การเปลี่ยนแปลงเมื่อตั้งครรภ์ เป็นเรื่องที่ว่าที่คุณแม่อยากรู้สงสัย เมื่อตั้งครรภ์แล้ว ไม่ใช่แค่ท้องที่ขยายใหญ่ขึ้นเท่านั้น แต่มีความเปลี่ยนแปลงของสรีระร่างกายคนท้องอย่างไรบ้าง ตลอดการตั้งครรภ์
การเปลี่ยนแปลงเมื่อตั้งครรภ์ สรีระภายนอก อาการเป็นอย่างไรบ้าง

ปัสสาวะบ่อย
ในช่วงปลายไตรมาสแรกคุณจะรู้สึกอยากปัสสาวะบ่อยขึ้น เนื่องจากมดลูกที่โตขึ้นดันไปกดทับกระเพาะปัสสาวะ คุณอาจปัสสาวะรั่วเล็กน้อยเมื่อไอหรือจาม
เส้นเลือดขอด
การเปลี่ยนแปลงเมื่อตั้งครรภ์ ที่คุณแม่หลายคนเจอ คือ มีเส้นเลือดขอดขึ้นตามส่วนต่าง ๆ ซึ่งเชื่อว่าอาจเกิดจากการที่คุณแม่มีเส้นเลือดขอดที่ยังไม่แสดงอาการอยู่เดิม แต่ด้วยฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ ส่งผลให้ผนังหลอดเลือดดำบางลงจนมีอาการอย่างชัดเจน อีกประการหนึ่งก็เชื่อว่ามดลูกที่มีขนาดและน้ำหนักมากขึ้นเรื่อย ๆ อาจกดทับบนหลอดเลือดดำใหญ่ซึ่งอยู่ในช่องท้อง ทำให้เลือดดำไม่สามารถกลับสู่หัวใจได้เต็มที่จึงเกิดการคั่งของเลือดอยู่บริเวณขาและเท้า และแสดงอาการออกมาชัดเจนระหว่างการตั้งครรภ์
ผิวหนัง
สีผิวคล้ำขึ้นกว่าปกติ เกิดจากการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนที่กระตุ้นเมลานิน (serum melanin stimulating hormone) ฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (progesterone) พบได้ประมาณ ร้อยละ 90 ของหญิงตั้งครรภ์ โดยผิวหนังบริเวณลานนม อวัยวะเพศ ดำคล้ำขึ้น และเส้นขาวกลางหน้าท้องก็กลายเป็นเส้นสีดำ (linea nigra) แต่รอยดำจะจางลงหลังคลอด

หน้าท้องแตกลาย
รอยแตกของผิวหนัง พบได้บ่อยมากกว่าครึ่งหนึ่งของสตรีตั้งครรภ์ มักเกิดบริเวณท้อง เต้านม ก้นและต้นขา ลักษณะเป็นแนวเส้นสีแดง และจะเปลี่ยนเป็นสีเงินจาง ๆ ตอนหลังคลอด เป็นลักษณะที่เรียกว่า ท้องลาย (stretch mark)
เส้นผม
เส้นผม หรือขนขึ้นมากผิดปกติ หรือขึ้นผิดตำแหน่ง มักพบบริเวณหน้า และอาจพบได้ที่แขน ขา และหลัง อาการจะหายไป 6 เดือนหลังคลอด นอกจากนี้บางราย อาจ ผมร่วง จากความผิดปกติของฮอร์โมน มักพบลักษณะการร่วงที่บริเวณเหนือขมับ โดยหลังคลอดแล้ว อาการมักหายปกติ หรืออาจไม่หายก็ได้
เล็บ
พบการเปลี่ยนแปลงของเล็บได้หลายแบบ เช่น เกิดร่องตามขวางของเล็บ ส่วนปลายของเล็บยก เนื้อใต้เล็บหนาขึ้น และเล็บยาวเร็วขึ้น
เต้านม
เมื่อทราบว่ากำลังตั้งครรภ์ การเปลี่ยนแปลงเมื่อตั้งครรภ์ ของเต้านม คือ จะเริ่มเจ็บๆ คัดๆ ตึงๆ หน้าอก เพราะหน้าอกกำลังเริ่มขยายซึ่งสามารถเปลี่ยนขนาดขยายขึ้น
- เดือนแรก ส่วนของท่อน้ำนมจะแตกตัวขึ้น รวดเร็วอย่างมาก ท่อน้ำนมจะเจริญไปจนถึงส่วนปลาย และกลีบต่อมน้ำนมที่เป็นตุ่มเล็ก ๆ ก็จะเริ่มขยายตัวตามมากขึ้น
- เดือนที่สอง เต้านมจะใหญ่ขึ้นชัดเจน สีของวงปานนมจะเริ่มเข้ม คล้ำขึ้น
- เมื่อเลย 4 เดือนไปแล้ว กลีบต่อมน้ำนมจะเริ่มขยายและมีเซลล์ต่อมน้ำนมเกิดขึ้นชัดเจน ต่อมน้ำนมจะสร้างน้ำคัดคลั่งที่เป็นสีใสขุ่น แต่ยังไม่เป็นสีน้ำนม ซึ่งน้ำคัดหลั่งนี้อุดมด้วยสารภูมิต้านทานและเซลล์เม็ดเลือด และไขมัน ซึ่งเราเรียกว่า คอลลอสตรัม (colostrum)
- เมื่อตั้งครรภ์ได้ประมาณ 6 เดือน ต่อมน้ำนมจะขยายเพิ่มขึ้น มีเลือดมาเลี้ยงมากขึ้นจนเห็น เส้นเลือดดำใต้ผิวหนังขยาย รวมทั้งมีเซลล์กล้ามเนื้อรอบ ๆ ท่อน้ำนมหนาตัวขึ้น เพื่อพร้อมให้นมลูกต่อไป น้ำคัดหลั่งคอลอสตรัมก็จะเพิ่มจำนวน ถ้าบีบหัวนมจะมีน้ำขุ่น ๆ ไหลออกมาได้
