เรื่องสำคัญอย่างหนึ่งที่คุณแม่อาจไม่ควรมองข้าม! สำหรับการดูแลลูกน้อยในวัยทารก ก็คือการอาบน้ำทำความสะอาดลูกน้อย และเมื่อลูกโตขึ้นเราจะ เลิกใช้อ่างอาบน้ำเด็กตอนไหน ดีที่สุด
อ่างอาบน้ำทารกจึงเป็นอุปกรณ์ชิ้นสำคัญอย่างหนึ่งที่คุณแม่ต้องมีติดไว้ ซึ่งจะช่วยให้คุณแม่อาบน้ำให้ลูกน้อยอย่างสะอาด ปลอดภัย และสะดวกสำหรับคุณแม่อีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ลูกน้อยของเรานั้น มีการเปลี่ยนแปลงและเจริญเติบโตในทุกๆ วัน ทั้งในเรื่องของพัฒนาการหรือขนาดตัวก็ตาม และคุณแม่จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกน้อยมีความพร้อมที่จะเลิกใช้อ่างอาบน้ำเด็ก บทความนี้เราจึงมาชวนคุณพ่อคุณแม่สังเกตความเปลี่ยนแปลงสำหรับลูกน้อยที่มีความพร้อมเรื่องนี้กันค่ะ
เลิกใช้อ่างอาบน้ำเด็กตอนไหน สังเกตอย่างไรว่าลูกพร้อมแล้วกับการอาบน้ำปกติ
อ่างอาบน้ำเด็กที่ดี ควรคำนึงถึงปลอดภัย และการอำนวยความสะดวกได้ดี เช่นมีอุปกรณ์กันลื่นเพื่อลดการเคลื่อนที่ของอ่างอาบน้ำ และมีพลาสติกที่หนาและแข็งแรง
โดยทั่วไปแล้วเมื่อลูกน้อยอายุครบ 6 เดือนขึ้นไป ร่างกายจะขยายใหญ่ขึ้น และจะสามารถนั่งได้โดยไม่ต้องมีคนคอยช่วย แต่อย่างไรก็ตาม ลูกน้อยนั้นก็มีการเจริญเติบโตที่อาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน ลูกน้อยของคุณแม่บางท่าน อาจจะยังตัวเล็กอยู่ แต่สามารถนั่งได้แล้ว หรืออาจจะยังนั่งได้ไม่มั่นคงเท่าไร หรือลูกน้อยของคุณแม่บางท่านอาจจะตัวใหญ่ขึ้น ไม่สมดุลกับอ่างน้ำที่มีขนาดเล็กแล้ว ทั้งนี้ทั้งนั้น คุณแม่ต้องคอยสังเกตลูกน้อย ว่าลูกน้อยของเรานั้นมีขนาดตัวที่ใหญ่ขึ้น และมีความสามารถอย่างไรแล้วบ้าง
และเมื่อลูกน้อยของคุณแม่มีความพร้อมในการเลิกใช้อ่างอาบน้ำสำหรับเด็กแล้ว และต้องการที่จะย้ายลูกน้อยไปลงอ่างปกติ คุณแม่จะต้องเตรียมพร้อมอย่างไรบ้าง?

เทคนิคสร้างความคุ้นเคยกับสถานการณ์การอาบน้ำในรูปแบบใหม่
การเปลี่ยนเปลี่ยนวิธีการอาบน้ำให้ลูกน้อยนั้น หากเราสร้างความคุ้นเคยและคุ้นชินให้กับลูกน้อย จะทำให้ลูกน้อยลดความเครียดกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ซึ่งจะช่วยให้ลูกน้อยไม่กลัวและไม่ร้อง โดยสามารถทำได้ดังนี้
เทคนิคที่ 1 ลองเปลี่ยนไปใช้อ่างล้างจานก่อน
หากคุณแม่มีความกังวลและยังไม่มั่นใจที่จะย้ายลูกน้อยไปอาบน้ำในอ่างปกติ คุณแม่สามารถลองจำลองการอาบน้ำในอ่างล้างจานที่มีขนาดเล็กกว่าอ่างปกติก่อนได้ ซึ่งอ่างล้างจานนั้นจะมีพื้นที่กว้างให้สามารถขยับเคลื่อนไหวร่างกายได้อิสระมากกว่า โดยก่อนที่จะลองนำลูกน้อยมาอาบน้ำในอ่างล้างจานนั้น อย่าลืมทำความสะสาดคราบต่างๆบนอ่างล้างจานให้สะอาดเรียบร้อยก่อน และอาจจะปูด้วยเสื่อกันลื่น เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อยนั่นเอง
เทคนิคที่ 2 ใช้อ่างอาบน้ำเด็กร่วมด้วยในช่วงแรก
