จะมีสักกี่คนที่เข้าใจอวัยวะสำคัญอย่างนึงของคนเรา นั่นก็คือ “ไต” ไม่ใช่ ไตหาหัวจาม (ตามหาหัวใจ) แต่ไตที่พูดถึงก็คือ หน่วยไต (nephron) ของมนุษย์เรานั่นเอง
ก่อนอื่นเรามารู้จักกับไตและส่วนประกอบของไตกันดีกว่า… ไตเป็นอวัยวะหลักของระบบขับถ่ายปัสสาวะ อยู่นอกช่องท้องด้านหลังติดกับกระดูกสันหลัง รูปร่างคล้ายเมล็ดถั่ว มีน้ำหนักทั้งสองข้างรวมกันประมาณ 300 กรัมหรือประมาณร้อยละ 0.4 ของน้ำหนักตัว ในผู้ชาย มีน้ำหนักประมาณข้างละ 125 – 170 กรัม ในผู้หญิงมีน้ำหนักประมาณข้างละ 115 – 155 กรัม ไตด้านขวาตั้งอยู่ระดับกระดูกซี่โครงที่ 12 ด้านซ้ายอยู่ระหว่างกระดูกซี่โครงที่ 11 และ 12 หน้าที่ของไตที่สำคัญคือ การรักษาสมดุลของน้ำและสารต่างๆ ในร่างกายให้คงที่ตลอดหน้าที่ของไตที่สำคัญคือ การรักษาสมดุลของน้ำและสารต่างๆ ในร่างกายให้คงที่ตลอดเวลา (homeostasis) โดยอาศัยกระบวนการทำงานด้วยกระบวนการหลัก 3 กระบวนการ คือ กระบวนการการกรองของโกลเมอรูลัส (glomerular filtration) กระบวนการดูดกลับสาร และน้ำ (tubular reabsorption) กระบวนการหลั่งสาร (tubular secretion) ผลสุดท้ายจะขับถ่ายสาร (renal excretion) ที่ร่างกาย ไม่ต้องการหลักในการกำจัดของเสียออกจากร่างกาย
ไม่น่าเชื่อเลยนะคะว่า ไต ที่อยู่ภายในตัวเราจะมีหน้าที่มากมายเหลือเกิน ดังนั้นถ้าไตหรือหน่วยไตพร่องในการทำหน้าที่ก็จะมีผลต่อระบบต่างๆของร่างกายและคุณภาพชีวิตได้
ถ้าเราดูแลอวัยวะนี้ให้ดีไม่ได้…อาจเกิดภาวะไตเสื่อม
โดยธรรมชาติเมื่อบุคคลมีอายุได้ 40 ปีการทำหน้าที่ของไตจะลดลงร้อยละ 1-2 อายุที่เพิ่มขึ้นจะมีโอกาสพบการเสื่อมการทำหน้าที่ของไตได้มากขึ้น การเสื่อมของไตจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ถ้ามีปัจจัยอื่นเกิดขึ้นก็จะทำให้เกิดภาวะการเสื่อมได้เร็วและรุนแรงขึ้น ปัจจัยต่างๆได้แก่ ภาวะกรวยไตและหน่วยไตอักเสบเรื้อรัง โรคหลอดเลือดไปเลี้ยงไตตีบ หลอดเลือดแข็งตัวทำให้เลือดไปเลี้ยงไตไม่พอ การติดเชื้อในระบบการเดินปัสสาวะ ภาวะกรดเกิน ความผิดปกติในเมตาบอริสั่ม เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ยาบางชนิดที่มีผลต่อไต และสาเหตุอื่นๆ
ภาวะไตวาย (renal failure) นั้นเป็นอย่างไร?
