คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจจะกำลังสงสัยใช่ไหมครับว่า การที่เราจะสอนเด็ก ๆ แปรงฟันนั้น เราควรมีวิธีการสอนเด็ก ๆ อย่างไรบ้าง วันนี้คุณหมอจะมาตอบข้อสงสัย เกี่ยวกับปัญหาเรื่องฟันของเด็ก ๆ ที่พบบ่อย ทั้งปัญหา ลูกฟันผุดำ ลูกไม่ยอมแปรงฟัน พร้อมวิธี สอนลูกแปรงฟัน ด้วยเทคนิคง่าย ๆ และทางแก้เมื่อลูกกลัวหมอฟัน กันดีกว่าครับ
วิธีแปรงฟัน สอนลูกแปรงฟัน ทำอย่างไร?
สำหรับฟันลูกในช่วงฟันน้ำนม และฟันชุดผสม
- วางแปรงสีฟันขนนุ่มในแนวนอน หันขนแปรงเข้าหาตัวฟัน
- เริ่มแปรงจากทางด้านซ้ายไปขวา ให้แปรงวนตามเข็มนาฬิกา โดยเริ่มจากด้านบนฝั่งซ้าย ขยับมาด้านหน้า แล้วจึงไปด้านขวา แล้วจึงลงมาด้านล่างขวา วนมาด้านหน้าล่าง ไปจรดที่ด้านล่างซ้าย
- แปรงขยับสั้น ๆ ในลักษณะแปรงด้านหน้า และหลัง ซ้ายไปขวาในแนวนอน
- แปรงผิวฟันด้านนอก (ด้านแก้ม หรือ หน้าฟัน) ไปสู่ ด้านใน (ด้านลิ้นหรือ เพดาน ) ของฟัน ให้ครบทุกซี่ทั่วทั้งปาก
- แปรงส่วนที่บดเคี้ยว ด้านบนฟัน
- สุดท้ายคือการแปรงลิ้น เพื่อกำจัดคราบจากเศษอาหาร
ควรใช้เวลานานแค่ไหน ในการแปรงฟัน?
การแปรงฟัน 1 ครั้ง ควรจะใช้เวลาประมาณอย่างน้อย 2 นาที เพื่อการทำความสะอาดให้หมดจด และเป็นระยะเวลาที่ฟลูออไรด์จะเคลือบบนผิวฟันได้ดีทั่วทั้งปาก ออกฤทธิ์ป้องกันฟันผุได้ หากการจับเวลาในการแปรงฟันแต่ละครั้งจะทำให้ลูกน้อยของคุณรู้สึกอึดอัด และเป็นการกดดันสำหรับเด็ก อาจจะเปลี่ยนวิธีการจับเวลา เป็นการใช้เพลงในการแปรงฟัน อาจจะเป็นเพลงช้าง หรือเพลงแปรงฟันก็ได้เช่นกันครับ โดยสามารถดูเวลาจากการเล่นของเพลงประกอบกันไปได้
ควรบ้วนปากกี่ครั้ง
ในช่วงหลัง 2-3 ปีที่ผ่านมา องค์กรสุขภาพทั่วโลก มีการรณรงค์ เรื่อง “การแปรงฟันแห้ง” คือการแปรงฟันโดยไม่ต้องใช้น้ำ และบ้วนน้ำให้น้อยที่สุด หรือ เพียง 1 ครั้ง หลังแปรงฟัน หรือ ไม่บ้วนน้ำเลย แต่ใช้วิธีการบ้วนเฉพาะฟองออกแทน โดยไม่บ้วนน้ำตาม เพื่อคงปริมาณฟลูออไรด์ในช่องปากให้ได้มากที่สุดและนานที่สุด จะช่วยป้องกันฟันผุได้มากขึ้น
