ในระหว่างตั้งครรภ์นั้น คุณแม่ท้องต้องดูแลตัวเองมากเป็นพิเศษ เพราะนอกจากเรื่องสุขภาพของตัวเองแล้ว ยังมีอีกหนึ่งชีวิตน้อย ๆ ในท้อง ที่ต้องคอยดูแลใส่ใจ ให้ลูกน้อยเกิดมาอย่างปลอดภัย แข็งแรง และสมบูรณ์ ตลอดระยะเวลา 9 เดือนของการตั้งครรภ์ ร่างกายของแม่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นมากมาย ทั้งที่เป็นปกติ และอาการที่ทำให้คุณแม่ต้องวิตกกังวล มาดู 8 ข้อนี้ ที่บ่งชี้ สัญญาณอันตรายตอนท้อง คุณแม่ต้องคอยระวัง
8 สัญญาณอันตรายตอนท้อง ที่คุณแม่ต้องระวัง
1. เลือดออกจากช่องคลอด
สัญญาณอันตรายตอนท้องอย่างแรก นั่นก็คือ อาการเลือดออกจากช่องคลอด โดยหากมีเลือดออกจากช่องคลอดในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ ก็อาจจะเป็นสัญญาณของการตั้งครรภ์นอกมดลูก หรือการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก (Molar Pregnancy/Hydatidiform Mole) ซึ่งเป็นครรภ์ที่ไม่สมบูรณ์ ภาวะเหล่านี้ ส่งผลให้เกิดการแท้งได้
หากอาการเลือดออกจากช่องคลอด เกิดขึ้นในช่วงไตรมาสหลัง คุณแม่ท้องก็อาจจะมีความเสี่ยงของการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด หรือปัญหาเกี่ยวกับรกรอบตัวลูก เช่น รกเกาะต่ำ ซึ่งเป็นอันตรายต่อทั้งคุณแม่ และลูกน้อยได้
2. ปวดท้องน้อย
อาการปวดท้องน้อยระหว่างตั้งครรภ์ แบ่งเป็น 2 ช่วง คือในช่วงแรก กับในช่วงหลังของการตั้งครรภ์ อาการปวดท้องน้อยในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ เป็นเพราะมดลูกมีการขยายตัว ทำให้มีอาการปวดตึงไปทั่ว แต่จะมีอาการปวดแบบเป็น ๆ หาย ๆ ไม่ได้ปวดตลอดเวลา หากมีอาการปวดด้านใด ด้านหนึ่งตลอด ปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ และมีอาการไข้ร่วมด้วย คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องระวังเป็นพิเศษ ทั้งในช่วงแรก และช่วงหลังของการตั้งครรภ์ เพราะอาจจะมีก้อนซีสต์ที่รังไข่ แล้วเกิดลักษณะบิดขั้ว การท้องนอกมดลูก หรืออาการของไส้ติ่งอักเสบ ซึ่งมีอาการปวดคล้าย ๆ ในบริเวณใกล้เคียงกัน
หากมีอาการปวดท้องในช่วงหลัง อาจจะต้องระวังในเรื่องของการเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด และที่พบได้บ่อย คือการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ รวมถึงกระเพาะปัสสาวะ ท่อไต กรวยไตอักเสบ หากคุณแม่ท้องปวดท้องน้อย ให้รีบเข้าพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุว่าเกิดขึ้นจากอะไร
3. แพ้ท้องรุนแรง
โดยทั่วไปแล้ว คุณแม่ตั้งครรภ์ จะมีอาการแพ้ท้องได้ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรก เป็นปกติ แต่หากมีอาการแพ้ท้องมาก กลืนน้ำลายแทบไม่ได้ เดินไม่ไหว อาจจะเป็นไปได้ว่าคุณแม่ตั้งครรภ์แฝด ทำให้ฮอร์โมนสูงจนแพ้ท้องมาก แต่ก็อาจเป็นอาการของครรภ์ไข่ปลาอุก หรือทารกมีความผิดปกติได้ด้วยเช่นเดียวกัน อาการแพ้ท้องรุนแรง พบได้ไม่บ่อยนัก แต่ก็ถือว่าเป็น สัญญาณอันตรายตอนท้อง อีกหนึ่งอย่าง ที่สร้างความลำบากและความวิตกกังวลให้กับแม่ท้องอย่างมาก
บทความที่เกี่ยวข้อง : แพ้ท้องมาก อันตรายไหม วิจัยเผย แม่แพ้ท้องมีโอกาสที่จะไม่แท้ง!
