงเต้า
เมื่อต้องปั๊มนมให้ลูกน้อย คุณแม่สามารถจดจำเทคนิคต่อไปนี้และนำไปใช้ได้ เพื่อให้น้ำนมเกลี้ยงเต้า และได้น้ำนมที่ดี มีประสิทธิภาพสำหรับลูก ๆ
- ปั๊มนมข้างละ 10-15 นาที หากปั๊มนมอยู่แล้วรู้สึกเจ็บเต้านม ให้ลดแรงปั๊มลง และเว้นระยะปั๊มนมเป็นพัก ๆ ไม่ควรปั๊มนานติดต่อกัน
- ปั๊มนม หากรู้สึกเจ็บมากเวลาที่ใช้เครื่องปั๊มนม ให้เปลี่ยนมาใช้มือบีบแทนได้
- หากสังเกตเห็นว่าน้ำนมเริ่มไหลออกมาเยอะขึ้น ให้ปั๊มให้นานขึ้น อย่างน้อย 20-30 นาที
- หลังจากน้ำนมไม่ไหลออกมาแล้ว ให้ลองปั๊มต่ออีกสัก 2 นาที
- ปั๊มนมไปพร้อม ๆ กับการให้ลูกดูดนมจากเต้าอีกข้าง หรือไม่ก็ปั๊มนมพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง เพื่อกระตุ้นให้น้ำนมไหลออกมาได้มากยิ่งขึ้น
- หากไม่มีเวลาปั๊มนมก่อนหน้า แล้วกลัวว่าน้ำนมจะไม่ไหลตอนที่กำลังจะปั๊ม ให้กระตุ้นหัวนมตอนที่ลูกกำลังดูดนมหรือทำจี๊ดดูดได้
ทำไมถึงต้องปั๊มนม ยิ่งปั๊มบ่อย น้ำนมยิ่งเยอะ
หลังจากออกจากโรงพยาบาลได้ประมาณ 2-3 วัน ให้พยายามหัดให้ลูกดูดเต้าข้างใดข้างหนึ่ง และพยายามปั๊มนมอีกข้างหนึ่งไปพร้อม ๆ กัน โดยควรปั๊มเป็นเวลา 10 นาที จากนั้นก็ให้เก็บนมที่ได้ไว้ก่อน อย่าให้ลูกกินทันที ครั้งต่อไปก็ให้ทำแบบเดิม แต่สลับข้าง ให้ลูกย้ายมากินนมจากเต้าอีกข้างหนึ่ง และปั๊มนมจากเต้าอีกข้างหนึ่งแทน ทำให้ได้สัก 3-5 ครั้ง แล้วจึงหยุดพัก ซึ่งการปั๊มนมบ่อย ๆ แบบนี้ จะยิ่งทำให้คุณแม่มีน้ำนมมากยิ่งขึ้น
ส่วนในตอนกลางคืน อาจจะให้ลูกดื่มนมจากเต้าอย่างเดียวพอ ไม่ต้องปั๊ม เพราะอาจจะทำให้คุณแม่เหนื่อยเกินไป หากช่วงนี้รู้สึกว่าน้ำนมน้อยก็อย่าเพิ่งท้อ ให้ทำไปเรื่อย ๆ ก่อน กลไกการหลั่งน้ำนมของคุณแม่จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น ในช่วงนี้ให้หาวิธีผ่อนคลายขณะปั๊มนมดูได้ หรือจะลองนวดเต้านม ประคบเต้านม หรือดื่มน้ำก่อนปั๊มนม เพื่อช่วยด้วยอีกทางก็ได้
เมื่อใช้เครื่องปั๊มนม ต้องคำนึงถึงรอบดูดและแรงดูดของเครื่องปั๊มนมด้วย
เครื่องปั๊มนมไฟฟ้าบางรุ่น จะปรับรอบดูดและแรงดูดได้ แต่บางรุ่นก็จะสามารถปรับได้เฉพาะแรงดูดอย่างเดียว หากคุณแม่มีเครื่องปั๊มที่ปรับแรงดูดได้ ให้เลือกระดับแรงดูดที่ยังรู้สึกสบายและไม่เจ็บ ค่อย ๆ เพิ่มความแรงของเครื่องปั๊มนมเรื่อย ๆ จนกว่าร่างกายจะชิน หากในระหว่างปั๊มนมคุณแม่รู้สึกเจ็บ แสดงว่ามีบางอย่างผิดปกติ เครื่องปั๊มนมที่ดี ปั๊มแล้วต้องไม่ทำให้เจ็บเต้านม ให้ลองปรับหรือตั้งค่าเครื่องปั๊มใหม่อีกทีและลองใช้อีกครั้ง
