อาการปวดท้องขณะตั้งครรภ์ เป็นอาการที่แม่ ๆ หลาย ๆ คนกังวล ปวดท้องแบบไหนถึงเป็นอาการปวดท้องอันตรายที่คุณแม่ต้องรีบไปพบแพทย์ วันนี้ theAsianparent Thailand ขอนำบทความที่เกี่ยวกับอาการปวดท้องขณะตั้งครรภ์มาฝากคุณแม่กัน
รู้ทัน! อาการปวดท้องขณะตั้งครรภ์
การตั้งครรภ์ในแต่ละครั้งสิ่งที่สำคัญที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องสุขภาพของคุณแม่ เพราะสุขภาพของคุณแม่เป็นปัจจัยสำคัญที่เชื่อมโยงไปถึงสุขภาพ และพัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์ ฉะนั้นแล้วการดูแลตัวเองขณะตั้งครรภ์จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องให้เอาใจใส่อย่างใกล้ชิดเสมอ
นอกจากการดูแลสุขภาพตัวเองให้ดีอย่างเสมอแล้วนั้น การที่คุณแม่หรือคุณพ่อคอยสังเกตอาการแปลก ๆ ที่เกิดขึ้นกับคุณแม่ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการช่วยดูแลคุณแม่ในช่วงที่คุณแม่แพ้ท้อง สังเกตดูว่าคุณแม่มีอาการแพ้ท้องรุนแรงหรือไม่ หรือคุณแม่มีอาการเจ็บป่วยใดอีกไหมที่มีความเสี่ยง
โดยในช่วงไตรมาสแรกคุณแม่อาจมีอาการต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งจุดนี้อยากให้คุณพ่อคอยดูแลเอาใจใส่ และคอยช่วยเหลือสังเกตคุณแม่อยู่เสมอ บางครั้งคุณแม่อาจมีอาการคลื่นไส้ซึ่งอาการนี้อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเป็นอาการแพ้ท้อง ที่คุณแม่ตั้งครรภ์ส่วนมากต้องพบเจอกับมัน ซึ่งอาการแพ้ท้องนั้นเกิดจากการที่ระดับฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลง
ไม่เพียงเท่านั้นบางครั้งในช่วงแรกของการตั้งครรภ์คุณแม่อาจมีอาการเวียนหัวที่เกิดจากระดับฮอร์โมนและความดันโลหิตที่เปลี่ยนแปลงอาจทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ หากมีอาการที่รุนแรงจนกระทบกับการดำเนินชีวิตแนะนำให้คุณแม่รีบเข้าพบแพทย์โดยด่วน
บทความที่เกี่ยวข้อง : ท้องอ่อน ๆ ปวดท้องน้อย ทำไมปวดมาก เสี่ยงแท้งหรือเปล่า?
อาการเบื่ออาหาร ในส่วนนี้จะเชื่อมโยงกับอาการแพ้ท้องด้านบน เนื่องจากว่าการอาเจียนทำให้คุณแม่ทานอาหารค่อนข้างลำบาก เพราะไม่อยากจะต้องกินและอาเจียนออกมาอีก อารมณ์เปลี่ยนแปลง และมีอาการคัดตึงเต้านม ลานหัวนมสีคล้ำ รู้สึกอ่อนเพลีย เพราะระดับโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่เพิ่มขึ้นร่วมด้วย
จากอาการต่าง ๆ ที่กล่าวไปถือเป็นอาการปกติของคุณแม่ตั้งครรภ์ไตรมาสแรก แต่อย่างไรก็ตามอาการดังกล่าวที่บอกไปข้างต้นคุณแม่และคุณพ่อต้องคอยสังเกตว่าอาการใดบ้างที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต เช่น หายใจไม่สะดวก เหนื่อยง่าย หายใจเต้นแรง หากมีอาการเหล่านี้ต้องรีบพบแพทย์ประจำตัวโดยด่วน
อาการปวดท้องขณะตั้งครรภ์ มีอะไรบ้าง
-
ปวดท้องหน่วง ๆ อันเนื่องมาจากมีเลือดออกระหว่างการตั้งครรภ์
โรงพยาบาลสมิติเวชได้ให้คำแนะนำกับคุณแม่ไว้ว่า อาการเลือดออกในช่องคลอดอาจมีอาการปวดหน่วงในบริเวณท้องน้อยร่วมด้วย อันเนื่องมาจากการแท้งคุกคาม โดยการตั้งครรภ์ที่มีเลือดออกทางช่องคลอด ทั้งที่ปากมดลูกยังไม่เปิด เป็นอาการที่พบได้บ่อยในช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสแรก อาจมีอาการปวดท้องน้อยร่วมกับมีเลือดออกกะปริบกะปรอย และอาการจะมากขึ้นจนกระทั่งตกเลือดมากได้ หากคุณแม่พบว่ามีเลือดออกทางช่องคลอด ให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจดูทารกในครรภ์ทันที
