วิธี "เคาะปอด" ระบายเสมหะ ทำให้ลูกได้เองที่บ้าน

หากพบว่าลูกไอมาก ไอจนเหนื่อย แต่ไอไม่ออก เนื่องจากเสมหะที่เหนียวมากคั่งค้างอยู่ในหลอดลม และการไอที่ไม่ถูกวิธี คุณแม่สามารถช่วยลูกน้อยให้ไอเอาเสมหะออกมาได้ด้วย วิธีเคาะปอดระบายเสมหะ ต่อไปนี้
วิธีเคาะปอดระบายเสมหะ ทำให้ลูกได้เองที่บ้าน
ผศ.พญ.อาภัสสร วัฒนาศรมศิริ กุมารแพทย์โรคระบบหายใจ รพ.วิภาวดี กล่าวว่า การไอเกิดจากการมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในระบบทางเดินหายใจ ร่างกายจึงพยายามกำจัดสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นด้วยการไอออกมา แต่สำหรับเด็กเล็กยังไม่สามารถบ้วนเสมหะออกมาได้เอง การเคาะปอดระบายเสมหะ ร่วมกับการจัดท่าระบายเสมหะ และการไอที่ถูกวิธีจะช่วยให้เสมหะหลุดออกมาจากหลอดลมได้ง่ายขึ้น ในกรณีที่มีเสมหะมากๆ ในเด็กเล็กอาจต้องใช้ลูกยางเบอร์ 1 ช่วยดูดเสมหะในปาก หากมีบางส่วนกลืนลงไปบ้าง ร่างกายก็จะขับถ่ายออกมาได้เอง
การเคาะปอดคืออะไร
การเคาะปอด คือ การใช้แรงสั่นจากลมที่กระทบผนังทรวงอกขณะเคาะ ไปทำให้เสมหะหลุดจากหลอดลม โดยใช้ผ้าบางๆ วางบนตำแหน่งที่จะเคาะ โดยทำมือเป็นกระเปาะ ปลายนิ้วชิดกัน ข้อมือ ข้อศอก และไหล่เคลื่อนไหวสบายๆ ขณะเคาะ ด้วยความถี่ 3 ครั้งต่อวินาที ให้ทั่วๆ บริเวณทรวงอกส่วนที่เคาะอยู่ โดยวนเป็นวงกลม หรือเลื่อนไปทางซ้ายและขวา
การจัดท่าระบายเสมหะ
การจัดท่าระบายเสมหะที่เหมาะสม จะช่วยให้เสมหะจากปอดส่วนต่างๆ ถูกขับออกมาได้ง่ายขึ้น ให้ทำการเคาะในแต่ละท่า ท่าละ 3-5 นาที รวมทุกท่าไม่ควรนานเกิน 30 นาที และจึงลุกนั่งหรือยืนเพื่อให้ไออย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าเด็กเหนื่อยหรือเบื่อ ให้ทำเพียงบางท่าก็ได้ และควรทำก่อนอาหาร หรือหลังอาหาร 2 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้อาเจียนหรือสำลัก
การไอที่ถูกวิธี
การไอให้มีประสิทธิภาพ ต้องหายใจเข้าเต็มที่ แล้วกลั้นหายใจ 1-2 วินาที เพื่อให้ลมกระจายไปทั่วทุกส่วนของปอด และมีแรงขับดันเอาเสมหะออกมาได้เต็มที่ จากนั้นไอติดต่อกัน 2-3 คั้ง การให้เด็กเล็กสูดหายใจเข้าเต็มที่ อาจใช้ของเล่นที่ต้องสูดหายใจแรงๆ มาช่วย เช่น เป่าลูกโป่ง เป่าฟองสบู่ หรือเป่ากังหัน เป็นต้น
สถาบันเด็กแห่งชาติมหาราชินีได้ให้คำแนะนำในการเคาะปอดไว้ดังนี้
เมื่อใดที่ควรเคาะปอด
- ไอ เสมหะมาก หายใจเสียงดังครืดคราด
- มีเสมหะคั่งค้างในหลอดลมจำนวนมาก เช่น ปอดอักเสบ
