สารอาหารในน้ำนมแม่ 100 สิ่งที่คุณแม่หลังคลอดต้องรู้ ตอนที่ 47

คุณแม่ทราบไหมคะว่า สารอาหารในน้ำนมแม่ มีประโยชน์ต่อลูกน้อยมาก วันนี้เรามาดูกันค่ะ ว่า สารอาหารในน้ำนมแม่ มีอะไรบ้าง และมีประโยชน์ต่อลูกอย่างไร
สารอาหารในนมแม่ที่ดีต่อสมองลูก
- เอ็มเอฟจีเอ็ม (MFGM)
สารอาหารสมองในน้ำนมแม่ที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบล่าสุดว่า เมื่อกรดไขมันทุกชนิดรวมทั้งดีเอชเอและเออาร์เอ ถูกผลิตออกมาจากต่อมผลิตน้ำนม จะถูกห่อหุ้มด้วยเยื่อบางๆ เรียกว่า MFGM (Milk Fat Globule Membrane) ซึ่งนับเป็นสารอาหารในน้ำนมแม่ ที่อุดมไปด้วยโปรตีนและไขมันกว่า 150 ชนิด ทำหน้าที่ช่วยสร้างปลอกไขมันหุ้มเส้นใยสมอง (Myelin Sheath) เพิ่มประสิทธิภาพการส่งสัญญาณประสาท เชื่อมต่อระหว่างเซลล์สมอง
- ดีเอชเอ (DHA หรือ Docosahexaenoic Acid)
สารอาหารในน้ำนมแม่ที่เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดโอเมก้า 3 เป็นส่วนประกอบสำคัญของไขมันในสมองและจอประสาทตา ซึ่งลูกจะได้รับโดยตรงจากน้ำนมแม่ ที่สำคัญ DHA ในน้ำนมแม่ยังเพิ่มขึ้นตามปริมาณอาหารที่คุณแม่รับประทานด้วย
- ทอรีน (Taurine)
สารอาหารในนมแม่ที่ช่วยบำรุงสมองและช่วยพัฒนาเรื่องการมองเห็นของลูกได้ดี
- แลคโตเฟอร์ริน (Lactoferrin)
โปรตีนที่ย่อยได้ง่ายกว่าโปรตีนในนมผสม ทนต่อกรดในกระเพาะอาหาร และยังมีคุณสมบัติพิเศษ คือ จับกับธาตุเหล็กในลำไส้ได้ ทำให้แบคทีเรียซึ่งต้องใช้โมเลกุลของธาตุเหล็กอิสระช่วยในการเจริญเติบโตไม่ สามารถเติบโตต่อได้ จึงช่วยปกป้องลูกจากการติดเชื้อ
- ไลโซไซม์ (Lysozyme)
เป็นเอนไซม์ที่มีในน้ำนมแม่มากกว่านมวัวถึง 3,000 เท่า มีฤทธิ์ย่อยสลายผนังเซลล์ของเชื้อแบคทีเรียตัวร้าย ทำให้เชื้อตาย แถมยังเติมลงในนมผงไม่ได้ เพราะเอนไซม์ต่างๆ จะถูกทำลายด้วยความร้อนในขั้นตอนที่นำนมผงไปฆ่าเชื้อก่อนบรรจุกระป๋องด้วย
สารอาหารสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันเชื้อโรค

สารอาหารในน้ำนมแม่
- โปรตีน
ในน้ำนมแม่จะประกอบด้วยโปรตีนที่เรียกว่า เวย์ (Whey) และเคซีน (Casein) โดยจะพบเวย์ในปริมาณที่มากกว่าเคซีน ซึ่งโปรตีนที่พบในน้ำนมแม่เป็นชนิดที่ย่อยง่าย เต็มไปด้วยสารภูมิคุ้มกัน และไม่พบในนมผงทั่วไป เช่น
- แลคโตเฟอร์ริน (Lactoferrin)
เป็นสารภูมิต้านทานโรคที่ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินอาหารที่ใช้ธาตุเหล็กในการเจริญเติบโต
สารภูมิต้านทานหรือแอนติบอดี ชนิด IgA (Secretory IgA) ช่วยป้องกันการติดเชื้อของไวรัสและแบคทีเรีย โดยพบสารภูมิต้านทาน ชนิด IgG และ IgM อีกด้วย
- ไลโซไซม์ (Lysozyme)
เป็นเอนไซม์ช่วยต่อต้านการติดเชื้อ อย่างเชื้ออีโคไล (E. Coli) และซาลโมเนลลา (Salmonella) ที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย และยังช่วยเพิ่มจำนวนเชื้อแบคทีเรียชนิดดีที่อยู่ในร่างกาย
- ไบฟิดัส แฟคเตอร์ (Bifidus Factor)
