ครรภ์เป็นพิษ อาการร้ายใกล้ตัวคนท้อง
ครรภ์เป็นพิษ คือโรคความดันโลหิตสูงในระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออวัยวะส่วนอื่นทั่วร่างกาย จนอาจเป็นอันตรายถึงขั้นที่ทำให้ทั้งแม่และลูกในครรภ์เสียชีวิตได้ โดยคนท้องที่เสี่ยงต่อการเกิดครรภ์เป็นพิษ ได้แก่
- สตรีตั้งครรภ์แรกที่อายุน้อยกว่า 18 ปี หรือมากกว่า 35 ปี
- สตรีตั้งครรภ์ครั้งต่อมาห่างกันมากกว่า 10 ปี
- สตรีตั้งครรภ์ที่มีโรคประจำตัวก่อนตั้งครรภ์ เช่น โรคไต โรคเบาหวาน หรือโรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น
- สตรีตั้งครรภ์ที่มีประวัติคนในครอบครัวมีภาวะครรภ์เป็นพิษ
- สตรีตั้งครรภ์ที่เป็นโรคอ้วน
ครรภ์เป็นพิษ นั้นสามารถตรวจพบได้จากภาวะความดันโลหิตสูง โปรตีนรั่วในปัสสาวะ และปัญหาการไหลเวียนโลหิตที่มีส่วนทำให้เกิดครรภ์เป็นพิษทั้งชนิดที่ไม่รุนแรงและชนิดรุนแรง

สัญญาณเตือนของภาวะครรภ์เป็นพิษ
อาการนำของครรภ์เป็นพิษ ได้แก่
- มือและเท้าบวมมากในขณะตั้งครรภ์ ความดันโลหิตสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท ร่วมกับมีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ
- ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว คลื่นไส้ อาเจียน เนื่องจากความดันในกะโหลกศีรษะเพิ่มขึ้น รวมถึงสมองบวม
- เจ็บจุกแน่นที่ลิ้นปี่หรือบริเวณชายโครงขวา เนื่องจากตับโตขึ้น หรือมีเลือดออกในตับ -เหนื่อยหอบ, หายใจลำบาก, นอนราบไม่ได้ เนื่องจากน้ำท่วมปอด
- หากมีเลือดออกในสมองอาจทำให้เสียชีวิตได้ รวมถึงการทำงานของหลายระบบอวัยวะอาจล้มเหลวจากครรภ์เป็นพิษ เช่น มีไตวาย ตับวาย เกล็ดเลือดต่ำ ซึ่งทารกในครรภ์จะได้รับผลกระทบโดยตรง โดยจะอยู่ในภาวะขาดออกซิเจน ทารกตัวเล็ก รกลอกตัวก่อนกำหนด จนอาจเสียชีวิตในครรภ์เช่นกัน
จะลดความเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษได้อย่างไร
วิธีง่ายๆที่จะช่วยให้แม่ท้องลดความเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษมีดังนี้
- ฝากครรภ์ทันทีที่รู้ว่าตั้งครรภ์ และปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด
- ลดอาหารเค็ม อาหารมัน และกินอาหารที่มีโปรตีนเพิ่มขึ้น
- ดื่มน้ำให้มากกว่าหรือเท่ากับ 8 แก้วต่อวัน
และสำหรับท่านที่เคยมีภาวะครรภ์เป็นพิษมาแล้ว หากจะตั้งครรภ์อีกก็ควรปรึกษาคุณหมอก่อนนะครับ เพราะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดครรภ์เป็นพิษซ้ำอีก ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว โรคจะรุนแรงขึ้น จึงต้องปรึกษาและอยู่ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดจากคุณหมอครับ
เพียงทำตามวิธีง่ายๆเหล่านี้ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงจากภาวะครรภ์เป็นพิษได้ครับ ที่สำคัญต้องหมั่นสังเกตความผิดปกติต่างๆที่เกิดขึ้น หากมีอาการที่ทำให้แม่ท้องกังวลก็ควรรีบเข้าพบคุณหมอทันทีนะครับ
ที่มา si.mahidol.ac.th

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!