ลูกเรียนหนักเกินไป พ่อแม่ยุคใหม่ ควรหยุดสร้างความกดดันให้ลูก
ลูกเรียนหนักเกินไป พ่อแม่ควรหยุดสร้างความกดดันให้ลูก
บทความชิ้นนี้ต้องขอขอบพระคุณ นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จากบทความของท่านใน facebook ชื่อว่า บทแทรก:หนูสอบได้ที่เท่าไร? บทความนี้เป็นบทความที่อาจารย์หมอท่านได้เขียนเพื่อกระตุกความคิดให้คุณพ่อคุณแม่ได้มองว่าปัจจุบันนี้ลูกของเรา โดยเฉพาะในวัยอนุบาล เรากำลังพัฒนาลูกไปในทิศทางใด? หรือกำลังยัดเยียดวิชาการเพื่อเน้นการสอบเข้าเรียนต่อมากกว่า การเน้นพัฒนาการต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับวัยหรือไม่? ลูกเรียนหนักไปหรือไม่ ผู้เขียนขออนุญาตหยิบยกบทความนี้เพื่อนำเสนอแก่คุณพ่อคุณแม่ ถือเป็นการแชร์ความคิดเห็นนะคะ
“เข้าใจว่านี่เป็นช่วงที่ รร อนุบาลต่างๆกำลังประกาศผลการคัดเลือกและจัดห้อง หลายแห่งด้วยการสอบหรือทดสอบ พบพ่อแม่ที่ที่ทำงานคุยกันเรื่องลูกเข้าได้ที่1ของห้องจีเนียสด้วยความปลื้มใจ เห็นพ่อแม่ที่พูดเรื่องลูกได้ที่ 50 ของห้องจีเนียสด้วยความเสียใจ ฟังพ่อแม่ที่ผิดหวังลูกได้ที่ 53 หลุดไปอยู่ห้องสุพรีม (เข้าใจตั้งชื่อ)

ที่จริงแล้ว ไม่มีอะไรให้ดีใจและไม่มีอะไรให้เสียใจเลย เด็กก่อนอนุบาล อนุบาล แม้กระทั่งประถมต้น ไม่มีความจำเป็นหรือประโยชน์อะไรที่จะจัดอันดับเลย ตัวชี้วัดนี้ไม่สะท้อนอะไรในอนาคตทั้งนั้น เด็กอายุเท่านี้เราควรสนใจพัฒนาการของกล้ามเนื้อใหญ่ กล้ามเนื้อเล็ก การช่วยเหลือตนเอง การทำงานร่วมกับหมู่คณะ และการแสดงออกทางอารมณ์ มากกว่าเรื่องอื่น เด็กๆควรได้วาดรูป ระบายสี เล่นดินเล่นทราย ว่ายน้ำ เล่นดนตรี โดยทำเป็นกลุ่ม อะไรก็ตามที่เป็นอิสระ เสรี และพัฒนาสมอง จิตใจ อารมณ์ สังคมทุกด้านพร้อมกันโดยไม่คัดแยก
ความดีใจของพ่อแม่ส่งสัญญาณผิดๆให้ลูก ความเสียใจของพ่อแม่ยิ่งส่งสัญญาณผิดๆให้ลูกไปกันใหญ่ ตัวเลขเหล่านี้เป็นเรื่องขี้ผงเมื่อเทียบกับชีวิตที่เหลือทั้งหมด ย้ำมาอีกครั้งนี่คือวัยเตรียมความพร้อม เด็กก่อน8ขวบ เป็นระยะ pre-operation นั่นแปลว่าการจัดอันดับหรือ ordering มีความหมายว่าอย่างไรก็ไม่ชัดเจนเท่าไรนัก เขาไม่สนเลย เขาอยากเล่น แต่เขามองเห็นและรับรู้ได้ว่า เลข1ได้รับคำชม เลข53เห็นพ่อแม่มีสีหน้าหนักใจ เลข134เห็นพ่อแม่น้ำตาซึมเพราะเขาเป็น “ต้นเหตุ” หนูคือต้นเหตุ เหล่านี้เป็นการส่งสัญญาณผิดๆระดับชาติ”
จากข้อความที่ได้อ่าน ไม่ได้มีเจตนาจะกล่าวหาคุณพ่อคุณแม่นะคะว่าเลี้ยงลูกผิดหรือไม่ แต่อยากจะนำเสนอแนวทางในการเลี้ยงลูก โดยเฉพาะแนวทางการส่งเสริมการเรียนจากที่เน้นให้ความรู้ทางวิชาการ เรามาส่งเสริมให้ลูกเรียนอย่างมีความสุขกันดีกว่าค่ะ เพราะ