4. เจ็บครรภ์ก่อนกำหนด
หากคุณแม่ท้องมีอาการเจ็บครรภ์คลอดก่อน 37 สัปดาห์ ในทางการแพทย์จะถือว่าเป็นการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งอาจทำให้ทารกคลอดออกมาไม่สมบูรณ์ ต้องอยู่ในตู้อบ หรือได้รับการดูแลในโรงพยาบาล นานขึ้นกว่าปกติ โดยอาการเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด ที่แม่ท้องควรรีบไปพบแพทย์ได้แก่
- ปวดท้องเป็นพัก ๆ พร้อมกับรู้สึกว่ามดลูกหดรัดตัว
- ปวดท้องเป็นพัก ๆ ร่วมกับอาการปวดหลัง ร้าวลงไปถึงบริเวณก้นกบ
- ปวดท้องในอุ้งเชิงกราน และอาจปวดร้าวลงไปที่ต้นขา
- มีน้ำไหลออกมาทางช่องคลอด หรือมีอาการน้ำเดิน
- มีมูกเลือด หรือเลือดออกทางช่องคลอด
5. ครรภ์เป็นพิษ
อาการหลัก ๆ ที่แสดงถึงอาการครรภ์เป็นพิษได้แก่
- อาการปวดศีรษะ มีอาการปวดบริเวณขมับ หน้าผาก และด้านท้ายทอย
- อาการตาพร่า มีลักษณะเห็นแสงแวบ ๆ และตาพร่ามัว
- อาการจุกแน่นลิ้นปี่
หากมี 3 อาการนี้เกิดขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวัดความดันว่า มีความดันสูง มีโปรตีนรั่วในปัสสาวะหรือไม่ อาการครรภ์เป็นพิษถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉิน เพราะหากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์ ทำให้คุณแม่เส้นเลือดแตกในสมอง อาจร้ายแรงถึงขั้นทำให้ทั้งคุณแม่ และลูกในท้องเสียชีวิตได้ ทั้งนี้อาการครรภ์เป็นพิษนั้นอันตรายมาก อาจเกิดขึ้นได้หลังจาก 20 สัปดาห์ ถึง 28 สัปดาห์ขึ้นไป คุณแม่ท้องต้องคอยสังเกตตัวเองอยู่เสมอ ระมัดระวังเรื่องอาการดังกล่าว หากมีผิดปกติ ต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วน
6. ลูกดิ้นน้อยลง
อีกหนึ่ง สัญญาณอันตรายตอนท้อง ก็คือ การที่ทารกในครรภ์ดิ้นน้อยลง มักจะขึ้นระหว่างสัปดาห์ที่ 32 ถึง 37 ของการตั้งครรภ์ โดยหลังจากอายุครรภ์ตั้งแต่ 30 สัปดาห์ขึ้นไป ทารกจะดิ้นเป็นเวลา มีความถี่มากขึ้น สม่ำเสมอมากขึ้น ดังนั้น การนับลูกดิ้นตั้งแต่สัปดาห์ที่ 30 เป็นต้นไป ใน 1 ชั่วโมง ลูกควรจะดิ้น หรือกระแทกอย่างน้อย 4 ครั้ง ถ้าชั่วโมงแรกลูกดิ้นไม่ถึง 4 ครั้ง ให้นับชั่วโมงที่สอง แต่หากไม่ครบ 4 ครั้งอีก ก็อาจเป็นไปได้ว่ามีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้น เช่น อาจเกิดอาการสายสะดือพันคอ ซึ่งอาจทำให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์ได้
กรณีที่ดิ้นน้อยลงนั้น นอกจากสายสะดือพันคอ อาจจะมีภาวะติดเชื้อ การขาดออกซิเจนจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น รกลอกก่อนกำหนด น้ำคร่ำน้อย เป็นต้น ฉะนั้น หลังจากสัปดาห์ที่ 32 ไปแล้ว หากสังเกตว่าทารกดิ้นในครรภ์น้อยลง ต้องรีบมาที่โรงพยาบาลทันที เพื่อพิจารณาว่า จะต้องคลอดก่อนกำหนดหรือไม่
