การดูแลใส่ใจตัวเองระหว่างตั้งครรภ์ เป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยสำหรับแม่ท้อง แต่สำหรับ ภาวะซีดในหญิงตั้งครรภ์ ภาวะโลหิตจางในหญิงตั้งครรภ์ อาจเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้แบบไม่คาดคิด โดยเฉพาะคุณแม่วัยรุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซีดนี้
ภาวะซีดในหญิงตั้งครรภ์ คืออะไร
อาการผิดปกติอย่าง “ภาวะซีด” นั้นสามารถเกิดได้กับแม่ท้องทุกคน แต่ก็เป็นเรื่องที่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นกับตนเองได้อย่างไร ถ้าแม่ท้องไม่ได้มีอาการป่วยเป็นโรคโลหิตจาง หรือมาจากพันธุกรรมที่ครอบครัวไม่มีประวัติแต่อย่างใด “รศ.นพ.สมชาย ธนวัฒนาเจริญ” หน่วยเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ว่า
“ปกติเมื่อมีการตั้งครรภ์ร่างกายจะมีการสร้างเม็ดเลือดและพลาสมาเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้การเพิ่มของเม็ดเลือดของแม่ท้องอาจจะมีน้อยกว่าคนปกติ อีกทั้งหญิงที่ตั้งครรภ์จะมีภาวะซีดลงเล็กน้อยอยู่แล้ว เนื่องจากร่างกายของแม่ตั้งครรภ์ จำเป็นต้องใช้เม็ดเลือดแดงในการส่งอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงลูกในท้อง ส่วนลูกก็ต้องสร้างเม็ดเลือดแดงของตัวเองขึ้นมา ทำให้ต้องการธาตุเหล็กเพิ่มมากขึ้น และได้จากการดึงมาจากร่างกายของแม่ จึงทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซีด โดยเฉพาะคุณแม่วัยรุ่น
วิดีโอจาก : โค้ชเลิศพร สอนแม่และเด็ก
เนื่องจากร่างกายของแม่ท้องในกลุ่มนี้ มีการเจริญเติบโตและพัฒนาการยังไม่เต็มที่ จึงต้องการธาตุเหล็กในปริมาณที่สูงมาก หากคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ตอนอายุยังน้อยรับประทานธาตุเหล็กไม่เพียงพอ ร่างกายก็จะดึงธาตุเหล็กที่สะสมไว้มาใช้ ซึ่งหากยังไม่เพียงพออีกก็จะส่งผลให้เกิดภาวะซีดได้ โดยภาวะซีดระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอดส่วนใหญ่เกิดจากเหตุนี้ แต่ภาวะซีดในหญิงตั้งครรภ์บางคนก็อาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้ เช่น โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ซีดจากการขาดแร่ธาตุและวิตามินชนิดอื่น ๆ หรือซีดจากโรคโลหิตจางทางพันธุกรรม ซึ่งต้องค้นหาสาเหตุโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเมื่อสงสัยว่าจะเกิดภาวะซีด”
บทความที่เกี่ยวข้อง : 5 โรคแทรกซ้อนอันตรายสำหรับคนท้อง
อาการของภาวะซีดที่รุนแรงในหญิงตั้งครรภ์
อาการภาวะซีดในหญิงตั้งครรภ์ที่รุนแรง สังเกตจากการรู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เวียนศีรษะ มีอาการหน้ามืดเวลาลุกนั่งหรือยืนบ่อย ๆ รู้สึกหายใจไม่ทั่วท้อง ในระยะเวลาที่ยาวนาน อาจมีอาการใจสั่นเพราะหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ และพบว่ามีความดันโลหิตค่อนข้างต่ำ หรืออาจจะตรวจพบได้จากการตรวจเลือดเมื่อไปฝากครรภ์
หากมีอาการดังกล่าวในระยะเริ่มต้นควรใส่ใจเกี่ยวกับอาหารการกิน เลือกรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงตั้งแต่ที่รู้ว่าตั้งครรภ์ เช่น ตับ เนื้อสัตว์ที่มีสีแดง กะปิ และอาหารจำพวกพืชผัก เช่น มะเขือพวง ผักโขม ผักคะน้า ใบชะพลู ดอกแค และธัญพืชต่าง ๆ เป็นต้น และเมื่อไปฝากครรภ์ แพทย์อาจให้ยาวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ โดยเฉพาะธาตุเหล็กมารับประทานเสริม และอาจตรวจเลือดติดตามผลการรักษาเป็นระยะ ดังนั้นสำหรับแม่ที่มีภาวะซีดควรทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ดี หากมีภาวะซีดที่ไม่รุนแรงก็อาจไม่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
คนท้องแต่ละไตรมาสต้องตรวจอะไรบ้าง ฝากครรภ์อย่างไร
อาการคนท้องเดือนที่ 1 – 9 เป็นอย่างไร อาการท้องแต่ละเดือนต้องเจออะไรบ้าง
หลังคลอดห้ามกินอะไร อาหารที่แม่ลูกอ่อนอย่าเพิ่งกินช่วงให้นม
ที่มาข้อมูล : ผู้จัดการออนไลน์
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!