ทารกหลับยาก แม่ทำไงดี มาดูวิธีกล่อมลูกให้หลับใน 5 ขั้นตอน

ถ้าคุณพ่อคุณแม่กำลังเผชิญกับปัญหา ทารกหลับยาก เจ้าตัวน้อยแรกเกิดที่ไม่ยอมนอนง่าย ๆ มาเรียนรู้เคล็ดลับที่จำให้ลูกน้อยนอนหลับได้ยาว ๆ จากผู้เชี่ยวชาญที่ได้ทดลองและพิสูจน์มาแล้วว่าจะช่วยคุณพ่อคุณแม่ ทำให้ลูกน้อยได้นอนนานในยามค่ำคืน
เป็นเรื่องปกติที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่จะต้องเจอกับ ทารกหลับยาก ในตอนกลางคืนแต่จะนอนตลอดทั้งวันในช่วงกลางวัน มองผ่าน ๆ อ่านไม่ใช่เรื่องใหญ่ของใครหลายคน แต่สำหรับพ่อแม่มือใหม่ที่ต้องเป็นคนรับมือกับการไม่นอนของเจ้าตัวน้อย ทำให้ไม่ค่อยได้หลับได้นอนเป็นเวลาเดือน ๆ นั้น มันทำให้เสียสุขภาพได้เลยนะ!!
วิธีปราบเจ้าตัวน้อย ตื่นตลอด ไม่หลับไม่นอน
อย่างแรกที่แม่ต้องทำความเข้าใจคือ ลูกแรกเกิด โดยเฉพาะ 3 เดือนแรกนั้น ยังไม่คุ้นเคยกับโลกภายนอก แม่จึงต้องเรียนรู้ที่จะเลียนแบบโลกใบเดิม ใบที่ลูกน้อยขดตัวในมดลูก ทำให้เจ้าตัวน้อยรู้สึกมั่นคง ปลอดภัย คล้ายกับตอนอยู่ภายในร่างกายของแม่
- ใช้ผ้าห่อตัวลูกแรกเกิด ให้แขนน้อย ๆ แนบข้างลำตัว ราวกับถูกโอบอุ้มไว้ด้วยอ้อมกอดแสนอบอุ่น ทำให้หนูรู้สึกเหมือนกลับไปอยู่ในร่างกายแม่อีกครั้ง
- อุ้มลูกด้วยท่า Side Stomach Position ท่าอุ้มลูกจากที่เห็นในคลิป นอกจากจะช่วยให้ลูกหลับได้ง่ายแล้ว ยังช่วยปลอบลูกที่กำลังร้องไห้จ้าให้สงบลงได้อีกด้วย
- ส่งเสียง ชูวววววส์ กล่อมให้ทารกหลับได้ง่าย หรือเปิดเสียง White noise ให้ลูกฟัง โดย White noise คือ เสียงธรรมชาติ เช่น เสียงฝนตก เสียงลม เสียงสายน้ำ เสียงบรรยากาศในป่าไม้ จะช่วยทำให้ลูกรู้สึกผ่อนคลาย พริ้มตานอนหลับได้ง่าย ๆ
- หลังอุ้มลูกกระชับแน่น ให้เริ่มแกว่งเบา ๆ โยกเอน หรือเดินไปมา ด้วยจังหวะช้า ๆ เค้าจะเพลิดเพลินจนผลอยหลับได้โดยที่แม่อย่างเราไม่ทันได้รู้ตัว
ให้ลูกดูดจุกหลอกตอนนอน จะช่วยให้ลูกหลับได้ไม่ยาก แป๊บ ๆ ก็งีบหลับได้แล้ว เพราะทารกมีความสุขในการดูด เมื่อได้ดูดจุกหลอกจึงเพลิดเพลินมาก (แต่ไม่ควรให้ลูกติดจุกหลอก และควรเลิกใช้จุกหลอกก่อนพ้นขวบปีแรก เพราะถ้าใช้จุกหลอกบ่อยหรือมากเกินไป อาจทำให้ลูกพูดช้า สกัดกั้นการเจริญเติบโต ทำให้ฟันผิดรูปได้)
การห่อตัวทารก มีประโยชน์อย่างไร ?
