น้องบี อายุ 6 เดือน มีอาการ ไข้สูง ไอมีเสมหะ น้ำมูกใส 2 วันต่อมาไอมากจนทานอาหารไม่ได้ คุณแม่พามาพบหมอที่โรงพยาบาล หลังจากป้ายน้ำมูกไปตรวจเชื้อไวรัส ได้ผลออกมาว่าติดเชื้อไวรัส อาร์เอสวี (RSV) ซึ่งกำลังระบาดมากในช่วงหน้าฝนเช่นนี้ จึงสรุปว่าน้องบีเป็นโรคหลอดลมฝอยอักเสบเฉียบพลันจากเชื้อ RSV ซึ่งเป็นโรคที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำความรู้จักเพราะเป็นสาเหตุลำดับต้นๆ ที่ทำให้เด็กเล็กต้องนอนโรงพยาบาล และยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กเป็นโรคหืดตามมาด้วยค่ะ
หลอดลมฝอยอักเสบคืออะไร?
หลอดลมฝอยอักเสบ คือ โรคติดเชื้อที่เกิดจากการอักเสบของหลอดลมฝอย พบในผู้ป่วยเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงอายุน้อยกว่า 6 เดือน พบว่าเป็นสาเหตุสำคัญในการรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยอาการหอบเหนื่อยค่ะ
สาเหตุของหลอดลมฝอยอักเสบมีอะไรบ้าง?
สาเหตุโรคหลอดลมฝอยอักเสบส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งติดต่อโดยการไอจามรดกัน พบว่าเชื้อไวรัสชื่อ respiratory syncytial virus (RSV-อาร์เอสวี) เป็นสาเหตุมากที่สุด คือประมาณร้อยละ 70-80 ของผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคหลอดลมฝอยอักเสบทั้งหมด ไวรัสอื่นๆ ที่พบเป็นสาเหตุ ได้แก่ parainfluenza virus, influenza virus, adenovirus, enterovirus และ human metapneumovirus นอกจากนี้ และยังพบสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรีย mycoplasma ได้บ้าง
เนื่องจากโรคนี้มีสาเหตุส่วนใหญ่จากเชื้ออาร์เอสวี ในที่นี้เราจะกล่าวถึงโรคหลอดลมฝอยอักเสบจากเชื้ออาร์เอสวีเป็นหลักนะคะ
อาการของหลอดลมฝอยอักเสบจากเชื้อ RSV เป็นอย่างไร?
เมื่อมีการติดเชื้อ RSV เด็กๆ จะมีอาการ เหมือนไข้หวัดธรรมดา คือ มีน้ำมูกใสๆ ไอ ไข้ต่ำๆนำมาก่อน หลังจากนั้นประมาณ 2-3 วันอาจมีอาการหายใจเร็ว หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงหวีด บางครั้งไข้ขึ้นสูง 40-41 องศาเซลเซียสได้ ต่อมาหากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องมักจะมีอาการดีขึ้นภายใน 3-4 วันภายหลังจากได้รับการรักษา มีผู้ปวยเด็กบางรายที่มีภาวะการหายใจล้มเหลวจนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
คุณหมอจะวินิจฉัยโรคหลอดลมฝอยอักเสบจากเชื้ออาร์เอสวีได้อย่างไร?
คุณหมอสามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จากประวัติอาการและการตรวจร่างกายเด็กเป็นหลัก นอกจากนี้ปัจจุบันนิยมใช้การตรวจหาเชื้อไวรัส RSV จากสิ่งคัดหลั่งในจมูกหรือคอมาช่วยในการวินิจฉัย การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจนับจำนวนเม็ดเลือด และการตรวจภาพถ่ายรังสีทรวงอกมักไม่มีลักษณะจำเพาะและไม่ช่วยในการวินิจฉัยโรค แต่อาจช่วยในการวินิจฉัยแยกจากโรคอื่นๆ ที่มีลักษณะอาการคล้ายกันหรือในรายมีอาการรุนแรงเพื่อดูว่ามีภาวะแทรกซ้อนเช่นปอดอักเสบติดเชื้อร่วมด้วยหรือไม่
การรักษาโรคหลอดลมฝอยอักเสบจากเชื้อ RSV ทำได้อย่างไร?
เนื่องจากปัจจุบันยาต้านไวรัสอาร์เอสวีมีการศึกษาถึงประสิทธิภาพและความคุ้มค่าในการใช้ยาไม่ชัดเจน วิธีการใช้ที่ยุ่งยากเนื่องจากมีแต่รูปแบบพ่น และมีราคาแพงมาก คุณหมอจึงรักษาโรคนี้โดยเน้นที่การรักษาประคับประคองและการรักษาตามอาการ ได้แก่ การให้ออกซิเจนในผู้ป่วยที่มีอาการหอบเหนื่อย ให้น้ำอย่างเพียงพอ หากทานไม่ได้จะให้น้ำเกลือทางเส้นเลือด ให้ยาลดไข้และเช็ดตัว ให้ยาขยายหลอดลมชนิดพ่นฝอยละออง ให้ยาปฏิชีวนะในรายที่มีหลักฐานว่าผู้ป่วยมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน และติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ถ้าอาการแย่ลงหรือมีอาการของภาวะหายใจล้มเหลวคุณหมออาจพิจารณาใส่เครื่องช่วยหายใจให้ค่ะ
ภาวะแทรกซ้อนของโรคหลอดลมฝอยอักเสบจากเชื้อ RSV มีอะไรบ้าง?
ภาวะแทรกซ้อนของโรคหลอดลมฝอยอักเสบจากเชื้อ RSV มีทั้งภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นในระยะเเรกและในระยะหลังภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นในระยะเเรกที่สำคัญได้แก่ การเกิดภาวะการหายใจล้มเหลว มักพบในผู้ป่วยเด็กที่อายุน้อยกว่า 6 เดือน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กที่มีประวัติเกิดก่อนกำหนด (อายุครรภ์น้อยกว่า 32 สัปดาห์) ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นในระยะหลัง ได้แก่โรคหืด โดยมีการศึกษาพบว่าร้อยละ 25-50 ของผู้ป่วยที่เคยมีประวัติหลอดลมฝอยอักเสบจากเชื้ออาร์เอสวีเมื่ออายุน้อยกว่า 2 ปี มีโอกาสเกิดโรคหืดและมีสมรรถภาพของปอดที่ผิดปกติตามมาเมื่อเด็กโตขึ้นแม้ไม่มีอาการหอบเหนื่อยได้บ่อย
เราสามารถป้องกันโรคหลอดลมฝอยอักเสบจากเชื้ออาร์เอสวีได้อย่างไร?
การป้องกันการเกิดโรคนี้ส่วนใหญ่เน้นที่การป้องกันการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจทั่วไป เช่น การล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงไอจามรดกัน
ในบางประเทศเช่นสหรัฐอเมริกามีการใช้ยาป้องกันไวรัส RSV ในเด็กเกิดก่อนกำหนด และเด็กที่มีโรคประจำตัวซึ่งมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ แต่ในประเทศไทยยังไม่มียานี้
ไอเสียงก้อง หายใจลำบาก สัญญาณเตือนโรคครูปในเด็ก
โรค Stevens-Johnson อาการแพ้ยาที่อาจรุนแรงถึงชีวิตลูกรัก
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!