รวมไปถึงการท้องลม โดยการตั้งครรภ์ที่ไม่มีตัวเด็ก หรือเรียกว่าภาวะไข่ฝ่อ ทำให้การตั้งครรภ์ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้จนถึงครบกำหนดคลอด สุดท้ายก็จะมีการแท้งเองตามธรรมชาติโดยแพทย์จะสามารถตรวจได้ว่าเป็นท้องลมหรือไม่ด้วยการตรวจภายในและอัลตราซาวนด์
การท้องนอกมดลูกก็เช่นกัน โดยจะมีอาการปวดท้องน้อยมาก อาจปวดร้าวขึ้นไปถึงไหล่และหลัง เพราะเลือดที่ออกมาไปกดใต้กะบังลม นอกจากนี้อาจมีความดันต่ำ หัวใจเต้นเร็ว จนถึงขั้นช็อกได้ ต้องรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
โรงพยาบาลสมิติเวชได้อธิบายเกี่ยวกับอาการปวดท้องน้อยไว้ว่า การปวดท้องน้อยในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ สามารถพบได้เนื่องจากการขยายตัวของมดลูก แต่อย่างไรก็ตามมักไม่ปวดมาก หากได้พักหรือเปลี่ยนท่าทาง อาการก็ควรที่จะดีขึ้น แต่หากมีอาการปวดมากควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจน
โดยอาการปวดท้องคลอดนั้นจะแบ่งออกได้ 2 ประเภทด้วยกัน นั่นคือ การปวดท้องเพื่อเตือนและการปวดท้องคลอดจริง ๆ โดยอาการของการปวดท้องเตือนนั้น เกิดจากกล้ามเนื้อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอดที่ใกล้เข้ามา โดยคุณแม่จะรู้สึกแน่นบริเวณช่วงท้อง และรู้สึกเป็นช่วง ๆ แต่ละช่วงมีความเจ็บปวด และระยะเวลาไม่เท่ากัน รวมถึงบริเวณที่ปวดอาจเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ซึ่งอาการจะหายไปเมื่อคุณแม่เดิน หยุดพัก หรือเปลี่ยนท่าทางนั่นเอง
ในส่วนของอาการปวดท้องจริง เกิดจากการบีบตัวของมดลูกที่เตรียมพร้อมสำหรับการคลอด โดยจะมีอาการแบบไม่ตายตัว และแตกต่างกันไปในแต่ละคน ซึ่งอาการที่มักพบได้บ่อย คือ ปวดตื้อ ๆ บริเวณหลังและท้องส่วนล่าง คุณแม่บางรายอาจมีอาการปวดบริเวณข้างลำตัวและต้นขา และปวดคล้ายกับอาการปวดประจำเดือน หรือท้องเสียแต่มีความรุนแรงมากกว่าด้วย
อาการปวดท้องจริงจะเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอและมีความถี่มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งอาการจะค่อย ๆ รุนแรงขึ้นตามการบีบตัวของมดลูก นอกจากนี้ความเจ็บปวดจากการปวดท้องจริงนั้นยากจะบรรเทาอาการ ไม่ว่าจะด้วยการเปลี่ยนอิริยาบถหรือการใช้ยาช่วยบรรเทาความเจ็บปวดก็ตาม
บทความที่เกี่ยวข้อง : เจ็บท้องหลอก ต่างจากเจ็บท้องจริงอย่างไร เจ็บแบบไหนเรียกว่าปวดท้องใกล้คลอด
ความเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวัง เมื่อมีอาการปวดท้องระหว่างตั้งครรภ์
เนื่องจากว่าการตั้งครรภ์ของคุณแม่เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ คุณหมอจากโรงพยาบาลสมิติเวชจึงอยากนำข้อแนะนำเกี่ยวกับความเสี่ยงขณะตั้งครรภ์มาฝากคุณแม่เพื่อให้ป้องกันอันตรายได้อย่างทันท่วงทีดังนี้
- อาการแพ้ท้อง คุณแม่ส่วนใหญ่มักแพ้ท้องอย่างหนักในช่วงไตรมาสแรก คลื่นไส้ อาเจียน และรับประทานอาหารไม่ได้ หากคุณแม่ละเลยการรับประทานอาหาร ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการขาดสารอาหารที่จำเป็นทั้งในทารก และตัวคุณแม่เอง โดยส่งผลให้ทารกในครรภ์ไม่ได้รับสารอาหารบำรุงสมองอย่างเพียงพอ ส่วนคุณแม่เกิดภาวะขาดสมดุลของเกลือแร่และวิตามิน ฉะนั้นหากมีอาการแพ้ท้องรุนแรงให้คุณแม่รีบเข้าพบแพทย์ประจำตัวโดยด่วน