เมื่อทารกคลอดออกมาแล้วจะได้รับการอาบน้ำ ทําความสะอาดร่างกาย หลังจากนั้น พยาบาลจะห่อตัวทารกน้อยก่อนนํามามอบให้คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ได้ชื่นชม บางครั้งคุณพ่อกับคุณแม่อาจเข้าใจว่าการห่อตัวลูกน้อย เป็นเพียงการช่วยพยุงทารก ในระหว่างการฝึกอุ้มเด็กอ่อน หรือ เพื่อความสะดวกในการให้นม แต่แท้ที่จริงแล้วการห่อทารกในช่วงหลังคลอด มีประโยชน์มากกว่านั้น
การห่อตัวทารก แรกคลอดมีกี่วิธี ทำอย่างไรบ้าง?
การห่อตัวทารกเป็นวิธีพื้นฐานที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ จะได้เรียนรู้จากพยาบาลภายหลังคลอด ซึ่งการห่อตัว อาจทำได้หลายวิธี ที่นิยมมีอยู่ 3 วิธี คือ
1. ห่อผ้าบริเวณตัวและปกคลุมส่วนศีรษะของทารกโดยเว้นบริเวณใบหน้า
2. ห่อผ้าบริเวณตัวและคลุมถึงส่วนคอของทารก
3. ห่อผ้าครึ่งตัวของทารก
ระยะเวลาใน การห่อตัวทารก
ไม่มีข้อกําหนดที่แน่ชัด คือตั้งแต่ 3 วันหลังคลอดจนถึง 1 เดือน หรือ บางครั้งอาจพิจารณาเลิกห่อตัว เมื่อทารกเริ่มพลิกกลับตัวได้เอง
การเลือกผ้าห่อตัวทารก
การใช้ผ้าห่อตัวที่ถูกวิธี จะช่วยให้น้องรู้สึกปลอดภัย อบอุ่น เหมือนอยู่ในท้องแม่ และ ลดการสะดุ้ง แขนกระตุก (jumping arm) ช่วยลดการร้องไห้ ทำให้น้องนอนได้นานขึ้น ถ้าผ้าผืนเล็กไปจะมัดแขนน้องไม่อยู่ น้องจะตะกายแขนออกมาและผวาร้อง
- การห่อตัวที่ดี แนะนำอยากให้คุณแม่ใช้ผ้าห่อตัวขนาด 47″x 47″ จะใช้ได้นานเลย เพราะเด็กแต่ละคน ใช้เวลาปรับตัวไม่เท่ากัน บางคนเร็วมากไม่กี่สัปดาห์ บางคนสองสามเดือน
- เลือกผ้าจากเส้นใยธรรมชาติ ที่นุ่ม ระบายอากาศดี เช่น ผ้าใยไผ่ ที่มีคุณสมบัติซึมซับน้ำดี ระบายอากาศ เพราะจะไม่ทำให้ลูกร้อน หรือ เหนียวเหนอะหนะตัว และยังนุ่มผิว ไม่เสียดสี บาดผิว
เลือกผ้าให้เหมาะกับอากาศ ควรเลือกคุณลักษณะของผ้าให้เหมาะกับสภาวะอากาศ เช่น หากในวันที่มีสภาพอากาศร้อนควรเลือกใช้ผ้าที่ระบายอากาศได้ดี หรือ ในวันที่อากาศเย็น ควรเลือกผ้าที่หนาพอจะรักษาความอบอุ่นให้ทารก
วิธีห่อตัวลูกน้อยอย่างไรให้ปลอดภัย ?
ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา(The American Academy of Pediatrics) ให้คําแนะนํา ในการห่อตัวทารกน้อยเพื่อความปลอดภัยในการนอนของทารกในช่วงเวลากลางวัน และกลางคืนไว้ ดังนี้
1. การห่อตัวทารก ให้ทารกนอนหลับในท่านอนหงาย เฝ้าติดตามดูลูกน้อยเป็นระยะ เพื่อให้แน่ใจว่าเจ้าตัวน้อยไม่พลิกตัวนอนคว่ำหรือนอนตะแคงข้าง ในระหว่างที่ห่อตัวทารกไว้ขณะนอนหลับ
2. จัดผ้าปูที่นอน หรือผ้าปูรองนอนให้ตึงอยู่เสมอ เนื่องจากผ้าปูที่นอนหรือวัสดุ รองนอนที่หย่อนรวมถึงผ้าห่อตัวทารกที่ห่อไว้หลวม ๆ อาจหลุดออกจากเตียงหรือตัวของทารกน้อยและอาจเป็นสาเหตุทําให้อุดปากหรือจมูกขัดขวางทางเดินหายใจและเป็นสาเหตุทําให้เสียชีวิตจากการขาดอากาศได้
3. ที่นอนไม่นุ่มเกินไป วัสดุรองนอนของทารกต้องปราศจากแผ่นรองนอนที่นิ่มจนบุ่มลงเป็นแอ่ง ไม่มีของเล่นชนิดต่าง ๆ หมอนและเครื่องนอนอื่น ๆ ควรแยกที่นอนของทารกออกจากที่นอนหลักของพ่อแม่ เพื่อป้องกันพ่อแม่นอนทับ หรืออุบัติเหตุอันไม่คาดคิด
4. ระวังไม่ให้ลูกร้อนเกินไป การห่อตัวทารกอาจทําให้อุณหภูมิร่างกายของทารกสูงกว่าปกติ คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตร่างกายของทารกน้อยอย่างสม่ำเสมอในระหว่างการห่อตัว อาการที่บ่งบอกถึงสภาพของทารกที่ร้อนกว่าปกติ เช่น มีเหงื่อออกตามตัว ผมเปียกชื้น แก้มแดงกว่าปกติ มีผื่นขึ้นจากความร้อน หายใจเร็วเป็นต้น
5. ใช้จุกนมหลอกช่วยให้หลับ สําหรับให้ทารกดูดจะช่วยให้ทารกหลับสนิทได้ดีในระหว่างวัน บริเวณที่นอนของทารกต้องปราศจากควันหรือสารพิษอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปราศจากควันบุหรี่
ทารกหลับยาก ผู้เชี่ยวชาญแนะนำเคล็ดลับที่ทำให้ลูกน้อยหลับได้ยาว ๆ
#มองหาที่เหมาะสมให้ลูกน้อยนอนหลับ
การทำให้ลูกน้อยนอนหลับได้ยาว ๆ นั้นมันมีความสัมพันธ์อย่างมากกับเรื่องของความสบายและความคุ้นเคย ลองสังเกตพฤติกรรมลูกน้อยดู เช่น เบบี๋อาจจะนอนหลับบนที่นอนพร้อมคุณแม่อย่างมีความสุข แต่จะส่งเสียงร้องหงุดหงิดเมื่อต้องนอนในเปลคนเดียว ซึ่งคุณแม่อาจจะรู้แล้วล่ะว่า สิ่งที่จะทำให้เจ้าตัวน้อยนอนยาวได้ตลอดทั้งคืนอาจเป็นเพราะมีคุณแม่นอนอยู่ข้าง ๆ บนเตียงด้วยกันในทุก ๆ วัน
#พาลูกเข้านอนด้วยวิธีการแบบเดียวกันอย่างสม่ำเสมอ
ทารกนั้นชอบทำอะไรที่เป็นกิจวัตรประจำวัน การพาลูกน้อยเข้านอนด้วยวิธีการเดิม ๆ ในทุกคืนนั้นเป็นวิธีที่ได้ผลอย่างมากในการทำให้ทารกนอนหลับได้ดีในตอนกลางคืน เช่น การได้อาบน้ำอุ่นก่อนนอน ให้นมลูกและอุ้มทารกในท่าไกวเปล ที่มักจะทำให้นอนหลับได้ดี แต่สำหรับทารกที่ดูคึกคักสดชื่นหลังได้อาบน้ำ คุณแม่อาจจะต้องข้ามขั้นตอนนี้ไปและเลือกที่จะป้อนนมและร้องเพลงกล่อมแทน ขึ้นอยู่กับอารมณ์ของลูกน้อยแต่ละคน