แต่หากลูกน้อยยังมีอายุต่ำกว่า 4-5 ปี ลูกจะยังควบคุมการกลืนเองไม่ได้ และ บ้วนปาก บ้วนน้ำเองไม่ได้ เท่ากับว่า ลูกแทบจะกลืนยาสีฟันไปทั้งหมดเลย การแปรงฟันร่วมกับการใช้ยาสีฟัน จึงควรระมัดระวังเป็นพิเศษ ในการเลือกซื้อยาสีฟันที่ปลอดภัย ไม่มีสารอันตราย ที่ลูกจะกลืนลงไป และบีบปริมาณขนาดยาสีฟันที่เหมาะสมกับช่วงอายุของลูกด้วย รวมถึงหลังแปรงฟันเสร็จ คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยเช็ดฟองออกจากปากให้ลูกด้วย หรือ คุณพ่อคุณแม่จะเลือกใช้ยาสีฟันแบบชนิดไม่มีฟอง ก็เป็นทางเลือกที่ช่วยให้แปรงฟันแห้งได้ สะดวกยิ่งขึ้นก็สามารถทำได้
หากลูกสามารถควบคุมการกลืนเองได้แล้ว คือช่วงอายุ ตั้งแต่ 4-5 ปีขึ้นไป หลังแปรงฟันแนะนำให้บ้วนปากให้น้อยที่สุด หรือ บ้วนเพียง 1 ครั้ง ก็พอ เพื่อให้ฟลูออไรด์อยู่บนผิวฟันได้นานขึ้น หรือ หากเลือกยาสีฟันแบบไม่มีฟอง สามารถการแปรงฟันแห้งได้เลย ไม่ต้องบ้วนปากเลย แค่เพียงถ่มน้ำลายเกินออกบางส่วน ก็จะยิ่งสะดวกมากขึ้น และควรบีบยาสีฟันตามปริมาณที่กำหนดของช่วงอายุอย่างเคร่งครัด
กรณีที่ใช้ยาสีฟันชนิดมีฟอง จำเป็นจะต้องบ้วนฟองออก จนกว่าฟองที่มีอยู่หมดไป ซึ่งยาสีฟันที่ใช้นั้น จำเป็นจะต้องเลือกยาสีฟันที่เหมาะสำหรับเด็ก ไม่ควรนำยาสีฟันของผู้ใหญ่ให้เด็กใช้ เนื่องจากฟันของเด็ก ยังคงเปราะบาง ในยาสีฟันของผู้ใหญ่จะมีผงขัดที่หยาบกว่า มีรสเผ็ดกว่า มีปริมาณฟลูออไรด์ที่มากเกินไปสำหรับเด็ก และอาจมีสารต่างๆผสมในยาสีฟัน ที่สามารถระคายเคืองต่อผิวเนื้อเยื่อรอบๆปากเด็กได้ ดังนั้นการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม จึงเป็นสิ่งสำคัญ
บทความที่เกี่ยวข้อง : เด็กต้องแปรงฟันตั้งแต่อายุเท่าไหร่ วิธีแปรงฟันให้ลูก เสริมรอยยิ้มสดใสให้ลูกน้อย
ฟันผุในเด็ก เกิดจากสาเหตุอะไร?
นอกจากการแปรงฟันที่ไม่ถูกวิธีแล้ว มีปัญหาอะไรบ้าง ที่เป็นสาเหตุสำคัญ ที่ส่งผลให้เด็กเล็กมีปัญหาฟันผุ ที่เราพบเจอกันบ่อยครั้ง? บางครั้งเราเรียกว่า “ฟันผุจากขวดนม” โดยในวัยเด็กนั้น ฟันน้ำนมผุเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งสามารถทำลายฟันแท้ที่จะขึ้นในอนาคตได้ แต่เราสามารถป้องกันได้ครับ รวมถึงการกินขนมหวาน น้ำหวาน น้ำผลไม้ต่างๆ ของเด็กที่มาก และถี่เกินไป ก็เป็นอีกสาเหตุสำคัญของการเกิดฟันผุเช่นเดียวกันครับ
อะไรเป็นสาเหตุของฟันน้ำนมผุจากขวดนม
