จริงอยู่ที่ก่อนออกจากโรงพยาบาล จะมีพยาบาลมาสอนคุณพ่อคุณแม่ถึงวิธีการอาบน้ำให้กับลูก และเมื่อถึงเวลาที่เราจะต้องลงมือปฏิบัติจริงที่บ้าน จึงเป็นอะไรที่ คุณพ่อคุณแม่มือใหม่อย่างเรา มักจะเกิดความกลัว กังวล และคำถาม ความสงสัยมากมายก็เข้ามาในหัว คำถามยอดฮิตที่คุณแม่คงจะคิดอยู่เหมือนกัน อาบน้ำทารกวันละกี่ครั้ง แล้วต้องอาบแบบไหนกันแน่ลูกถึงจะปลอดภัย ทั้งอุณหภูมิของน้ำ ที่จะไม่ร้อนระคายผิวลูก หรือเย็นจนทำให้ลูกเป็นหวัด มาหาคำตอบกันค่ะ
พ่อแม่มือใหม่ควรรู้ อาบน้ำทารกวันละกี่ครั้ง
สำหรับทารกแรกเกิดนั้น จะอาบเพียงครั้งเดียวในวันแรก ซึ่งโดยส่วนใหญ่พยาบาลจะอาบน้ำให้เรียบร้อย แต่หลังจากพาลูกกลับบ้านการอาบน้ำให้ทารกสามารถอาบให้ลูกอย่างน้อย 2 ครั้ง จะอาบก่อนให้นมในมื้อสาย ประมาณ 10 โมง หรือช่วงเย็นก่อนค่ำสักประมาณ 3-4 โมงก็ได้ หลังจากอาบน้ำเสร็จก็เอาลูกเข้าเต้าดูดนม ซึ่งก็จะทำให้ลูกน้อยได้นอนหลับอีกครั้ง
ขั้นตอนการอาบน้ำให้ทารก
ในความเป็นจริงแล้ว การอาบน้ำให้ทารกแรกเกิด หรือเด็กวัยเตาะแตะนั้น มีเคล็ดลับง่าย ๆ ที่เหมือนกัน จะมีอะไรบ้าง ไปอ่านบทความนี้พร้อม ๆ กันค่ะ เริ่มจากขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. อย่าทิ้งลูกให้อยู่ตามลำพัง
บ่อยครั้งที่เรามักจะได้ยินข่าวคราวสะเทือนใจเกี่ยวกับเด็กเล็กที่จมน้ำในอ่างน้ำ ถังน้ำ หรือแม้แต่กะละมังอาบน้ำ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น เรียกได้ว่าเป็นอุบัติเหตุที่สามารถคร่าชีวิตเด็กได้โดยใช้เวลาไม่นานเลยจริง ๆ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของลูก ทุกครั้งที่พาลูกอาบน้ำ อย่า! ทิ้งลูกไว้ลำพังโดยเด็ดขาด จริงอยู่ที่คุณพ่อคุณแม่อาจจะคิดว่า โอ๊ย! ลูกเราทรงตัวได้แล้ว เคยพาไปเล่นน้ำในสระแล้ว ไม่เป็นอะไร แต่อย่าลืมนะคะว่า เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่า เมื่อไหร่ที่ลูกจะเกิดความอยากรู้ อยากเห็น และอยากลอง เพื่อความไม่ประมาท เราจึงเฝ้าดูแลลูกของเราอย่างใกล้ชิดจริง ๆ ค่ะ
2. ตรวจเช็กอุณหภูมิของน้ำก่อนทุกครั้ง
โดยใช้หลังมือ หรือหลังแขนสัมผัสกับผิวน้ำ เพื่อให้มั่นใจว่า น้ำที่เราจะเตรียมให้ลูกอาบ หรือเล่นนั้นไม่ได้ร้อน หรือเย็นเกินไป เพราะหากร้อนเกินไป ก็อาจทำให้ลูกแสบร้อนได้ ขั้นตอนนี้คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้เทอร์โมมิเตอร์วัดอุณหภูมิน้ำก่อนได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : วิธีอาบน้ำทารกแรกเกิด จำเป็นต้องอาบทุกวันไหม อาบอย่างไรไม่ให้ลูกป่วย
3. อย่าให้อ่างอาบน้ำของลูกใหญ่เกินไป
ทุกครั้งที่จะเลือกซื้ออ่างอาบน้ำ ควรที่จะพิจารณาเลือกอ่างอาบน้ำที่มีขนาดพอเหมาะกับร่างกายของลูกเป็นหลัก ไม่ควรใช้อ่างที่มีขนาดใหญ่เกินไป แต่ควรใช้ขนาดที่พอดี ที่มั่นใจว่า ศีรษะของลูกอยู่เหลือพื้นน้ำแล้วจริง ๆ
4. เลือกผลิตภัณฑ์อาบน้ำ และสระผมเด็กให้เหมาะสมตามวัย
อย่าเอายาสระผม ครีมอาบน้ำ หรือสบู่ของเราไปใช้กับลูกเด็ดขาด เนื่องจากผิวของลูกยังบอบบางนักและระบบภูมิคุ้มกันของลูกยังทำงานได้ไม่เต็มที่ เพราะฉะนั้นอาจจะเกิดอาการแพ้สารเคมี หรือการระคายเคืองตามมาได้
5. สร้างเกราะป้องกันอันตรายด้วยจินตนาการ
