ภาวะกรวยไตอักเสบ อาจดูเป็นโรคที่ไกลตัว แต่สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้ อาจจะเกิดจากพฤติกรรมในชีวิตของเราได้ด้วย โดยเฉพาะกับผู้หญิง ว่าแต่กรวยไตอักเสบ คืออะไร เกิดจากอะไร กลุ่มเสี่ยงเป็นใครได้บ้าง อาการ และวิธีการรักษาเป็นแบบไหน วันนี้เรามีข้อมูลสุขภาพเกี่ยวกับเรื่องนี้มาฝากค่ะ
กรวยไต คืออะไร?
ก่อนอื่นเราต้องทำความรู้จักก่อน ว่ากรวยไตเป็นอวัยวะ ที่มีลักษณะเป็นโพรง เป็นส่วนต่อกับท่อไต ทำหน้าที่รองรับน้ำปัสสาวะที่กรองแล้ว จากเซลล์ของไต จากนั้นจึงนำส่งไปที่ท่อไต
![ภาวะกรวยไตอักเสบ 100 สิ่งแม่ท้องต้องรู้ ตอนที่ 70](https://static.cdntap.com/tap-assets-prod/wp-content/uploads/sites/25/2020/12/kidney03.jpg?width=700&quality=10)
กรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis) หรือ ภาวะกรวยไตอักเสบ คือ ภาวะติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณกรวยไต ซึ่งอยู่ระหว่างไตกับท่อไต ผู้ป่วยกรวยไตอักเสบ จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้อง และเร่งด่วน เนื่องจากอาจทำให้ไตเสียหายถาวร หรือติดเชื้อในกระแสเลือดจนเสียชีวิตได้
โดยกรวยไตอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งเชื้อที่พบบ่อยคือ E.coli โดยสาเหตุที่ทำให้กรวยไตติดเชื้อ ได้แก่ การติดเชื้อที่ส่วนอื่น ๆ ของทางเดินปัสสาวะอยู่แล้ว เช่น มีการอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะ เป็นโรคกระเพาปัสสาวะอักเสบ เป็นต้น ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งกรวยไตอักเสบแบบเฉียบพลัน หรือกรวยไตอักเสบแบบเรื้อรังได้ ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ซึ่งเป็นอาการที่พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
![ภาวะกรวยไตอักเสบ 100 สิ่งแม่ท้องต้องรู้ ตอนที่ 70](https://static.cdntap.com/tap-assets-prod/wp-content/uploads/sites/25/2020/12/kidney01.jpg?width=700&quality=10)
กลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดกรวยไตอักเสบ มีใครบ้าง ?
- ผู้หญิงเสี่ยงติดเชื้อแบคทีเรียที่เข้าสู่ทางเดินปัสสาวะได้มากกว่าผู้ชาย เนื่องจากท่อปัสสาวะของผู้หญิงสั้นกว่า และอยู่ใกล้ช่องคลอดกับทวารหนัก
- ผู้หญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพิ่มขึ้น ทำให้ความดันในท่อไตสูงขึ้น จนอาจเกิดกรวยไตอุดตัน และมีการติดเชื้อได้
- ผู้ที่เคยได้รับการส่องกล้อง หรือเคยรับการผ่าตัดในระบบทางเดินปัสสาวะ
- ผู้ที่กลั้นปัสสาวะบ่อย ๆ และดื่มน้ำน้อย ทำให้มีปัสสาวะคั่งค้างในกระเพาะปัสสาวะ
- ผู้ที่เกิดการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะส่วนอื่น ๆ เช่น ท่อปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะ อาจเกิดการติดเชื้อลุกลามมายังกรวยไตได้
- ผู้ที่มีระบบทางเดินปัสสาวะที่ผิดปกติ เช่น ผู้ที่มีนิ่วในไต ระบบทางเดินปัสสาวะตีบ เป็นต้น
การวินิจฉัยโรคกรวยไตอักเสบ
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ ได้จากประวัติอาการ ประวัติการมีเพศสัมพันธ์ การตรวจร่างกาย และจากการตรวจปัสสาวะ ซึ่งจะพบเม็ดเลือดขาวอยู่กันเดี่ยว ๆ และเกาะกันเป็นแพ (White blood cells cast) ส่วนในรายที่รุนแรง อาจมีการตรวจเชื้อ เพาะเชื้อจากปัสสาวะ และ/หรือ จากเลือด นอกจากนั้น ยังอาจมีการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การถ่ายภาพไต ด้วยการเอกซเรย์ หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรืออัลตราซาวด์ หรือใช้วิธีการส่องกล้องตรวจทางเดินปัสสาวะ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ อาการของผู้ป่วย และดุลยพินิจของ แพทย์ผู้ทำการรักษา
