โรคซึมเศร้า มีสาเหตุหลักที่เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง และสาเหตุอื่น ๆ ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจการเงิน ความผิดหวัง ความสัมพันธ์ ความรัก ความสูญเสีย เป็นต้น หากเยาวชนไม่สามารถจัดการกับปัญหาได้ จะทำให้ทุกปัญหากลายเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล จนพัฒนาไปสู่ภาวะซึมเศร้า และคิดทำร้ายตัวเอง หรือฆ่าตัวตายได้
อาการของโรคซึมเศร้า ได้แก่ เศร้า หดหู่ ซึม เบื่อหน่าย หงุดหงิด ฉุนเฉียว ไม่มีสมาธิ นอนไม่หลับ มีความคิดอยากตาย แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าลูกของเรา หรือตัวเรา แค่เศร้า หรือเข้าข่ายเป็น “โรคซึมเศร้า”
กรมสุขภาพจิตจำกัดความไว้ว่า โรคสูญเสียความสามารถในการมีความสุข เท่ากับ โรคซึมเศร้า แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรา แค่เศร้า หรือเข้าข่ายเป็น “โรคซึมเศร้า” กันแน่ แล้วจะมีจุดสังเกตใด ที่สามารถบ่งชี้ได้ว่า ลูกของเรา หรือคนรอบข้าง มีอาการเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่
โรคซึมเศร้า (depression)
เป็นโรคทางอารมณ์ชนิดหนึ่ง ซึ่งผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีอารมณ์ซึมเศร้าอย่างรุนแรง โดยไม่มีสาเหตุอารมณ์ซึมเศร้า อาจเริ่มต้นจากน้อย ไปหามาก ผู้ป่วยอาจมีอารมณ์ไม่แจ่มใส หดหู่ เศร้าหมอง มีทุกข์ จนถึงเบื่อหน่าย ท้อแท้ เบื่อชีวิต คิดว่าตนเองไร้ค่า คิดอยากตาย และอาจจะฆ่าตัวตายได้
โรคซึมเศร้า สามารถรักษาให้หายได้ ด้วยการใช้ยาร่วมกับ จิตบำบัด จะช่วยให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่หายเป็นปกติเหมือนเดิม เมื่อหายแล้ว แพทย์จะให้รับประทานยาป้องกันต่ออีกประมาณ 6 – 12 เดือน และไม่ควรหยุดยาเองเด็ดขาด เพราะอาจทำให้มีอาการอีกได้ง่าย
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า
- กรรมพันธุ์ พบว่ากรรมพันธุ์มีส่วนเกี่ยวข้องสูงในโรคซึมเศร้าโดยเฉพาะในกรณีของผู้ที่มีอาการเป็นซ้ำหลาย ๆ ครั้ง
- สารเคมีในสมอง พบว่าระบบสารเคมีในสมองของผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากปกติอย่างชัดเจน ปัจจุบันเชื่อว่าเป็นความบกพร่องในการควบคุมประสานงานร่วมกัน มากกว่าเป็นความผิดปกติที่ระบบใดระบบหนึ่ง ยาแก้ซึมเศร้าที่ใช้กันนั้นก็ออกฤทธิ์โดยการไปปรับสมดุลย์ของระบบสารเคมีเหล่านี้
- ลักษณะนิสัย กรมสุขภาพจิตกล่าวว่า บางคนมีแนวคิดที่ทำให้ตนเองซึมเศร้า เช่น มองตนเองในแง่ลบ มองอดีตเห็นแต่ความบกพร่องของตนเอง หรือ มองโลกในแง่ร้าย เป็นต้น บุคคลเหล่านี้เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่กดดัน เช่น ตกงาน หย่าร้าง ถูกทอดทิ้งก็มีแนวโน้มที่จะเกิดอาการซึมเศร้าได้ง่าย ซึ่งหากไม่ได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสมอาการอาจมากจนกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้
อารมณ์เศร้า กับภาวะซึมเศร้าต่างกันอย่างไร?
ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ หัวหน้าศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา จุฬาฯ ได้กล่าวถึง อารมณ์เศร้า กับภาวะซึมเศร้าต้องแยกแยะให้ได้ หากอารมณ์เศร้านั้น ก่อให้เกิดอาการซึมอยู่เป็นเวลานาน นอกจากจะส่งผลทางกาย และอารมณ์ในระยะยาวแล้ว อารมณ์เศร้า ก็จะสามารถพัฒนาขึ้นเป็น ภาวะซึมเศร้าได้เช่นกัน
ความเศร้าเกิดขึ้นได้กับทุกคน และทุกวัย ขึ้นอยู่กับว่า และแต่ละวัยนั้น มักจะมีต้นเหตุของความกดดันที่แตกต่างกัน และความสามารถในการรับมือกับแรงกดดัน จนเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้นั้น ก็มักจะแตกต่างกันออกไป
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง : วิธีลดความเครียด คลายเครียดจากการทํางาน การจัดการความเครียด กินอะไรคลายเครียด อาหารลดความเครียด
อะไรคือสิ่งกระตุ้นให้เกิดภาวะซึมเศร้า?
