เด็กทารกแรกเกิดที่ง่วงนอนมากเกินไป จะไม่ตื่นเป็นช่วงเวลาปกติเพื่อให้คุณแม่ป้อนนม และจะไม่ร้องงอแงหิวนมด้วยเสียงรบกวน เสียงดังต่าง ๆ เช่น เสียงสุนัขเห่า เสียงฟ้าร้องฟ้าผ่าจะไม่ทำให้ลูกตื่น ลูกนอนเยอะเกินไป บางครั้งก็ไม่ใช่เรื่องที่ดี มันอาจจะมีเหตุผลบางอย่างซ่อนอยู่ วันนี้ theAsianparent จะพามาดูกันว่าลูกนอนเยอะเกินไปควรทำอย่างไร และมีวิธีไหนช่วยป้องกันลูกนอนเยอะบ้าง ไปติดตามกันค่ะ
5 สิ่งที่ไม่ควรทำเมื่อลูกนอนหลับ
ทารกนอน อย่าทำแบบนี้ 5 สิ่งที่ห้ามทำเกี่ยวกับการนอนของทารก เพราะการนอนสำคัญอย่างยิ่งต่อพัฒนาการของเด็ก มีอะไรบ้างที่ห้ามทำเกี่ยวกับการนอนของทารก คุณพ่อคุณแม่ต้องอ่าน
1. อย่านับการนอนหลับสั้น ๆ ว่าเป็นการนอน
สำหรับเด็กทารกนั้นการนอนหลับอย่างที่เต็มที่ คือ การนอนที่นานกว่า 45 นาที การนอนสั้น ๆ หรือ การนอนที่ไม่ถึง 45 นาทีนั้นไม่ใช่การนอนหลับอย่างเต็มที่ Elizabeth Pantley คุณแม่ลูกสี่ผู้เขียนหนังสือชื่อ The No-Cry Nap Solution ได้ให้คำแนะนำว่า “การนอนหลับสั้น ๆ ของทารกอาจทำให้คุณเข้าใจผิดได้ว่าลูกนอนหลับเพียงพอแล้วในแต่ละวัน แต่ความจริงแล้วการนอนแบบสั้น ๆ หรือการนอนในระยะเวลาไม่นาน เป็นสาเหตุทำให้ทารกหงุดหงิด และร้องไห้บ่อย ๆ ได้ เพราะทารกจะไม่ได้รับประโยชน์และไม่ได้รับพลังงานอย่างเต็มที่เท่ากับการนอนหลับนาน ๆ ”
แม้จะไม่มีตัวเลขตายตัวที่จะบอกว่าทารกควรนอนกี่ชั่วโมงในแต่ละคืน แต่เรามีตารางการนอนของทารกแต่ละวัยที่ให้ตัวเลขเฉลี่ยคร่าว ๆ ไว้ให้ผู้ปกครองดูเป็นไอเดีย จำไว้ว่านี่เป็นเพียงค่าเฉลี่ยเท่านั้น เด็กบางคนอาจจะนอนมากหรือน้อยกว่านี้ก็ถือเป็นเรื่องปกติ
ชั่วโมงการนอนของเด็กแต่ละวัย
- เด็กแรกเกิดจะนอนประมาณวันละ 15 ชั่วโมง ซึ่งรวมทั้งเวลานอนปกติตอนกลางคืนและเวลานอนระหว่างวัน
- เด็กอายุสามเดือนจะเริ่มนอนมากขึ้นในช่วงกลางคืนและนอนน้อยลงในช่วงกลางวัน แต่รวม ๆ กันก็ประมาณ 15 ชั่วโมงเหมือนกัน
- เมื่ออายุถึง 6 เดือน เด็กจะนอนประมาณคืนละ 11 ชั่วโมง และจะนอนกลางวันวันละ 2 รอบเท่านั้น
- เมื่ออายุ 9 เดือน เด็กจะนอนประมาณ 11-12 ชั่วโมงในแต่ละคืน และจะนอนกลางวัน 2 รอบ รอบละประมาณ 2-3 ชั่วโมง
2. อย่าเพิ่งรีบไปหาทันทีเมื่อลูกตื่น
เป็นเรื่องปกติ ที่ระหว่างนอนทารกอาจหลับ ๆ ตื่น ๆ บ้าง การที่พ่อแม่รีบวิ่งไปหาลูกเมื่อลูกตื่นแล้วร้อง อาจเป็นการกวนลูกหรือทำให้ลูกตื่นขึ้นมาทันทีแทนที่จะได้นอนต่อนาน ๆ ทารกต้องการความเงียบและความสงบในการนอน ตอนลูกเริ่มนอนก็เช่นกัน หากลูกไม่ยอมนอนเสียที พ่อแม่อาจปล่อยลูกไว้ในเปลคนเดียวนานประมาณ 30 นาที เพื่อให้บรรยากาศสงบ แล้วลูกจะนอนหลับง่ายขึ้น
