วัคซีนวัณโรค หรือ วัคซีน BCG เป็นวัคซีนพื้นฐานสำคัญสำหรับทารกแรกเกิด ที่มารดาไม่ควรละเลย เพราะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันสำหรับเด็ก ป้องกันการเกิดโรคอันตรายต่างๆ ในอนาคต อย่างโรควัณโรคซึ่งสามารถติดต่อกันได้ ดังนั้น จึงเป็นหนึ่งวัคซีนที่คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญ ไม่ต่างจากวัคซีนชนิดอื่นๆ
วัคซีนวัณโรคมีความสำคัญอย่างไร
วัคซีนวัณโรค ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อ ป้องการการเกิดโรควัณโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือ เชื้อทีบี หากร่างกายได้รับเชื้อดังกล่าว จะถูกทำลายเป็นอันดับแรกเนื่องจากมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง แต่ก็ยังหลงเหลือส่วนที่หลบซ่อน ไม่ก่อภาวะอันตรายอันจะนำไปสู่การเกิดโรควัณโรคชัดเจน แต่หากร่างกายอ่อนแอเมื่อไหร่ เชื้อโรคที่ซ่อนอยู่จะออกมาโจมตีร่างกายทันที
ทั้งนี้ภายในวัคซีนวัณโรคจะประกอบไปด้วย เชื้อวัณโรคที่ถูกทำให้เชื้ออ่อนแรงลงในปริมาณเพียงเล็กน้อย กลไกการทำงานของวัคซีน คือ เชื้อที่ฤทธิ์อ่อนลงจะเข้าไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สามารถรับมือกับเชื้อวัณโรคได้ วัคซีนป้องกันวัณโรคจัดเป็นวัคซีนพื้นฐานที่ต้องฉีดให้เด็กแรกเกิดทุกคน โดยเมื่อฉีดแล้วภูมิคุ้มกันจะเกิดหลังจากฉีดไปแล้วภายใน 4-6 สัปดาห์ และสามารถอยู่ได้นาน 10 ปี สามารถป้องกันวัณโรคได้ประมาณ 80% และยังลดความเสี่ยงโรควัณโรคที่เยื่อหุ้มสมองในเด็กได้
โรควัณโรค คืออะไร
วัณโรค (Tuberculosis) คือ เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย มีชื่อว่า ไมโคแบคทีเรียมทูเบอร์ คูโลซิส (Mycobacterium tuberculosis) ถ้าแบคทีเรียเกาะติดกับส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายและเพิ่มจำนวนขึ้นแล้ว ร่างกายไม่สามารถป้องกันตัวเองได้ คนๆ นั้นก็จะเป็นวัณโรค และบริเวณที่ติดเชื้อวัณโรคบ่อยที่สุดก็คือปอด แต่ก็สามารถติดเชื้อที่ส่วนอื่นของร่างกายได้เช่นกัน เช่น ในกระดูก ต่อมน้ำเหลือง หรือ สมอง และ โรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียรุนแรง ซึ่งสามารถติดต่อกันผ่านทางอากาศได้ด้วย การหายใจ การจาม การไอ หรือการอยู่ร่วมกับผู้ป่วยวัณโรคติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ วัณโรคเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้หากผู้ป่วยรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่วัณโรคนั้น ก็ถือเป็นโรคที่มักเกิดขึ้นในผู้ป่วยติดเชื้อ เอชไอวี (HIV) เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่บกพร่องจะทำให้เชื้อวัณโรคสามารถติดและแสดงอาการได้ง่าย
บทความที่เกี่ยวข้อง: วัคซีนโรคคางทูม : 100 เรื่องพ่อแม่ต้องรู้ก่อนลูก 1 ขวบ
คุณแม่ทราบได้อย่างไรว่า ลูกควรได้รับ วัคซีนวัณโรค?