- การที่ปล่อยให้เด็กหลับไปพร้อมขวดนมเมื่อเด็กนอนหลับ น้ำตาลที่อยู่ใน ของเหลวก็จะสะสมหมักหมม เคลือบอยู่รอบๆ ฟัน เปลี่ยนสภาพเป็นกรด ที่จะเป็นสาเหตุของฟันผุทั้งปากอย่างรุนแรงได้ ไม่ว่าจะเป็นน้ำนมแม่หรือ นมผงก็มีส่วนผสมของน้ำตาลที่ทำให้ฟันผุได้เช่นกัน
- ให้นมเด็กครั้งละนาน ๆ หรือให้เด็กหลับขณะยังทานนมอยู่(หลับคาขวดนม)
- ให้เด็กถือขวดนมเดินเล่น เดินกินตลอดเวลาทั้งวัน ก็ทำให้เด็กฟันผุทั้งปากรุนแรงได้เช่นกัน
ควรให้เด็กเข้านอนโดยไม่ต้องใช้ขวดนม และควรให้ลูกกินนมให้เสร็จก่อน จะแปรงฟันให้สะอาดและเข้านอน
ผลกระทบที่เกิดจากฟันน้ำนมผุ
- ฟันอาจต้องถอนออกไปก่อนเวลาอันสมควร
- เกิดปัญหาในการทานอาหาร ทำให้ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต และพัฒนาการที่ดี
- ทำให้ฟันล้ม ฟันแท้ซ้อนเก หรือ ฟันแท้ขึ้นไม่ได้เลย
- มีอาการปวดฟันมาก ทรมานและส่งผลต่อความเครียดและสุขภาพจิตใจของลูกได้
- อาจต้องได้รับการรักษาที่ซับซ้อนยุ่งยาก และมีค่าใช้จ่ายในการรักษาฟันที่สุงกว่าการอุดฟันปกติ
- มีภาพลักษณ์ที่ไม่ดี
- มีกลิ่นปากตลอดเวลา
- เด็กมีทัศนคติที่ไม่ดี อาจส่งผลให้เด็กกลัวการทำฟัน และการรักษาในอนาคต
วิธีป้องกันฟันน้ำนมผุ
- ฝึกให้ลูกเข้านอนโดยไม่มีนิสัยติดขวดนม
- อย่าให้ลูกนอนขณะที่ยังดื่มนม น้ำผลไม้ หรือน้ำหวานจากขวดนม แต่หากจำเป็นต้องให้ลูกหลับพร้อมขวดนมให้เติมน้ำเปล่าแทน
- ไม่อนุญาตให้เด็กเดินไปพร้อมถือขวดนมติดมือ กินนมหรือ น้ำผลไม้ น้ำหวานตลอดเวลาทั้งวัน
- สอนให้เด็กเล็กเริ่มใช้แก้วน้ำแทนขวดนมตั้งแต่อายุ 6-12 เดือน และเปลี่ยนจากขวดนม เป็นการใช้แก้วน้ำตอนอายุ 1 ปี
- ควรให้ลูกกินนมให้เสร็จก่อน แล้วจึงแปรงฟันให้สะอาด และเข้านอน โดยไม่อนุญาตให้ทานอะไรหลังแปรงฟันแล้วนอกจากน้ำเปล่าเท่านั้น
- ลดปริมาณและความถี่ การกินขนม และของหวาน น้ำหวานของลูก
- แปรงฟันให้สะอาดสม่ำเสมอด้วยยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์เพื่อเพิ่มการป้องกันฟันผุ
- พบทันตแพทย์ทุก 6 เดือนเพื่อตรวจสุขภาพฟัน
บทความที่เกี่ยวข้อง : CEO วัยรุ่นสร้างตัว อายุ 16 กับธุรกิจลูกอมปกป้องฟันผุ มูลค่าเกือบ 64 ล้านบาท !!