การอาบน้ำ นอกจากจะช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างคุณแม่กับลูกแล้ว การอาบน้ำ ยังสามารถสร้างจินตนาการ หรือความสุขง่าย ๆ ให้ลูกได้อีกด้วย ลองดูสิคะ หาของเล่นอะไรก็ได้ ที่ปลอดภัยมาให้ลูกเล่นดู แล้วคุณจะเห็นถึงโลกของจินตนาการของลูก ชนิดที่เรียกได้ว่า คุณอาจจะไม่เคยคิดว่าจะได้เห็นมาก่อนเลยก็ได้ ที่สำคัญ ถือเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจของลูกด้วยละค่ะ เพื่อลูกจะได้ไม่อยากลองทำอะไรแปลก ๆ ที่เป็นอันตรายกับชีวิตของเขาได้
เคล็ดลับในการอาบน้ำให้ลูก
บางครั้งลูกน้อยอาจงอแงไม่ยอมให้คุณพ่อคุณแม่อาบน้ำ เรามาดูเคล็ดลับเล็ก ๆ ที่ช่วยให้อาบน้ำทารกได้สำเร็จกันค่ะ
- ปิดสมาร์ตโฟน ไอแพด ทีวี และสิ่งรบกวนอื่น ๆ เพื่อให้ช่วงเวลาอาบน้ำผ่อนคลาย ไม่มีสิ่งอื่น ๆ มารบกวนหรือดึงความสนใจของลูก
- หากกลัวว่าตอนอาบน้ำ ลูกจะลื่นหลุดมือ สามารถสวมถุงมือในการอาบน้ำได้ จะช่วยให้เวลาอาบน้ำให้ลูกไม่ลื่นและกระชับมือมากยิ่งขึ้น
- ถ้าคุณพ่อคุณแม่กลัวว่าน้ำจะกระเด็นเข้าหู ตา จมูกของลูก ให้เตรียมน้ำใส่กะละมังไว้ ก็จะสามารถเปลี่ยนน้ำหรือเติมน้ำได้ใหม่โดยไม่ต้องกังวลค่ะ
- ให้อาบน้ำพร้อมลูก เพื่อให้บรรยากาศในการอาบน้ำผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ยังต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและวิธีอาบน้ำให้ลูกเหมือนเดิม
บทความที่เกี่ยวข้อง : วิธีการอาบน้ำทารกแรกเกิด ผิดถูกอย่างไร เช็กกันได้ที่นี่
ข้อควรระวังในการอาบน้ำให้ทารก
- อย่าปล่อยให้ทารกอยู่เพียงลำพัง แม้ว่าจะเป็นเวลาเพียงชั่วครู่ก็ตาม
- ตรวจเช็กอุณหภูมิของน้ำก่อนทุกครั้ง ไม่ให้ร้อนหรือเย็นเกินไป
- เลือกอ่างอาบน้ำที่ทำจากพลาสติกหนา คงทน เนื้อสัมผัสเรียบเนียน และอย่าใช้อ่างอาบน้ำที่เล็กหรือใหญ่เกินไป
- เลือกผลิตภัณฑ์อาบน้ำ และสระผมเด็กให้เหมาะสมตามวัย
- ไม่ควรอาบน้ำให้ลูกบ่อย ๆ อาบวันละ 2 ครั้งก็พอแล้ว เพื่อป้องกันลูกผิวแห้ง
- ระวังน้ำเข้าหูทารกเวลาอาบน้ำ และระวังสบู่เข้าตา เข้าปาก เวลาสระผมหรืออาบน้ำทารก
- แนะนำให้อาบน้ำก่อนให้ลูกกินนม เพราะการอาบน้ำหลังจากกินนมอาจทำให้ลูกสำลักนมได้
- ในรายที่ผิวหนังแห้งหรือผิวหนังลอกไม่ควรใช้สบู่ฟอก ควรใช้น้ำอุ่นเช็ดหรืออาบ เสร็จแล้วทาผิวหนังด้วยน้ำมันมะกอกบริสุทธิ์แต่เพียงบาง ๆ ก็พอ เพื่อช่วยให้ผิวหนังชุ่มชื้น
- หลังอาบน้ำเสร็จให้เช็ดตัวให้ลูกทันที เพราะหากปล่อยไว้นาน ก็อาจทำให้ลูกเกิดอาการไม่สบายได้
ในการอาบน้ำทารก อาจใช้เวลาเพียงแค่ 5-10 นาทีเท่านั้น ไม่ควรให้ลูกแช่น้ำนานเกินไปนะคะ เพราะอาจทำให้ลูกไม่สบายหรือเป็นหวัดได้ ที่สำคัญหากลูกงอแงไม่ยอมอาบน้ำ ให้คุณพ่อคุณแม่ลองพูดคุยหรือร้องเพลงให้เขานะคะ เสียงของคุณพ่อคุณแม่นี่แหละค่ะที่จะช่วยให้เขาชินกับการอาบน้ำไปเอง
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
10 ฟองน้ำอาบน้ำทารก แบบไหนดี ไม่ระคายเคืองและบาดผิวลูก
วิธีเลือกอ่างอาบน้ำเด็ก เลือกยังไงให้ปลอดภัยต่อลูก ช่วยให้อาบน้ำลูกน้อยง่ายขึ้น
เลิกใช้อ่างอาบน้ำเด็กตอนไหน? พร้อมเทคนิคเปลี่ยนวิธีการอาบน้ำให้ลูกผ่อนคลาย
ที่มา : babymed, enfababy
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!