ไอบอกโรค วิธีสังเกตอาการไอแบบต่างๆ ของลูก
หากคุณพ่อคุณแม่รู้จักการไอแบบต่างๆ รวมถึงสาเหตุการไอ จะช่วยให้เข้าใจได้ดีขึ้นว่าลูกมีโอกาสป่วยเป็นอะไรได้บ้าง
1. ไอเสียงก้อง
หากเจ้าตัวน้อยไอเสียงก้อง (barking cough) คล้ายเสียงสุนัขเห่า และพบว่าลูกหายใจลำบาก อาจเป็นสัญญาณของโรคครูป
โรคครูปในเด็ก เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในหลอดลมและกล่องเสียง สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อลูกเป็นหวัด จากนั้น การติดเชื้อจะลามไปยังหลอดลมและกล่องเสียง ทำให้เกิดการบวมและการอุดกั้นของทางเดินหายใจ ควรพาลูกไปพบคุณหมอเพื่อประเมินความรุนแรงของโรคค่ะ หากอาการไม่รุนแรง คุณหมอจะให้ดื่มน้ำมากๆ ร่วมกับกินยาแก้ไอละลายเสมหะ หรือยาขยายหลอดลม สังเกตอาการอยู่ที่บ้าน อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นและหายได้เองภายใน 7 วัน
2. ไอมีเสมหะ
หากเจ้าตัวน้อยไอมีเสียงเสมหะจำนวนมากอยู่ในลำคอ อาจเกิดจากโรคหวัด
ควรให้ลูกดื่มน้ำมากๆ และอาบน้ำอุ่น จะช่วยให้รู้สึกดีขึ้นและบรรเทาอาการไอ โรคหวัดมักจะหายภายใน 1-2 สัปดาห์ หากเจ้าตัวน้อยเป็นหวัดยาวนานกว่านี้ ควรพาไปพบคุณหมอดีที่สุดค่ะ
3. ไอแห้งๆ ตอนกลางคืน
หากเจ้าตัวน้อยไอตอนกลางคืน หรือไอเมื่ออากาศหนาวเย็น หรือเมื่อออกกำลังกาย อาจเป็นสัญญาณของโรคหอบหืด
โรคหอบหืด เป็นภาวะที่หลอดลมเกิดการอักเสบและตีบ ทำให้มีอาการไอ หอบ หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด อาการจะเป็นๆหายๆ และมักเป็นมากในเวลากลางคืนหรือเวลาที่สัมผัสสิ่งกระตุ้นที่ก่อภูมิแพ้ หากสงสัยว่าลูกเป็นโรคหอบหืด ควรพาลูกไปพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง ยิ่งได้รับการวินิจฉัยเร็ว คุณหมอก็จะจัดยาสำหรับป้องกันและรับมือโรคหอบหืดได้อย่างทันท่วงทีค่ะ
4. ไอแรง
หากเจ้าตัวน้อยมีอาการไอจนเสียงแหบ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ จาม และมีไข้สูง อาจจะเป็นสัญญาณของโรคไข้หวัดใหญ่
ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคไวรัสที่มีผลต่อระบบทางเดินหายใจ การรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ทำได้โดยการดื่มน้ำมากๆ และทานยาลดไข้ อย่างไรก็ตามโรคไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนค่ะ คุณแม่ควรพาลูกไปฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี ซึ่งสามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือน
5. ไอ หายใจมีเสียงวี้ด
หากเจ้าตัวน้อยอาการเหมือนไข้หวัด และประมาณ 2-5 วันต่อมาอาการรุนแรงขึ้น ไอ หายใจหอบ มีเสียงวี้ด อาจเป็นสัญญาณของหลอดลมฝอยอักเสบ
หลอดลมฝอยอักเสบ (bronchiolitis) มักจะเกิดขึ้นกับทารกในช่วงเดือนที่หนาวเย็น หากคุณแม่สงสัยว่าเจ้าตัวน้อยมีอาการหลอดลมฝอยอักเสบ ควรพาลูกไปพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาโดยเร็ว ก่อนที่อาการของลูกจะแย่ลง
6. ไอกรน
หากเจ้าตัวน้อยมีอาการไอรุนแรง หรือไอติดกันเป็นชุดๆ มากกว่า 20 ครั้งในลมหายใจเดียว อาจเป็นสัญญาณของโรคไอกรน (Whooping cough)
ไอกรนมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียเข้าไปทำลายเยื่อบุทางเดินหายใจ ทำให้เกิดการอักเสบ และปิดกั้นทางเดินหายใจ ไอกรนจึงเป็นการไอมีเสียงที่เกิดจากการหายใจลำบากตามหลังอาการไอ ซึ่งประมาณ 10% ของทารกเชื้ออาจเข้าสู่ปอดตามทางเดินหายใจและทำให้เกิดปอดบวม ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้
ดังนั้น ทารกควรได้รับภูมิต้านทานโรคไอกรนครั้งแรกผ่านการได้รับวัคซีนโรคไอกรนระหว่างที่คุณแม่ตั้งครรภ์ และครั้งต่อไปเมื่อลูกน้อยมีอายุได้ 2 เดือน
7. ไอ เจ็บหน้าอก
หากเจ้าตัวน้อยไอ มีเสมหะ มีไข้ เจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย อาจเป็นสัญญาณของโรคปอดบวม
โรคปอดบวม หรือโรคปอดอักเสบเป็นภาวะอันตราย เนื่องจากเชื้อโรคเข้าสู่เนื้อปอด หากสงสัยว่าลูกเป็นโรคปอดบวม ควรรีบพาลูกไปพบคุณหมอโดยเร็วที่สุด เพื่อทำการเอ็กซเรย์ปอด หากอาการไม่รุนแรงสามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะและกลับไปพักผ่อนที่บ้าน แต่กรณีที่รุนแรงจำเป็นต้องได้รับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเพื่อรับยาทางหลอดเลือด
คุณแม่ได้รู้จักอาการไอแบบต่างๆ เพื่อประเมินอาการเจ้าตัวน้อยในเบื้องต้นแล้วนะคะ อย่างไรก็ตาม หากไม่มั่นใจในอาการของลูกควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยโดยเร็วที่สุดค่ะ
ที่มา sg.theasianparent.com
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
ลูกไอเรื้อรังเป็นเดือน เกิดจากสาเหตุอะไร?
ลูกไอมาก ทำไงดี?
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!