- เลือดออกทางช่องคลอด ภาวะเลือดออกทางช่องคลอดมีความเสี่ยงต่อชีวิตของทารกในครรภ์และคุณแม่อย่างมาก ถือเป็นอันตรายที่สามารถเกิดได้ทุกช่วงอายุครรภ์ จึงควรรีบพบแพทย์ทันที ไม่ต้องรอให้ถึงวันนัด
- ปวดท้องน้อยอย่างรุนแรง แม้คุณแม่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่มักพบอาการปวดท้องน้อยเป็นปกติ เนื่องจากกล้ามเนื้อมดลูกมีการขยายตัวเพื่อรองรับตัวอ่อนในครรภ์ แต่หากอาการปวดมากขึ้นจนผิดสังเกต หรือปวดติดต่อกันยาวนาน ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ
หากคุณแม่มีนัดตรวจครรภ์กับคุณหมอประจำตัวและมีอาการปัสสาวะแสบขัด ไม่สุด ปวดท้องน้อยเวลาปัสสาวะ ตกขาวมีกลิ่น หรือสีที่ผิดปกติ มีอาการคันช่องคลอด นอนไม่หลับ ท้องผูก หรือถ่ายปนเลือด ปวดหลังมาก เป็นตะคริว มีอาการชาปลายมือปลายเท้า และจุกแสบลิ้นปี่ หรือมีอาการแสบร้อนที่อกหรือลำคอหลังรับประทานอาหารและเวลานอน ให้รีบแจ้งแพทย์ผู้ดูแลโดยด่วนเช่นกัน
วิธีดูแลตัวเองขณะตั้งครรภ์
-
รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
ในเรื่องของอาหารการกิน นอกจากทานให้ครบ 5 หมู่แล้ว สิ่งที่คุณแม่ควรให้ความสำคัญคือสารอาหารต่าง ๆ ที่มีประโยชน์แก่ลูกน้อยในครรภ์ โดยกรดโฟลิกหรือโฟเลตเป็นสารอาหารที่สำคัญมากที่สุด เรียกได้ว่าเป็นอันดับแรกที่คุณแม่ที่กำลังจะตั้งครรภ์ขาดไม่ได้เลย เพราะโฟเลตเป็นสารอาหารที่สำคัญสำหรับการสังเคราะห์ดีเอ็นเอของเซลล์เพื่อสร้างอวัยวะต่าง ๆ ของทารกในครรภ์
อีกทั้งกรดโฟลิก ยังช่วยลดความเสี่ยงที่ทารกจะมีความพิการแต่กำเนิดอย่างที่กล่าวไปข้างต้น โดยจะช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องความผิดปกติของกระดูกสันหลัง (Spina Bifida) อีกด้วย
ธาตุเหล็กนั้นมีความจำเป็นสำหรับการสร้างเม็ดเลือดที่เพิ่มจำนวนอย่างมากในช่วงตั้งครรภ์ เพื่อให้เพียงพอต่อการนำสารอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงทารกที่อาศัยอยู่ในครรภ์ ในส่วนของโปรตีนเป็นอีกหนึ่งสารอาหารที่สำคัญเป็นอย่างมากมันจะช่วยเสริมสร้างอวัยวะและกล้ามเนื้อของคุณแม่ และทารก
โดยในช่วงตั้งครรภ์มีรายงานว่าร่างกายนั้นจะดูดซึมแคลเซียมได้มากกว่าปกติ ในส่วนของการรับประทานวิตามินจะเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกเพิ่มเติมที่ช่วยเสริมสร้างสารอาหารให้แก่ร่างกาย แต่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่คุณแม่จะต้องทำการปรึกษาแพทย์ประจำตัวเพื่อวางแผนแนวทาง เพื่อเป็นการป้องกัน และระมัดระวังว่าการเสริมวิตามินจะไม่ส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์หรือไม่อย่างไร
สิ่งที่สำคัญที่อีกหนึ่งสิ่งสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ไม่แพ้กับโภชนาการ คือ การพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะการพักผ่อนจะทำให้คุณแม่สุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่ป่วยง่าย ทั้งยังป้องกันภาวะเสี่ยงต่าง ๆ ได้อีกด้วย
