อาการก่อนรู้ว่าท้องเป็นอย่างไร ว่าที่คุณแม่แต่ละคนนั้น มักจะมีอาการที่ แตกต่างกันออกไป โดยในช่วงระยะสัปดาห์แรกนั้น ว่าที่คุณแม่บางคนนั้น อาจไม่มีอาการแสดงออก หรือไม่มีอาการแพ้ใด ๆ เลยจนไม่รู้ตัวว่าตั้งท้อง ในทางกลับกันบางคนอาจจะมีอาการแพ้ท้อง หรืออาการอื่น ๆ เกิดขึ้นติดต่อกันเป็นเวลานาน
ดังนั้นอาการที่แสดงออกว่าตั้งครรภ์ ในระยะแรกจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ในทางการแพทย์ก็มีลักษณะบางอย่าง ที่ร่างกายแสดงออกมา ที่สันนิษฐานได้ว่าเป็น อาการคนท้องระยะแรก 1 – 2 สัปดาห์ เพื่อจะได้เตรียมพร้อมรับมือกับการเป็นคุณแม่มือใหม่
อาการก่อนรู้ว่าท้องเป็นอย่างไร ?
โดยปกติประจำเดือนของผู้หญิงจะมีระยะเวลาประมาณ 21 – 35 วัน และมักจะมาใกล้เคียงกันทุกเดือน แต่ถ้าหาก ประจำเดือนเกิดขาดหายไปนานเกินกว่า 10 วัน นั่นอาจเป็นสัญญาณที่บอกได้ว่า “กำลังตั้งครรภ์”
การขาดของประจำเดือน ก็อาจมาจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่การตั้งครรภ์ก็ได้ เช่น การใช้ยาคุมกำเนิด ร่างกายได้รับสารอาหาร ไม่เพียงพอ มีอารมณ์เปลี่ยนแปลง รู้สึกเครียดมากจนเกินไป จนทำให้ไข่ไม่ตก หรือเป็นโรคบางอย่าง ก็อาจมีผลต่อการขาดประจำเดือนได้เช่นกัน
เมื่อมีการตั้งครรภ์ ทั้งสรีระ และฮอร์โมนในร่างกาย ก็มีการปรับตัวสูงขึ้น จึงส่งผลให้มี “ตกขาว” ในปริมาณที่มากขึ้นกว่าปกติ แต่อย่าเพิ่งตกใจ ถ้าลักษณะของตกขาวเป็นมูกเหลวสีขาวขุ่น หรือสีครีมก็ถือว่าเป็นสภาวะปกติ ที่ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด
เนื่องจากบริเวณปากมดลูก และช่องคลอดจะมีการสร้างของเหลวออกมา เพื่อหล่อลื่นบริเวณปากช่องคลอดอยู่แล้ว เพียงแต่ในช่วงตั้งครรภ์คุณแม่ควรดูแลรักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้เกิดความอับชื้นจนก่อให้เกิดเชื้อรา
หากคุณแม่เห็นเลือดออกเล็กน้อย กระปริบกระปรอย ซึมออกที่บริเวณช่องคลอด แต่ไม่ใช่ประจำเดือน อย่าเพิ่งตกใจ นั่นอาจเป็นสัญญานของการตั้งครรภ์ในระยะแรก เนื่องจากร่างกายกำลังอยู่ในสภาวะปรับตัว ให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จากการปฏิสนธิภายในมดลูก
ซึ่งในช่วง 11 – 12 วันหลังปฏิสนธิ ตัวอ่อนจะฝังตัวอยู่ที่เยื่อบุโพรงมดลูก อาจทำให้คุณแม่บางรายมีเลือดสีแดงจาง ๆ หรือสีชมพู ปริมาณไม่มากไหลออกมาจากช่องคลอดได้ และเลือดนี้จะหยุดไหลไปเองภายใน 1 – 2 วัน ถ้าไม่มีอาการปวดเกร็งท้องก็ถือว่าไม่น่าเป็นห่วง ถ้าหากมีเลือดไหลไม่หยุด และมีอาการปวดเกร็งท้องร่วมด้วย ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
เมื่อเริ่มตั้งครรภ์ ฮอร์โมนจากรก และรังไข่จะผลิตเพิ่มมากขึ้น ทำให้หัวนม และลานนมมีสีเข้ม หรือคล้ำขึ้น รวมถึงเต้านมขยายขนาด รวมกับมีอาการเจ็บตึงด้วย และการเปลี่ยนแปลงนี้ จะเห็นได้อย่างชัดเจน ในคุณแม่ครรภ์แรก มากกว่าครรภ์หลัง
อาการปวดหัวเป็นอีกหนึ่ง ในสัญญาณเริ่มต้นของการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ภายในร่างกาย และการปรับตัวตามธรรมชาติ ของร่างกายขณะตั้งครรภ์นั่นเอง ซึ่งอาการปวดหัวในระยะตั้งครรภ์สัปดาห์แรกนั้น
แม่ท้องบางคน อาจมีอาการปวดศีรษะบ่อยขึ้น และจะปวดมาก หรือน้อยขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแม่ท้องเป็นสำคัญ บางคนอาจจะเครียดวิตกกังวล หรือมีอาการภูมิแพ้ที่ทำให้อาการปวดหัวจากการตั้งครรภ์มีความรุนแรงกว่าปกติ
