19ขณะตั้งครรภ์มีการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของร่างกายเกิดขึ้นพร้อม ๆ กันหลายระบบ ที่เปลี่ยนแปลงมากที่สุด คือ ระดับฮอร์โมนในร่างกาย และฮอร์โมนจะมีการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิ จึงทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์อ่อน ๆ มีอารมณ์เปลี่ยนแปลง วิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย เป็นฝ้า หน้าคล้ำ และมีอาการแปลก ๆ ตลอดการตั้งครรภ์ อาการน้ำนมหลั่งก่อนคลอด หรือ น้ำนมซึม เป็นอีกหนึ่งในอาการเเปลกที่เกิดขึ้น ระหว่างตั้งครรภ์ น้ำนมไหลก่อนคลอด หรือ น้ำนมซึม อันตรายหรือไม่อย่างไร รายละเอียดดังนี้
ทำไมน้ำนมถึงซึมออกมาขณะตั้งครรภ์ เกิดขึ้นได้อย่างไร
ช่วงแรก
เริ่มตั้งแต่ตั้งครรภ์ประมาณ 16 – 22 สัปดาห์จนถึงวันแรกหลังคลอด ร่างกายจะเริ่มผลิต Colostrum หรือหัวน้ำนม หรือน้ำนมสีเหลืองข้น ในปริมาณน้อย
ช่วงที่สอง
หลังคลอดลูกประมาณ 30 – 40 ชม. ฮอร์โมนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจะกระตุ้นให้มีการสร้างน้ำนมเพิ่มขึ้น
น้ำนมจะมีมากขึ้นใน 2 – 3 วันหลังคลอด แต่สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์บางคน มีปริมาณฮอร์โมนที่กระตุ้นการหลังน้ำนม (โปแลคติน) ที่สูงมาก จึงทำให้มีน้ำนมไหลซึมออกมาก่อนคลอดได้ ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ
การดูแลตนเองเมื่อมีอาการ น้ำนมไหลขณะตั้งครรภ์
- หลีกเลี่ยงการบีบ จับ หรือเค้นที่หัวนมบ่อย ๆ เพื่อดูความผิดปกติของการไหลของน้ำนม เพราะอาจจะเป็นการกระตุ้นให้มีน้ำนมแม่ไหลออกมามากขึ้น
- การบีบจับที่หัวนมบ่อย ๆ ส่งผลให้มดลูกบีบรัดตัวได้ หากมดลูกหดรัดตัวถี่มาก ๆ ส่งผลต่อการคลอดก่อนกำหนดได้
- หากมีน้ำนมไหลซึม ร่วมกับมีอาการผิดปกติอย่างอื่น เช่น ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว มองเห็นภาพไม่ชัด หรือเห็นภาพซ้อน ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจจะมีความผิดปกติอื่น ที่พบร่วมกับการไหลของน้ำนมได้ด้วย เช่น มีความผิดปกติที่ต่อมใต้สมองได้
- ขณะตั้งครรภ์มีหลายสิ่งอย่างที่เปลี่ยนแปลง ส่งผลต่อการการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย สิ่งสำคัญที่สุด คุณแม่ตั้งครรภ์ควรไปฝากครรภ์ตามนัด และติดตามผลการตรวจเป็นพิเศษ ที่ทางโรงพยาบาลตรวจให้ หากยังไม่ทราบผล ให้ทวงถามจากสูติแพทย์เจ้าของไข้ ตามสิทธิ์ของผู้ป่วยไม่ต้องกลัวจะถูกดุด่า เพราะชีวิต และสุขภาพลูกน้อยนั้นสำคัญที่สุด
การเปลี่ยนแปลงของกระบวนการผลิตน้ำนมในแต่ละช่วงวัยของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
ในช่วง 2 – 3 วันแรกหลังคลอด ก่อนที่คุณแม่จะเริ่มรู้สึกว่า “นมมาแล้ว” นั้น กระบวนการผลิตน้ำนมเกิดจากการทำงานของฮอร์โมนร่างกายจะผลิตน้ำนมโดยอัตโนมัติ (แต่ผลิตได้ปริมาณน้อย) ไม่ว่าจะมีการนำน้ำนมออกจากร่างกายหรือไม่ก็ตาม แต่หลังจากที่น้ำนมมาแล้ว ร่างกายจะผลิตน้ำนมอย่างต่อเนื่องต่อไป ก็ต่อเมื่อมีการนำน้ำนมออกจากเต้าอย่างสม่ำเสมอ (โดยการดูด การบีบ หรือการปั๊ม) ถ้าไม่มีการนำน้ำนมออกจากเต้าอย่างสม่ำเสมอ เต้านมจะหยุดการผลิตน้ำนมภายในไม่กี่วัน (ภายในระยะเวลาพอ ๆ กับที่แม่ใช้นมผสมที่ได้รับแจกฟรีชงให้ลูกกินหมดกระป๋องแรก)