ลูกไม่ยอมแปรงฟัน หรือ ไม่ชอบแปรงฟัน สอนลูกแปรงฟัน
ในเบื้องต้นต้องปลูกฝังให้ลูกรักการแปรงฟัน เช่น ให้เด็ก ๆ ได้เลือกซื้อแปรงสีฟันเอง เหมือนกับที่ให้เลือกซื้อของเล่น หรือถ้ามียาสีฟันที่มีรสชาติแปลก ๆ ใหม่ ๆ ก็ลองให้ลูกเลือกซื้อดูเอง เด็กจะรู้สึกสนุกสนานไปกับการเลือกแปรงสีฟันและยาสีฟันรสต่าง ๆ เป็นการปลูกฝังให้รักการแปรงฟันและรู้จักดูแลการทำความสะอาดช่องปากไปขั้นพื้นฐานไปในตัว แปรงฟันให้ลูกและสอนให้ลูกแปรงฟันเองตั้งแต่ยังเล็ก เด็ก ๆ จะเคยชินกับการแปรงฟันเป็นประจำไปโดยปริยาย
แต่ยังไงคุณพ่อคุณแม่ก็ควรดูแลการแปรงฟันลูกอย่างใกล้ชิดเสมอ ในช่วงอายุก่อน 7 ขวบ การควบคุมกล้ามเนื้อมือในการแปรงฟัน ยังไม่สามารถทำได้ดีพอ รวมถึงลูกยังไม่ได้มีความใส่ใจและเข้าใจถึงความสำคัญของการแปรงฟันได้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรยังเป็นคนแปรงฟันให้ลูกอยู่ หรือ ให้ลูกแปรงเองได้ แต่ควรแปรงซ้ำอีกรอบให้ลูกเสมอ แต่สำหรับเด็กอายุ 7 ขวบขึ้นไป ที่สามารถแปรงฟันเองได้แล้ว คุณพ่อคุณแม่สามารถให้น้องแปรงเองได้แต่ต้องหมั่นคอยตรวจสอบ เช็คฟันหลังลูกแปรงดูว่า ยังมีคราบขี้ฟัน มีเศษอาหารหลงเหลือติดอยู่มั้ย หากมีควรแปรงซ้ำให้ลูกอีกรอบให้สะอาด
ลูกกลัวหมอฟัน
การที่ลูกกลัวหมอฟัน เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เด็กเกิดอาการฟันผุ เนื่องจาก ไม่ได้รับการดูแล และคำแนะนำจากทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทำให้เมื่อเกิดปัญหาของฟัน ตัวพ่อแม่ และตัวเด็ก ก็จะไม่ทราบถึงปัญหา กว่าจะรู้ตัวอีกที ก็ต่อเมื่อฟันของลูก เกิดอาการผุจนเกินเยียวยาไปซะแล้ว
ทุกครั้งที่คุณพ่อคุณแม่ไปพบทันตแพทย์ควรพาเด็ก ๆ ไปด้วย หรือขณะที่คุณพ่อหรือคุณแม่ทำฟันก็อาจลองอุ้มเด็ก ๆ ให้ดูขั้นตอนต่าง ๆ ผู้ปกครองส่วนมากน่าจะมาขูดหินปูน ตรวจสุขภาพฟันทุก ๆ 6 เดือนหรือปีละครั้งอยู่แล้ว
ทุก ๆ ครั้งที่คุณพ่อคุณแม่มาพบหมอก็อาจจะพาลูกมาด้วย ให้เด็ก ๆ ได้เห็นการทำความสะอาดฟัน การตรวจช่องปาก หรือการรักษาง่าย ๆ พวกเขาจะได้ทราบว่ามันไม่มีอะไรที่น่ากลัวเลย แต่การรักษาที่ดูรุนแรงขึ้นมาหน่อย เช่น การถอนฟัน ผ่าตัด ก็อย่าเพิ่งพาลูกมาดู อาจทำให้เด็ก ๆ กลัวได้
อายุเท่าไหร่ที่ควรพาลูกไปพบทันตแพทย์ ?
