รับมือ!!!ปัญหาแม่ลูกอ่อนมือใหม่อย่างได้ผล
1. ตั้งรับกับการเป็นแม่ลูกอ่อน
ตลอดเวลาที่เจ้าตัวเล็กยังอยู่ในท้องคุณแม่ ได้เฝ้าประคบประหงมด้วยการดูแลตนเองรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ทำทุกอย่างที่ดีที่สุดที่แม่พึงจะทำให้ลูกน้อยในท้องได้ เพราะหวังว่าจะเจ้าหนูจะเกิดมาด้วยสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดี และเมื่อเจ้าตัวน้อยออกมาดูโลกแล้ว นี่แหละชีวิตจริงของคุณแม่ลูกอ่อนได้เริ่มต้นขึ้น!!!!
– การเตรียมความพร้อมในการเป็นคุณแม่ที่ดีที่สุด คือ ต้องเตรียมตัวตั้งแต่เจ้าหนูยังไม่ออกมาจะได้ไม่ฉุกละหุก เช่น เตรียมซื้อที่นอน เสื้อผ้า ผ้าอ้อม ผ้าเช็ดตัว ของใช้ส่วนตัวของเจ้าตัวเล็ก ได้แก่ แป้ง ยาสระผม ครีมอาบน้ำ ที่ตัดเล็บ หวี สำลี แพมเพิส เป็นต้น นี่เป็นเพียงส่วนสำคัญ ๆ นะคะ เพราะเมื่อถึงเวลาจริง ๆ เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกันอาจจะมีอย่างอื่นเพิ่มเติมขึ้นมาแล้วแต่บุคคลค่ะ
– สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ต้องเตรียมค่ะ คือ เตรียมใจให้มีความมั่นใจว่า ฉันต้องเลี้ยงลูกได้ ฉันต้องทำได้ เพราะบางคนไม่มีผู้ช่วยไม่ว่าจะเป็นญาติผู้ใหญ่หรือพี่เลี้ยงต้องลุยเอง แบบนี้ต้องสร้างกำลังใจให้ตนเองมาก ๆ นะคะ แต่คุณแม่ที่มีญาติผู้ใหญ่อย่างคุณย่า คุณยายมาช่วยเลี้ยงนี่ดีสุด ๆ เลยค่ะเพราะเป็นพี่เลี้ยงและที่ปรึกษาชั้นดีของคุณแม่มือใหม่ได้เลย แต่อย่างน้อยเมื่อเราตระเตรียมอะไร ๆ ให้พร้อมสรรพไว้ก่อนย่อมลดความฉุกละหุกหรือความกังวลใจลงได้ค่ะ
2. ใส่ผ้าอ้อมแบบไหนดี
ผ้าอ้อมแบบผ้า เช่น ผ้าอ้อมผ้าสาลู สามารถระบายอากาศได้ดีและไม่อับชื้น แต่ผ้าอ้อมแบบผ้าคุณแม่คงต้องขยันซักสักหน่อยนะคะแต่ประหยัดสตางค์ดีค่ะ
สำหรับผ้าอ้อมผ้าคุณแม่อาจให้ลูกน้อยใส่ในเวลากลางวันก็ได้ ส่วนเวลากลางคืนแนะนำให้ใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูป เพราะทารกน้อยจะได้นอนหลับยาวขึ้น แต่อาจจะมีคุณแม่บางคนกังวลว่าผ้าอ้อมสำเร็จรูปจะทำให้ลูกน้อยขาโก่ง อย่ากังวลไปค่ะเพราะไม่เป็นความจริง
บทความแนะนำ ทำไมลูกจึงต้องการผ้าอ้อมที่แตกต่างกันระหว่างกลางวันและกลางคืน
3. ดูแลสะดือลูกน้อย
การดูแลสะดือทารกแรกเกิด วิธีเช็ดสะดือที่ถูกต้อง
1. ล้างมือผู้เช็ดให้สะอาด
2. ใช้มืออีกข้างหนึ่งดึงสายสะดือขึ้น แล้วจึงใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์ 70% พอชุ่มเช็ด รอบสะดือจากด้านในออกด้านนอก
3. ใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์ 70% อีกก้อนหนึ่งเช็ดจากโคนสะดือไปยังปลายสะดือ
การเช็ดสะดือควรเช็ดสะดือทุกวันหลังอาบน้ำจนกว่าสะดือจะหลุด ถ้าสังเกตว่าผิวรอบ ๆ โคนสะดือ มีอาการเหล่านี้ควรที่จะพาเจ้าตัวน้อยไปพบคุณหมอโดยด่วน ได้แก่
1. สะดือแฉะ สะดือไม่แห้งหรือมีน้ำหยดจากสะดือ เวลาทารกร้องหรือเบ่งเป็นน้ำสีเหลืองหรือเขียวและอาจมีเลือดออกซิบ ๆ
2. สะดืออักเสบ บริเวณรอบๆ ขั้วสะดือบวมแดง ลูกร้องกวน เมื่อดมดูจะได้กลิ่นผิดปกติ
3. เลือดออกทางสะดือ เมื่อเอาสำลีซับจะมีเลือดติดออกมาอาจจะมีก้อนเนื้อแดงเรื่อ
4. ต้องอุ้มเรอทุกครั้งที่อิ่มนมหรือไม่