ในช่วง 2 – 3 สัปดาห์แรกถ้าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ดำเนินไปด้วยดี แม่ส่วนใหญ่จะมีน้ำนมมากเกินความต้องการของลูก สังเกตได้จากมีอาการคัดเต้านม น้ำนมไหลซึมเลอะเทอะ ให้ลูกดูดนมข้างหนึ่ง อีกข้างก็ไหลพุ่งออกมาด้วย หรือน้ำนมไหลพุ่งก่อนที่จะถึงมื้อนม อาการเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งปกติที่จะเกิดขึ้นตลอดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่จะเกิดขึ้นในช่วงที่ร่างกายของแม่กำลังปรับปริมาณการผลิตน้ำนมให้เข้ากับปริมาณความต้องการกินน้ำนมของลูก หลังจาก 6 สัปดาห์ – 3 เดือนแรกผ่านไป (อาจนานกว่านี้ สำหรับบางคน) ปริมาณของฮอร์โมนโปรแล็คตินซึ่งเพิ่มสูงขึ้นในระยะแรกคลอดจะค่อย ๆ ลดต่ำลงกลับสู่ระดับปกติ
สำหรับแม่ให้นมลูก ในช่วงนี้คุณแม่จะไม่รู้สึกว่าหน้าอกคัดตึงเหมือนช่วงแรก น้ำนมที่เคยไหลซึมก็น้อยลงหรือไม่ไหลซึมเลย ไม่รู้สึกว่าน้ำนมไหลพุ่ง ไม่รู้สึกถึงกลไกการหลั่งน้ำนม (Let-down reflex) และปริมาณน้ำนมที่ปั๊มได้อาจลดลง ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ และไม่ได้หมายความว่าร่างกายผลิตน้ำนมไม่พอแต่อย่างใด จงจำไว้ว่า ในช่วงแรกนั้นปริมาณน้ำนมที่ผลิตจะมากเกินกว่า ความต้องการของลูก หน้าอกจึงมีการคัดตึงนมไหลซึมเลอะเทอะ เมื่อร่างกายปรับตัวได้แล้ว ปริมาณการผลิตน้ำนมจะพอดีกับความต้องการของลูก ร่างกายไม่ได้ผลิตน้ำนมส่วนเกิน แต่ไม่ใช่ผลิตน้อยลงจนไม่พออย่างที่คนส่วนใหญ่เป็นกังวล
ถ้าให้ลูกดูดนม และหรือบีบหรือปั๊มออกอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่ให้นมผสมเพิ่มร่างกายคุณแม่ก็จะผลิตน้ำนมได้เพียงพอกับความต้องการของลูกในแต่ละวัยไปได้นานเท่าที่ต้องการ
การผลิตน้ำนมในแต่ละวันเป็นอย่างไร
จากการวิจัยพบว่าปริมาณน้ำนมจะมีมากที่สุดในช่วงเช้า (เป็นเวลาดีที่สุดสำหรับการปั๊มเพื่อทำสต็อค) และจะน้อยลงในช่วงบ่ายหรือเย็น ในขณะที่ปริมาณไขมันในน้ำนมกลับมีน้อยในช่วงแรก และมีมากขึ้นในช่วงหลังของวัน
ความสามารถในการเก็บน้ำนม
อีกปัจจัยหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการผลิตน้ำนม ก็คือ ความสามารถในการเก็บน้ำนม ซึ่งหมายถึงปริมาณที่ในเต้านมสามารถเก็บน้ำนมที่ผลิตออกมาในแต่ละมื้อ ซึ่งแม่แต่ละคนสามารถเก็บได้ไม่เท่ากัน และแต่ละข้างของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน โดยปกติเต้านมจะผลิตน้ำนมอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาน้ำนมจะสะสมในเต้านมจนเต็มความสามารถในการเก็บน้ำนม เมื่อเต้านมเต็ม แม่จะรู้สึกคัดตึง การผลิตน้ำนมช้าจะลงหรือหยุดผลิต
อย่างไรก็ตามความสามารถในการเก็บน้ำนมไม่มีผลต่อปริมาณน้ำนมที่เต้านมสามารถผลิตได้ ไม่ว่าคุณแม่จะมีความสามารถในการเก็บน้ำนมได้มากหรือน้อย ก็สามารถผลิตน้ำนมได้ปริมาณมากพอสำหรับลูกของตัวเองเสมอ