#สร้างบรรยากาศห้องนอนให้สลัว ๆ เข้าไว้
หนึ่งในหัวใจสำคัญของการทำให้ลูกน้อยนอนหลับได้ยาวขึ้น คือต้องแน่ใจว่าห้องนอนที่จะให้เบบี๋นอนในตอนกลางคืนนั้นต้องมืด อุณหภูมิพอเหมาะ และเงียบสงบ สิ่งนี่จะเป็นการทำให้ลูกเรียนรู้ว่าความมืดนั้นหมายถึงกลางคืน และกลางคืนนั้นเป็นเวลานอน
อ่านเพิ่มเติม วิธีแก้ปัญหาทารกหลับยาก หน้าถัดไป
#งดนอนกลางวันให้น้อยลง
เพื่อที่จะทำให้ช่วงเวลานอนกลางวันน้อยลงซักครั้งหรือสองครั้ง และทำให้เจ้าตัวน้อยนอนหลับยาว ๆ ได้ในช่วงกลางคืน ตรงนี้อาจยากสักหน่อยหากว่าเด็กทารกบางคนไม่สามารถที่จะต้านทานต่อการง่วงหลับในหลาย ๆ ครั้งต่อวันได้ แต่ถ้าลูกน้อยเริ่มโตมากขึ้นจะมีชั่วโมงการนอนกลางวันที่ค่อย ๆ ลดลง และจะนอนหลับได้ยาวขึ้นในตอนกลางคืน นั้นหมายถึงคุณพ่อคุณแม่ได้ผ่านช่วงทรหดและรับมือกับการนอนยากของลูกน้อยมาแล้ว
#ใช้เวลาเล่นกับลูกให้มากขึ้น
การทำให้ลูกน้อยได้เคลื่อนไหว กระตุ้นให้ลูกได้ใช้พลังงานในช่วงเช้า เช่น การเล่น การร้องเพลง อ่านหนังสือ และทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยกันกับลูกน้อยในทั้งวัน เมื่อถึงเวลาเข้านอนเจ้าตัวน้อยก็พร้อมจะหลับง่ายขึ้น
#ใช้เวลาก่อนนอนกล่อมลูกให้สงบ
การให้ลูกนอนหลับนั้นอาจจะทำได้ช้าสำหรับเด็กบางคน ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างมากที่จะปรับอารมณ์ให้นอนหลับได้ ลองจัดสภาพแวดล้อม 1 หรือ 2 ชั่วโมงก่อนเวลานอน ด้วยการเข้าโหมดกล่อมทำกิจกรรมอย่างอ่อนโยน ผ่านเพียงการพูดและการสัมผัส สิ่งนี้จะช่วยให้ลูกสงบลง ผ่อนคลาย และในที่สุดก็จะค่อย ๆหลับไป
#เปลี่ยนผ้าอ้อมก่อนนอนและใช้แบบซึมซับดี
บ่อยครั้งที่ทารกตื่นในยามค่ำคืนเพราะว่ารู้สึกเปียกชื่นและไม่สบายตัว ในการที่จะทำให้ลูกน้อยได้นอนหลับยาวขึ้น จึงควรเปลี่ยนผ้าอ้อมก่อนเข้านอนและซึมซับได้ดี ไม่รั่วซึม
นี่คือสิ่งที่พอจะแนะนำคุณแม่ได้สำหรับการช่วยให้ลูกน้อยได้นอนหลับยาว ๆ ตอนกลางคืน หากมีเคล็ดลับอื่น ๆ อีก มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และข้อมูลเพิ่มเติมในการทำให้ลูกน้อยหลับได้นานขึ้นกัน
บทความเกี่ยวข้องที่น่าสนใจ :
ลูกติดอุ้ม หลับยาก วางก็ร้อง คุณแม่เหนื่อยเหลือเกิน มีใครช่วยได้บ้าง
รับมือกับเบบี๋ที่ไม่ยอมนอน ฝึกลูกอ่อนนอนเป็นเวลา ยังไงไม่ให้คุณแม่ลำบาก