เวลาออกไปข้างนอก บางครั้งคุณแม่ให้นมอาจรีบไปบ้าง หยิบไปทุกอย่าง แต่ดันลืมเครื่องปั๊มนม จนเกิดความกังวล ไม่รู้จะทำอย่างไรดี ปัญหาเหล่านี้จะหมดไป หากคุณแม่รู้จัก หรือเรียนรู้วิธีการ ปั๊มนมด้วยมือ ทำได้ทุกที่ เพราะไม่ต้องง้อเครื่อง ไว้เอาไว้ทำตอนฉุกเฉิน รับรองว่าหายห่วงลูกน้อยแน่นอน จะทำได้อย่างไร วิธีไหนนั้น ลองอ่านในบทความนี้ดูได้เลย
ปั๊มนม ปั๊มด้วยมือ
ปั๊มนม ปั๊มด้วยมือ ได้ไม่ต้องง้อเครื่อง ! ทุกครั้งที่ไปนอกบ้าน คุณแม่หลาย ๆ ท่านก็อาจจะติดปัญหาที่จะต้องพกเครื่องปั๊มนมไปด้วย จึงทำให้ไม่ได้ปั๊มนมไปนานหลายชั่วโมง จนในบางครั้ง ทำให้นมของคุณแม่แข็งเป็นไต หรืออาจเตรียมเครื่องไป ซึ่งคุณแม่อาจยังไม่รู้ว่าถึงไม่ใช้เครื่อง ก็ยังสามารถปั๊มนมได้อยู่เหมือนเดิม หากรู้วิธีการทำที่ถูกต้อง ดังนั้นวันนี้เราจะนำวิธีการปั๊มนมด้วยมือมาเสนอกัน โดยสามารถทำได้ง่าย ๆ ใน 11 ขั้นตอน หากคุณแม่กลัวว่าจะทำตามไม่ถูกก็สามารถทำตาม Video ด้านล่างนี้ได้เลย
บทความที่เกี่ยวข้อง : ทำไมถึงต้องปั๊มนม ตอบเหตุผลทำไมต้องปั๊ม เพื่อคุณภาพนมที่เหมาะสมกับลูกน้อย
วิดีโอจาก : Nurse Kids
11 ขั้นตอน ปั๊มนมด้วยมือ ทำได้ไม่ยาก
ขั้นตอนการปั๊มนมด้วยมือสามารถทำได้ ร่วมกับผ้าคลุมให้นม เพราะเมื่ออยู่ข้างนอก อาจมองหาสถานที่ปลอดสายตาผู้คนได้ยาก ผ้าคลุมให้นมที่นำมาปิดจึงเป็นทางเลือกที่ต้องพกติดตัวไว้ หากคุณแม่พร้อมแล้ว มาดูกันดีกว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง
- ขั้นตอนแรกเริ่มจากการเตรียมถุงเก็บน้ำนม หรือภาชนะใส่น้ำนมที่ผ่านการล้าง และต้มในน้ำเดือดเพื่อฆ่าเชื้อโรคออกไป และควรเป็นขวดปากกว้างหรือถ้วยที่ทำจากแก้วหรือพลาสติกแข็ง ไม่ควรใช้ภาชนะโลหะ เนื่องจากเม็ดเลือดขาวที่อยู่ในน้ำนมจะเกาะภาชนะ ทำให้ภูมิต้านทานที่ลูกน้อยจะได้รับนั้นมีปริมาณลดต่ำลง
- ทำจิตใจให้สบายเพื่อให้รู้สึกผ่อนคลาย พยายามอยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก วางภาชนะหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ไว้ใกล้ ๆ มือ
- ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำ และสบู่ก่อนทำการบีบน้ำนม
- ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบเต้านมประมาณ 1 – 3 นาทีก่อนที่จะทำการบีบน้ำนม
- นวดเต้านม และคลึงเต้านมเบา ๆ ให้เป็นลักษณะวงกลม โดยเริ่มจากฐานเต้านมเข้าหาหัวนม จากนั้นค่อย ๆ ใช้นิ้วดึงหัวนม และคลึงเบา ๆ เพื่อช่วยกระตุ้นการหลั่งของน้ำนม
- วางปลายนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ให้ห่างออกจากขอบของลานนมเล็กน้อย ในตำแหน่งที่ตรงข้ามกัน โดยจะมีลักษณะเป็นรูปตัว C และวางให้นิ้วห่างจากหัวนมประมาณ 3 – 4 เซนติเมตร แล้วกดนิ้วหัวแม่มือ และนิ้วชี้เข้าหาผนังหน้าอก
- บีบนิ้วหัวแม่มือ และนิ้วชี้เข้าหากันเบา ๆ ลึกลงไปด้านหลังของลานนม แล้วปล่อยมือออกให้เป็นจังหวะ โดยการบีบจะเป็นการเลียนแบบลักษณะการดูดนมของลูก แต่อย่าบีบแต่ตรงปลายหัวนม และไม่ควรรีดคั้นเต้านม กดหัวนม หรือดึงหัวนม เพราะนั่นไม่ได้ช่วยให้น้ำนมไหลออกมามากขึ้น แต่อาจจะทำให้คุณแม่เจ็บหัวนมหรืออาจทำให้หัวนมอักเสบได้