จากงานวิจัยศึกษาในนิสิตนักศึกษาระดับสถาบันอุดมศึกษา ที่อยู่ในภาวะเสียศูนย์ พบว่ามี 3 ตัวกระตุ้นหลัก คือ
1. การถูกประเมิน เช่น ผลการสอบ หรือเกรดที่ผิดไปจากที่คาดหวังไว้ ซึ่งความคาดหวังนี้ทำให้มีโอกาสเสียศูนย์ได้ หากไม่ได้เกรด A จะรู้สึกผิดกับ พ่อแม่ ครูอาจารย์ ที่เป็นบุคคลสำคัญของเรา
2. เงินทอง ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ รายรับรายจ่าย ที่ไม่สมดุลกัน ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุหลัก ที่ทำให้หลาย ๆ คน มักเกิดความกดดันตัวเอง จนเกิดอาการเครียด เศร้า จนเกิดเป็นภาวะซึมเศร้าตามมาในภายหลัง
3. ความรัก ความรักในที่นี้ไม่ใช่เพียงแค่ความรักฉันท์ชู้สาวเพียงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อน และการเป็นที่ยอมรับกับคนรอบข้าง
จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคนี้หรือเปล่า
บางคนที่อ่านถึงตอนนี้อาจรู้สึกว่าตนเองก็มีอะไรหลาย ๆ อย่างเข้ากันได้กับโรคซึมเศร้าที่ว่า แต่ก็มีหลาย ๆ อย่างที่ไม่เหมือนทีเดียวนัก ทำให้อาจสงสัยว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าตนเองเป็นหรือเปล่า
อาการซึมเศร้านั้นมีด้วยกันหลายระดับตั้งแต่น้อย ๆ ที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน ไปจนเริ่มมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวัน และบางคนอาจเป็นถึงระดับของโรคซึมเศร้า อาการที่พบร่วมอาจเริ่มตั้งแต่รู้สึกเบื่อหน่าย ไปจนพบอาการต่าง ๆ มากมาย ดังได้กล่าวข้างต้น
แบบสอบถามภาวะอารมณ์เศร้า (Patient Health Questionnaire; PHQ9) เป็นแบบสอบถามที่ใช้เพื่อช่วยในการประเมินว่าผู้ตอบมีมีภาวะซึมเศร้า หรือไม่ รุนแรงมากน้อยเพียงใด เป็นมากจนถึงระดับที่ไม่ควรจะปล่อยทิ้งไว้ หรือไม่ แบบสอบถามกรมสุขภาพจิตนี้ไม่ได้บอกว่าเป็นโรคอะไร เพียงแต่ช่วยบอกว่าภาวะซึมเศร้าที่มีอยู่ในระดับไหนเท่านั้น ในการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า หรือไม่นั้น ผู้ที่มีอารมณ์ซึมเศร้ายังต้องมีอาการที่เข้าตามเกณฑ์การวินิจฉัยด้านล่าง
ข้อดีอย่างหนึ่งของแบบสอบถามนี้คือสามารถใช้ช่วยในการประเมินระดับความรุนแรงของอาการได้ ว่าแต่ละขณะเป็นอย่างไร อาการดีขึ้น หรือเลวลง การรักษาได้ผล หรือไม่ ผู้ป่วยอาจทำ และจดบันทึกไว้ทุก 1 – 2 สัปดาห์ โดยถ้าการรักษาได้ผลดีก็จะมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นโดยมีค่าคะแนนลดลงตามลำดับ
เกณฑ์การวินิจฉัย
มีอาการดังต่อไปนี้ 5 อาการหรือมากกว่า
- มีอารมณ์ซึมเศร้าแทบทั้งวัน (ในเด็ก และวัยรุ่นอาจเป็นอารมณ์หงุดหงิดก็ได้)
- ความสนใจ หรือความเพลินใจในกิจกรรมต่าง ๆ แทบทั้งหมดลดลงอย่างมากแทบทั้งวัน
- น้ำหนักลดลง หรือเพิ่มขึ้นมาก (น้ำหนักเปลี่ยนแปลงมากกว่าร้อยละ 5 ต่อเดือน) หรือมีการเบื่ออาหาร หรือเจริญอาหารมาก
- นอนไม่หลับ หรือหลับมากไป
- กระวนกระวาย อยู่ไม่สุข หรือเชื่องช้าลง
- อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง
- รู้สึกตนเองไร้ค่า
- สมาธิลดลง ใจลอย หรือลังเลใจไปหมด
- คิดเรื่องการตาย คิดอยากตาย
หมายเหตุ
- ต้องมีอาการในข้อ 1 หรือ 2 อย่างน้อย 1 ข้อ
- ต้องมีอาการเป็นอยู่นาน 2 สัปดาห์ขึ้นไป และต้องมีอาการเหล่านี้อยู่เกือบตลอดเวลา แทบทุกวัน ไม่ใช่เป็น ๆ หาย ๆ เป็นเพียงแค่วันสองวันหายไป แล้วกลับมาเป็นใหม่
โรคอื่นที่มีอาการคล้ายคลึงกับโรคซึมเศร้า