ในปี 2002 National Kidney Foundation กำหนดให้ใช้คำว่า โรคไตเรื้อรังแทนคำว่า ภาวะไตวายเรื้อรัง โรคไตวายเป็นภาวะที่ผู้ป่วยมีการสูญเสียหน้าที่ของไต ไม่สามารถรักษาความสมดุลของ น้ำ กรด ด่าง อิเล็กโทรไลต์ของน้ำที่อยู่นอกเซลล์(extracellular fluid) รวมทั้งการทำหน้าที่ในการผลิตฮอร์โมนลดลง สูญเสียหน้าที่ในการขับของเสียออกทำให้เกิดการคั่งของของเสีย ได้แก่ ยูเรีย ครีตินิน ฮอร์โมนพาราธัยรอยด์ โซเดียม โปตัสเซียม น้ำ และกรดจากการเผาผลาญ เป็นต้น ในทางปฏิบัตินิยมวัด จากค่าการคั่งของของเสียจากการตรวจหาปริมาณครีตินิน (serum creatinine: Cr) และยูเรียไนโตรเจน (blood urea nitrogen: BUN) ในเลือด ในภาวะที่ไตสูญเสียการทำงานอย่างทันทีทันใด เรียกว่า ภาวะไตวายเฉียบพลัน ส่วนภาวะที่มีการเสื่อมของไตติดต่อกันนานกว่า 3 เดือน เรียกว่า ภาวะไตวายเรื้อรัง
ภาวะไตวายเรื้อรัง
ได้มีการแบ่งระดับภาวะไตวายเรื้อรังตามระดับการทำงานของไต โดยใช้ค่าอัตราการกรอง ของไตเป็นตัวกำหนดออกเป็น 5 ระยะดังนี้
ระยะที่1 ผู้ป่วยมีอัตราการกรองของไตมากกว่า 90 มล./นาที/พี้นที่ผิวกาย 1.73 เมตร 2 หมายถึง การมีความผิดปกติของไต แต่ค่าอัตราการกรองของไตยังอยู่ในเกณฑ์ปกติหรืออาจต่ำลงเล็กน้อย ในระยะนี้ ยังไม่พบอาการแสดงที่ผิดปกติ แต่บางรายอาจตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะได้
ระยะที่2 ผู้ป่วยมีอัตราการกรองของไตมากกว่า 60 – 89 มล./นาที/พี้นที่ผิวกาย 1.73 เมตร 2 หมายถึง การมีความผิดปกติของไต เมื่อค่าอัตราการกรองของไตลดลงเล็กน้อยโดยทั่วไปผู้ป่วยจะยังคงมีอาการปกติ ความดันโลหิตอาจเริ่มสูงขึ้นในระยะนี้ จะเริ่มพบความผิดปกติในผลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการต่างๆ
ระยะที่ 3 ผู้ป่วยมีอัตราการกรองของไตมากกว่า 30 – 59 มล./นาที/พี้นที่ผิวกาย 1.73 เมตร 2 หมายถึงการมีความผิดปกติของไต ค่าอัตราการกรองของไตลดลงปานกลาง มักยังไม่แสดงอาการผิดปกติ โดยส่วนใหญ่พบภาวะความดันโลหิตสูง และอาจตรวจพบภาวะซีด แคลเซียมในเลือดต่ำ และฟอสเฟตในเลือดสูงได้ในระยะนี้ซึ่งต้องมีการเฝ้าระวังและให้การรักษาภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
ระยะที่ 4 ผู้ป่วยมีอัตราการกรองของไตมากกว่า 15 – 29 มล./นาที/พี้นที่ผิวกาย 1.73 เมตร 2 หมายถึง การมีความผิดปกติของไต และค่าอัตราการกรองของไตลดลงอย่างมาก ผู้ป่วยมักมีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง เบื่ออาหาร บวม ความจำแย่ลง ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการต่างๆผิดปกติ พบภาวะ กรดจากการเผาผลาญ (metabolic acidosis) และไขมันในเลือดผิดปกติ(dislipidemia) ควรมีการเตรียมพร้อมเพื่อให้การบำบัดรักษาทดแทนไตต่อไป
ระยะที่ 5 ผู้ป่วยมีอัตราการกรองของไตน้อยกว่า 15 มล./นาที/พี้นที่ผิวกาย 1.73 เมตร 2 ซึ่งถือว่าเป็นระยะไตวาย ทำให้มีความผิดปกติเกือบทุกระบบของร่างกาย ร่างกายเสียสมดุลของน้ำ และอิเล็กโตรไลต์ มีอาการยูรีเมีย เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ผิวแห้ง คัน คลื่นไส้อาเจียน สะอึก เป็นตะคริว นอนไม่หลับ อาจเกิดภาวะหัวใจวายเนื่องจากน้ำเกิน และภาวะความดันโลหิตสูงได้ ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการบำบัดทดแทนไต โดยเฉพาะในรายที่มีอาการยูรีเมีย
เรามาป้องกันภาวะไตเสื่อมกันเถอะ
การชะลอความเสื่อมของไตเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อไม่ให้เข้าสู่ระยะไตวาย ป้องกันและรักษาภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น โดยจำเป็นต้องการรักษาสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไตเรื้อรัง ค้นหาสาเหตุและแก้ไขสาเหตุนั้นเท่าที่ทำได้ เช่น การควบคุมระดับน้ำตาลในผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ควบคุมความดันโลหิต รักษาภาวะติดเชื้อ หยุดยาที่ส่งเสริมให้ภาวะของโรค เป็นมากยิ่งขึ้น หรือ พบแพทย์ตรวจรักษาสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น ….แค่เนี้ย เราก็ได้ดูแลสุขภาพไตไม่ให้ไตเสื่อมได้แล้ว
เอกสารอ้างอิง
โสมพันธ์ เจือแก้ว และศิราณี เครือสวัสดิ.คู่มือการพยาบาล ผู้ป่วยโรคไตวายที่มารับการผ่าตัดใส่สายสวนระยะยาวเพื่อฟอกเลือด ในระยะเตรียมก่อนผ่าตัดและระยะตรวจติดตามผลหลังผ่าตัดงานการพยาบาลผ่าตัด. ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2557
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!