อาการหนาวใน หรือ อาการหนาวในกระดูก ตามตำราแพทย์แผนไทย
มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้กล่าวถึงอาการหนาวในไว้ว่า ตามตำราแพทย์แผนไทย เชื่อว่า การคลอดบุตรทำให้สูญเสียความร้อนในร่างกาย เสียธาตุไฟ ร่างกายขาดความสมดุล และยังสามารถเกิดในผู้สูงอายุที่กำลังจะหมดประจำเดือน หรือหมดประจำเดือนแล้ว ผู้หญิงที่ประจำเดือนมาผิดปกติ เช่น ประจำเดือนมาน้อย เป็นไข้ทับระดู มาไม่ตรงวัน ปวดประจำเดือนรุนแรง ลักษณะของประจำเดือนมีสีคล้ำ เป็นก้อน เป็นลิ่ม เป็นต้น
อาการหนาวในกระดูก อาการเริ่มต้นของอาการหนาวในที่ควรสังเกต
จะมีอาการหนาวสั่นสะท้านเข้ากระดูก มือเท้าเย็น ปากเขียว มือเขียว เหมือนเลือดไหลเวียนไม่ดี และเมื่อมีอาการหนาวในเป็นประจำจะทำให้เกิดอาการปวดหลังชาๆ ขัดข้อสะโพก มีจ้ำเขียวตามร่างกายได้ง่าย เป็นไข้ทับระดูทุกครั้งที่มีประจำเดือน มีอาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ เป็นตะคริว
แนวทางการรักษา อาการหนาวใน ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย
อาการหนาวในยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุใด และมีลักษณะอาการแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ถ้าปล่อยทิ้งไว้จนเป็นมากก็อาจมีอาการปวดหน่วงท้องน้อยจนถึงมดลูกอักเสบ โดยแพทย์แผนไทยถือว่าอาการของกลุ่มมดลูกอักเสบนี้สามารถรักษาหายได้ด้วยการปรับสมดุลธาตุอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องได้รับการตรวจจากแพทย์แผนไทยอย่างละเอียด ว่าต้องปรับอะไรบ้าง ขึ้นอยู่กับอาการ และธาตุของคนไข้
นอกจากคนที่ไม่ได้อยู่ไฟแล้ว อาการหนาวใน เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง
-
รูปร่างผอมบางเกินไป
คนที่มีน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐาน อาจส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถสร้างความอบอุ่นได้เพียงพอจนทำให้รู้สึกหนาวง่าย อีกอย่างเมื่อเราผอมเพราะไม่ค่อยได้กินอาหาร ก็ยิ่งลดประสิทธิภาพการทำงานของระบบเผาผลาญ จนความร้อนในกระบวนการเผาผลาญไม่เกิด ดังนั้นคนที่ตัวผอมบางจึงมักจะรู้สึกหนาวง่ายหรือหนาวตลอดเวลานั่นเอง
-
ต่อมไทรอยด์ผิดปกติ
อาการหนาวเป็นพักๆ รวมทั้งผมเริ่มร่วงและบาง ผิวแห้งมากขึ้น แถมยังรู้สึกอ่อนเพลียด้วย ลักษณะอาการเช่นนี้อาจเข้าข่ายภาวะขาดไทรอยด์ ซึ่งเป็นอาการที่ต่อมไทรอยด์ไม่หลั่งไทรอยด์ฮอร์โมนออกมาในปริมาณที่พอเพียง จนส่งผลให้ระบบเผาผลาญทำงานช้าลง ความร้อนในร่างกายจึงลดน้อยลงไปด้วย
-
ขาดธาตุเหล็ก
เพราะธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบสำคัญของเม็ดเลือดแดง มีหน้าที่ช่วยขนส่งออกซิเจนเข้าสู่เซลล์เม็ดเลือดแดง นำพาความร้อนและสารอาหารที่สำคัญเข้าสู่กระบวนการทำงานของเซลล์ทุกแขนงในร่างกาย ดังนั้นหากขาดธาตุเหล็กไป กระบวนการดังกล่าวก็ทำงานได้ไม่เต็มที่ จึงทำให้ความอบอุ่นในร่างกายลดน้อยลง
-
ระบบไหลเวียนเลือดไม่ดี
