โรคลำไส้กลืนกันคืออะไร?
โรคลำไส้กลืนกันเป็นโรคที่เกิดจากส่วนหนึ่งของลำไส้ซึ่งอยู่ต้นกว่าเคลื่อนตัวเข้าไปอยู่ในลำไส้ อีกส่วนหนึ่งอยู่ปลายกว่า โดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน ทำให้เกิดการอุดตันของลำไส้ โรคนี้พบมากในเด็กอายุ 4-12 เดือน พบได้จนถึง 2 ขวบ มักเกิดในเด็กแข็งแรงดีมาตลอด แต่หากโรคนี้เกิดในเด็กอายุมากกว่า 2 ขวบ มักมีสาเหตุที่ทำให้ลำไส้กลืนกัน เช่น มีเนื้องอกในลำไส้
อาการของโรคลำไส้กลืนกันเป็นอย่างไร?
เมื่อเกิดโรคลำไส้กลืนกัน เด็กจะมีอาการปวดท้องเป็นพักๆ แต่เนื่องจากยังพูดไม่ได้จึงแสดงอาการเริ่มต้นออกมาเป็น ร้องกวน กระสับกระส่ายเป็นระยะ มีอาเจียนร่วมด้วย อาจอาเจียนจนมีสีเขียวของน้ำดีปนออกมา ถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือดเพราะมีส่วนของลำไส้ที่ตายจากการขาดเลือดไปเลี้ยง ต่อมาอาจมีไข้และเริ่มซึมลง ซึ่งบ่งว่าอาจมีการติดเชื้อแทรกซ้อน
ทราบได้อย่างไรว่าลูกเป็นโรคลำไส้กลืนกัน?
หากลูกมีอาการดังกล่าวข้างต้นคุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาลูกไปพบคุณหมอ ซึ่งคุณหมอจะถามประวัติเพิ่มเติม ตรวจร่างกาย เพื่อหาตำแหน่งของก้อนที่เกิดจากลำไส้กลืนกัน โดยจะคลำพบก้อนในช่องท้อง จากนั้นคุณหมอจะส่งตรวจทำอัลตราซาวนด์ และส่งตรวจสวนลำไส้ใหญ่ด้วยสารทึบรังสี เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรค และบางครั้งอาจทำการรักษาได้ด้วยค่ะ
การรักษาโรคลำไส้กลืนกันทำได้อย่างไร?
การรักษาโรคนี้สามารถทำได้ 2 วิธี คือการผ่าตัดและการดันลำไส้ที่กลืนกันออก โดยไม่ต้องผ่าตัด ซึ่งจะเลือกใช้วิธีการใดขึ้นอยู่กับลักษณะอาการและลำไส้ที่ผิดปกติของผู้ป่วยขณะที่มารับการรักษาเป็นหลัก สำหรับการรักษาโดยการดันลำไส้คุณหมอจะใช้แรงดันผ่านทวารหนักดันลำไส้ที่กลืนกันออกโดยใช้สารทึบแสงทางเอ็กซเรย์ หรือใช้ลม แต่หากมีลำไส้กลืนกันมาเป็นเวลานานจนมีการเน่าตายของลำไส้จากการขาดเลือด หรือใช้วิธีการรักษาโดยดันลำไส้แล้วไม่สำเร็จ คุณหมอจะทำการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด
สุดท้ายนี้หมอขอฝากคุณพ่อคุณแม่ไว้นิดหนึ่งว่าหากลูกไม่ว่าช่วงวัยใด มีอาการถ่ายเป็นมูกเลือด ไม่ใช่สิ่งที่เป็นปกตินะคะ ควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อหาสาเหตุ โดยเฉพาะถ้าเป็นเด็กเล็กวัยทารก ถ่ายเป็นมูกเลือด มีอาการกระสับกระส่าย และอาเจียนร่วมด้วย นอกจากลำไส้อักเสบติดเชื้อซึ่งพบได้บ่อยแล้ว อาจเป็นอาการของโรคลำไส้กลืนกันได้ค่ะ
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ประสบการณ์ตรงเมื่อลูกน้อยไส้ติ่งแตก เตือนคุณแม่อย่าชะล่าใจ
ไข้เลือดออก: โรคร้ายที่ไม่ควรมองข้าม
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!