ดังนั้นเมื่อรู้ตัวว่าตั้งท้องคุณแม่ควรเริ่มปรับพฤติกรรม ในการดูแลตัวเอง ทั้งเรื่องอาหารการกิน เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่มากพอ และดื่มน้ำอย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน พักผ่อนเยอะ ๆ ทำจิตใจให้สงบ หลีกเลี่ยงการใช้งานโทรศัพท์มือถือติดต่อกันเป็นเวลานาน อยู่ในที่ ๆ อากาศปลอดโปร่ง ก็จะช่วยห่างไกลหรือลดอาการปวดหัวลงได้
หากรู้สึกใส่ชั้นในแล้ว มีอาการรู้สึกเจ็บตึงบริเวณเต้านม และหัวนม หรือไวต่อการสัมผัส เป็นหนึ่งในสัญญาณที่บอกได้ว่ากำลังตั้งท้องในช่วง 1 – 2 สัปดาห์ อาการนี้จะเกิดขึ้นประจำเดือนขาด โดยสาเหตุของอาการคัดเต้า นั่นเกิดจากความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย
และจะพบว่าเมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์มากขึ้น เต้านมก็จะยิ่งตึงมากขึ้น รวมทั้งมีความเปลี่ยนแปลงบริเวณเต้านม และหัวนมขึ้นอีก เช่น บริเวณลานหัวนมจะกว้างขึ้น และมีเส้นเลือดดำสีเขียว ๆ กระจายอยู่โดยรอบ หัวนมมีลักษณะสีคล้ำ และขยายใหญ่มากขึ้น ผิวหนังบริเวณเต้านมบางลงจนสังเกตเห็นเส้นเลือดเต้านมมีสีแดงเข้ม และนูนเด่นชัด
ซึ่งเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงของร่างกายส่วนหนึ่งเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการผลิตน้ำนมให้กับทารกนั่นเอง ดังนั้นเมื่อรู้ตัวว่าตั้งครรภ์คุณแม่ควรเลือกสวมชุดชั้นในที่มีขนาดพอดี เพื่อช่วยรับน้ำหนักเต้าได้อย่างเหมาะสม ซึ่งอาการเจ็บเหล่านี้จะหายไปได้เองภายหลังตั้งครรภ์แล้วประมาณ 3 เดือนค่ะ
อาการปวดหลังก็จัดเป็น อีกหนึ่งในอาการที่บ่งบอกได้ว่ากำลังตั้งท้อง โดยมีอาการปวด หรือเจ็บบริเวณหลังช่วงล่างแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และอาจมีอาการตะคริวร่วมด้วย สาเหตุของอาการปวดหลังมาจากการขยายตัวของกล้ามเนื้อส่วนกลาง ที่เป็นผลมาจากมดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้น เพื่อรองรับทารกน้อยที่กำลังเติบโตขึ้นภายในร่างกายของคุณแม่นั้นเอง
โดยอาการนี้นับว่าเป็นอาการปกติของคนท้อง ทั้งนี้อาการปวดหลังสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดการตั้งครรภ์ เนื่องจากน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ที่ทำให้ศูนย์กลางของการทรงตัวเปลี่ยนไป เป็นผลให้ท่าทางในการยืน นั่ง หรือเดิน ของคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์มีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย
อย่างไรก็ตามเมื่อคุณแม่ท้อง รู้สึกปวดหลังควรปรับท่านอนด้วยการนอนตะแคง ใช้หมอนข้างสำหรับวางขา เลือกที่นอนที่แข็งพอดี ไม่นุ่มจนเกินไป หากปวดหลังมากจนทนไม่ไหวควรปรึกษาแพทย์ ไม่ควรซื้อยาแก้ปวดมารับประทานเองนะคะ
อาการปัสสาวะบ่อย เป็นสัญญาณที่แสดงว่าร่างกายกำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่โหมดตั้งครรภ์แล้ว ในช่วงนี้แม่ท้องอาจต้องลุกตื่นไปเข้าห้องน้ำบ่อย ๆ เนื่องจากในระหว่างตั้งครรภ์ใหม่ ๆ หรือในช่วง 3 เดือนแรก ร่างกายจะสร้างของเหลวในร่างกายมากขึ้น มดลูกที่ขยายขนาดจากการตั้งครรภ์ ต้องการเลือดไปเลี้ยงมดลูกมากกว่าปกติ จึงทำให้ไตจะทำงานหนักมากกว่าปกติ เพราะปริมาณของเลือดในร่างกายมีเพิ่มขึ้น ชีพจรเต้นเร็วขึ้น มีเลือดผ่านไตมากขึ้นกว่าเดิม จึงทำให้ไตกลั่นกรองเอาปัสสาวะมามากขึ้น