3. อย่าปลุกลูก
สำหรับเด็กวัย 4 เดือนขึ้นไป อย่าปลุกลูก เว้นแต่จำเป็นจริง ๆ พ่อแม่หลายคนมักกังวลว่าถ้าลูกนอนตอนกลางวันนาน ๆ พอตกกลางคืนลูกจะหลับยาก Dr. Jennifer Shu กุมารแพทย์และผู้ร่วมเขียนหนังสือ Heading Home with Your Newborn ได้แนะนำว่า พยายามอย่าปลุกทารกที่กำลังหลับอยู่ เพราะเด็กหลายคนที่หลับนานช่วงกลางวัน ก็หลับนานในช่วงกลางคืนได้ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้การปลุกลูกจากการนอนนาน ๆ ยังทำให้ลูกไม่ได้รับประโยชน์และไม่ได้รับพลังงานจากการนอนอย่างเต็มที่ด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง : 10 วิธี ฝึกลูกนอนเร็ว เทคนิคที่ทำให้ลูกนอนหลับง่ายขึ้น วิธีให้ลูกนอนง่าย ๆ
4. อย่าเมินเฉยต่ออาการง่วง
Dr. Marc Weissbluth ผู้เขียนหนังสือ Healthy Sleep Habits, Happy Child ได้ให้คำแนะนำว่า พ่อแม่ไม่ควรเมินเฉย ๆ ต่ออาการแปลกของลูกเพราะนั่นอาจหมายถึงอาการง่วงได้ เด็กบางคนอาจไม่ได้แค่หาวเวลาง่วง แต่มีอาการอื่น ๆ มากมายที่บ่งบอกว่าลูกง่วง เช่น เปลือกตาตก ตาลอย หงุดหงิด ร้องไห้ หากคุณพบอาการดังกล่าวควรกล่อมลูกนอนทันที เพราะหากยังไม่ได้นอนเสียที อาจทำให้เด็กหรือทารกเข้าสู่ภาวะเหนื่อยมากเกินไป (overtired zone) และจะยิ่งงอแงเข้าไปอีก
5. อย่าใช้ผ้าห่มบ่อย
สมาคมกุมารเวชศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ได้ให้คำแนะนำว่าพ่อแม่ไม่ควรซื้อ ทั้งหมอน ผ้าห่ม ผ้านวมคลุมเตียง ผ้ารองผ้าห่ม ผ้านวมรอบเตียงมาวางไว้ใกล้บริเวณที่ทารกนอนหลับ เพราะเครื่องนอนที่วางไว้เยอะมากเกินไปอาจเป็นอันตรายต่อทารกได้ เครื่องนอนเหล่านี้อาจทำให้เกิดการตายแบบกะทันหันหรืออาการหลับไม่ตื่นในเด็กทารก (Sudden Infant Death Syndrome) เช่น หากมีผ้านวมรอบเตียงอาจทำให้หน้าของเด็กไปซุกอยู่บริเวณผ้านวมขณะนอนหลับ และทำให้เด็กหายใจไม่ออกได้
SIDS (Sudden Infant Death Syndrome) หรืออาการหลับไม่ตื่นในเด็กทารก เมืองไทยเรียกว่าโรคใหลตายในทารก มักเกิดขึ้นในเด็กอายุระหว่าง 2-4 เดือน สิ่งเหล่านี้คือ 5 สิ่งที่พ่อแม่ควรระลึกไว้เพื่อป้องกันลูกน้อยจาก SIDS
- ควรให้เด็กนอนหงาย เพราะเด็กจะสามารถหายใจเอาอากาศที่มีปริมาณออกซิเจนได้มากกว่าเด็กที่นอนคว่ำ อยู่ให้ห่างจากควันและกลิ่นบุหรี่
- ต้องแน่ใจว่าเด็กได้นอนบนที่นอนที่แข็งพอ อย่าให้ลูกมานอนเตียงเดียวกันคุณ มันจะเพิ่มความเสี่ยงที่เครื่องนอนจะมาทับหรือคลุมลูกได้
