บางสัญญาณของคนท้องนั้นอาจจะบ่งบอกถึงอันตรายได้ อาการที่น่าเป็นห่วงมีอะไรบ้าง? ถึงแม้ว่าบางอาการจะเหมือนอาการปกติของคนท้องก็ตาม แต่ถ้าอาการเหล่านั้นดูรุนแรง และ ยาวนานมากขึ้น หรือมีอาการอื่นแทรกซ้อนก็จะทำให้อาการของคนท้องยิ่งอันตรายมากขึ้น theAsianparent Thailand ชวนมาดู สัญญาณอันตรายระหว่างตั้งครรภ์ อาการแบบไหนควรไปพบแพทย์?
สัญญาณอันตรายระหว่างตั้งครรภ์
สัญญาณอันตรายระหว่างตั้งครรภ์ อาการแบบไหนควรไปพบแพทย์?
ลูกดิ้นน้อยลง
โดยปกติแล้ว คนท้องควรสังเกตการเคลื่อนไหวของลูกในท้องอยู่เสมอ เด็กบางคนดิ้นมากตอนกลางคืน บางคนดิ้นมากในตอนกลางวัน ซึ่งปกติทารกในครรภ์จะเริ่มดิ้นเมื่ออายุครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไป และเมื่อถึง 28 สัปดาห์ แม่ท้องก็จะรู้สึกการดิ้นที่มากขึ้น โดยแม่ท้องบางคนอาจจะรู้สึกเป็นการเตะ ถีบ หรือ การขยับของแขนและขา การที่หมอให้นับจำนวนครั้งของการดิ้นนั้นเป็นการประเมินสุขภาพครรภ์ของแม่เบื้องต้น สามารถประเมินได้ด้วยตัวของคุณแม่เอง และหากแม่ท้องรู้สึกว่าวันนี้ลูกดิ้นน้อย หรือ ไม่ดิ้นเลยควรจะไปพบแพทย์เพื่อหาความผิดปกติของทารกในครรภ์ ถึงแม้ว่าลูกจะดิ้นน้อยลงช่วงที่แม่ท้องแก่
แต่จำนวนครั้งที่คุณแม่นับได้ตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงหัวค่ำก็ไม่ควรต่ำกว่า 10 ครั้ง เพราะเมื่อไหร่ที่ลูกดิ้นน้อยเป็นสัญญาณเตือนอันตรายแล้ว คุณแม่ต้องรีบไปหาหมอทันที เพราะถ้าลูกหยุดดิ้นเกิน 12 ชั่วโมงขึ้นโอกาสที่ลูกจะเสียชีวิตก็มากขึ้น
ปวดท้องน้อย
อาการปวดท้องน้อย จะแบ่งออกเป็นสองส่วน ในช่วงแรก กับ ช่วงหลัง ช่วงแรกของอาการปวดท้องน้อยจะเกิดขึ้นจากการที่มดลูกของคุณแม่ตั้งครรภ์ขยายตัว มีอาการตึงๆ ปวดๆ มีอาการปวดทั่ว แต่ไม่ตลอด มีอาการปวดเป็นบางครั้งแต่ไม่ตลอดไป เช่น หากสมมุติมีอาการปวดด้านใดด้านหนึ่ง ปวดตลอด และ ปวดมากขึ้นเรื่อยๆ มีอาการไข้ร่วมด้วย ให้คุณแม่ตั้งครรภ์ ระวังในช่วงแรกและช่วงหลังของการตั้งครรภ์ โดยให้ระวังว่าจะมีอาการซีสต์ที่รังไข่ แล้วเกิดลักษณะบิดขั้ว หรือ เป็นไส้ติ่งอักเสบ รวมถึงอาการท้องนอกมดลูก ก็เป็นลักษณะที่เกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นคุณแม่ตั้งครรภ์ ต้องระวังในช่วงแรก
และการปวดท้องใน่ช่วงหลัง คือ การเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด และ ที่พบได้บ่อย คือ อาการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ รวมถึงกระเพาะปัสสาวะ ท่อไต กรวยไตอักเสบ ซึ่งหากแม่ตั้งครรภ์ปวดท้องน้อย ให้มาหาแพทย์เพื่อรีบหาสาเหตุว่าเกิดขึ้นจากอะไร เกิดขึ้นจากมดลูกแข็งตัว หรือว่าเกิดจากการติดเชื้อ ถ้ามีอาการปวดท้องน้อยเพื่อรักษาตามสาเหตุ