เทคนิคนี้ ให้คุณแม่ใช้อ่างอาบน้ำสำหรับเด็กร่วมด้วยไปก่อนในช่วงแรก โดยวางอ่างอาบน้ำเด็กซ้อนลงไปในอ่างปกติ และจึงเปิดน้ำเพื่อสร้างความคุ้นเคย วิธีนี้จะทำให้ลูกน้อยยังคงคุ้นชินเหมือนกับที่เขาเคยทำมาก่อน ทำให้ลดความกังวลในการเปลี่ยนแปลงวิธีการอาบน้ำไปได้ หลังจากนั้นจึงค่อยๆลองนำเอาอ่างอาบน้ำเด็กออก
เทคนิคที่ 3 คุณแม่และลูกน้อยอาบน้ำร่วมกัน
ในช่วงแรกให้คุณแม่อาบน้ำร่วมกับลูกน้อย เป็นอีกวิธีที่ดีมากๆ สำหรับลูกน้อย เพราะลูกน้อยจะรู้สึกสบายตัว ผ่อนคลาย และปลอดภัยในขณะที่มีคุณแม่อยู่ในอ่าง และคุณแม่เองก็พร้อมที่จะดูแลช่วยเหลือลูกน้อยได้ตลอดอีกด้วย โดยคุณแม่จะต้องดูแลไม่ให้น้ำอยู่สูงกว่าระดับปากของลูกน้อย ระวังน้ำเข้าจมูก และหากจะให้ปลอดภัยที่สุด ควรที่จะมีคุณพ่อหรือพี่เลี้ยงคอยสแตนบายเวลาที่ลงอ่างหรือขึ้นจากอ่าง เพราะอ่างและตัวของลูกน้อยนั้นจะมีความลื่น จึงจะเป็นการปลอดภัยมากกว่า หากมีอีกคนที่ตัวแห้งเข้ามาช่วยอุ้มลูกน้อยขึ้นไปนั่นเอง
เทคนิคที่ 4 วางลูกน้อยลงในอ่างอาบน้ำปกติโดยตรง
เทคนิคนี้ถือเป็นอีก 1 วิธีที่มีประสิทธิภาพและไม่ยุ่งยากหากลูกน้อยพร้อมที่จะรับกับความเปลี่ยนแปลงที่กระทันหันได้ ซึ่งหากใช้วิธีนี้ควรที่จะสังเกตอาการของลูกน้อยไห้แน่ใจ หากลูกน้อยมีอาการกระสับกระส่าย นั่นอาจหมายความว่าวิธีนี้ยังไม่พร้อมสำหรับลูกน้อย ให้คุณแม่ลองใช้วิธีอื่นๆ ก่อน แต่ถ้าหากลูกน้อยรับความเปลี่ยนแปลงได้ดี คุณแม่สามารถใช้วิธีนี้ได้เลย โดยอุ้มลูกน้อยวางลงบนอ่าง จากนั้นจึงทำการเปิดน้ำใส่อ่างโดยใช้น้ำอุ่น ในปริมาณสูงเพียงไม่กี่นิ้วเท่านั้น และไม่ควรมากจนท่วมหลังลูกน้อย และคุณแม่จะต้องเตรียมอุปกรณ์อาบน้ำ เช่น ผ้าขนหนู สำลีไว้ให้พร้อมอย่างครบครัน
ข้อควรรู้ เกี่ยวกับการอาบน้ำให้ลูกน้อยที่คุณแม่ไม่ควรมองข้าม!
1. เวลาที่เหมาะสมกับการอาบน้ำ
เวลาที่เหมาะสมกับการอาบน้ำให้ลูกน้อยนั้นควรเป็นช่วงเวลาก่อนลูกน้อยทานนม เพราะหากลูกน้อยทานนมแล้วอาจเกิดอาการง่วงนอน ฉะนั้นการอาบน้ำควรเป็นช่วงเวลาก่อนทานนม หรือ หลังทานนมเป็นเวลา 1 ชั่วโมงนั่นเอง
2.อุณหภูมิน้ำที่เหมาะสม
การอาบน้ำลูกน้อยต้องคำนึงถึงอุณหภูมิน้ำเป็นสำคัญด้วย ไม่ควรใช้น้ำที่เย็นเกินไปหรือร้อนเกินไป เพราะอาจส่งผลให้ลูกน้อยเป็นหวัดได้ ฉะนั้นหากต้องการตรวจสอบอุณหภูมิน้ำที่เหมาะสมสามารถใช้มือจุ่มลง หรือหลังมือสำผัสกับผิวน้ำ หากไม่ร้อนเกินไปหรือเย็นเกินไปก็สามารถใช้ได้
3.จัดเตรียมอุปกรณ์ในการอาบน้ำให้ครบถ้วน
การจัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับการอาบน้ำลูกน้อยอย่างครบถ้วนเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะการเตรียมพร้อมอย่างครบถ้วนจะทำให้คุณแม่ไม่จำเป็นต้องเดินไปหยิบสิ่งนั้นสิ่งนี้ให้วุ่น และเป็นการไม่ปล่อยให้ลูกน้อยอยู่เพียงลำพังในขณะที่คุณแม่วุ่นหาอุปกรณ์ต่างๆ คุณแม่จะสะดวกต่อการหยิบใช้สอยสิ่งของโดยที่ลูกน้อยยังคงอยู่ในสายตา ถือเป็นการรักษาความปลอดภัยของลูกน้อยไปด้วย
