คุณแม่ท่านนี้ได้แชร์เรื่องราวประสบการณ์ตรงของตัวเองเมื่อ เต้านมอักเสบ จากการ ตกรอบปั๊มนม
เนื่องจากน้องไม่ยอมเข้าเต้า คุณแม่จึงปั๊มนมด้วยมือแทนการใช้เครื่องปั๊มนมเกลี้ยงเต้า ทำให้คุณแม่รู้สึกพลาดมากที่ไม่ได้ให้ลูกเข้าเต้า จากภาพจะเห็นได้ว่าคุณแม่มีอาการ เต้านมอักเสบ รุนแรงมาก จากการ ตกรอบปั๊มนม เรียกว่านี่คือการอักเสบที่แรงกว่าทุกครั้งเลยก็ว่าได้
คุณแม่เล่าว่า เต้านมอักเสบครั้งนี้ ทำให้เต้านมของคุณแม่เกิดมีเลือดคั่งอยู่ที่บริเวณหัวนม บีบก็ไม่ได้ น้ำนมไม่ออก จับนมก็เจ็บ เรียกได้ว่าเสื้อในยังใส่ไม่ได้เลย เพราะหัวนมแข็งมาก เมื่อไปหาพยาบาลนมแม่ การรักษาในครั้งนั้นทำให้คุณแม่เกิดความรู้สึกเจ็บปวดทรมานอย่างบอกไม่ถูก
ปกติแล้วคุณแม่จะสามารถปั๊มนมได้ตกวันละ 80 – 95 ออนซ์ แต่หลังจากเต้านมอักเสบในครั้งนี้ ทำให้น้ำนมของแม่ลดลงเหลือเพียง 40 – 50 ออนซ์ต่อวัน ไม่มีเหลือเก็บ มีพอให้ลูกกินวันต่อวันเท่านั้น คุณแม่ให้นมแม่มาตลอดจนถึงวันนี้ น้องอายุได้ 1 ขวบ 6 เดือนแล้ว
คุณแม่เล่าต่ออีกว่า สาเหตุของการเกิดปัญหาเต้านมอักเสบในครั้งนี้ เพราะคุณแม่ตกรอบปั๊มนมบ่อยและทุกวัน จนนมแบกรับภาระนี้ไม่ไหว นอกจากนมจะไม่ออกแล้วยังทำให้คุณแม่ไข้ขึ้น น้ำนมหด และรู้สึกเจ็บแสบตามเส้นน้ำนม โดยคุณแม่เรียกอาการนี้ว่า “อาการนมช็อต” เพราะความรู้สึกมันเจ็บแปลบ ๆ เหมือนโดนไฟช็อต เจ็บจนน้ำตาไหล รู้สึกท้อวันละหลาย ๆ ครั้ง แต่ก็อดทนเพื่อลูก จึงอยากเตือนใจคุณแม่หลาย ๆ คนที่กำลังให้นมลูกว่า อย่าพยายามตกรอบปั๊มนม และจะให้ดีเอาลูกเข้าเต้าดีกว่า เพราะปากลูกนี่แหละคือเครื่องปั๊มนมที่ดีที่สุด
ขอขอบคุณคุณแม่ท่านนี้มาก ๆ นะคะ ที่อนุญาตให้เราแชร์ประสบการณ์ดังกล่าวผ่านเพจ และทีมงานทุกคนก็ขอเป็นกำลังใจให้กับคุณแม่ทุก ๆ ท่านที่ให้นมแม่ รวมถึงคุณแม่ที่ไม่สามารถให้นมแม่ได้ด้วยนะคะ เพราะพวกคุณทุกคนคือ ผู้เสียสละที่ยิ่งใหญ่และน่าเคารพที่สุดจริง ๆ ค่ะ
การปั๊มนมให้ลูกนั้น คุณแม่จำเป็นต้องปั๊มให้เกลี้ยงเต้า เพื่อให้ลูกได้รับสารอาหารจากน้ำนมส่วนกลาง ๆ ด้วย เพราะเป็นส่วนที่ให้ประโยชน์กับลูกได้มากกว่าส่วนหน้า อีกทั้ง การที่นมยังคงเหลืออยู่นั้น อาจจะทำให้เกิดการจับตัวเป็นก้อน และอักเสบขึ้นมาได้ เหมือนกับคุณแม่ท่านนี้ค่ะ
นมเกลี้ยงเต้าเป็นอย่างไร จะรู้ได้ไงว่าปั๊มนมเกลี้ยงเต้า
บทความ : จะรู้ได้ไงว่าปั๊มนมเกลี้ยงเต้า แล้วทำไมต้องให้นมเกลี้ยงเต้าด้วยล่ะ
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกับคำว่า นมเกลี้ยงเต้า กันก่อน ซึ่งคำว่า นมเกลี้ยงเต้า นั้น เป็นคำที่คุณแม่ให้นมได้ยินกันอยู่บ่อยๆ เช่น ต้องปั๊มให้เกลี้ยงเต้า หรือ ต้องให้ลูกดูดนมให้เกลี้ยงเต้า จนอาจทำให้คุณแม่ให้นมหลายท่านเข้าใจว่า นมเกลี้ยงเต้าคือการที่ลูกดูดนมจนหมดเกลี้ยง หรือ ปั๊มจนเกลี้ยงหมดเต้า
