วันนี้ทางทีมงาน theAsianparent จะพามาดูเรื่องเล่าจากคุณแม่ที่ผ่านประสบการณ์ เต้านมอักเสบ (Mastitis) จนต้องผ่าตัดว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร พร้อมแชร์ความรู้ว่าภาวะเต้านมอักเสบคืออะไร ป้องกันได้ไหม และวิธีการให้นมลูกอย่างถูกต้องเป็นอย่างไร มาติดตามไปพร้อม ๆ กันค่ะ
แม่เตือน! อย่าปล่อยให้เต้านมอักเสบ รุนแรงถึงขั้นผ่าตัด
แม่เล่าประสบการณ์เต้านมอักเสบจนต้องผ่าตัด ว่า รู้สึกตัวว่ามีก้อนเล็ก ๆ อยู่ในเต้านมข้างขวา จนผ่านมาครึ่งเดือน รู้สึกว่ามันก็เริ่มใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ แต่มันไม่ปวดนะคะ แค่มันใหญ่เฉย ๆ ก็พยายามบีบนมปั๊มนมออก เพื่อไม่ให้มันตึงมาก มันก็คลายลงนะคะ แต่มีเพื่อนแม่คนหนึ่งบอกว่าทำไมเป็นนานจัง นี่มันก็จะ 2 เดือนแล้วนะ แต่ว่ามันไม่ปวด รู้สึกว่าก็มันเริ่มคลายลงแล้ว จากการพยายามบีบออกแล้วปั๊มออก เพื่อไม่ให้มันตึงมาก
ป้าก็บอกว่า ลองเอาผ้าชุบน้ำร้อนมาประคบดูสิ ก็เลยเอามาประคบดู พอตกดึกมาเริ่มบวมและแสบร้อนมาก ก็ทนมาอาทิตย์หนึ่ง พยายามเอาปั๊ม บีบน้ำนมข้างขวาที่เป็น มันก็ปวดมาก แต่พยายามสุดแล้วมันทรมานมาก ตื่นเช้ามาเครื่องปั๊มที่ปั๊มข้างขวามันเป็นน้ำสีเขียว เลยเอะใจทำไมมันเป็นแบบนี้ พอวันต่อมา ก็ไปหาหมอ หมอก็ตกใจเหมือนกันว่าไม่เคยเจอเคสแบบนี้มาก่อน หมอบอกว่า เป็นเต้านมอักเสบตรงข้างหัวนมน่าจะมีหนอง คงต้องนอนโรงพยาบาลสักคืน
บทความที่เกี่ยวข้อง : คลำด่วน! ก้อนที่เต้านมระหว่างตั้งครรภ์ ก้อนเนื้อที่นม อันตรายแค่ไหน
วิดีโอจาก : พี่กัลนมแม่ Pekannommae mother and child care
เต้านมอักเสบจนต้องผ่าตัด
จากนั้นก็ต้องเข้าห้องผ่าตัด ตื่นมาอีกที รู้สึกว่าไม่ปวด รู้สึกว่ากลับมาเป็นปกติ แต่ก็คงต้องล้างแผลทุกวัน หมอบอกว่าถ้าไม่รีบมาหาหมอ เต้านมอักเสบที่บวมมันอาจทำให้มีไข้สูงจนช็อกได้ ต่อมาพอไข้หายคุณหมอก็ให้กลับมารักษาตัวที่บ้านค่ะ
การให้นมลูกก็ทำได้ ให้ลูกกินข้างที่ไม่เป็นแผล แต่หมอให้ยาฆ่าเชื้อมา ถ้าลูกดูดนมแล้วมีอาการถ่ายเหลว มีผื่นขึ้น ให้รีบไปหาหมอ ลูกอาจจะแพ้ยาตัวนี้ที่แม่กินอยู่ เพราะมันผ่านทางน้ำนม ส่วนเต้านมที่เป็นเต้านมอักเสบ ก็ล้างแผลวันละครั้ง กินไข่เยอะ ๆ เนื้อจะได้เต็ม ในช่วงวันแรก ๆ ที่ล้างแผลก็เจ็บอยู่ ต้องล้างด้วยน้ำเกลือแล้วเอาผ้าก๊อซยัดเพื่อไม่ให้เนื้อปิด ถ้าเนื้อปิดเลือดจะคั่งข้างในได้ ทำให้กลับมาเป็นเต้านมอักเสบเหมือนเดิมได้อีกค่ะ
ทางทีมงาน theAsianparent ขอขอบคุณคุณแม่ที่มาแชร์ประสบการณ์เต้านมอักเสบจนต้องผ่าตัด สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมว่าภาวะเต้านมอักเสบคืออะไร มีวิธีป้องกันหรือไม่ อ่านรายละเอียดจากด้านล่างได้เลยค่ะ
ภาวะเต้านมอักเสบ
อาการเต้านมอักเสบหรือภาวะเต้านมอักเสบ เกิดได้จากน้ำนมที่คั่งค้างอยู่ภายในเต้านม ไม่ได้รับการระบายน้ำนมออกมาเท่าที่ควร หรืออาจเกิดท่อน้ำนมอุดตัน จนเมื่อติดเชื้อทางแผลหรือรอยแตกบริเวณหัวนม ก็ทำให้เต้านมเกิดอาการอักเสบได้