วัคซีนป้องกันวัณโรค จัดเป็นวัคซีนพื้นฐานที่ต้องฉีดให้เด็กแรกเกิดทุกคน พยาบาลจะฉีดให้ตั้งแต่แรกเกิด โดยเมื่อฉีดแล้วภูมิคุ้มกันจะเกิดหลังจากฉีดไปแล้วภายใน 4-6 สัปดาห์ และสามารถอยู่ได้นาน 10 ปี สามารถป้องกันวัณโรคได้ประมาณ 80% และยังลดความเสี่ยงโรควัณโรคที่เยื่อหุ้มสมองในเด็กได้
ความสำคัญของการฉีดวัคซีนวัณโรค
เนื่องจากโรคนี้สามารถแพร่กระจายได้ทางอากาศโดยผ่านทางการไอ จาม การพูด และการหายใจ โดยความเสี่ยงของวัณโรคจะเพิ่มขึ้นหากเป็นผู้ที่เคยพักอาศัย หรือเดินทางมาจากพื้นที่ที่มีผู้ป่วยวัณโรคจำนวนมาก เคยมีการติดต่อและสัมผัสอย่างใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอจากโรคร้ายแรง หรืออยู่ในระหว่างการรักษาด้วยยาที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน และผู้ที่มีสุขภาพไม่ดี จากปัญหาทางด้านโภชนาการ เด็กและผู้สูงอายุยังเป็นวัยที่เสี่ยงต่อติดเชื้อวัณโรค เนื่องจากทั้ง 2 วัยนี้จะมีสุขภาพที่อ่อนแอกว่าคนในวัยผู้ใหญ่
หากเป็นวัณโรคอาการเป็นอย่างไร
ในระยะแฝงเมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อแล้วจะไม่มีอาการใด ๆ แสดงให้เห็น เนื่องจาก เชื้อไม่ได้รับการกระตุ้น แต่เชื้อแบคทีเรียก็ยังคงอยู่ในร่างกาย และสามารถก่อให้เกิดอาการ จนเข้าสู่ระยะแสดงอาการได้ หากผู้ป่วยมีการตรวจพบเจอเชื้อในช่วงระยะแฝง แพทย์อาจให้เข้ารับการรักษาและควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อ รวมถึงลดความเสี่ยงที่อาการจะเข้าสู่ระยะแสดงอาการ โดยผู้ป่วยในระยะนี้กว่า 90% จะไม่มีอาการป่วยและไม่สามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ และมีเพียง 10% เท่านั้นที่จะป่วยเป็นวัณโรค กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่มีการพัฒนาของเชื้อจะป่วยหลังจากได้รับเชื้อภายใน 2 ปี
โดยส่วนใหญ่จะเป็นเด็ก และผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือบกพร่อง ส่วนที่เหลืออาจมีอาการแสดงหลังจากติดเชื้อหลายปี เช่น ผู้ที่ได้รับเชื้อตั้งแต่เด็กอาจมีอาการแสดงในช่วงวัยผู้ใหญ่ และหากไม่ได้รับการรักษา กว่า 50% ของผู้ป่วยจะเสียชีวิตภายใน 2 ปี
-
ระยะแสดงอาการ (Active TB)
ระยะแสดงอาการ คือระยะที่เชื้อแบคทีเรีย ได้รับการกระตุ้นจนแสดงอาการออกมา ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ในช่วงสัปดาห์แรก ๆ หลังจากการติดเชื้อ ไปจนถึงหลายปีหลังจากได้รับเชื้อ ทั้งนี้เชื้อจะสามารถแสดงอาการได้ทั้งในปอด หรือที่ส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะเกิดขึ้นที่ปอดมากกว่า โดยอาการของวัณโรคที่เกิดในปอด มีดังนี้
- มีอาการไอติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไป
- มีอาการไอเป็นเลือด
- เจ็บหน้าอก หรือมีอาการเจ็บที่หน้าอก ขณะหายใจหรือไอ
- อ่อนเพลีย
- มีอาการไข้ หนาวสั่น
- มีอาการเหงื่อออกชุ่มในเวลากลางคืน (Night Sweats)
- น้ำหนักลดอย่างไม่มีสาเหตุ
- ความอยากอาหารลดลง
บทความที่เกี่ยวข้อง: ทำอย่างไรเมื่อเด็กใกล้ชิดกับผู้ใหญ่ที่เป็นวัณโรค?