ในขณะเดียวกันมดลูกที่อยู่ติดกับด้านหลังของกระเพาะปัสสาวะที่มีขนาดใหญ่ขึ้น จึงไปเบียด และกดทับกระเพาะปัสสาวะ ส่งผลให้แม่ท้องปัสสาวะบ่อยมากขึ้นนั่นเอง แต่เมื่อถึงช่วงกลางของการตั้งครรภ์ มดลูกจะอยู่สูงขึ้น การกดทับกระเพาะปัสสาวะจะลดลง ทำให้การถ่ายปัสสาวะก็จะกลับเข้าสู่โหมดปกติอีกครั้ง จนถึงช่วงใกล้คลอด ที่หัวทารกจะลดต่ำลงอีกครั้ง และทำให้แม่ท้องมีอาการปวดปัสสาวะบ่อยขึ้นอีกครั้ง
- ท้องผูก/ ท้องอืดมากกว่าปกติ
อาการท้องผูก ท้องอืด รู้สึกไม่สบายท้อง เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกายเพื่อเข้าสู่สภาวะการตั้งครรภ์เนื่องจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อระบบย่อยอาหาร รวมทั้งเกิดจากการขยายตัวของมดลูกที่ไปเบียดเข้ากับลำไส้ใหญ่ ส่งผลให้การบีบตัวของลำไส้ลดลง ทำให้อาหารย่อยยาก ย่อยได้ช้าลง มีลมในกระเพาะมาก ซึ่งอาการนี้นับว่าเป็นสภาวะปกติของคนท้อง
ซึ่งคุณแม่ท้องสามารถบรรเทาอาการท้องอืด ท้องผูกลงได้ด้วยการรับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูง เช่น ผักใบเขียว ผลไม้ที่อุดมด้วยวิตามินซี ดื่มน้ำให้เพียงพอ ลดเครื่องดื่มอัดลม หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของนม และออกกำลังกายเบา ๆ อย่างพอเหมาะ ก็จะช่วยแก้ไขอาการนี้ได้ค่ะ
อาการเมื่อยล้ารู้สึกร่างกายเพลียง่ายกว่าปกติ เป็นส่วนหนึ่งของอาการคนท้อง ที่เกิดขึ้นในระยะแรกหรือเดือนต้น ๆ เป็นเพราะว่าร่างกายที่กำลังตั้งครรภ์นั้น มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่สูงขึ้น ส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด ความดันเลือด และระบบไหลเวียนโลหิต มีผลทำให้กล้ามเนื้อในร่างกายคลายตัว
ภายในร่างกายมีการเผาไหม้อาหาร หรือใช้พลังงานอย่างมากในการพัฒนาทารกในครรภ์ ทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูง และสูญเสียพลังงานมากขึ้น จึงทำให้ผู้หญิงที่เริ่มตั้งครรภ์บางคนรู้สึกอ่อนเพลีย และเหนื่อยง่ายกว่าปกติ ซึ่งอาการนี้จะค่อย ๆ หาย และรู้สึกดีขึ้นเป็นปกติเมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่สอง
ดังนั้นในระยะนี้แม่ท้องควรดูแลตัวเองด้วยการรับประทานอาหารจำพวกโปรตีน และอาหารที่มีธาตุเหล็กเพิ่มเติม ลดกิจกรรมต่าง ๆ ประจำวันลงบ้าง เพื่อให้ได้นอนหลับพักผ่อนเพียงพอ ทำอารมณ์ให้ผ่อนคลาย อาการอ่อนเพลียจากการตั้งครรภ์ก็จะค่อย ๆ ดีขึ้นได้ค่ะ
เมื่อรู้สึกมีอาการหายใจถี่ เหนื่อยง่ายในขณะทำงานที่ต้องใช้แรงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่บอกได้ว่ากำลังตั้งครรภ์ เนื่องจากตัวอ่อนที่กำลังเจริญเติบโตในครรภ์มีความต้องการออกซิเจนจากคุณแม่ และเมื่อทารกในครรภ์มีการเจริญเติบโตมากขึ้นก็จะมีแรงกดดันต่อปอด และกระบังลม ส่งผลให้แม่ท้องมีอาการหายใจถี่แบบนี้ ต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ตลอดการตั้งครรภ์
- อยากกินของเปรี้ยว/ อยากกินของแปลก ๆ
อีกหนึ่งอาการที่บอกได้ว่าตั้งท้อง คือเริ่มรู้สึกมีการเปลี่ยนแปลง ของความอยากอาหารแตกต่างไปจากเดิมทันทีทันใด บางคนอยากอาหารที่มีรสเปรี้ยวมากขึ้น อยากทานอาหารแปลก ๆ โดยไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมถึงอยากกิน หรือในบางคนกลับมีอาการเบื่ออาหาร ไม่อยากกินอะไรเลยก็มี ซึ่งเป็นเพราะระดับฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้การรับรู้รสชาติของแม่ที่กำลังตั้งครรภ์เปลี่ยนแปลงไปนั่นเอง
- อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย
ถ้ากำลังรู้สึกว่าอารมณ์ตัวเอง กำลังแกว่ง ๆ ขึ้น ๆ ลง ๆ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย หงุดหงิดง่าย อารมณ์อ่อนไหว ขี้น้อยใจ หรือร้องไห้เก่ง ฯลฯ ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยเป็นแบบนี้มาก่อน อาการแบบนี้บอกได้ว่า เป็นอาการที่กำลังเข้าสู่สภาวะตั้งครรภ์ในระยะแรกของคุณแม่มือใหม่ ที่คุณพ่อมือใหม่ต้องเตรียมรับมือ
ภาวะอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงในช่วงตั้งครรภ์นี้ เกิดจากระดับฮอร์โมนที่มีการเปลี่ยนแปลง และร่างกายของคุณแม่กำลังพยายามปรับตัว เพื่อสร้างสมดุลในการทำงานต่าง ๆ ของร่างกายในช่วงตั้งครรภ์ เมื่อผ่านพ้นช่วงนี้ไปอารมณ์ของคุณแม่ก็จะเข้าสู่ภาวะปกติเองค่ะ ดังนั้นในช่วงนี้คุณแม่ตั้งครรภ์ควรหาอะไรทำเพื่อให้เกิดความผ่อนคลาย เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง นั่งสมาธิ ฯลฯ
สำหรับคนที่กำลังตั้งครรภ์ จะมีอาการที่จมูกจะไวต่อกลิ่นทุกชนิดมากเป็นพิเศษ ที่เรียกว่า Super Smell เช่น กลิ่นน้ำหอมที่ใช้เป็นประจำ ก็จะหอมรุนแรงจนกลายเป็นกลิ่นเหม็น และอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ หรือบางรายมีอาการเหม็นกลิ่นอาหาร กลิ่นตัวสามี เป็นต้น
- ความต้องการทางเพศเปลี่ยนแปลง
อาการคนท้องในระยะแรก ที่ทำให้ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงยังส่งผลกระทบไปยังภาวะทางอารมณ์ ทำให้แม่ท้องบางราย อาจมีความต้องการทางเพศลดลง หรือบางรายอาจเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งอาการนี้จะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เมื่อเข้าสู่การตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่สองค่ะ
อย่างไรก็ตาม หากสังเกตว่ามีอาการเหล่านี้ คุณแม่อาจจะเช็กเพื่อความชัวร์ด้วยการตรวจสอบการตั้งครรภ์ได้ด้วยตนเองจาก ชุดตรวจการตั้งครรภ์เพื่อตรวจหาฮอร์โมน Human chorionic gonadotropin: HCG ในปัสสาวะ ซึ่งมีความแม่นยำมากกว่า 90%
เมื่อผลจากที่ตรวจครรภ์ออกมาว่าตั้งท้อง คุณแม่ควรไปฝากครรภ์ภายใน 12 สัปดาห์ เพื่อให้คุณหมอเช็กอายุครรภ์ที่แน่นอน และติดตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ได้อย่างถูกต้อง เพื่อคำนวณกำหนดการคลอด นอกจากนี้คุณหมอจะตรวจหาความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ ซึ่งสามารถรักษาได้เร็วหากพบความผิดปกติ รวมทั้งได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลตนเองในช่วงตั้งครรภ์ได้อย่างถูกต้อง เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่ และชีวิตน้อย ๆ ในท้องค่ะ
ที่มา : BCC Group
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
อาการตั้งครรภ์แปลก ๆ ที่คุณไม่คาดคิด และวิธีการบรรเทาอาการที่เกิดขึ้น
ความสำคัญของ น้ำหนักก่อนตั้งครรภ์ น้ำหนักก่อนท้อง สำคัญยังไง?
อายุเท่าไหร่ควรมีลูก อายุเป็นปัจจัยสำคัญ สิ่งที่หลายคนควรรู้ก่อนตั้งครรภ์!
15 อาการคนท้อง ที่บอกได้เลยว่าคุณกำลังตั้งครรภ์อ่อนๆ
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!