ลองเปรียบเทียบความสามารถในการเก็บน้ำนมของเต้านมกับขนาดของแก้วน้ำ เราสามารถดื่มน้ำในปริมาณมากๆ ด้วยแก้วน้ำขนาดเล็ก กลาง หรือใหญ่ก็ได้ ถ้าเราใช้แก้วขนาดเล็ก เราก็ต้องดื่มหลายแก้วกว่า ถ้าเต้านมมีความสามารถในการเก็บน้ำนมน้อย เต้านมจะเต็มเร็ว คุณแม่ก็ต้องให้ลูกดูดนมออกหรือปั๊มออกบ่อยกว่าเพื่อให้ได้ปริมาณที่ลูกต้องการ
หากต้องการเพิ่มปริมาณน้ำนมต้องทำอย่างไร
เต้านมจะผลิตน้ำนมออกมาต่อเนื่องตลอดเวลา เต้านมที่ว่างจะผลิตน้ำนมได้เร็วกว่าเต้านมที่เต็ม ในระหว่างมื้อที่ลูกดูด หรือปั๊มออก น้ำนมที่ผลิตออกมาจะสะสมอยู่ในเต้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามระยะเวลาที่เพิ่มขึ้นหลังจากที่ลูกดูด (หรือปั๊มออก) ครั้งสุดท้าย เมื่อน้ำนมเริ่มเต็มเต้า การผลิตน้ำนมก็จะช้าลง ดังนั้นถ้าต้องการให้ร่างกายผลิตน้ำนมเพิ่มขึ้นในแต่ละวัน สิ่งที่ต้องทำ คือ ต้องพยายามนำน้ำนมออกจากร่างกายให้เร็วขึ้นและบ่อยขึ้น ตลอดทั้งวัน เพื่อให้มีน้ำนมสะสมในเต้าในระหว่างมื้อน้อยลง โดยวิธีต่อไปนี้
1. ให้ลูกดูดบ่อยกว่าเดิม และ/หรือ เพิ่มการบีบหรือปั๊มในระหว่างมื้อที่ลูกดูด
2. พยายามทำให้น้ำนมเกลี้ยงเต้ามากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในการดูดหรือปั๊มแต่ละครั้ง
ทำอย่างไรให้เกลี้ยงเต้า
– ต้องให้ลูกดูดอย่างถูกวิธี (ดูดอย่างมีประสิทธิภาพและได้น้ำนม)
– ใช้การนวดเต้านม และบีบหน้าอกช่วย
– ให้ลูกดูดเต้านมทั้งสองข้างในแตะละมื้อ รอให้ลูกดูดข้างแรกนานจนพอใจแล้วค่อยเปลี่ยนข้าง
– บีบหรือปั๊มนมออกอีก (แต่ถ้าลูกดูดได้เกลี้ยงเต้าดีแล้ว การบีบหรือปั๊มเพิ่มในระหว่างมื้อที่ลูกดูด จะช่วยทำให้เต้าว่างมากขึ้น/บ่อยขึ้น)
หมายเหตุ: เกลี้ยงเต้าหมายถึงการระบายน้ำนมออกจากเต้าประมาณ 70 – 80% ของปริมาณทั้งหมด
สังเกตได้จากเต้านิ่มเหลวไม่ได้หมายถึงเกลี้ยงจนไม่มีน้ำนมเหลือซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เพราะน้ำนมถูกผลิตอยู่ตลอดเวลา
ต้องรอเวลาให้นมเต็มเต้า ก่อนจะให้ลูกดูดหรือปั๊มหรือไม่
คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจผิดว่า เมื่อต้องให้ลูกดูดให้เกลี้ยง ก็น่าจะต้องรอให้เต็มเสียก่อนซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ในความเป็นจริง ร่างกายจะผลิตน้ำนมตลอดเวลา ดังนั้นเต้านมจะไม่เคยเกลี้ยงจริง ๆ และจากการวิจัยก็พบว่าทารกไม่ได้ดูดนมจนหมดเต้า ปริมาณน้ำนมที่ทารกดูดออกไปจะขึ้นอยู่กับความหิวของทารกในแต่ละครั้งและแตกต่างกันในแต่ละมื้อ โดยทั่วไปทารกจะดูดนมออกไปได้ประมาณ 75-80 % ของปริมาณน้ำนมที่มีในเต้านม ยิ่งเราทำให้น้ำนมในเต้าเหลือน้อยลงเท่าใด เต้านมก็จะยิ่งผลิตน้ำนมมาเติมเร็วขึ้นเท่านั้นดังนั้นการกำหนดเวลาให้ลูกดูดนมหรือปั๊มออกทุกๆ กี่ชม.เพราะต้องการรอให้นมเต็มเต้าเสียก่อนไม่ได้ช่วยให้น้ำนมผลิตได้มากขึ้น
ถ้ามีการเว้นช่วงห่างระหว่างมื้อนมหรือการปั๊มนานๆบ่อยครั้งจะทำให้การผลิตน้ำนมน้อยลงเรื่อยๆเพราะเมื่อน้ำนมยิ่งสะสมในเต้ามากจะยิ่งทำให้การผลิตน้ำนมช้าลง
รู้สึกว่าหน้าอกไม่คัดตึง นิ่ม เหมือนไม่มีน้ำนม เป็นสัญญาณของน้ำนมแห้งหรือไม่?