อาการเลือดออก
สัญญาณอันตรายระหว่างท้อง
อาการเลือดออกสำหรับแม่ท้องนั้นถือเป็นสัญญาณอันตราย ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเขื้อในช่องคลอด การติดเชื้อในปากมดลูก การมีภาวะรกเกาะต่ำ หรือมีภาวะการเจ็บครรภ์คลอด โดยสิ่งเหล่านี้สามารถทำให้เกิดภาวะเลือดออกทางช่องคลอดได้ สิ่งสำคัญคือ หากพบว่าเลือดออกทางช่องคลอดไม่ว่าจะท้องกี่เดือน ก็ควรจะไปพบแพทย์ทันที เพราะจะได้หาสาเหตุที่แท้จริงของอันตรายที่เกิดขึ้น เพราะอาการเลือดออกทางช่องคลอดสำหรับคนท้องถือว่าเป็นเรื่องอันตรายมากไม่ว่าคุณแม่จะตั้งท้องอยู่ในไตรมาสไหนก็ตาม
อย่างในไตรมาสแรกอาจเกิดจากการตั้งครรภ์นอกมดลูก โดยอาการที่คุณแม่จะรับรู้ได้คือ ปวดท้องอย่างหนัก คลื่นไส้และอาเจียน มึนเวียนศีรษะ และไม่มีแรง สำหรับในช่วงไตรมาสที่ 2-3 เกิดจาก รกต่ำ รกลอกตัวก่อนกำหนด และการคลอดก่อนกำหนด ส่วนใหญ่คุณแม่จะรู้สึกปวดท้อง เจ็บหน่วงๆ เพราะ แม่ท้องมีเลือดออก สามารถเป็นอันตรายได้
แพ้ท้องอย่างรุนแรง
โดยปกติแล้วแม่ท้องทุกคนมีอาการแพ้ท้องได้ แต่หากแพ้ท้องมากเกินไป กลืนน้ำลายยังไม่ได้ แพ้ท้องจนแทบคลานกับพื้น หากมีอาการแบบนี้ควรจะไปพบแพทย์ เพื่อเช็คว่าทำไมถึงมีฮอร์โมนสูงผิดปกติ เช่น แม่ท้องมีลักษณะท้องแฝดหรือไม่ การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุ โดยการท้องแบบนี้จะทำให้มีฮอร์โมนสูง อาการแพ้ท้องที่พบได้บ่อยคือ คลื่นไส้ อาเจียน พะอืดพะอม เบื่ออาหาร เหม็นอาหาร แต่ในช่วงก่อนตั้งครรภ์ไม่มีอาการแบบนี้ นั่นคือลักษณะของการแพ้ท้อง โดยเมื่ออายุครรภ์มากขึ้นเกิน 14 สัปดาห์ ฮอร์โมนของการตั้งครรภ์ได้ระดับ อาการแพ้ท้องเหล่านี้จะหายไปเองธรรมชาติ ส่วนอาการที่มีความผิดปกติคือ คลื่นไส้ อาเจียนมาก จนไม่สามารถทานอาหารได้ น้ำหนักลด มีอาการขาดสารอาหาร ขาดน้ำ มีอาการใจสั่น ปัสสาวะน้อย ควรไปพบแพทย์ทันที
น้ำเดิน
น้ำเดิน คือ การที่มีน้ำใสๆ คล้ายน้ำปัสสาวะ ไหลออกมาทางช่องคลอด ซึ่งเป็นการแสดงว่า ถุงน้ำคร่ำแตกรั่ว โดยจะไม่เป็นมูก หรือว่าตกขาว ดังนั้นเมื่อมีอาการน้ำเดิมแม่ท้องควรรีบไปพบแพทย์ เพราะหากทิ้งไว้ เชื้อโรคอาจลุกลามเข้าไปในโพรงมดลูกจนทำให้เกิดการติดเชื้อได้ ส่งผลให้แม่ และลูกอาจจะเกิดอันตรายถึงชีวิตได้
มีไข้