- ค่อย ๆ ทำตามข้อ 7 ซ้ำ ๆ โดยคุณแม่ต้องใจเย็น ๆ เพราะน้ำนมอาจจะยังไม่ไหลออกมาเลยทีเดียว ซึ่งบางครั้งอาจจะต้องทำไปถึง 1 หรือ 2 นาที กว่าน้ำนมจะไหล
- หากคุณแม่เริ่มรู้สึกว่าน้ำนมของคุณแม่เริ่มน้อยลงแล้ว ให้เปลี่ยนตำแหน่งของนิ้วหัวแม่มือ และนิ้วชี้ที่กดลานนมไปรอบ ๆ ให้ทั่ว จากนั้นค่อย ๆ บีบน้ำนมออกมา
- เปลี่ยนไปนวดคลึง และบีบน้ำนมออกจากเต้านมอีกข้าง โดยปกติแล้ว จะใช้เวลาในการบีบน้ำนมข้างละประมาณ 5 – 10 นาที และหากคุณแม่มีอาการเมื่อยนิ้วมือ ก็สามารถลองเปลี่ยนมาใช้นิ้วมืออีกข้างได้
- คุณแม่ควรบีบน้ำนมสลับกันไปมาทั้ง 2 ข้าง จนกว่าจะรู้สึกว่าเต้านมนิ่มลง และรู้สึกว่าไม่มีน้ำนมแล้ว หรือจนกว่าจะได้น้ำนมตามปริมาณที่ต้องการ ซึ่งจะใช้ระยะเวลาทั้งหมดประมาณ 20 – 30 นาที
อย่างไรก็ตาม เต้านมของแต่ละคนนั้น จะมีลักษณะรูปร่างที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นคุณควรลองขยับตำแหน่งของนิ้วมือตอนบีบนม แล้วดูว่าจุดไหนเหมาะสมที่สุด ที่สำคัญคือ ในการบีบน้ำนมแม่ด้วยมือนั้น ต้องทำอย่างนุ่มนวล และถูกวิธี จึงจะทำให้ไม่เจ็บ และมีน้ำนมออกมามากพอ เพราะปริมาณน้ำนมของคุณแม่นั้นจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับการบีบกระตุ้นเต้านมโดยตรง ซึ่งคุณแม่ควรทำอย่างน้อยทุก 3 ชั่วโมง จึงจะได้ผลดีที่สุด
บทความที่เกี่ยวข้อง : เทคนิคและวิธีเลือกเครื่องปั๊มนม ที่คุณแม่ต้องรู้ เวลาไม่อยู่บ้าน
ปั๊มนมด้วยมือเก็บรักษาอย่างไรให้ดีที่สุด ?
การเก็บรักษานมแม่ ไม่ว่าจะจากการปั๊มนมด้วยวิธีไหนก็ตาม มีการเก็บที่เหมือนกัน นั่นคือเก็บในตู้เย็นตามปกติ โดยการเลือกช่องในการเก็บนั้น จะทำให้รักษาอายุของนมแม่ได้แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น
- เก็บน้ำนมแม้ไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดาที่ไม่มีของอื่นปน จะเก็บได้ประมาณ 5 วัน
- เก็บไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดา และมีสิ่งของอื่น ๆ วางปะปนอยู่ด้วย จะเก็บได้ประมาณ 2 – 3 วัน
- น้ำนมแม้ที่เก็บไว้ในตู้เย็นช่องแข็ง และไม่มีอาหารอื่นวางอยู่ด้วย จะเก็บได้ประมาณ 2 อาทิตย์
- นมแม่เก็บไว้ในตู้เย็นช่องแข็ง แต่มีอาหารอื่นปน จะเก็บได้ประมาณ 1-2 เดือน
นอกจากนี้หากคุณแม่ปั๊มนมด้วยมือไว้จำนวนเยอะ ๆ เมื่อจะนำออกมาให้ลูกกินอย่าลืมที่จะอุ่นก่อน และเรียงลำดับจากนมที่ปั๊มก่อน – หลังให้ดี เพื่อเลี่ยงการสูญเสียนมจากการหมดอายุโดยไม่จำเป็น
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
4 เรื่องที่ควรรู้ไว้ก่อนซื้อเครื่องปั๊มนม หลังคลอดเลือกซื้อเครื่องปั๊มนมแบบไหนดี
แนะนำ 8 เครื่องปั๊มนมไฟฟ้าที่ดีที่สุด ปี 2023 ตอบโจทย์คุณแม่ที่มีเวลาน้อย
คู่มือปั๊มนมสำหรับคุณแม่ อยากสะสมน้ำนม สต็อกน้ำนม จะเริ่มปั๊มนมเมื่อไหร่ดี
ที่มา : Sikarin, Nakornthon
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!