ภาวะแทรกซ้อนของวัณโรค
สำหรับภาวะแทรกซ้อนของวัณโรคนั้น หากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็จะทำให้ความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนลดลง ทั้งนี้ภาวะแทรกซ้อนก็ยังอาจเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยบางราย โดยที่เกิดขึ้นมีตั้งแต่อาการไม่รุนแรง ไปจนถึงขั้นทำให้เสียชีวิต ซึ่งภาวะแทรกซ้อนที่มักเกิดขึ้นในผู้ป่วยวัณโรคมีดังนี้
- ปวดบริเวณหลัง อาการปวดหลังและมีอาการติดแข็ง เป็นอาการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยวัณโรค
- ข้อต่อเสียหาย วัณโรคจะก่อให้เกิดอาการข้อต่ออักเสบได้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเกิดขึ้นที่บริเวณสะโพกและเข่า
- เยื่อหุ้มสมองอักเสบ วัณโรคอาจก่อให้เกิดเนื้อเยื่อที่หุ้มบริเวณสมองเกิดอาการอักเสบ จนทำให้เกิดอาการปวดหัวเรื้อรัง ซึ่งภาวะแทรกซ้อนนี้อาจส่งผลระยะยาวต่อสุขภาพจิตได้
- ปัญหาเกี่ยวกับตับและไต ตับและไตมีหน้าที่ในการกรองของเสียออกจากกระแสเลือด แต่สำหรับผู้ป่วยวัณโรค เชื้ออาจส่งผลให้ทั้ง 2 อวัยวะนี้เกิดปัญหาในระยะยาวจนไม่สามารถทำงานได้ตามปกติได้
- โรคหัวใจ ในบางกรณีที่เกิดขึ้นได้น้อย วัณโรคจะเข้าไปจู่โจมบริเวณเนื้อเยื่อใกล้ ๆ กับหัวใจจนทำให้เกิดการอักเสบและเกิดการคั่งของของเหลวทำให้การทำงานของหัวใจผิดปกติ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
นอกจากนี้เชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดวัณโรคอาจส่งผลให้ไอเป็นเลือด เกิดฝีในปอด และภาวะน้ำในช่องหุ้มปอด ที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้อีกด้วย
ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการดื้อยาคือผู้ป่วยกลุ่มต่อไปนี้
- กลุ่มผู้ป่วยที่เคยได้รับการรักษามาก่อน ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยที่ล้มเหลวในการรักษาเนื่องจากการดื้อยา หรือผู้ป่วยที่กลับมาเป็นซ้ำ
- กลุ่มผู้ป่วยที่กำลังรักษา แต่ยังพบเชื้อแม้จะสิ้นสุดการรักษาเดือนที่ 3 และเดือนที่ 5
- กลุ่มผู้ป่วยที่มีประวัติว่าเคยสัมผัสผู้ป่วยที่มีกรณีดื้อยา และมีอาการต้องสงสัยว่าจะเป็นวัณโรค
ในการรักษาในกรณีดื้อยา แพทย์จะต้องได้รับผลการยืนยันก่อนว่าผู้ป่วยมีภาวะดื้อยาจึงจะสามารถรักษาได้ ซึ่งแพทย์จะทำการปรับเปลี่ยนยาตามความเหมาะสม เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น
การรักษาวัณโรค
การรักษาวัณโรค จะอาการดีขึ้นได้ด้วยการรับประทานยาต่อเนื่องไม่ลืม และการดูแลสุขภาพก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยยาที่แพทย์นิยมใช้ในการรักษา ได้แก่ ไอโซไนอาซิด (Isoniazid) ไรแฟมพิซิน (Rifampicin) อีแทมบูทอล (Ethambutol) ไพราซินาไมด์ (Pyrazinamide) แต่ถ้าหากผู้ป่วยมีอาการดื้อยา ก็อาจจะต้องใช้ยาตัวอื่น ๆ ร่วมด้วยเพื่อให้การรักษาเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น สเตรปโตมัยซิน (Streptomycin) และยาลีโวฟลอกซาซิน (Levofloxacin) เป็นต้น