- พบภาพรังสีทรวงอก แสดงภาวะปอดแฟบเนื่องจากการอุดตันของเสมหะ
- ผู้ป่วยเด็กโรคเรื้อรัง ที่มีภาวะเสมหะคั่งค้าง
- ผู้ป่วยเด็กหลังผ่าตัด ที่มีปัญหาของเสมหะคั่งค้างในปอดและหลอดลม
- ผู้ป่วยเด็กที่มีปัญหาทางระบบประสาท กล้ามเนื้ออ่อนแรง ที่มีปัญหาของเสมหะคั่งค้างในหลอดลม ไม่สามารถระบายเสมหะได้ด้วยตนเอง
ท่าระบายเสมหะที่ใช้ร่วมกับการเคาะปอด ท่าที่ 1
- อุ้มลูกให้หันหน้าเข้าหาอกพ่อแม่ ศีรษะลูกพาดบนไหล่พ่อแม่ แล้วเคาะบริเวณด้านหลังส่วนบน เหนือกระดูกสะบักขึ้นไป
- หลีกเลี่ยงการเคาะบริเวณกระดูกสะบัก
ท่าระบายเสมหะที่ใช้ร่วมกับการเคาะปอด ท่าที่ 2
- จัดท่านอนหงาย ให้ศีรษะหนุนหมอน ใช้ผ้าบางรองบริเวณหน้าอก เคาะบริเวณระดับไหปลาร้าถึงใต้ราวนม
- หลีกเลี่ยงการเคาะบริเวณกระดูกหน้าอก
ท่าระบายเสมหะที่ใช้ร่วมกับการเคาะปอด ท่าที่ 3
- จัดท่าให้ลูกนอนตะแคง ยกแขนลูกขึ้นไปข้างหน้าเล็กน้อย แล้วเคาะบริเวณเหนือชายโครงด้านข้าง ต่ำจากรักแร้ลงมาเล็กน้อย
- และเคาะบริเวณด้านหลังต่ำจากกระดูกสะบักจนถึงชายโครงซี่สุดท้าย โดยเคาะทั้งท่านอนตะแคงซ้ายและขวา
ข้อควรระวังในและควรหยุดทันทีขณะเคาะปอด
- ลูกบ่นหรือเจ็บ ปวดบริเวณที่เคาะ หรือมีประวัติได้รับการกระแทกที่หน้าอก
- มีอาการหอบเหนื่อยมากขึ้น ริมฝีปากซีดคล้ำ หายใจจมูกบาน
- ร้องไห้งอแงมากกว่าปกติ
ข้อห้ามในการเคาะปอด
- มีภาวะกระดูกหักบริเวณทรวงอก
- มีประวัติป่วยด้วยโรคมะเร็ง วัณโรคปอด
- มีอาการหอบเหนื่อย ตัวเขียว
- มีแผลเปิด หรือหลังผ่าตัดที่แผลยังไม่ติดดี
- มีภาวะกระดูกผุ
- มีภาวะเสี่ยงต่อการเลือดออกง่ายโดยสังเกตได้จากสีผิว สีปากคล้ำ หน้าซีด สัญญาณชีพผิดปกติ เช่น มีไข้สูง หายใจเร็วและความดันโลหิตสูง
เคาะปอดทำได้บ่อยแค่ไหน
ส่วนมากเสมหะจะคั่งค้างมาตลอดคืน พอตื่นเช้าจึงไอมาก การเคาะปอดควรทำเมื่อตื่นเช้าและก่อนเข้านอน เพื่อให้หลับสบายและอาจทำเพิ่มก่อนอาหารกลางวัน ช่วงบ่าย รวมทั้งกลางคืน ถ้านอนหลับไปสักพักแล้วไอมาก จะช่วยให้เด็กหลับต่อได้ดีขึ้น
ทราบได้อย่างไรว่าลูกดีขึ้น
ลูกจะไอลดลง เสียงครืดคราดลดลง ดื่มนมและหลับได้นานขึ้น
ชมคลิปสาธิตการเคาะปอดระบายเสมหะลูกอย่างถูกวิธี
อ้างอิงข้อมูลจาก
เอกสารเผยแพร่ ช่วยเด็กเพื่อไอเอาเสมหะออกเองได้อย่างไร โรงพยาบาลวิภาวดี
YouTube Thirathat Thongkaew สถาบันเด็กแห่งชาติมหาราชินี
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