- อย่าให้ลูกนอนบนที่นอนที่อ่อนยวบ ย้ายตุ๊กตาและผ้าห่มที่หลวมจนเกินไปออกจากเตียงเวลาที่ลูกหลับ ให้ใช้ผ้าห่มที่สามารถหายใจผ่านได้เพื่อป้องกันเวลาที่ลูกนอนแล้วผ้าห่มมาคลุมหน้า หากคุณต้องการใช้แผ่นกันชนรอบเตียงลูก ควรใช้ผ้าที่ทอเหมือนผ้าตาข่ายที่สามารถหายใจผ่านได้ ต้องแน่ใจว่าแผ่นกันชนเตียงติดตั้งแบบสอดเข้าและออกสลับกันรอบลูกกรงเตียงเพื่อทำให้มันแน่นและมั่นคงไม่หลุดลงมาคลุมหน้าลูกน้อย
- ห้องนอนลูกควรมีอุณหภูมิที่เย็นพอ ไม่อุ่นหรืออบอ้าวจนเกินไป อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับทารกคือ 25 – 26 องศาเซลเซียส อาจใช้จุกนมปลอมให้ทารกดูดเพื่อให้เด็กหลับสบายขึ้น
นมแม่สามารถลดความเสี่ยงของ SIDS ได้ นมแม่เป็นจุดเริ่มต้นของการมีสุขภาพดีของลูกน้อยในหลาย ๆ ด้าน เพราะฉะนั้นแม้ไม่ได้รับการพิสูจน์ ก็ไม่มีอะไรเสียหายที่จะให้ลูกกินนมจากเต้า
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกนอนหนุนหมอน และผ้าห่มได้เมื่อไหร่ ทารกคออ่อนนอนหมอนได้ไหม?
8 เทคนิคฝึกลูกให้นอนตรงเวลา ป้องกัน ลูกนอนเยอะเกินไป
1. สังเกตพฤติกรรมการนอนของลูก
แม้จะอ่านตำรามามากมาย อย่างไรก็แล้วแต่ เด็กแต่ละคนจะมีช่วงเวลาและนิสัยในการนอนไม่เหมือนกัน ดังนั้นสิ่งแรกเลยก็คือให้คุณแม่สังเกตว่าเจ้าตัวน้อยของเรานอนนานช่วงไหน และใช้ช่วงนั้นฝึกให้เขานอนยาวขึ้น
2. สอนให้ลูกรู้จักกลางวัน-กลางคืน
ตลอดเวลาที่เด็กอยู่ในท้องแม่ เมื่อคลอดออกมาแล้ว เป็นธรรมดาที่เขาจะยังไม่สามารถแยกระหว่างกลางวันและกลางคืนเองได้ นี่จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ลูกตื่นบ่อย ๆ คุณพ่อคุณแม่จึงต้องสอนให้ลูกรู้ว่าช่วงไหนคือตอนกลางวัน และตอนกลางคืน เพื่อฝึกให้ลูกเข้านอนตั้งแต่หัวค่ำและตื่นตั้งแต่เช้า
3. สร้างบรรยากาศให้เหมาะกับการนอน
ห้องนอนน่าอยู่ ชวนให้หลับ ก็จะช่วยให้หนูน้อยนอนยาวขึ้นได้เหมือนกันนะ ไม่ว่าจะเป็นการปรับอุณหภูมิห้องไม่ให้ร้อนหรือหนาวเกินไป จัดที่นอนที่อบอุ่นให้ลูก ใส่เสื้อผ้าที่สบายตัว ปรับแสงไฟให้มืดหรือสลัว ๆ เสียงไม่ดังหนวกหู อาจมีเสียงพัดลมเบา ๆ เสียงนาฬิกาเดิน จะทำให้ลูกนอนหลับง่ายขึ้น และทำให้ห้องดูไม่วังเวงเกินไป
บทความที่เกี่ยวข้อง : การจัดห้องนอนให้ลูกน้อย หลับสนิท หลับสบาย และเสริมสร้างพัฒนาการ
4. ทำช่วงเวลาก่อนนอนให้เป็นกิจวัตร
