เมื่อเข้าสู่ช่วงตั้งครรภ์เดือนที่ 9 เป็นช่วงสุดท้ายที่คุณแม่ตั้งครรภ์จะได้พบเจอลูกน้อย ซึ่งในช่วงนี้ทารกในครรภ์จะมีพัฒนาการที่สมบูรณ์ คุณแม่จึงต้องรู้จักวิธีรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและอาการต่าง ๆ เมื่อถึงเวลาใกล้คลอด วันนี้ theAsianparent พามาดู 100 สิ่งแม่ท้องต้องรู้ ตอนที่ 32 เช็กลิสต์แม่ท้อง ควรทำอายุครรภ์ 9 เดือน ต้องเช็กอะไรบ้าง มาดูกัน
ร่างกายของคุณแม่ท้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง
มาถึงเดือนสุดท้าย แม่ ๆ คงจะตื่นเต้นมาก ๆ เพราะใกล้จะเห็นหน้าลูกในท้องแล้ว พอใกล้คลอดทารกก็จะกลับหัวลงในท่าเตรียมคลอด ท้องจะลดต่ำลง ทำให้เกิดแรงกดที่กระเพาะปัสสาวะส่งผลให้คนท้องเข้าห้องน้ำบ่อย รวมถึงความแรงกดที่อุ้งเชิงกรานที่มากขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นแม่ท้องใกล้คลอดต้องเตรียมรับมือกับความเจ็บปวดที่ถาโถมเข้ามาในช่วงสุดท้ายให้ดีนะคะ แม่ ๆ อย่าลืมเช็กสัญญาณใกล้คลอดให้ดีนะคะ
- ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 34 เป็นต้นไป คุณแม่จะพบว่าตัวเองเริ่มได้รับสัญญาณบางอย่าง นั่นก็คือ มดลูกเริ่มหดรัดตัวเป็นก้อนแข็งนูนเป็นประจำ และมีจังหวะสม่ำเสมอ คุณแม่จะรู้สึกเกร็งที่ยอดมดลูก และค่อย ๆ คลายตัวลง แต่สบายใจได้ค่ะ นี่ยังไม่ใช่การเจ็บท้องคลอดจริง เพราะหากเกิดการคลอดขึ้นมาอีกหนึ่งสัญญาณที่ปรากฏขึ้นนั่นคือ การมีน้ำออกจากช่องคลอดนั่นเองค่ะ ซึ่งหากพบว่ามีสัญญาณนี้ด้วยก่อนกำหนดให้รีบไปโรงพยาบาลทันที
- ยอดมดลูกขยับขึ้นมาอยู่ในระดับสูงสุด สังเกตได้ชัดว่าจะอยู่ตรงใต้กระดูกสันอก ซึ่งผลกระทบที่ได้คือ คุณแม่จะรู้สึกว่าหายใจได้ลำบาก และมีอาการเจ็บชายซี่โครง
- ในเดือนนี้คุณแม่จะต้องไปพบคุณหมอทุกสัปดาห์ เพื่อตรวจอาการก่อนคลอดต่าง ๆ และการดูความพร้อมของทารกในครรภ์ รวมทั้งหากพบความผิดปกติในการคลอดใด ๆ คุณหมอก็จะแจ้งให้คุณแม่ทราบทันทีค่ะ
- เมื่อเข้าสัปดาห์ที่ 37 ทารกจะเริ่มเคลื่อนส่วนนำ (ศีรษะ) มาอยู่ตรงอุ้งเชิงกราน ทำให้คุณแม่รู้สึกโล่งที่ชายโครง
บทความที่เกี่ยวข้อง : 100 สิ่งแม่ท้องต้องรู้ ตอนที่ 23 อาการคนตั้งครรภ์ 9 เดือน การตั้งครรภ์เดือนที่ 9
- เมื่อเข้าสัปดาห์ที่ 38 ก่อนที่มดลูกจะหดรัดตัวเป็นการเจ็บครรภ์คลอดจริง คุณแม่ก็จะได้รู้สึกถึงอาการเจ็บครรภ์เตือน ที่เป็นการเจ็บเตือนที่แรงประมาณเดียวกับการเจ็บครรภ์คลอดจริงเลยล่ะค่ะ
- เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 39 ปากมดลูกเตรียมพร้อมแล้วสำหรับการคลอด คุณแม่จะรู้สึกหนักที่กระเพาะปัสสาวะนั่นเกิดจากการกดทับจากทารก และมดลูกมีการหดรัดตัวแรงขึ้นเมื่อคุณแม่เคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งการหดรัดตัวของมดลูกนี้จะเป็นจังหวะสม่ำเสมอและบ่อย นี่ถือเป็นสัญญาณเตือนการคลอดจริงที่กำลังจะเกิดขึ้น หากยังอยู่ที่บ้าน ควรสังเกตว่าร่างกายมีสัญญาณอื่น ๆ ด้วยหรือเปล่า ได้แก่ ถุงน้ำคร่ำแตก
- อายุครรภ์ครบกำหนดคลอดทารกมีความสมบูรณ์เต็มที่ จะอยู่ในระหว่าง 37 ถึง 41 สัปดาห์ และหากอายุครรภ์ 42 สัปดาห์ขึ้นไป ถือเป็นการตั้งครรภ์ที่เกินกำหนด ซึ่งเสี่ยงต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ ปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้แก่ รกเสื่อม น้ำคร่ำลดน้อยลง เมื่อมดลูกหดรัดตัวก็จะเป็นผลให้ทารกในครรภ์ขาดออกซิเจน ซึ่งถือเป็นภาวะอันตรายที่เสี่ยงมากต่อชีวิต
- เมื่ออยู่ในห้องคลอดคุณแม่ควรควบคุมการหายใจของตัวเองให้ดี มีสมาธิอยู่ที่ลมหายใจระหว่างที่มีอาการมดลูกหดรัดตัวเป็นก้อนนูนแข็ง จะช่วยให้คุณแม่ควบคุมตัวเองจากการเจ็บท้องคลอดได้ดี
เช็กลิสต์แม่ท้อง 9 เดือน
- อย่าลืมเตรียมชุดกลับบ้าน สำหรับลูก โดยอาจจะเลือกผ้าห่อตัวสำหรับทารก อย่าลืมหมวกด้วยนะคะ!
- ตั้งชื่อลูก หรือยังคะ แม่ ๆ อย่าลืมเลือกชื่อลูกที่เหมาะกับลูก ไม่ว่าจะเป็นชื่อเล่น หรือ ชื่อจริง อย่าลืมกันนะคะ
- เตรียมเอกสาร เตรียมคลอด เมื่อถึงวันสำคัญจะได้ไม่ต้องทำอะไรแบบกะทันหัน
- จัดกระเป๋าเตรียมคลอด เช่น เสื้อผ้าสำหรับเปลี่ยน อุปกรณ์อาบน้ำ อาหาร สายชาร์จแบตโทรศัพท์
- ความปลอดภัยของลูก เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะฉะนั้นอย่าลืมติดตั้งคาร์ซีตไว้ในรถเพื่อให้ลูกปลอดภัยนะคะ
- อย่าลืมกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อลูกน้อยในครรภ์แม้กระทั่งในไตรมาสสุดท้าย
- อาหารที่แม่ท้อง 9 เดือน ควรเตรียม คืออาหารที่สามารถแช่แข็งและสามารถอุ่นทานได้นะคะ
- อย่าลืมเตรียมอาหารที่จะช่วยเรียกน้ำนมด้วยนะคะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : อาหารบำรุงคุณแม่ตั้งครรภ์ เดือนที่ 9 ตั้งครรภ์ 9 เดือนต้องกินอะไรบ้าง?