วิธีสังเกตว่าแม่ให้นมมีภาวะเต้านมอักเสบ
- เริ่มแรกของอาการเต้านมอักเสบมักจะมีอาการคัดตึงเต้านม เริ่มจากทีละเล็กทีละน้อย จนอาการคัดตึงเต้านมเพิ่มมากขึ้น จนคลำเต้านมแล้วแข็งตึง กดแล้วรู้สึกเจ็บ ปวดทั่วเต้านม
- แม่ให้นมบางรายที่มีอาการเต้านมอักเสบ เต้านมจะร้อน บวมแดง แข็งเป็นไต
- แม่ให้นมที่มีอาการเต้านมอักเสบ อาจปวดหัว อ่อนเพลีย
- บริเวณเต้านมอาจมีท่อน้ำนมอุดตันร่วมด้วย
- หากแม่ให้นมมีไข้สูงมากเกินกว่า 38 องศาเซลเซียส ต้องรีบพบแพทย์
สาเหตุของภาวะ เต้านมอักเสบ
- เกิดจากร่างกายแม่ให้นมผลิตน้ำนมได้มากกว่าปริมาณที่ลูกต้องการ น้ำนมระบายออกได้ไม่ดี ไม่สมดุลกับปริมาณน้ำนมที่ร่างกายแม่สร้าง
- ลูกดูดน้ำนมออกไม่เกลี้ยงเต้า ทำให้มีน้ำนมค้างในเต้านม หรือลูกดูดนมไม่ถูกวิธี ทำให้น้ำนมออกได้ไม่ดี ไม่เกลี้ยงเต้า
- ภาวะเต้านมอักเสบจากท่อน้ำนมอุดตัน
- หัวนมแห้ง แตก และมีเชื้อโรคเข้าไปในเต้านม จนเป็นสาเหตุที่ทำให้เต้านมอักเสบและติดเชื้อ
บทความที่เกี่ยวข้อง : เจ็บเต้านม เป็นสัญญาณอาการเต้านมอักเสบ จริงหรือไม่? สาเหตุมาจากอะไร
วิธีดูแลและรักษาภาวะ เต้านมอักเสบ
- ลูกควรดูดนมแม่จากเต้าที่มีปัญหาก่อน การให้ลูกดูดนมจากเต้าที่มีปัญหาเต้านมอักเสบ จะทำให้อาการบรรเทาขึ้นได้ ช่วงนี้อาจจะต้องอดทนไปก่อน เพราะแม่จะรู้สึกเจ็บปวดที่เต้านมมาก แต่อย่าหยุดให้นมลูกนะคะ
- ควรให้ลูกดูดนมบ่อย ๆ อย่างน้อย 8 ครั้งต่อวัน และลูกควรดูดนมแม่ข้างละประมาณ 15-20 นาที
- แม่ต้องให้ลูกดูดนมอย่างถูกวิธี จัดท่าให้นมลูกที่ถูกต้อง ให้คางลูกชี้ไปบริเวณที่เป็นก้อน ลิ้นของลูกจะช่วยรีดน้ำนมจากส่วนที่เป็นก้อนออกได้ดีขึ้น
- แต่ละมื้อก็ให้ลูกดูดนมในท่าที่ต่างกัน เพื่อระบายน้ำนมจากส่วนต่าง ๆ ของเต้านม
- แม่ให้นมควรนวดเต้านมเบา ๆ ขณะที่ลูกกำลังดูดนมแม่ โดยนวดเหนือบริเวณที่อุดตัน ไล่ลงไปถึงหัวนม เพื่อดันให้ก้อนที่อุดตันหลุดออก
- ภายหลังจากที่แม่ให้นมลูก ควรจะประคบเย็น วิธีนี้จะช่วยลดอาการปวดบวมอันเนื่องจากเต้านมอักเสบได้ ส่วนยาที่แม่ให้นมสามารถรับประทานได้คือ ยาพาราเซตามอล แต่ต้องทานยาในปริมาณที่เหมาะสม
- แม่ให้นมควรเลือกยกทรงที่ขนาดพอดี พยุงเต้านมได้ดี ไม่หลวมหรือรัดแน่นจนเกินไป
หากแม่ให้นมเจ็บปวดอย่างมาก ไม่หายสักที มีอาการไข้ขึ้นสูง ควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือปรึกษาคลินิกนมแม่ เพื่อรับการรักษาภาวะเต้านมอักเสบอย่างเหมาะสม แม่บางรายอาจเต้านมอักเสบ จนต้องผ่าตัด คุณหมอจะแนะนำวิธีดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมต่อไป
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
อาการเจ็บเต้านม ของคุณแม่หลังคลอด บรรเทาอาการอย่างไร
เจ็บเต้านม เจ็บหน้าอกหลังคลอด สาเหตุและวิธีบรรเทาอาการที่ถูกต้อง
เต้านมคัด หลังคลอด เต้านมเป็นก้อน เกิดจากอะไร มีวิธีไหนช่วยลดปวดเต้านมได้
ที่มา : bumrungrad, medparkhospital, pobpad
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!