การศึกษาที่ดี คือ การเรียนรู้อย่างมีความสุข
ดร.ยศวีร์ สายฟ้า อาจารย์ประจำสาขาวิชาประถมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงคำว่า “เรียนรู้อย่างมีความสุข” ไว้ว่า มีข้อมูลยืนยันทางการแพทย์ว่า เด็กแรกเกิด – 3 ขวบปีแรก สมองมีการพัฒนาเจริญเติบโตเร็วที่สุด หากคุณพ่อคุณแม่เข้าใจและส่งเสริมอย่างถูกวิธี เท่ากับว่าได้กระตุ้นเซลล์สมองส่วนการเรียนรู้ของลูกให้เกิดประสิทธิภาพได้ ยิ่งส่งเสริมให้เรียนรู้อย่างถูกต้อง จะยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ในสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะการเรียนรู้อย่างมีความสุขส่งผลต่อความคิด ความอ่าน และความสามารถได้อย่างดี
บทบาทของพ่อแม่ที่จะส่งเสริมให้ลูกเรียนรู้อย่างมีความสุข
1. รักอย่างเข้าใจ แน่นอนว่าความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูกนั้นยิ่งใหญ่เพียงไร แต่การรักอย่างเข้าใจนั้นยิ่งใหญ่กว่า เพราะนอกจากรักแล้วยังเข้าใจ ให้คำปรึกษา และสนับสนุน ให้ลูกได้ค้นหาสิ่งที่ลูกชอบ สนใจและอยากเรียน ที่สำคัญพ่อแม่ไม่ควรเป็นผู้ตัดสินว่าลูกควรเรียนอะไร
2. มองลูกที่ความสามารถ ข้อนี้คุณพ่อคุณแม่ควรดูที่ความถนัด ความสนใจ รับรู้ความต้องการของลูก และความพร้อมของลูกในการเรียนรู้สิ่งนั้นจริง ๆทำได้โดยการพูดคุย สังเกต แล้วนำมาวิเคราะห์จะทำให้พ่อแม่เห็นภาพของความเป็นจริงว่าลูกนั้นต้องการหรือสนใจอะไร ถนัดในด้านใด
3. ร่วมกันวางแผน นี้คือช่องทางสำคัญหรือแนวทางการเรียนรู้ของลูกว่าจะไปในทิศทางใด เช่น ลูกชอบเรียนดนตรี ต้องไปเรียนเสริมที่ใด หรือควรหาประสบการณ์เพิ่มเติมได้ที่ไหนบ้าง
4. ให้ความช่วยเหลือ คุณพ่อคุณแม่ควรช่วยเหลือลูกตามที่ลูกต้อการ ด้วยความเอาใจใส่ สนใจ ช่วยลูกคิดและเป็นกำลังใจให้

อาจารย์ฝากข้อคิด
ดร.ยศวีร์ สายฟ้า ได้ฝากข้อคิดถึงคุณพ่อคุณแม่ สรุปได้ดังนี้
1. พ่อแม่ไม่ควรกดดันหรือคาดหวังในตัวลูกมากเกินไป
2. พ่อแม่ควรปรับแนวคิดเรื่องการเรียนรู้ เป็นแนวทางการเรียนรู้อย่างมีความสุข ลูกชอบที่จะเรียนและความสุขของลูกควรเป็นไปตามวัย
3. พ่อแม่มีสิทธิ์ออกแบบแนวทางการเลี้ยงลูกของตนเองได้ แต่อย่าให้กระแสสังคมมาเป็นตัวกำหนดวิถีทางการเลี้ยงลูกของคุณพ่อคุณแม่
4. พ่อแม่ควรยอมรับในความเป็นตัวตนของลูกโดยไม่เปรียบเทียบกับใคร รวมถึงการยอมรับฟังความคิดเห็นจากลูกเพื่อให้ลูกได้บอกในสิ่งที่ตนเองต้องการ หากคุณพ่อคุณแม่มองดูแล้วว่าไม่เหมาะสมจึงหาเหตุผลมาแสดงให้ลูกเห็นเพื่อให้ลูกได้คิดตามโดยไม่บังคับ
บทความในวันนี้มีเจตนาเพียงเพื่ออยากให้ลูกได้เรียนรู้อย่างมีความสุข ได้คิดและทำในสิ่งที่เหมาะสมกับวัย เพราะการพัฒนาเด็กอย่างเป็นขั้นตอนสมวัย เท่ากับการปลูกฝังให้ลูกได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง ได้ฝึกคิด ฝึกทำ เรียนรู้ถูกผิดและการแก้ปัญหา โดยมีคุณพ่อคุณแม่เป็นผู้คอยให้คำปรึกษาและกำลังใจ จะดีไม่น้อยใช่ไหมคะ “ถ้าลูกยิ้มแล้วเรายิ้มไปพร้อมกับลูก” อย่างมีความสุขด้วยกัน

The Asianparent Thailand เว็บไซต์ข้อมูลคุณภาพและสังคมคุณแม่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศและเอเชีย เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารแพทย์ แหล่งความรู้แม่และเด็ก รวมถึงแอพพลิเคชั่น The Asianparent ที่ติดตามการตั้งครรภ์ให้คุณแม่ได้ลงทะเบียนใช้งานฟรี เพื่อติดตามพัฒนาการทารกตั้งแต่ตั้งครรภ์ จนถึงติดตามหลังคลอดที่ครอบคลุมที่สุดและผู้ใช้งานสูงสุดในประเทศไทย นอกจากความรู้ยังมีไลฟ์สไตล์และสื่อมัลติมีเดียหลากหลาย ไม่ว่าสุขภาพแม่และเด็ก โภชนาการแม่และเด็ก กิจกรรมสำหรับครอบครัว
การวางแผนครอบครัวไปจนถึง การดูแลลูก การศึกษา และจิตวิทยาเด็ก The Asianparent เราพร้อมสนับสนุนพ่อแม่ทุกท่าน ให้มีความรู้และมีสุขภาพกายใจเข้มแข็ง เพื่อเสริมสร้างครอบครัวอย่างแข็งแรง
เพราะเราเชื่อว่า “พ่อแม่เข้มแข็ง ครอบครัวแข็งแรง”
ขอขอบพระคุณข้อมูลจาก :
https://www.facebook.com/นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง :
4 เรื่องต้องห้าม พ่อแม่ไม่ควรทำกับลูกวัยเรียน
เช็คลิสต์ ลูกของคุณพร้อมเรียนกวดวิชาหรือไม่
เด็กไทยแบกกระเป๋านักเรียนหนักเกินตัว อันตราย! ร่างกายบาดเจ็บ มีผลต่อการเรียนรู้
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!