สัญญาณคลอด เจ็บท้องเตือนเดือนสุดท้าย
1. เจ็บท้องเตือนไตรมาสสุดท้าย
คุณแม่จะมีความรู้สึกว่าท้องแข็งเกร็งเป็นระยะ แต่อาการดังกล่าวไม่ถึงกับเจ็บปวดรุนแรง เพียงแต่จะรู้สึกแน่น ๆ และอึดอัด แต่ไม่เจ็บมากและเจ็บไม่นาน ครั้งละประมาณ 25 วินาที มักจะเกิดขึ้นเป็นช่วง ๆ หากได้นั่งหรือนอนในท่าสบาย ๆ อาการนี้ก็จะทุเลาลงและรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น
2. เจ็บท้องเตือนก่อนคลอด
อาการจะแตกต่างจากเจ็บท้องเตือนในช่วงระยะเวลาท้องในไตรมาสสุดท้ายที่มักจะเป็น ๆ หาย ๆ การเจ็บท้องเตือนก่อนคลอดจะเกิดขึ้นก่อนประมาณหนึ่งสัปดาห์ก่อนถึงกำหนด คลอด ถือเป็นการอุ่นเครื่องก่อนจะเจ็บจริง อาการนี้มักจะเจ็บถี่ขึ้นเพื่อเป็นสัญญาณในการเตรียมพร้อมของร่างกาย คุณแม่ต้องเริ่มคอยสังเกตอาการที่เกิดขึ้นในระยะนี้
3. มีมูกเลือดไหลออกมาทางช่องคลอด
มูกเลือดที่ว่านี้เกิดจากร่างกายสร้างขึ้นเพื่อปิดปากมดลูกไว้เพื่อป้องกันไม่ ให้เชื้อโรคเข้าไปในมดลูกในระหว่างตั้งครรภ์ ถือเป็นปราการด่านแรกที่ปกป้องเจ้าตัวน้อยในครรภ์ เมื่อถึงช่วงเวลาใกล้คลอดเจ้ามูกเลือดนี้จะหลุดออกมาก่อน และอาจมีเลือดผสมออกมา เนื่องจากเกิดการแตกของเส้นเลือดเล็ก ๆ บริเวณปากมดลูก อาการแบบนี้เรียกว่าปากมดลูกเปิดแล้ว รีบคว้ากระเป๋าไปพบคุณหมอได้เลยค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : มูกปนเลือด ระหว่างตั้งครรภ์อันตรายไหม? เกิดจากอะไร?
4. น้ำเดิน หรือ ที่เรียกกันว่าถุงน้ำคร่ำแตก
น้ำที่ออกมาจะเป็นลักษณะใส ๆ คล้ายน้ำปัสสาวะ อาการถุงน้ำคร่ำแตกแสดงถึงมดลูกเริ่มบีบตัวหดเล็กลงเพื่อบีบให้ศีรษะของเด็ก เคลื่อนลงสู่อุ้งเชิงกราน หากคุณแม่เกิดอาการแบบนี้แล้ว ควรรีบไปโรงพยาบาลด่วน เพราะเป็นสัญญาณสำคัญของการคลอดที่กำลังจะมาถึง
5. การเจ็บท้องจริง
คุณแม่จะรู้สึกเจ็บเป็นระยะต่อเนื่องและถี่ขึ้น อาการเจ็บท้องจริงจะคล้ายกับตอนที่เจ็บท้องมีประจำเดือน แต่จะเริ่มปวดถี่แรงขึ้นเป็นจังหวะ การปวดระยะแรกจะนานประมาณ 1-2 นาที และจะเกิดในทุก ๆ 10-15 นาที หลังจากนั้นจะเริ่มปวดกระชั้นเข้ามาทุก 5 นาที อาการแบบนี้คุณแม่เตรียมหิ้วกระเป๋าไปพบคุณหมอได้แล้วค่ะ เพราะนี่คือการส่งสัญญาณในการลืมตาดูโลกของเจ้าตัวน้อยนั่นเอง
ช่วงใกล้คลอด การเช็กลิสต์สิ่งที่แม่ท้องควรทำจะช่วยให้คุณแม่ได้เตรียมตัวและวางแผนสำหรับการคลอดเจ้าตัวน้อยได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังช่วยให้คุณแม่ได้ศึกษาข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย และพัฒนาการของลูก ดังนั้น อย่าลืมไป เช็กลิสต์แม่ท้อง ควรทำอายุครรภ์ 9 เดือน กันดูนะคะ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องตื่นตัวเมื่อถึงเวลาคลอดลูก
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
พัฒนาการการตั้งครรภ์ 9 เดือนของหนูในท้องแม่ ระยะตั้งครรภ์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
9 เดือนเท่ากับกี่สัปดาห์ ท้องกี่เดือน นับวันตั้งครรภ์ นับอายุครรภ์อย่างไรถึงจะถูก
การตั้งครรภ์ 1-9 เดือน ของหนูในท้องแม่ พัฒนาการทารกในครรภ์ตลอด 40 สัปดาห์
ที่มา : mamastory.net
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!