บทความที่เกี่ยวข้อง : แม่ท้องรีบอ่าน ! เมื่อ ลูกดิ้นน้อยลง เมื่อไหร่ที่ควรกังวล แบบไหนที่ควรระวัง
7. น้ำเดิน
ในมดลูกของคุณแม่ตั้งครรภ์จะมีถุงน้ำคร่ำ ซึ่งจะมีน้ำ รก และตัวเด็กอยู่ในนั้น เมื่อมีน้ำไหลออกมาทางช่องคลอด แล้วไม่ใช่ปัสสาวะ อาจเป็นอาการของน้ำเดิน ซึ่งปริมาณน้อย หรือมาก แล้วแต่กรณีของการรั่ว โดยปกติจะมีอาการน้ำเดินในช่วงกระบวนการคลอด แต่ถ้าปรากฏว่ามีน้ำเดิน หรือมีสายสะดือย้อยออกมา อาจเกิดภาวะหูรูดเปิด ทำให้น้ำคร่ำไหลออกมาได้ หากสายสะดือที่อยู่ข้างในย้อยออกมา แล้วถูกหูรูดรัด ก็จะทำให้เกิดขาดออกซิเจน และสารอาหาร นอกจากนี้อาการน้ำเดิน ทำให้เสี่ยงที่เชื้อโรคจะผ่านไปทางช่องคลอด ทำให้เกิดอาการติดเชื้อในมดลูกได้
8. เป็นไข้
ในช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์นั้น ภูมิต้านทานของร่างกายจะต่ำลง ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย หากมีอาการไข้ มีผื่น ในช่วงไตรมาสแรกอาจจะต้องระวังโรคหัดเยอรมัน ซึ่งทำให้เด็กมีความผิดปกติ หรือพิการ ปากแหว่ง เพดานโหว่ หรือแขนขาผิดรูปพิการได้ ส่วน 5 ไข้ที่เกิดขึ้นจากกรวยไตอักเสบ ท้องปัสสาวะอักเสบ ไข้หวัดใหญ่ จะมีอาการไอ อาการไข้ ปอดติดเชื้อ ถ้ามีอาการไข้หวัดใหญ่ หรือการติดเชื้อ อาจส่งผลให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดได้ หากมีไข้ และปวดท้อง อาจเป็นไส้ติ่งอักเสบ เสี่ยงต่อการแท้งลูก
ช่วงที่ต้องระวังเป็นพิเศษคือ ช่วงไตรมาสแรก กับไตรมาสที่สาม หากเป็นไข้ คุณแม่ท้องต้องรีบมาพบแพทย์ที่ฝากครรภ์ เพื่อหาสาเหตุว่า อาการไข้นั้นเกิดจากสาเหตุใด จะได้รักษาได้อย่างทันท่วงที เพื่อความปลอดภัยของทั้งคุณแม่ และลูกในท้อง
ทุกวินาทีของการตั้งครรภ์ควรได้ความใส่ใจและการดูแลจากตัวคุณแม่เอง และคนรอบข้าง เพราะความผิดปกติหรือภาวะแทรกซ้อนอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา คุณแม่ท้องต้องคอยสังเกตอาการของตัวเอง หากพบว่าผิดปกติ หรือมีความกังวล ต้องปรึกษาแพทย์ทันที
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
เคล็ดลับการตั้งครรภ์ และวิธีสังเกตอาการคนท้องระยะเริ่มแรก
เช็กด่วน!! อาการคนท้อง 1-2 สัปดาห์ ก่อนตรวจตั้งครรภ์ เป็นยังไงมาดูกัน!
อาการลูกตายในท้อง สัญญาณอันตรายที่บอกว่าลูกน้อยไม่อยู่ในท้องแม่แล้ว!!
ที่มา : phyathai
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!