4.ระดับน้ำในการอาบที่เหมาะสม
ระดับน้ำในการเปิดใส่อ่างให้ลูกน้อยก็เป็นเรื่องสำคัญที่คุณแม่คุณไม่ควรมองข้ามเช่นกัน เพราะอาจเกี่ยวกับความปลอดภัยในการอาบน้ำของลูกน้อย โดยระดับน้ำที่เหมาะสมควรอยู่ในระดับไม่เกินหัวไหล่ของลูกน้อยไม่ควรท่วมหลังลูกน้อย โดยคุณแม่ควรประคองลูกน้อยในขณะอาบน้ำไม่ให้ลูกน้อยจม หรือน้ำเข้าปากเข้าจมูก เพราะจะเป็นอันตรายได้ และไม่ควรให้ลูกน้อยแช่ในน้ำนาน
5.การใช้สบู่และยาสระผม
การใช้สบู่และยาสระผม คุณแม่ควรเลือกใช้สูตรที่อ่อนโยนหรือสูตรสำหรับเด็กทารกโดยเฉพาะ โดยบีบผลิตภัณฑ์ใส่ในฟองน้ำและถูตามตัวลูกน้อยเบา และอาจจะเน้นบริเวณที่อยากทำความสะอาดเป็นพิเศษ และสำหรับการสระผม ควรนวดเบาๆบริเวณศีรษะลูกน้อย การสระผมลูกน้อย ควรสระวันละครั้งในทุกวัน เวลาสระผมคุณแม่ควรระวังอย่าให้สบู่เข้าตา และระวังอย่าให้เข้าหูลูกน้อยเด็ดขาด โดยคุณแม่อาจจะใช้นิ้วกดปิดบริเวณใบหูไว้ เพื่อป้องกันน้ำหรือผลิตภัณฑ์ไหลเข้าหู
6.การรับมือหากลูกจมอ่าง
หากเกิดข้อผิดพลาดลูกน้อยจมอ่าง คุณแม่ควรรับมือมือกับสถานการณ์นี้ทันทีโดยการอุ้มลูกขึ้นมาจากน้ำอย่างรวดเร็ว และรีบเช็คว่าลูกยังหายใจอยู่หรือไม่ โดยการแนบหูใกล้จมูกและปากลูกน้อย เพื่อสัมผัสลมหายใจ หากลูกยังหายใจให้รีบทำให้ร่างกายลูกน้อยอบอุ่นขึ้น และส่งโรงพยาบาลทันที อย่างไรก็ตาม ควรเฝ้าระวังอาการให้ดี เพราะลูกน้อยอาจเกิดความเสี่ยงอันตรายต่อปอด หรือเป็นปอดบวมได้ หรือหากลูกน้อยไม่หายใจ คุณแม่ควรแจ้งทันทีที่สาย 1669 หมายเลขโทรศัพท์ของหน่วยปฏิบัติการกู้ชีพฉุกเฉิน แต่สำหรับหนทางที่ดีที่สุดนั้นคือการไม่พลาดสายตาจากลูกน้อยแม้แต่วินาทีเดียวนั่นเอง
หลังจากอาบน้ำให้ลูกเรียบร้อยแล้วอย่าลืมที่จะบำรุงผิวพรรณลูกน้อยให้ดูชุ่มชื่น ลดปัญหาการเกิดผิวแห้ง สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการระคายเคือง เพื่อให้ลูกน้อยมีสุขภาพผิวที่ดี ด้วยโลชั่นที่อ่อนโยนสำหรับเด็ก หรือเบบี้ออยที่มีสารสกัดที่อ่อนโยน เท่านี้ลูกน้อยของเราก็จะสุขภาพผิวดี สบายตัวและมีความสุข!
เป็นอย่างไรบ้างคะกับเทคนิคที่เรานำมาฝากกัน หวังว่าจะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ ได้เข้าใจและเลี้ยงลูก ดูแลเรื่องการอาบน้ำลูกได้ง่ายยิ่งขึ้นนะคะ
ที่มา 1, 2
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
สบู่อาบน้ำเด็ก แนะนำสบู่เหลวอาบน้ำ อ่อนโยน ไม่ระคายเคืองสำหรับลูกน้อย
น้ำเข้าหูลูก ตอนอาบน้ำสระผม อาจนำสู่ภาวะหูชั้นนอกอักเสบ
5 ผลิตภัณฑ์อาบน้ำเด็ก สูตรออร์แกนิก ปลอดภัย ไม่แสบ ได้ใจทั้งครอบครัว
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!