ภาวะสูญเสียการได้ยินของทารกแรกเกิด คือมีลักษณะประสาทหูพิการสองข้างระดับรุนแรงตั้งแต่แรกเกิด เมื่อโตขึ้นจะส่งผลให้เป็นใบ้ได้ ซึ่งจะทำให้เด็กมีความบกพร่องทางด้านการสื่อสาร อาจจะพูดได้ช้ากว่าเด็กปกติ ทำให้กลายเป็นเด็กด้อยโอกาสทางสังคม ทางการศึกษา และการประกอบอาชีพ ส่งผลให้เกิดปัญหาในครอบครัวขึ้น แต่มีหลักฐานในต่างประเทศพบว่า หากสามารถให้การวินิจฉัยภาวะสูญเสียการได้ยินในเด็กทารกแรกเกิดได้ในระยะแรกก่อนอายุ 3 เดือน และทำการรักษาฟื้นฟูก่อนอายุ 6 เดือน จะทำให้สมรรถภาพในด้านการฟังและการพูดมีการพัฒนาได้ใกล้เคียงเด็กปกติ

10 ปัจจัยเสี่ยง ภาวะสูญเสียการได้ยินของทารกแรกเกิด
อุบัติการณ์ที่พบในประเทศไทย มีรายงานพบอัตราการเกิดภาวะสูญเสียการได้ยิน 1.7 รายต่อ 1,000 รายของทารกที่เกิดใหม่ต่อปี ปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดภาวะนี้ขึ้นในทารกแรกเกิดถึง 2 ขวบ ได้แก่
1.พ่อแม่หรือญาติใกล้ชิดเป็นโรคประสาทหูพิการ เป็นใบ้ตั้งแต่กำเนิดหรือตั้งแต่วัยเด็กเล็ก
2.เกิดภาวะทารกติดเชื้อในครรภ์ หรือมารดาติดเชื้อขณะตั้งครรภ์
3.ในขณะตั้งครรภ์แม่ได้รับยาหรือสารที่เป็นพิษ ซึ่งมีผลกระทบต่อลูกในท้องหรือขณะคลอด
4.ทาแรกเกิดมีความผิดปกติของรูปใบหน้า ศีรษะ รวมทั้งความผิดปกติของรูปร่างใบหู และช่องหู
5.มีการเจ็บป่วยหรือภาวะที่ต้องดูในหอบริบาลวิกฤตนาน 48 ชั่วโมงหรือมากกว่า

6.มีอาการแสดงที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มโรคที่มีภาวะสูญเสียการได้ยินแบบประสาทหูชั้นในเสีย และหรือทางนำเสียงเสีย
7.ทารกมีภาวะตัวเหลือง เนื่องจากสารบิลิรูบินในเลือดสูงจนต้องถ่ายเลือด
8.ตรวจพบการติดเชื้อของทารกหลังคลอด ซึ่งเกี่ยวข้องกับภาวะสูญเสียการได้ยิน รวมทั้งโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
9.มีความผิดปกติด้านการได้ยิน ด้านภาษา การพูดและหรือพัฒนาการล่าช้าในวัยเด็กเล็ก
10.มีโรคหูน้ำหนวกชนิดน้ำใสที่เกิดซ้ำ หรือปล่อยให้เป็นเรื้อรังนานอย่างน้อย 3 เดือน
คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตพัฒนาการการได้ยิน ภาษา และการพูดของทารกตั้งแต่แรกเกิด- 2 ขวบแรกที่เป็นปกติได้ดังนี้

ระยะแรกเกิดถึง 3 เดือน
- ทารกจะลืมตาตื่นและกะพริบตา หรือสะดุ้ง ตกใจขึ้นได้เมื่อได้ยินเสียงดัง เช่น เสียงแตรรถ หมาเห่า
- ลูกจะทำท่าคล้ายหยุดฟังเมื่อพ่อแม่คุยกัน หรือหยุดฟังเมื่อพ่อแม่อุ้มและก้มลงคุยใกล้ ๆ

ระยะ 3-6 เดือน
- ทารกสามารถหันศีรษะไปทางที่มาของเสียงด้านข้างใกล้ ๆ ตัวได้ เช่น เสียงพ่อแม่เรียกชื่อ เสียงของเล่นต่าง ๆ
- สามารถพูดออกเสียงคล้ายพยัญชนะ และสระรวมกัน เช่น “กา-กา” “บา-บา” ซ้ำ ๆ

ระยะ 6-9 เดือน
- ลูกจะหันศีรษะไปมาเพื่อหาเสียงเรียกชื่อ จากทางด้านหลังได้
- สามารถออกเสียงพยัญชนะและสระได้มากขึ้น โดยทำเสียงติดต่อกันยาว ๆ ได้ 4-6 พยางค์ เช่น “ลา-ลา-ลา-ลา” “บาคาบาคา”
- จะสนใจฟังและเลียนเสียงต่าง ๆ จากสิ่งแวดล้อม เช่น เสียงหมาเห่า เสียงจิ้งจก ตุ๊กแก

ระยะ 9-12 เดือน
- ลูกจะก้มศีรษะมองไปยังเสียงที่เกิดข้างตัวที่อยู่ต่ำกว่าระดับหูได้อย่างรวดเร็ว
- สามารถทำตามคำสั่งแสดงท่าทางได้ถูกต้อง เมื่อพ่อแม่พูดให้ลูกทำ เช่น บ๊ายบาย สวัสดี ขอ
- เริ่มพูดคำแรกได้เป็นคำ ๆ เช่น “แม่ หม่ำ ไป”

ระยะ 12-16 เดือน
- สามารถหันหาเสียงได้ถูกต้องทุกทิศทาง
- สามารถมองหาสิ่งของหรือคนที่คุ้นเคยได้ถูกต้อง
- ลูกสามารถพูดเป็นคำ ๆ ได้อย่างน้อย 10-15 คำ โดยมากจะใช้คำพูดเพื่อเรียกชื่อสิ่งต่าง ๆ ที่เห็น เช่น “หมา แมว” หรือ บอกความต้องการ เช่น “เอา ไป” ได้แล้ว

ระยะ 18-24 เดือน
- ลูกสามารถทำตามคำสั่งง่าย ๆ ได้ เมื่อพ่อแม่เรียกชื่อของสิ่งนั้น เช่น ชี้อวัยวะได้อย่างน้อย 2 อย่าง ชี้สิ่งของที่คุ้นเคยได้
- พูดได้ประมาณ 40-100 คำ และเริ่มพูดเป็นวลีสั้น ๆ เช่น “เอามา”
หากสังเกตอาการและพบว่าลูกไม่มีพัฒนาการตามช่วงวัยดังกล่าวหรือพบความผิดปกติทางการได้ยินตั้งแต่แรกเกิด ควรรีบพามาพบแพทย์เพื่อเริ่มต้นวินิจฉัยและแก้ไขปัญหาตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยเร็วนะคะ
ที่มา : www.healthnewsdaily.blogspot.com
บทความอื่นที่น่าสนใจ :
ภาวะ แท้งค้าง ยากที่จะรู้ได้ว่าทารกในครรภ์เสียชีวิตมานานเท่าไหร่แล้ว
ภาวะซีดในหญิงตั้งครรภ์ ของแถมที่เกิดขึ้นได้กับแม่ท้อง(อายุน้อย)
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!