สัญญาณอันตรายที่แม่ท้องต้องระวังอีกอย่างคือการมีไข้ เพราะเมื่อตั้งครรภ์ ภูมิต้านทานของร่างกายจะต่ำลง อาจจะมีการติดเชื้อได้ง่ายมากขึ้น โดยช่วงที่ต้องระวังในเรื่องของการเป็นไข้ คือ ไตรมาสแรก กับ ไตรมาสสาม ซึ่งอาการมีไข้ ผื่น หรือ หัดเยอรมัน ใน่ชวงไตรมาสแรกอาจจะทำให้ลูกน้อยในครรภ์เกิดความปกติ หรือ สามารถพิการได้ ปากแหว่ง เพดานโหว่ง หรือ แขนขามีการผิดรูป ส่วนไข้ที่เกิดขึ้นจากกรวยไตอักเสบ ท้องปัสสาวะอักเสบ ไข้หวัดใหญ่ มีอาการไข้ ปอดติดเชื้อ ก็อาจส่งผลให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดได้
ตกขาวเพิ่มขึ้น
การเป็นตกขาวในช่วงตอนท้อง ถือเป็นเรื่องธรรมชาติของผู้หญิงทุกคน โดยอาจจะเป็นได้ตั้งแต่ช่วงยังไม่ท้อง เนื่องจาบริเวณช่องคลอดและปากมดลูกนั้น จะมีการสร้างสารคัดหลั่งเพื่อหล่อเลี้ยง และ หล่อลื่นช่องคลอด โดยลักษณะและปริมาณของการตกข่าวนั้นจะเปลี่ยนแปลงไปตามรอบประจำเดือน ซึ่งเป็นผลมาจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไป โดยลักษณะของตกขาวนั้นเป็นปกติ จะเป็นมูกใสหรือขาวขุ่นคล้ายแป้งเปียก มีปริมาณไม่มากโดยอาจจะมีทุกวัน วันละน้อย โดยหากแม่ท้อง มีอาการแสบร้อน มีอาการคัน หรือหากตกขาวมีกลิ่นแปลกๆ นั้นอาจจะมีการติดเชื้อเกิดขึ้นได้
เป็นตะคริว
สัญญาณอันตรายระหว่างท้อง
การเปิดตะคริวในช่วงท้องระหว่างการตั้งครรภ์นั้นเป็นเรื่องปกติ ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน เนื่องจากร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมากระหว่างการตั้งครรภ์ กล้ามเนื้อนั้นอาจจะไม่ยืดหยุ่นเหมือนเดิม หากแม่ท้องมีเลือดออกกระปริบกระปรอยร่วมกับอาการตะคริว ควรไปพบแพทย์เพื่อปรึกษา แม้ว่าจะมีเลือดออกเล็กน้อยแต่อาการเหล่านี้สามารถเป็นสัญญาณที่บอกว่าอาจจะเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกหรือภาวแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจจะเป็นอันตรายได้
อาการบวม
อาการบวม สามารถเกิดจากโรคพิษแห่งครรภ์ จะพบได้กับแม่ท้องที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นความดันโลหิตสูง คุณแม่ที่เป็นเบาหวาน และคุณแม่ที่ท้องแฝด สำหรับอาการที่ควรรีบไปพบแพทย์คือ คุณแม่จะมีอาการบวดตั้งแต่หลังเท้า มือบวม นิ้วบวม ปวดหัว และ สายตาพร่ามัว โดยเฉพาะอาการปวดศีรษะบริเวณหน้าผากและท้ายทอย บางรายอาจมีอาการบวมบริเวณใบหน้าหรือแขนขาร่วมด้วย หากมีอาการดังกล่าว ควรไปพบแพทย์เพื่อรักษาทันที
มีอาการคันที่รุนแรงอย่างต่อเนื่อง
หากแม่ท้องมีอาการคันหนักมากจนถึงรู้สึกว่าคันผิดปกติ โดยเฉพาะที่มือและเท้า ในไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ นั้นอาจเป็นอาการแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับตับ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ทารกคลอดก่อนกำหนด และ ได้รับอันตราย เพราะน้ำอาจเข้าไปปะปนในกระแสเลือดทำให้เกิดอาการคันอย่างมาก จนทำให้นอนไมหลับ ขาดสมาธิ ควรไปพบแพทย์เพื่อติดตามอาการของคุณแม่อย่างใกล้ชิดในช่วง 37-38 สัปดาห์