หากคุณแม่ตั้งครรภ์เป็นป่วยด้วยการเป็นหวัดธรรมดา โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย 4 แนะนำให้ว่าคุณแม่สามารถหลีกเลี่ยงการกินยาได้ เพราะยาบางชนิดอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารกน้อยในครรภ์ เพียงแค่คุณแม่ดื่มน้ำบ่อย ๆ และพักผ่อนมาก ๆ อีกทั้งให้พยายามทานผักผลไม้ที่มีวิตามินซี ก็สามารถบรรเทาอาการหวัดได้โดยไม่ต้องพึ่งยา แต่หากเป็นติดต่อกันเกิน 5 วันก็ควรพบแพทย์เพื่อการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า การใส่รองเท้าส้นสูงอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุที่มาจากการลื่นล้มได้ โดยหากคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ใส่ส้นสูง อาจจะเกิดอุบัติเหตุลื่นล้ม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อลูกน้อยในครรภ์ได้เช่นกัน ฉะนั้นแล้วแนะนำว่าคุณแม่ควรงดและเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูง หรือรองเท้าที่ไม่มียางป้องกันการลื่น
บทความที่เกี่ยวข้อง : รองเท้าคนท้องแบบไหน ที่คุณแม่ต้องมี เคล็ดลับคนท้องใส่รองเท้าส้นสูงอย่างไรให้ปลอดภัย
ข้อควรระวังหากคุณแม่มีอาการป่วย
อันดับแรกคุณแม่ไม่ควรใช้ยาใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการกินยา ทายา หรือว่าฉีดยา ในช่วงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก เพื่อป้องกันภาวะแท้งคุกคามที่เกิดจากความไม่ตั้งใจ และลดความเสี่ยงต่อความพิการของทารกในครรภ์ หากไม่สบายเกินกว่าจะหายเองได้ ให้รีบพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง และปลอดภัยจะเป็นการดีที่สุด
ห้ามกินยาแก้ปวด ลดไข้ ที่เป็นแอสไพริน (Aspirin) และไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) รวมถึงยาแก้ปวดศีรษะไมเกรนในกลุ่มเออร์โกตามีน (Ergotaine) และยาแก้อักเสบใด ๆ เพราะอาจเสี่ยงทำให้เกิดภาวะแท้งคุกคามได้ หากมีผู้ป่วยภายในบ้าน ให้ระวังด้วยการใส่หน้ากากอนามัยเสมอ เพื่อป้องกันเชื้อโรคต่าง ๆ
คุณแม่ตั้งครรภ์ สามารถฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ แต่ต้องปรึกษาแพทย์ก่อน ซึ่งปกติแล้วสามารถฉีดได้ระหว่างตั้งครรภ์และไม่ทำให้เกิดอันตรายกับลูกน้อยในครรภ์ เนื่องจากช่วงตั้งครรภ์ เป็นช่วงเวลาที่ภูมิต้านทานในร่างกายของคุณแม่ลดลง จึงทำให้มีโอกาสติดเชื้อหรือเจ็บป่วยได้ง่ายกว่าคนอื่น และหากเป็นแล้วอาจหายช้ากว่าปกติได้
แม้ว่าการตั้งครรภ์อาจจะมีหลาย ๆ สิ่งเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปบ้างในชีวิตของคุณแม่ แต่พวกเราหวังว่าคุณแม่ทุกท่านจะมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง มีจิตใจที่แจ่มใส พร้อมต้อนรับลูกน้อยที่กำลังจะเกิดมา และขอให้ลูกน้อยของคุณแม่ทุกท่านเกิดมาพร้อมกับสุขภาพที่แข็งแรง และความสุข อย่าลืมแบ่งปันเรื่องราวและความกังวลได้ที่แอปพลิเคชันของเราตามลิงก์นี้ได้เลย theAsianparent
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ไขข้อข้องใจให้แม่ท้อง คนท้องกินยาแก้ปวดท้องได้ไหม?
คนท้องปวดท้องน้อย เจ็บท้องน้อย เป็นอันตรายกับลูกในครรภ์หรือไม่?
ยาระงับปวดระหว่างตั้งครรภ์ คนท้องกินยาพาราแก้ปวดได้ไหม อันตรายหรือเปล่า?
ที่มา : pobpad, samitivejhospitals, paolohospital, samitivejhospitals
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!