เมื่อช่วงปลายปี 2558 ที่ผ่านมา มีการเปิดเผยข้อมูลเฝ้าระวังโรคจาก สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เรื่องจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออก โดยพบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 2 พฤศจิกายน 2558 มีผู้ป่วยไข้เลือดออกทั่วประเทศ จำนวน 102,762 ราย และมีผู้เสียชีวิตทั่วประเทศ จำนวน 102 ราย ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้น ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก สิ่งที่ทุกคนทำได้ คือ ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ปิดฝาภาชนะ เปลี่ยนน้ำในภาชนะขัง นอนในมุ้งหรือพ่นสารเคมีรอบบ้านเพื่อไม่ให้โรคแพร่ระบาด แต่ล่าสุดมีรายงานมาแล้ว วัคซีนไข้เลือดออก ได้ถูกวิจัยและพัฒนาจนสำเร็จ ขณะนี้กำลังจ่อขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในหลาย ๆ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย
นพ.จรุง เมืองชนะ ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวว่าประเทศฟิลิปปินส์ได้ขึ้นทะเบียนวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกสำเร็จเป็นครั้งแรกแล้วว่า “เรื่องนี้อาจต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ปัจจุบันมีประเทศที่ขึ้นทะเบียนวัคซีนไข้เลือดออก คือ ฟิลิปปินส์ บราซิล เม็กซิโก โดยวัคซีนดังกล่าวเป็นของบริษัท ซาโนฟี่ ปาสเตอร์ ซึ่งมีการวิจัยพัฒนามานานและประเทศไทยก็ได้เข้าร่วมศึกษาด้วย โดยที่ผ่านมาทางบริษัทได้นำเอกสารของวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ที่เป็นวัคซีนป้องกันไวรัสเด็งกี่ 4 สายพันธุ์ ทั้งเด็งกี่ 1 – 4 ไปขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของแต่ละประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย ซึ่งระยะเวลาอาจช้าเร็วไม่เหมือนกัน”
นพ.จรุง กล่าวว่า “หากขึ้นทะเบียนแล้วก็จะสามารถประกาศใช้วงกว้างได้ สำหรับประเทศไทย วัคซีนไข้เลือดออก เป็นวัคซีนที่อยู่ในแผนวาระแห่งชาติด้านวัคซีน เป็นวัคซีนที่ได้รับการสนับสนุนการวิจัยตั้งแต่ต้นน้ำเพื่อให้สามารถนำไปผลิตในเชิงอุตสาหกรรม ประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันได้ประมาณร้อยละ 60 คือ หากมี 100 คน ก็จะมี 60 คนที่ป้องกันได้ ส่วนที่เหลืออีก 40 คนก็ไม่ต้องกังวล เนื่องจากยังมีประสิทธิภาพลดความรุนแรงของโรคได้อีกร้อยละ 80 ซึ่งการฉีดวัคซีนจะใช้ 3 เข็ม ในกลุ่มอายุ 9 – 45 ปี เพราะช่วงอายุต่ำกว่า 9 ปี ประสิทธิภาพยังไม่ชัดมาก ขณะที่อายุมากกว่า 45 ปี ไม่มีข้อมูลวิจัย อย่างไรก็ตาม ตนมองว่า เป็นทางเลือกที่ดี เพราะการป้องกันไข้เลือดออกจากยุงลายนั้น ต้องมีมาตรการหลายอย่างควบคู่กันไป ทั้งแนวทางการป้องกันยุง กำจัดลูกน้ำยุงลาย แนวทางการป้องกันด้วยวัคซีนก็เป็นอีกทางที่ต้องควบคู่กันด้วย”
อ่านข้อมูลวัคซีนและแนวทางป้องกันโรคไข้เลือดออกหน้าถัดไปค่ะ
นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวว่า “วัคซีนนี้มีการขึ้นทะเบียนพร้อมกันไม่ต่ำกว่า 7 ประเทศ ซึ่งไทยก็มีการยื่นเรื่องเช่นกัน ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาของผู้เชี่ยวชาญ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านคุณภาพ ด้านความปลอดภัย และด้านการวิจัยทางคลินิก ขณะนี้ผู้เชี่ยวชาญจากทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ส่งความเห็นกลับมาให้แล้ว เหลือรอความคิดเห็นอื่นๆ หากครบก็จะมีการเสนอคณะอนุกรรมการด้านชีววัตถุพิจารณาต่อไป หากอนุมัติก็จะเสนอต่อคณะกรรมการ อย.ชุดใหญ่ เพื่ออนุมัติขึ้นทะเบียนได้ทันที โดยวัคซีนดังกล่าวน่าจะขึ้นทะเบียนได้ เพราะเป็นวัคซีนตัวแรก แม้ประสิทธิภาพอาจไม่ดีในบางสายพันธุ์ แต่ดีกว่าไม่มีเลย ส่วนจะพิจารณากระจายให้ประชาชนในวงกว้างหรือวงแคบ อยู่ที่กรมควบคุมโรค และสธ.พิจารณา”
ส่วนแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่มักรณรงค์ให้ประชาชนทราบอยู่ตลอด โดยเน้นไปที่การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เริ่มตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ไปจนถึง 13 เมษายนนี้ เพื่อลดปริมาณยุงลายก่อนช่วงแพร่พันธุ์ โดยให้เจ้าหน้าที่และบุคลากรในกระทรวงฯ ดำเนินการ 5 ส. 3. เก็บ
โดย “5 ส.” ได้แก่
1.สะสาง เก็บข้าวของให้ปลอดโปร่ง
2.สะดวก จัดวางหรือจัดเก็บสิ่งของให้เป็นระเบียบ
3.สะอาด การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในที่ทำงานให้เรียบร้อย
4.สร้างมาตรฐาน คือ รักษามาตรฐาน 3ส. แรกให้ดี
5.สร้างวินัย ปฏิบัติตามมาตรฐาน กฎระเบียบต่างๆ ที่ตั้งไว้อย่างสม่ำเสมอ
ส่วน“3 เก็บ” ได้แก่
1.เก็บบ้าน ให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก
2.เก็บขยะเศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย
3.เก็บน้ำ ปิดให้มิดชิดหรือเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกสัปดาห์ไม่ให้ยุงลายวางไข่
โดยมาตรการเหล่านี้ขอให้ทุกหน่วยงานในสังกัด สธ.ทำทุกวันศุกร์ โดย สธ. ต้องเป็นต้นแบบดำเนินการ และประชาชนอย่างเรา ๆ ก็ควรร่วมมือปฏิบัติตามเพื่อลดจำนวนยุงลายให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อลดอัตราเสี่ยงของการระบาดของโรคและลดจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกอีกด้วย
ที่มาจาก www.matichon.co.th
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ไข้เลือดออก: โรคร้ายที่ไม่ควรมองข้าม
ไวรัสซิกาเชื้อร้ายพันธุ์ใหม่อันตรายต่อแม่ตั้งครรภ์
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!