ปัสสาวะน้อย หรือ ปัสสาวะแล้วแสบ
แม่ท้องที่มีอาการปัสสาวะน้อย หรือ ปัสสาวะแล้วแสบนั้น ต้องระมัดระวัง โดยทั่วไปแล้วคนท้องนั้นจะสังเกตโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้ยาก เนื่องจากอาการของโรคนี้ไม่ต่างจากคนท้องทั่วไป คือ รู้สึกหน่วงบริเวณกระเพาะปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อย ปวดหลัง แต่หากมีการปัสสาวะน้อยและปัสสาวะแล้วแสบที่อวัยวะเพศแม่ท้องควรจะไปพบแพทย์ เพราะอาจจะบ่งบอกว่า แม่ท้องอาจจะมีอาการติดเชื้อที่ไต หรือ มีภาวะกรวยไตอักเสบ ซึ่งสามารถส่งผลให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด
การป้องกันและการรักษาภาวะแทรกซ้อน
ถึงแม้ว่าแม่ท้องจะมีสุขภาพ ไม่มีโรคประจำตัว แต่การพบแพทย์ในช่วงตั้งครรภ์ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อปรึกษา และตรวจสุขภาพอย่างละเอียด โดยวิธีดูแลตัวในช่วงตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย
- รับประทานวิตามินโฟลิค (โฟเลต) 4-5 มิลลิกรัมต่อวัน ตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ ตลอดจนคลอด
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรค
- รับประทานให้ครบ 5 หมู่ ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน วิตามิน เกลือแร่ และไขมัน โดยให้อยู่ในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกายทุกวัน
- งดอาหารหมักดอง
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทุกชนิดไม่ว่าจะเป็น ยาดอง เหล้า รวมถึงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ
- งดอาหารรสจัด เช่น หวานจัด เค็มจัด เปรี้ยวจัด เผ็ดจัด
- ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ
- พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่หักโหมทำงานหนักมากเกินไป
- ออกกำลังกายอย่างถูกวิธีและเหมาะสม
- กินยาบำรุงตามแพทย์สั่ง ในส่วนของอาหารเสริมและยาตัวอื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง
- เมื่อมีอาการผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ทันที
- งดการสูบุหรี่
Source : โรงพยาบาลพญาไท
บทความอื่นๆที่น่าสนใจ :
คนท้องกินปลาร้าได้ไหม เกิดอะไรขึ้นกับคนท้องที่กินปลาร้า ไปดูกรณีตัวอย่าง
ทารกคว้าสายชาร์จเข้าปาก ไฟฟ้าช็อตทารกวัย 11 เดือน ชักตาตั้ง อุทาหรณ์คนเลี้ยง!
สุดยื้อ! หนูน้อยวัยขวบเศษ คว้าลูกบอลไฟฟ้าเข้าปาก พลาดติดคอ ดับอนาถ!
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!