แต่จริงๆแล้ว ตราบใดที่คุณแม่ยังให้ลูกดูดนม หรือปั๊มนมอยู่นั้น น้ำนมจะไม่มีทางเกลี้ยงเต้าได้จริงๆ เนื่องจากร่างกายของคุณแม่จะยังคงผลิตน้ำนมอยู่ตลอด คำว่า นมเกลี้ยงเต้า นั้น จึงหมายถึง การระบายน้ำนมจนเกือบหมดเต้าเท่านั้นเอง ไม่ใช่เกลี้ยงจนไม่เหลืออะไรเลย
ทำไมต้องให้นมเกลี้ยงเต้า
น้ำนมแม่นั้น จะถูกผลิตมาเก็บไว้ในเต้านม และเมื่อพื้นที่เก็บเต็ม จะทำให้เกิดอาการคัดเต้า ซึ่งคุณแม่ต้องระบายน้ำนมออกโดยการให้ลูกดูดหรือปั๊มน้ำนมออกมา เพื่อให้มีพื้นที่ว่างสำหรับเก็บน้ำนมที่ผลิตออกมาใหม่ เพราะร่างกายจะผลิตน้ำนม ตามน้ำนมที่ระบายออกมา ทั้งจากการปั๊มหรือการให้ลูกดูด ยิ่งระบายออกมากก็จะยิ่งผลิตมาก ถ้าระบายออกน้อย ร่างกายก็จะผลิตน้ำนมน้อยตามไปด้วย
วิธีปั๊มนมให้เกลี้ยงเต้า
- การปั๊มนมของคุณแม่ในแต่ละครั้ง ควรใช้เวลาอย่างน้อย 10-15 นาทีต่อข้าง ต่อการปั๊มแต่ละครั้ง
- เมื่อปริมาณน้ำนมเพิ่มขึ้น ควรปั๊มให้นานขึ้น และให้บ่อยที่สุดเท่าที่ทำได้ อย่างน้อย 20 – 30 นาที หรือปั๊มต่ออีก 2 นาทีหลังจากน้ำนมถูกปั๊มออกหมดแล้ว เพราะการปั๊มนมให้เกลี้ยงเต้า จะช่วยให้น้ำนมผลิตได้เร็วขึ้น
- การปั๊มนมให้เกลี้ยงเต้าอีกวิธีหนึ่ง ก็คือ การปั๊มนมไปพร้อม ๆ กับการดูดนมของลูกอีกข้าง หรือปั๊มพร้อมกัน 2 ข้าง จะทำให้น้ำนมออกได้ดี และกระตุ้นให้ร่างกายผลิตน้ำนมมากขึ้น
จะรู้ได้อย่างไรว่าปั๊มนมเกลี้ยงเต้า
จะรู้ได้อย่างไรว่าปั๊มนมเกลี้ยงเต้า ไม่ยากเลย ซึ่งคุณแม่สามารถสังเกตได้ดังนี้
- ก่อนให้ลูกดูดหรือปั๊มนม จะสังเกตได้ว่า เต้านมจะตึงมาก แต่สำหรับคุณแม่บางท่านมีอาการตึงจนเจ็บ อาการแบบนี้เรียกว่าเต้านมคัด
- หลังจากให้ลูกดูดนมหรือปั๊มนมเสร็จ เต้านมจะนิ่มลง และอาการเจ็บก็จะหายไปด้วย
- หากคุณแม่ให้นมลองเอามือบีบเต้านม น้ำนมจะไม่พุ่งออกมามาก และจะมีน้ำนมออกมาเพียงแค่หยดสองหยดเท่านั้น
ถ้านมไม่เกลี้ยงเต้า จะเป็นอย่างไร
ถ้านมไม่เกลี้ยงเต้า จะทำให้ลูกได้รับน้ำนมส่วนหน้าที่มีไขมันน้อยและมีน้ำตาลมาก ซึ่งอาจจะทำให้ลูกท้องอืด หรือถ่ายอุจจาระบ่อยครั้งกว่าปกติได้ นอกจากนั้นยังอาจทำให้ เต้านมคัด หรืออาจทำให้มีก้อนแข็งๆอยู่ในเต้านม ซึ่งถ้าปล่อยทิ้งไว้นานอาจเกิดการอักเสบได้นะ
อ้างอิง : www.mayoclinic.org
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
สีของน้ำนมแม่
หมอแนะ!! ดูดนมแม่ช่วยให้ลูกฟันสวย
จะรู้ได้ไงว่าปั๊มนมเกลี้ยงเต้า แล้วทำไมต้องให้นมเกลี้ยงเต้าด้วยล่ะ
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!