สำหรับเด็กเล็ก ๆ กระเพาะของเขาก็เล็กนิดเดียวตามไปด้วย จึงเป็นเรื่องปกติที่จะต้องตื่นมากินนมบ่อย คือทุก ๆ 1-2 ชั่วโมง และอาจจะมีลมเข้าท้องเวลาที่ดูดนม เมื่อลมเต็มท้องจะทำให้ท้องป่องและแข็ง ดังนั้น คุณแม่ควรอุ้มเจ้าตัวน้อยพาดบ่าทุกครั้ง เพื่อไล่ลมหลังจากที่อิ่มแล้ว เพราะถ้าได้เรอออกมาแล้วรับรองเจ้าหนูอารมณ์ดีอย่างแน่นอนค่ะ
บทความแนะนำ เทคนิคช่วยลูกเรอง่ายๆ สไตล์ซุปเปอร์มัม
5. ลูกชอบแหวะนม สะอึก หรืออาเจียนหลังจากกินนมเสร็จ
คุณแม่มักจะพบอาการนี้ได้ในช่วง 2-3 เดือนแรกค่ะ เพราะอวัยวะต่าง ๆ ยังพัฒนาได้ไม่ดีพอ ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อหูรูดบริเวณกระเพาะอาหารที่ยังไม่แข็งแรง จึงทำให้แหวะหรืออาเจียนได้ รวมถึงการทำงานของกะบังลมยังไม่ประสานกันดีเท่าที่ควร หากเกิดปัญหาเช่นนี้ขึ้นในระหว่างให้นม ก็อุ้มลูกขึ้นมาพาดบ่าเพื่อไล่ลมออกก่อนแล้วค่อยให้กินนมต่อ
ปัญหาเช่นนี้ก็เคยกับลูกสาวของผู้เขียนค่ะ ถึงขนาดอาเจียนพุ่งเลยทีเดียวเพราะตอนนั้นผู้เขียนยังมือใหม่ลูกคนแรกเหมือนกันค่ะ ให้กินนมซะเต็มที่เลยแล้วจับเรอยังไม่เป็น พอกลับไปโรงพยาบาลก็ให้คุณพยาบาลสอนให้อีกที คราวนี้สบายแล้วค่ะ พอให้นมเสร็จปุ๊บก็อุ้มพาดบ่าเรอเสียงดังเชียวค่ะ ยิ้มออกเลย (ทั้งแม่และลูก)
บทความแนะนำ พร้อมรับมืออาการลูกแหวะนม ให้คุณแม่คลายกังวล
6.อึเหลว ถ่ายบ่อย ท้องเสียหรือเปล่านะ
ทารกที่ทานแม่มักจะถ่ายอุจจาระบ่อยวันละหลาย ๆ ครั้ง เพราะเมื่อลูกดูดนมแม่ ลำไส้จะถูกกระตุ้นให้ขับของเสียออกมา มักจะเป็นสีเหลือง ๆ เหมือนสังขยา อย่างนี้เรียกว่าปกติค่ะ ไม่ได้เรียกว่าท้องเสีย ส่วนเด็กที่ทานนมผงจะถ่ายออกมาเป็นสีน้ำตาล ไม่เหลวเป็นน้ำ มีกลิ่นเหม็น แต่สิ่งสำคัญคุณแม่สังเกตดูว่าสีของอุจจาระที่ถ่ายออกมานั้นมีเลือดปนออกมาหรือไม่ หากมีต้องรีบปรึกษาคุณหมอนะคะ
เมื่อลูกถ่ายบ่อยการล้างก้นให้ลูกก็สำคัญ เราควรล้างด้วยความระมัดระวัง ควรเปลี่ยนผ้าอ้อมทันทีค่ะ เพราะอุจจาระของลูกเป็นกรดอ่อน ๆ จะกัดผิวหนังบริเวณก้นของลูกได้ เสร็จแล้วซับก้นด้วยสำลีแห้ง แล้วยังไม่ต้องรีบใส่ผ้าอ้อม ควรผึ่งลมให้แห้งก่อน เมื่อก้นแห้งสนิทแล้วจึงใส่ผ้าอ้อมได้ค่ะ
บทความแนะนำ อุจจาระของทารกนั้นสำคัญไฉน
ปัญหาของแม่ลูกอ่อนมีมากมาย แต่อย่าเพิ่งท้อใจค่อย ๆ เรียนรู้กันไปค่ะ อะไรก็ตามที่ยังไม่เคยทำหรือเพิ่งลองทำ ย่อมเป็นธรรมดาที่จะยาก แต่เมื่อได้ลงมือปฏิบัติได้ทำสิ่งนั้นบ่อย ๆ ก็จะเคยชินและเข้าใจไปเอง เหมือนกับการดูแลทารกแรกเกิด แรก ๆ ย่อมรับว่าเหนื่อยมาก เข้าใจเลยค่ะ เพราะผ่านมาแล้วเช่นกัน ค่อย ๆ เรียนรู้ไปนะคะ เครียด เหนื่อยก็พักผ่อนบ้าง ที่สำคัญต้องพูดคุยหรือระบายความรู้สึกให้สามีฟังด้วยนะคะ อย่าเก็บไว้ในใจคนเดียวจะยิ่งเครียด ทุกอย่างจะดีขึ้นนะคะ เป็นกำลังใจให้คุณแม่มือใหม่ทุกคนค่ะ
ร่วมบอกเล่าและแชร์ประสบการณ์ในช่วงตั้งครรภ์ คลอดบุตร รวมถึงการเลี้ยงดูทารกน้อย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวอื่น ๆ กันนะคะ หากมีคำถามหรือข้อสงสัย ทางทีมงานจะหาคำตอบมาให้คุณ
อ้างอิง
https://www.pigeonlittlemomentsclub.com
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
21 สัญญาณบ่งบอกว่าชีวิตแม่ลูกอ่อนของคุณ “ปั่นป่วน” มิใช่น้อย
มหาหิงค์คืออะไร ทำไมแม่ลูกอ่อนต้องมีติดบ้าน
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!