บทความที่เกี่ยวข้อง : เทคนิคการปั๊มนม ปั๊มอย่างไรให้เกลี้ยงเต้า เคล็ดลับที่แม่มือใหม่ควรรู้
วิธีปั๊มนม ในแต่ละรอบต้องใช้เวลานานเท่าไร
แนะนำว่าในช่วงแรก อย่าเพิ่งปั๊มนมนานหรือแรงเกินไป เพราะอาจทำให้หัวนมแตก คุณแม่ควรเริ่มต้นปั๊มนมครั้งละประมาณ 3-5 นาทีก่อนตามที่แนะนำไปข้างต้น และหลังจากที่ร่างกายเริ่มแข็งแรงขึ้นและเริ่มปรับตัวได้ ให้เพิ่มเวลาปั๊มมาเป็นประมาณข้างละ 15 นาที แต่ไม่ควรปั๊มติดต่อกันนานเกิน 30 นาที หากคุณแม่ใช้เครื่องปั๊มนมแบบคู่ ก็ปั๊มพร้อมกันสองข้างได้เลย
ช่วงเวลาการปั๊มนมที่ดีและเหมาะสม
คุณแม่ควรปั๊มนมให้ได้ 8-10 ครั้งใน 24 ชั่วโมง ซึ่งจะเท่ากับจำนวนครั้งที่ลูกดูดต่อวันพอดี แต่หากไม่สามารถปั๊มได้บ่อยขนาดนั้น ก็ให้ลองกำหนดตารางเวลาการปั๊มที่เหมาะกับตัวเองมากที่สุด ให้ลองคิดดูว่าจะปั๊มนมทั้งหมดกี่ครั้งใน 24 ชั่วโมง และต้องการปั๊มนมให้ได้ปริมาณเท่าไหร่ หากทำครบ 24 ชั่วโมงแล้วไม่ได้ปริมาณนมมากเพียงพอกับความต้องการ ให้เพิ่มรอบปั๊มให้ถี่ขึ้นอีก การปั๊มนมจนเกลี้ยงเต้าเป็นกุญแจสำคัญ ที่จะทำให้คุณแม่มีน้ำนมเพิ่มขึ้น หากคุณแม่ปั๊มนมได้ครบตามปริมาณที่ตั้งไว้แล้ว ก็ให้ลดจำนวนครั้งที่ปั๊มลงได้ โดยอาจปั๊มแค่วันละ 5-7 ครั้ง ครั้งละ 10-15 นาที และก็อย่าลืมจดบันทึกปริมาณน้ำนมที่ได้ในแต่ละวันด้วย
นอกจากวิธีปั๊มนมแล้ว เรายังมีความรู้และเทคนิคดี ๆ อีกมากมาย มาฝากคุณแม่ที่กำลังประสบปัญหาน้ำนมน้อย น้ำนมไม่พอ ติดตามดูได้ที่ คลับคุณแม่น้ำนมน้อย ซึ่งเป็นกลุ่มที่คุณแม่และผู้เชี่ยวชาญ จะมาแบ่งปันความรู้ และช่วยตอบทุกข้อสงสัยของคุณแม่ ทั้งในเรื่องปัญหาน้ำนมไม่พอ รวมถึงปัญหาอื่น ๆ อย่ารอช้าค่ะ มาเป็นส่วนหนึ่งของเรากันเลย
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
น้ำนมแม่เก็บไว้ได้นานแค่ไหน มีวิธีการเก็บอย่างไร ให้อยู่ได้นานและดีที่สุด
คู่มือปั๊มนมสำหรับคุณแม่ อยากสะสมน้ำนม สต็อกน้ำนม จะเริ่มปั๊มนมเมื่อไหร่ดี
เผยเคล็ดลับ! เทคนิคเพิ่มน้ำนม และจัดตารางการปั๊มนมสำหรับ Working Mom!
แชร์ประสบการณ์หรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการปั๊มนม ได้ที่นี่ ! Click
ที่มา : nommaecenter , babygiftretail
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!