ช่องคลอด
เยื่อบุช่องคลอดของคุณจะหนาขึ้น ช่องคลอดมีการยืดขยายของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ทำให้ผนังช่องคลอดหนาขึ้น ยาวขึ้น นุ่มลงมีเส้นเลือดมาเลี้ยงมากขึ้น ทำให้มีสีคล้ำเรียกว่า Chadwick’s sign อาจมีตกขาวมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นปกติระหว่างตั้งครรภ์ เพราะฮอร์โมนจะเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะฮอร์โมนเพศหญิงจะสูงขึ้นกว่าปกติ แต่หากตกขาวแล้วมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น คันบริเวณช่องคลอด ปัสสาวะแสบขัด ควรรีบไปพบแพทย์ อาจมีการติดเชื้อบริเวณช่องคลอด
น้ำหนักเพิ่มขึ้น
ค่าเฉลี่ยของน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์ ของคนไทยควรเพิ่มประมาณ 12-15 กิโลกรัม ทั้งนี้ขึ้นกับน้ำหนักและรูปร่างก่อนการตั้งครรภ์ โดยในไตรมาสที่ 1 การเจริญเติบโตของทารกยังน้อย ประกอบกับยังเป็นช่วงที่มีอาการแพ้ท้อง การเปลี่ยนแปลงของร่างกายยังไม่มากนัก น้ำหนักอาจจะคงที่หรือเพิ่มเพียง 1-2 กิโลกรัม ส่วนในไตรมาสที่ 2 และ 3 นั้น การตั้งครรภ์ที่มีความคืบหน้าไปมากขึ้น น้ำหนักควรจะเพิ่มขึ้นได้ ประมาณไตรมาสละ 5 กิโลกรัม ซึ่งน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดนี้ เป็นจากตัวทารกประมาณ 3 กิโลกรัม รก และ น้ำคร่ำประมาณ 3-5 กิโลกรัม ส่วนที่เหลือจะเป็นน้ำหนักจากการขยายตัวของมดลูก เต้านม และเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกาย
หน้าท้องใหญ่ขึ้น การเปลี่ยนแปลงเมื่อตั้งครรภ์
หน้าท้องใหญ่ขึ้น
การเปลี่ยนแปลงเมื่อตั้งครรภ์ อันนี้แน่นอนอยู่แล้ว ที่หน้าท้องจะต้องโตขึ้น ขยายขึ้น เมื่อทารก และมดลูกขยายใหญ่ขึ้น แต่หน้าท้องจะขยายขึ้นมากน้อย ก็ขึ้นอยู่กับสรีระ รูปร่างก่อนตั้งครรภ์ด้วย บางคนอาจไม่สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของหน้าท้องที่ใหญ่ขึ้นมาก จนกว่าจะถึงไตรมาสที่สอง
ระบบทางเดินหายใจ
มดลูกที่มีขนาดใหญ่ขึ้นตามอายุครรภ์ จะเบียดดันให้ลำไส้ในช่องท้องเคลื่อนหลบมาทางด้านบน บริเวณใต้กระบังลม กะบังลมที่ถูกเบียดจะทำให้รู้สึกหายใจอึดอัด โดยเฉพาะเวลานอน แต่ปอดยังคงความสามารถในการแลกเปลี่ยนก๊าซได้เหมือนเดิม โดยปรับปริมาณอากาศขณะหายใจเข้าและออกและอัตราการหายใจอย่างเหมาะสม
กระดูกและโครงร่าง
มดลูกที่ขยายขนาดขึ้นพร้อมกับทารกและส่วนประกอบต่าง ๆ ที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น มีผลต่อน้ำหนักตัวหญิงตั้งครรภ์ที่มากขึ้น การเพิ่มของน้ำหนักที่ท้อง คือ ส่วนด้านหน้าของร่างกาย ทำให้สมดุลของร่างกายในแนวหน้า-หลังเสียไป ลำตัวจะถูกโน้มมาทางด้านหน้ามากขึ้นตามน้ำหนักที่ถ่วงทางด้านหน้า ร่างกายจะมีการปรับแนวแกนกระดูกสันหลังเพื่อรักษาสมดุลใหม่ไปทางด้านหลังเพิ่มขึ้น เพื่อรักษาแนวรวมของร่างกายไม่ให้ล้มไปทางด้านหน้า เมื่อมองจากทางด้านข้างจะเป็นเหมือนการเอนส่วนบนของร่างกายไปทางด้านหลังเพิ่มขึ้นใน ลักษณะการยืนแอ่น ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อได้
ที่มา (1) (2) (3) (4) (5) (6) (7) (8)
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!