การป้องกันวัณโรค
- การป้องกันวันโรค ทำได้ด้วยการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง
- ระมัดระวัง ในการอยู่ใกล้กับผู้ป่วยวัณโรคเป็นเวลานาน ๆ
- หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ควรสวมหน้ากากอนามัย
- การได้รับวัคซีนบีซีจี (BCG) ก็สามารถช่วยป้องกันวัณโรค เป็นวัคซีนพื้นฐานที่ต้องฉีดให้เด็กแรกเกิด
การดูแลลูกน้อยหลังฉีดวัคซีน
- เด็กบางคนอาจเกิดผดสีแดงเล็ก ๆ หรือเกิดแผลตรงบริเวณที่ฉีดวัคซีนหลังจากฉีดวัคซีนได้ 2-4 สัปดาห์
- อาการดังกล่าวจะค่อย ๆ บรรเทาลง และหายได้เองภายในไม่กี่สัปดาห์ ซึ่งอาจทำให้เกิดรอยแผลเป็นขนาดเล็กหรือไม่มีรอยแผลเป็นเลย
- เด็กบางคนอาจเกิดก้อนบวม ๆ ที่ใต้รักแร้เนื่องจากต่อมเกิดการขยายตัว ส่วนผลข้างเคียงอื่นยังพบได้น้อยมาก
- หากมีหนองหรือมีแผลเกิดขึ้น เนื่องจากเป็นผลข้างเคียงที่ปกติ เด็กสามารถอาบน้ำได้ตามปกติ
- ดูแลจุดที่ฉีดวัคซีนให้สะอาดและแห้ง ใช้น้ำต้มสุกที่เย็นแล้วในการทำความสะอาดแผลบริเวณนั้นหากจำเป็น หลังจากนั้นเช็ดให้แห้งด้วยผ้ากอซ
- ห้ามทายาหรือครีมใด ๆ และห้ามกดหรือใช้ผ้าพันแผลปิดลงบนแผล สวมใส่เสื้อผ้าที่หลวม
- อาการแทรกซ้อนของวัคซีน ที่พบทั่วไปส่วนใหญ่จะหายได้เอง ดังนั้นผู้ปกครองไม่จำเป็นต้องกังวล
กลุ่มบุคคลใดบ้างที่ไม่สามารถฉีดวัคซีนวัณโรคได้
- ผู้ที่เคยได้รับวัคซีนบีซีจีมาก่อน
- ผู้ที่เคยมีประวัติการติดเชื้อวัณโรค
- ผู้ที่มีผลการตรวจทางผิวหนังที่ค่อนข้างรุนแรง
- ผู้ที่มีการตรวจพบว่า มีอาการแพ้ส่วนประกอบวัคซีนบีซีจีอย่างรุนแรง
- เด็กแรกเกิดที่อาศัยอยู่กับผู้ที่มีการติดเชื้อวัณโรค
- ผู้ที่มีระดับภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ที่รับประทานยาสเตียรอยด์ ผู้ป่วยโรคเอดส์และโรคมะเร็ง
สำหรับวัคซีนต่างๆ ที่จำเป็นต่อทารกแรกเกิด คุณพ่อคุณแม่ต้องพาลูกไปฉีคตามเวลานัดหมาย ห้ามขาดเด็ดขาด อีกทั้งเมื่อลูกเติบโต ต้องหมั่นคอยศึกษาว่า ลูกในวัยน้อยของเรา ถึงเวลาจะต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคใดบ้าง เช่นในทุกๆ ปี ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ต้องฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ หรือในผู้หญิง ควรฉีดวัคซีนชนิดใด ซึ่งเป็นเรื่องที่พวกเราควรใส่ใจในทุกช่วงอายุค่ะ
ที่มา : (pobpad),(paolohospital)
บทความที่น่าสนใจ:
วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี ป้องกันโรคมะเร็งตับในเด็กจริงหรือ?
โรคติดต่อที่คุณพ่อคุณแม่ต้องระวัง 100 เรื่องพ่อแม่ต้องรู้ก่อนลูก 1 ขวบ
วัคซีนเด็กมีอะไรบ้าง 100 เรื่องพ่อแม่ต้องรู้ก่อนลูก 1 ขวบ
แชร์ประสบการณ์หรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนวัณโรค ได้ที่นี่!
วัคซีนวัณโรค ฉีดตอนทารกอายุเท่าไรคะ แล้วช่วยป้องกันโรคไหนได้อีกบ้างคะ
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!