เป็นสารกระตุ้นการเจริญเติบโตของแลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยจะช่วยปรับสภาวะให้มีความเป็นกรด เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นอันตราย
ไขมัน เป็นอีกส่วนที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตหลายด้านของทารก ตั้งแต่การดูดซึมวิตามินที่ละลายในไขมัน เสริมสร้างสมอง จอตา และระบบประสาท อีกทั้งยังเป็นแหล่งพลังงานหลักของทารกอีกด้วย
- วิตามิน
ในน้ำนมแม่มีวิตามินอยู่หลายชนิด เช่น วิตามินเอ วิตามินดี วิตามินอี วิตามินเค วิตามินซี กรดแพนโทเทนิก (Pantothenic Acid) หรือวิตามินบี 5 ซึ่งปริมาณและชนิดของวิตามินที่ทารกได้รับจะขึ้นอยู่กับสิ่งที่คุณแม่รับประทานเข้าไป
- คาร์โบไฮเดรต น้ำตาลแลคโตส (Lactose)
เป็นสารคาร์โบไฮเดรตหลักในน้ำนมแม่ โดยมีอยู่ประมาณ 40% ของพลังงานทั้งหมด ซึ่งมีส่วนช่วยในการลดจำนวนแบคทีเรียชนิดที่เป็นอันตรายต่อร่างกายและเพิ่มแบคทีเรียชนิดดีในทางเดินอาหาร ทำให้ทารกไม่ป่วยง่าย รวมไปถึงช่วยเพิ่มการดูดซึมแคลเซียม ฟอสฟอรัส และแมกนีเซียม
น้ำนมแม่ป้องกันโรค
- ป้องกันภูมิแพ้
สำหรับลูกวัยทารก น้ำย่อยอาหารในกระเพาะลำไส้ยังทำงานไม่เต็มที่ อีกทั้งภูมิคุ้มกันที่คอยดักจับสารแปลกปลอมในร่างกายก็ยังพัฒนา ไม่ดีพอ โปรตีนแปลกปลอมจึงมีโอกาสเล็ดลอดเข้าไปกระตุ้นให้เกิดภูมิแพ้ได้ง่าย แต่ในนมแม่ นอกจากจะมีโปรตีนชนิดที่ทำให้ไม่เกิดการแพ้แล้ว ยังมีสารภูมิคุ้มกันที่จะไปเคลือบเยื่อบุลำไส้ ทำให้ไม่แพ้ด้วย
- ป้องกันแบคทีเรีย
ในน้ำนมแม่มี Bifidus Growth Factor เป็นสารอาหารในน้ำนมแม่ที่ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเชื้อแล็กโตบาซิลลัส (ซึ่งไม่มีในน้ำนมวัว) ซึ่งเป็นเชื้อที่ช่วยให้เกิดกรดอินทรีย์ในลำไส้ ทำให้แบคทีเรียชนิดร้ายอยู่ไม่ได้ นอกจากนี้ แลคโตสในน้ำนมแม่เองก็ยังเปลี่ยนเป็นกรดแลกติก ที่ช่วยให้ลำไส้มีสภาพเป็นกรดจนแบคทีเรียไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้อีกแรงหนึ่งด้วย
- ช่วยในเรื่องขับถ่าย
นมแม่เป็นอาหารธรรมชาติ สะอาด และย่อยง่าย ทั้งยังมีสารที่ช่วยให้ลำไส้แข็งแรง มีสารช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ชนิดดีที่ไม่ก่อให้เกิด โรคในลำไส้ ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคที่ทำให้เกิดท้องเสีย และช่วยลดโอกาสการติดเชื้อในลำไส้ลงได้มากลูกน้อยที่กินนมแม่ นอกจากจะไม่มีปัญหาท้องผูกแล้ว ยังมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดท้องเสียน้อยลงด้วย
- ช่วยในเรื่องอารมณ์และจิตใจ
การให้นมแม่แต่ละครั้งแม่จะต้องโอบกอดลูกแนบอก ความสุขใจ ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความอบอุ่น จะถูกปลูกฝังไว้ในจิตใจลูกตั้งแต่วัยแรกเริ่มของชีวิต ช่วยให้เด็กเติบโตขึ้นอย่างมีความมั่นคงทั้งทางอารมณ์ และจิตใจ
ที่มา : https://www.pobpad.com
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง :
10 วิธีเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ลูก ลูกจะไม่ป่วยบ่อยอีกต่อไปเเล้ว