![ภาวะกรวยไตอักเสบ 100 สิ่งแม่ท้องต้องรู้ ตอนที่ 70](https://static.cdntap.com/tap-assets-prod/wp-content/uploads/sites/25/2020/12/kidney02.jpg?width=700&quality=10)
โดยมาก แพทย์มักตรวจพบไข้สูง 39-40 องศาเซลเซียส ปัสสาวะมีลักษณะขุ่น ถ้าใช้กำปั้นทุบเบา ๆ ที่สีข้างตรงที่มีอาการปวด ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บจนสะดุ้ง ส่วนหน้าท้องอาจมีอาการกดเจ็บ หรือท้องเกร็งแข็งเล็กน้อย
โรคอื่น ๆ ที่อาจแสดงอาการคล้ายโรคกรวยไตอักเสบที่พบบ่อย ได้แก่
- มาลาเรีย จะมีอาการไข้สูง หนาวสั่นอย่างมาก แต่จะจับไข้เป็นเวลาแน่นอน วันละครั้ง หรือวันเว้นวัน ผู้ป่วยมักจะมีประวัติการเดินทางเข้าไปในเขตป่าเขา หรือได้รับการถ่ายเลือดมาก่อน
- ไข้หวัดใหญ่ จะมีไข้สูง ปวดเมื่อยตามหลังและทั่วตัว เมื่อใช้กำปั้นเคาะสีข้างหรือบั้นเอวจะไม่รู้สึกเจ็บ ผู้ป่วยจะไม่มีอาการหนาวสั่น เพียงแต่รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว และมักจะมีอาการเป็นหวัด เจ็บคอร่วมด้วย
- ปอดอักเสบ (ในระยะ 24 ชั่วโมง) นอกจากจะมีไข้สูง มีเสลด เป็นหนอง หรือเจ็บหน้าอกแปล๊บเวลาหายใจแรง ๆ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการหนาวสั่นอย่างมากร่วมด้วย
- ภาวะเม็ดเลือดแดงแตก จะมีไข้สูง หนาวสั่น ซีด เหลือง อ่อนเพลีย
- ท่อน้ำดีอักเสบ จะมีไข้สูง หนาวสั่น ตาเหลือง ตัวเหลือง และมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง
วิธีป้องกัน โรคกรวยไตอักเสบ
- ดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน อย่าให้ร่างกายขาดน้ำ หรือดื่มน้ำน้อยจนเกินไป วันละ 8 – 10 แก้ว หรือบวกลบได้อีกเล็กน้อย
- ไม่กลั้นปัสสาวะนาน ๆ
- นั่งบนโถ จะทำให้ปัสสาวะออกมาได้ มากกว่าการยืนบนโถ หากปัสสาวะไม่สุด อาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อได้อีกเช่นกัน
- รักษาสุขอนามัยบริเวณอวัยวะเพศ เพื่อลดการติดเชื้อ
- ไม่เช็ดกระดาษชำระจากทวารหนัก ไปที่อวัยวะเพศ เพื่อลดการติดเชื้อ อิโคไลจากอุจจาระ
- ออกกำลังกาย เป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง เพิ่มภูมิต้านทานโรคให้กับตัวเอง
ภาวะแทรกซ้อนของกรวยไตอักเสบ
กรวยไตอักเสบชนิดเฉียบพลันมักไม่มีภาวะแทรกซ้อนหากได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้อง แต่อาจนำไปสู่การเกิดกรวยไตอักเสบชนิดเรื้อรังได้ ซึ่งอาจทำให้ไตเสียหายถาวร หรือเสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระแสเลือด และแม้มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก แต่ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมทันท่วงที
ส่วนภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ของกรวยไตอักเสบที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ ภาวะความดันโลหิตสูง การเกิดแผลเป็นหรือฝีในไต และภาวะไตวายเฉียบพลัน
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์โรคไตและไตเทียม โทร.1719
ที่มา :
- https://medthai.com/%E0%B8%81%E0
- https://www.bangkokpattayahospital.com/th/healthcare-services
- https://www.vichaiyut.com/th/health/diseases-treatment/other-diseases/
- https://www.sanook.com/health/5865/
- https://www.pobpad.com/%E0%B8%81%E0%B8
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!