ฝึกลูกให้นอนตรงเวลา โดยทำกิจวัตรประจำวันก่อนนอนแบบเดิม เช่น อาบน้ำอุ่น ใส่ชุดนอน กินนม แปรงฟัน กล่อมนอนโดยร้องเพลงหรือเล่านิทาน เข้านอนให้ตรงเวลาทุกวัน พร้อมกล่าวราตรีสวัสดิ์กับลูกน้อย ซึ่งควรใช้คำพูดเดิมซ้ำ ๆ ทุกครั้ง น้ำเสียงโทนต่ำ ราบเรียบ แม้ลูกจะยังฟังไม่รู้เรื่องก็ไม่เป็นไร เพราะเด็กจะเรียนรู้ได้ว่า เมื่อพ่อแม่พูดคำนี้ น้ำเสียงแบบนี้บนที่นอน คือสัญญาณว่าได้เวลานอนแล้ว โดยทั่วไปลูกอาจร้องอยู่นาน 1-2 ชม. ในวันแรก ๆ แต่จะร้องน้อยลง และหยุดร้องภายใน 1-2 สัปดาห์
5. เพิ่มนมตอนกลางวัน งดมื้อดึกตอนกลางคืน
ลองเพิ่มนมหรืออาหารในช่วงกลางวันให้มากขึ้น โดยมื้อกลางวันอาจเพิ่มอาหารเสริมที่ให้พลังงานกับลูก ลูกจะได้อิ่มนานและอยู่ท้องไปจนถึงกลางคืน พอลูกอิ่มมาก ๆ หนังท้องตึง หนังตาก็หย่อนนั่นเอง แต่ควรงดมื้อดึกให้ไว หลังลูกอายุ 6 เดือน เพื่อช่วยให้ลูกนอนยาวขึ้น และดีต่อสุขภาพฟันด้วย
6. ปล่อยให้ลูกเล่นเต็มที่ในช่วงกลางวัน
การที่ลูกเล่นตอนกลางวัน ใช้พลังงานเต็มที่ เมื่อถึงเวลากลางคืน ลูก ๆ จะหมดแรงและทำให้หลับได้เร็วและยาวนานขึ้น เพราะฉะนั้น ในช่วงกลางวัน คุณแม่อาจเตรียมของเล่นหรือพื้นที่ให้ลูกอย่างเหมาะสม ปลอดภัย เช่น มีคอกกั้นบริเวณบ้าน เพื่อให้ลูกคลานเล่น แต่เตือนไว้นิดหนึ่งว่า เด็กบางคนอาจฝันร้ายได้จากการเล่นมากในช่วงเย็นหรือก่อนนอน ดังนั้นควรงดการเล่นอะไรที่ตื่นเต้นในช่วง 1 ชั่วโมงก่อนนอน
บทความที่เกี่ยวข้อง : ทารกนอนกี่ชั่วโมง เทคนิคจัดตาราง การนอนของทารก เพื่อให้ลูกมีพัฒนาการที่ดี
7. อย่าลุกหาลูกทันทีที่ลูกส่งเสียงร้อง
ข้อนี้ขึ้นอยู่กับความใจแข็งของคุณแม่ แต่ต้องลองทำดู โดยกรณีที่ลูกนอนคนละห้อง เมื่อลูกร้องเรียก ให้แอบดูก่อนว่ามีปัญหาอะไร สามารถช่วยเหลือได้โดยไม่เปิดไฟสว่างจ้า แล้วจัดให้ลูกนอนลง ตบก้นลูกเบา ๆ โดยไม่ต้องอุ้ม รอจนลูกสงบ หากลูกร้องอีกให้รอประมาณ 5 นาทีแล้วค่อยเดินกลับไปหาลูก เมื่อลูกเริ่มสงบให้เดินออก ถ้าลูกร้องอีกก็ให้รอนานขึ้นครั้งละ 5 นาที เชื่อเถอะว่าลูกจะร้องไห้จนหลับไปเองในที่สุด ซึ่งหากทำเหมือนเดิมในคืนต่อไป ช่วงเวลาการร้องไห้ของลูกจะสั้นลงเรื่อย ๆ ส่วนใหญ่จะหยุดร้องใน 1 สัปดาห์
8. หาสาเหตุที่ลูกตื่นกลางดึก
บางครั้งที่ลูกมีปัญหาตื่นกลางดึก อาจเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้ ได้แก่ ปวดฟัน เวลาฟันขึ้น ให้แก้ไขโดยใช้นิ้วมือสะอาดนวดเหงือกบ่อย ๆ ปัญหาเจ็บป่วยอย่างผิวหนังแพ้ทำให้เกิดอาการคันมาก ปวดหูจากการอักเสบ คัดจมูกมากจากการเป็นหวัดหรือภูมิแพ้ ซึ่งการแก้ไขที่ต้นเหตุจะช่วยให้ลูกเป็นปกติได้ดังเดิม
อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า หากลูกมีสุขภาพแข็งแรงและมีน้ำหนักตามเกณฑ์ คุณแม่สามารถปล่อยให้เขานอนหลับตามปกติได้นานถึง 4-5 ชั่วโมงโดยไม่ต้องปลุกขึ้นมาดื่มนม แต่กรณีที่หลับนานเกินไปหรือลูกมีภาวะสุขภาพไม่แข็งแรงที่คุณแม่จำเป็นต้องให้นมลูกอย่างเคร่งครัดทุก 2 ชั่วโมง ก็จำเป็นที่จะต้องปลุกเจ้าตัวน้อยให้ตื่นขึ้นมากินนมตามเวลาที่กำหนด วิธีปลุกทารกแรกเกิด สามารถทำได้ดังนี้
ขั้นตอนแรก : จับให้ลูกนอนหงายตามปกติ หากลูกกำลังนอนอยู่ในท่าตะแคงข้างหรือนอนคว่ำ
ขั้นตอนที่ 2 : ใช้มือทั้งสองข้างจับที่สะโพกของลูก แล้วดันไปมาซ้ายขวาสลับกัน คล้ายกับจะพลิกตัวลูกแต่ไม่ต้องพลิกจริง ๆ
ขั้นตอนที่ 3 : โยกตัวลูกเบา ๆ ไปสักพัก เจ้าตัวน้อยก็จะตื่นขึ้นมา
นอกจากนี้ก็อาจจะปลุกลูกด้วยการเกาท้องของเจ้าตัวน้อยเบา ๆ หรืออุ้มขึ้นจากที่นอนก็ได้เหมือนกัน แต่ต้องพยายามปลุกอย่างนุ่มนวลเพื่อไม่ให้ลูกตกใจสะดุ้งตื่นขึ้นมานั่นเอง
บทความที่เกี่ยวข้อง : ทำอย่างไรหากลูกไม่ยอมนอน เคล็ดลับทำให้ลูกนอนง่าย และไม่ตื่นช่วงกลางคืน
พัฒนาการทางด้านอารมณ์มีผลกระทบต่อการนอนหรือไม่
โลกของลูก ๆ ของคุณจะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงเมื่อเขาได้ก้าวผ่านช่วงเวลาแห่งการนอนนี้ (Leap) เด็ก ๆ ทุกคนจะมีพฤติกรรมที่แตกต่างกันไป บางคนเริ่มจะหงุดหงิดเกี่ยวกับพฤติกรรมการนอนของพวกเขา พ่อแม่บางคนถึงกับตกใจที่ลูกแทบจะไม่นอนเลยก็มี ขณะที่บางคนก็นอนหลับเยอะกว่าปกติ บางคนก็เริ่มจะหลับตอนกลางวันเยอะกว่าและนอนน้อยในช่วงกลางคืน พ่อแม่ไม่ต้องเป็นกังวลไป เพราะการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้คือพัฒนาการหนึ่งที่จะเกิดขึ้นกับเด็กทุกคน เมื่อเด็ก ๆ ผ่านช่วงนี้ไปแล้ว เขาก็สามารถนอนหลับได้ดีขึ้นแล้ว เด็ก ๆ บางคนจะมีวิธีการเรียนรู้ของเขาเอง บางครั้งพวกเขาจะไม่นอนจนกระทั่ง พวกเขาได้ทำในสิ่งที่พวกเขากำลังอยู่ให้เสร็จเสียก่อน พ่อแม่อาจจะชักจูงเขาให้ทำอย่างอื่น เช่น อ่านหนังสือเพื่อกล่อมให้เขาได้พักผ่อน
โดยทั่วไปแล้ว หากลูกนอนหลับทั้งวัน ลูกนอนเยอะเกินไป คุณพ่อคุณแม่ควรจะกังวลแล้วค่ะ เพราะการที่ลูกไม่ได้รับอาหารเข้าร่างกายเลยนั้น ก็อาจส่งผลต่อพัฒนาการเด็กได้ ทางที่ดีคุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ควรให้นอนมากเกินไป เพราะลูกจำเป็นต้องกินอาหาร และเล่นของเล่น เพื่อพัฒนาการที่ดี
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
6 เคล็ดลับพา ลูกเข้านอน ลูกนอนหลับยาก แก้ปัญหายังไง?
ทารกหลับไม่สนิท ดิ้นไปมา ทำอย่างไร มีวิธีช่วยลูกนอนหลับสนิทไหม?
ลูกนอนหลับยากทำยังไง? วิธีทําให้ลูกหลับง่ายตอนกลางคืน แม่จะได้นอนสักที!
ที่มา : babysleepsite