- ภาวะอารมณ์ซึมเศร้าจากการปรับตัวไม่ได้กับปัญหาที่มากระทบ
เป็นภาวะที่เกิดจากการปรับตัวไม่ได้กับปัญหาต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบ เช่น ย้ายบ้าน ตกงาน เกษียน เป็นต้น โดยจะพบอาการซึมเศร้าร่วมด้วยได้ แต่มักจะไม่รุนแรง ถ้ามีคนมาพูดคุย ปลอบใจก็จะดีขึ้นบ้าง อาจมีเบื่ออาหารแต่เป็นไม่มาก กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การปรับการนอน เมื่อเวลาผ่านไป ค่อย ๆ ปรับตัวได้กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ภาวะอารมณ์ซึมเศร้าที่มีก็จะทุเลาลง
ในโรคอารมณ์สองขั้ว ผู้ป่วยจะมีอาการเหมือนกับโรคซึมเศร้าอยู่ช่วงหนึ่ง และมีอยู่บางช่วงที่มีอาการออกมาในลักษณะตรงกันข้ามกับอาการซึมเศร้า เช่น อารมณ์ดีเบิกบานมากผิดปกติ พูดมาก ขยันมาก เชื่อมั่นตัวเองมากกว่าปกติ ใช้เงินเปลือง เป็นต้น ซึ่งทางการแพทย์เรียกระยะนี้ว่า ระยะแมเนีย ผู้ที่เป็นโรคอารมณ์สองขั้วบางครั้งจะมีอาการของโรคซึมเศร้า บางครั้งก็มีอาการของภาวะแมเนีย
พบบ่อยว่าผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ามักจะมีอาการวิตกกังวล ห่วงโน่นห่วงนี่ ซึ่งเป็นอาการหลักของโรควิตกกังวล ที่ต่างกันคือในโรควิตกกังวลนั้น จะมีอาการหายใจไม่อิ่ม ใจสั่น สะดุ้ง ตกใจง่าย ร่วมด้วย อาการเบื่ออาหารถึงมีก็เป็นไม่มาก น้ำหนักไม่ลดลงมากเหมือนผู้ป่วยโรคซึมเศร้า และโรคซึมเศร้านั้นนอกจากอาการวิตกกังวลแล้วก็จะพบอาการซึมเศร้า ท้อแท้ เบื่อหน่ายชีวิต ร่วมด้วยโดยที่อาการอารมณ์เศร้านี้จะเห็นเด่นชัดกว่าอาการวิตกกังวล
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง : เลี้ยงลูกยุคใหม่ ต้องไม่ตี วิจัยเผย ยิ่งตีลูกยิ่งทําให้ลูกคิดไม่เป็น ลูกเป็นซึมเศร้า
วิธีการรักษา
โรคซึมเศร้านี้หากได้รับการรักษา ผู้ที่เป็นจะอาการดีขึ้นมาก อาการซึมเศร้า ร้องไห้บ่อย ๆ หรือรู้สึกท้อแท้หมดกำลังใจ จะกลับมาดีขึ้นจนผู้ที่เป็นบางคนบอกว่าไม่เข้าใจว่าตอนนั้นทำใมจึงรู้สึกเศร้าไปได้ถึงขนาดนั้น ข้อแตกต่างระหว่างโรคนี้กับโรคจิตที่สำคัญประการหนึ่งคือ ในโรคซึมเศร้าถ้าได้รับการรักษาจนดีแล้ว ก็จะกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม
การรักษาที่สำคัญในโรคนี้ คือการรักษาด้วยยาแก้ซึมเศร้า โดยเฉพาะในรายที่อาการมาก ส่วนในรายที่มีอาการไม่มาก แพทย์อาจรักษาด้วยการช่วยเหลือชี้แนะการมองปัญหาต่าง ๆ ในมุมมองใหม่ แนวทางในการปรับตัว หรือการหาสิ่งที่ช่วยทำให้จิตใจผ่อนคลายความทุกข์ใจลง ร่วมกับการให้ยาแก้ซึมเศร้า หรือยาคลายกังวลเสริมในช่วงที่เห็นว่าจำเป็น
การรักษาด้วยยาแก้ซึมเศร้า
ยาแก้ซึมเศร้ามีส่วนช่วยในการรักษาโรคนี้ แม้ผู้ที่ป่วยบางคนอาจรู้สึกว่าความทุกข์ใจ หรือปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตนเองนั้นเป็นเรื่องของจิตใจ แต่ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ถ้าเป็นโรคซึมเศร้าแล้วแสดงว่าได้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในร่างกายของคนเราจนทำให้เกิดมีอาการต่าง ๆ เช่น น้ำหนักลด อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ร่วมอีกหลาย ๆ อาการ ไม่ใช่มีแต่เพียงอารมณ์เศร้าอย่างเดียว ซึ่งยาจะมีส่วนช่วยในการบำบัดอาการต่าง ๆ เหล่านี้อีกด้วย
สามารถโทรปรึกษาปัญหาได้ที่สายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 ของกรมสุขภาพจิตตลอด 24 ชั่วโมง
บทความประกอบ:
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!