อาการมือเย็นเท้าเย็นบ่อยๆ แต่ร่างกายโดยรวมไม่ได้ผิดปกติอะไร การวินิจฉัยจากแพทย์ อาจเกิดจากระบบไหลเวียนเลือดในร่างกายทำงานไม่ปกติ ไม่สามารถไหลเวียนเลือดได้สะดวกไปทั่วทั้งร่างกาย หรืออาจจะมีภาวะของโรคหลอดเลือดอุดตันตามตำแหน่งต่างๆ ที่อาจขัดขวางการไหลเวียนของเลือดไปยังมือและเท้าได้
-
โรคเรย์นอยด์ (Raynaud Disease)
เป็นสาเหตุให้เส้นเลือดบริเวณมือตีบ ส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ไม่ดี ทำให้เกิดอาการชาบริเวณนิ้วมือ ร่วมกับอาการนิ้วมือนิ้วเท้าเย็นตามมาด้วย ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางรักษา
-
พักผ่อนไม่เพียงพอ
การนอนหลับที่ไม่เพียงพอ อาจส่งผลให้สารเคมีในสมองรวมไปถึงระบบการเผาผลาญของร่างกายทำงานผิดปกติได้ ซึ่งก็นับเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ร่างกายอ่อนแอลง รวมทั้งอาการหนาวง่ายก็เป็นผลพวงที่ตามมาด้วยเช่นกัน
-
ดื่มน้ำน้อยเกินไป
น้ำเป็นส่วนประกอบในร่างกายมากกว่า 60% และยังมีหน้าที่สำคัญที่ช่วยควบคุมอุณหภูมิร่างกายให้เป็นปกติ นักโภชนาการให้ข้อมูลว่าร่างกายที่ไม่ได้รับน้ำสะอาดเพียงพออาจเกิดได้ทั้งภาวะอุณหภูมิที่ร้อนจัดและเย็นจัด เนื่องจากภาวะขาดน้ำจะทำให้ระบบควบคุมอุณหภูมิของร่างกายปรวนแปร รวมไปถึงเมื่อขาดน้ำ ระบบเผาผลาญก็ทำงานไม่สะดวกด้วย
-
ขาดวิตามินบี 12
วิตามินบี 12 มีหน้าที่สำคัญพอๆ กับธาตุเหล็กตรงที่ช่วยลำเลียงออกซิเจนเข้าสู่เซลล์เม็ดเลือดแดง ซึ่งหากร่างกายไม่ได้รับวิตามินบี 12 ที่พอเพียงอาจทำให้หลอดเลือดแดงทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ และเมื่อการไหลเวียนของเลือดติดขัด ก็จะรู้สึกหนาวง่ายบวกกับมีอาการเหน็บชาบ่อยๆ ด้วย
-
โรคเบาหวาน
อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการปลายประสาทอักเสบได้ ซึ่งอาการนี้จะส่งผลให้มือและเท้าของคุณไวต่อสิ่งเร้าและการสัมผัส จนอาจทำให้รู้สึกหนาวเย็น ณ บริเวณนี้ได้ อีกทั้งปลายประสาทยังจะส่งสารบางอย่างไปยังสมองในส่วนที่ควบคุมอุณหภูมิร่างกาย ให้รู้สึกถึงความหนาวเย็นได้
-
กล้ามเนื้ออ่อนแอเกินไป
แพทย์หญิง Margarita Rohr แห่ง NYU Langone Medical Center นิวยอร์ก บอกไว้ว่า กล้ามเนื้อที่แข็งแรงจะช่วยคงอุณหภูมิร่างกายของเราให้สมดุล การมีมวลกล้ามเนื้อมาก หนาแน่นและแข็งแรง จะช่วยให้ระบบเผาผลาญให้ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพไปในตัว และช่วยรักษาความอบอุ่นของร่างกายได้เป็นอย่างดี
อาการหนาวใน หรือหนาวง่ายจึงสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่เฉพาะคุณแม่ที่ไม่ได้อยู่ไฟหลังคลอดเท่านั้น การรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้คุณห่างไกลจากอาการหนาวในค่ะ
ที่มาและภาพประกอบ kaijeaw.com, matichon.co.th
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
ทำไมหลังคลอดถึงปัสสาวะเล็ดบ่อย?
ความเชื่อเรื่องการปฏิบัติตัวหลังคลอด
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!