ทันตแพทยสภา แนะนำว่าควรพาลูกพบทันตแพทย์ได้ตั้งแต่ฟันซี่แรกขึ้น แต่ในช่วงแรกนั้น อาจจะยังไม่ได้ทำการรักษาอะไร แต่เป็นการเปิดโอกาสให้สร้างความคุ้นเคยให้กับลูก รวมถึงให้คุณพ่อคุณแม่ได้รับคำแนะนำ และสอบถามปัญหา เรื่องการดูแลสุขภาพช่องปากลูกที่ถูกต้อง
การพบหมอฟันครั้งแรก อาจจะแค่มี คุณหมอนอกห้องทำฟัน พูดคุยสร้างความรู้จัก สักถามประวัติ ให้ลูกมายิ้มโชว์ฟันให้ดูเฉย ๆ ก่อนว่ามีอะไรผิดปกติไหม อาจยังไม่ต้องมีการตรวจอย่างเป็นทางการถ้าไม่มีอะไรผิดปกติ หลังจากพูดคุยแล้ว พบว่า การประเมินความเสี่ยงในการเกิดฟันผุของลูก คุณหมอประเมินแล้วมีความเสี่ยงสูงอาจจำเป็นต้องมีการเคลือบฟลูออไรด์ เพิ่มเติมเพื่อป้องกันการเกิดฟันผุตั้งแต่ฟันขึ้นเลยก็ได้
สำหรับการเริ่มการรักษา ในช่องปากบางอย่างอาจเริ่มจากกระบวนการง่ายๆ เช่น เคลือบฟลูออไรด์ เคลือบหลุมร่องฟัน หากเด็กสามารถให้ความร่วมมือได้ดี ประมาณ 3-4 ขวบ อาจจะพอเริ่มทำได้บ้างแล้ว เพื่อสร้างความคุ้นเคยให้กับลูกเบื้องต้น และในระหว่างการตรวจเช็คฟันทุก 6 เดือน หามีการพบฟันที่ผุ ก็สามารถรีบอุดได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ตอนที่ยังไม่มีการลุกลามที่มากมายนัก
การดูแลฟันง่าย ๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ช่วยทำให้ลูกได้
การดูแลสุขภาพช่องปากง่าย ๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ช่วยทำให้ลูกได้ อย่างน้อยตั้งแต่อายุ 6 เดือน – 2 ปีแรก หากเป็นในช่วงที่ฟันยังขึ้นไม่ครบ ให้ใช้สำลีชุบน้ำต้มสุก ที่เย็นแล้วมาเช็ดที่เหงือกและฟันของลูกทุกครั้งที่มีการดื่มนมถ้าเป็นไปได้ หรือ อาจเช็ดสัก 2 ครั้งต่อวัน เช้า-เย็น หลังจากที่ฟันของเด็กขึ้นเต็มซี่แล้ว ถ้าผู้ปกครองสามารถแปรงฟันให้ลูกด้วยยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ วันละ 2 ครั้ง เช้า – เย็น เช่นเดียวกัน
5 ข้อในการให้เด็กเข้านอนโดยไม่ต้องใช้ขวดนม
- ให้เด็กถือผ้าห่ม ตุ๊กตาหมี ตุ๊กตาอื่น ๆ หรือของเล่นที่เขาชอบเข้านอนแทนขวดนม
- กล่อมให้เด็กหลับโดยการร้องเพลง หรือ เปิดเพลงเบา ๆ ให้เขาฟัง
- กล่อมให้เด็กหลับในอ้อมกอด
- ลูบหลังเด็กเพื่อให้เขารู้สึกผ่อนคลาย
- เล่านิทานก่อนนอนให้ฟัง
จากข้อมูลที่คุณหมอได้นำมาฝากคุณพ่อคุณแม่ในวันนี้ หวังว่าจะทำให้ใครหลาย ๆ คนคลายความกังวลขึ้นมาบ้าง หากไม่อยากให้เด็ก ๆ พบเจอกับปัญหาเหล่านี้ อย่าลืมรักษาและดูแลสุขภาพช่องปากของเด็ก ๆ กันด้วยนะครับ
ทพ.ณัฐภัทร ภัทรพรเจริญ ทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
อาหารที่เด็กกินแล้วเสี่ยงฟันผุ ! คุณแม่ควรพึงระวัง เพื่อไม่ให้เด็กสูญเสียฟัน !
เตรียมพร้อมแต่เนิ่น ๆ วิธีเลิกขวด ฝึกยังไงให้ลูกเลิกขวดนมได้ภายใน 1 ปีครึ่ง
เด็กต้องแปรงฟันตั้งแต่อายุเท่าไหร่ วิธีแปรงฟันให้ลูก เสริมรอยยิ้มสดใสให้ลูกน้อย
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!