หลังจากสัปดาห์แรกๆผ่านพ้นไป คุณแม่จำนวนมากรู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับปริมาณน้ำนมของตน เมื่อสังเกตเห็นว่านมที่เคยปั๊มได้มีปริมาณลดลง หรือรู้สึกว่าหน้าอกนิ่ม เหลว ไม่คัดตึง หรือคัดตึงบ้างเฉพาะเวลาที่เว้นช่วงการให้ลูกดูดหรือปั๊มนานกว่าปกติ เป็นเรื่องปกติที่จะรู้สึกว่าหน้าอกเริ่มจะไม่คัดตึง นิ่ม เหลว เหมือนไม่มีน้ำนมเมื่อเวลาผ่านไป 6-12 สัปดาห์หลังคลอด (อาจจะนานกว่านี้ สำหรับบางคนที่มีนมเยอะมาก) ความรู้สึกว่าหน้าอกคัดตึงเต็มไปด้วยน้ำนมจะเกิดขึ้นเฉพาะในช่วงแรก ๆ ที่ร่างกายมีระดับฮอร์โมนโปรแล็คตินสูง และยังไม่สามารถปรับตัวให้รับรู้กับปริมาณความต้องการน้ำนมของลูกได้
เมื่อร่างกายสามารถปรับปริมาณการผลิตน้ำนมเข้าที่ และฮอร์โมนโปรแล็คติดลดลงสู่ระดับปกติแล้ว จะรู้สึกว่าหน้าอกคัดน้อยลง นิ่มเหลว เหมือนไม่มีน้ำนม ไม่มีการไหลซึม ไม่รู้สึกถึง Let-down และถ้าปั๊ม ก็จะได้ปริมาณน้อยลงกว่าเดิม อาการเหล่านี้ไม่ได้แสดงว่าร่างกายผลิตน้ำนมได้น้อยเกินไป แต่แสดงว่า ร่างกายสามารถรับรู้แล้วว่าต้องผลิตน้ำนมปริมาณเท่าใด จึงจะพอดีกับความต้องการของทารก ร่างกายจะไม่ผลิตน้ำนมมากเกินไปอีกแล้ว ความเปลี่ยนแปลงนี้อาจเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือเกิดขึ้นทันทีทันใดก็ได้ แตกต่างกันไปในแต่ละคน แต่ก็มีคุณแม่จำนวนมากที่ไม่ได้รับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงนี้ เพราะอาจจะหยุดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไปก่อนหน้านี้แล้ว และบางคนก็เข้าใจผิดว่าความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ เป็นสัญญาณว่านมกำลังจะแห้ง ทำให้เลิกให้นมแม่ แล้วไปให้นมผสมแทน
สาเหตุที่เกิดการเปลี่ยนแปลง
ถึงแม้ว่าในช่วงหลังจากที่เรารู้สึกว่า “น้ำนมมาแล้ว” กระบวนการผลิตน้ำนมจะถูกควบคุมโดยการนำน้ำนมออกมาจากร่างกาย (ถ้ามีการดูดหรือปั๊มออกมาก็จะมีการผลิตน้ำนมต่อไปถ้าไม่มีการดูดหรือปั๊มออกมาก็จะผลิตช้าหรือหยุดการผลิต) แต่ในช่วงสัปดาห์แรกๆฮอร์โมนโปรแล็คตินซึ่งทำหน้าที่ในการผลิตน้ำนมในช่วงแรก (Lactogenesis I&II) จะมีระดับสูงมากทำให้ร่างกายผลิตน้ำนมมากเกินกว่าความต้องการ การที่ร่างกายมีฮอร์โมนระดับสูงมากในช่วงสัปดาห์แรก ๆ ก็เพื่อทำให้มั่นใจได้ว่าร่างกายจะผลิตน้ำนมให้ได้มากพอถ้ามีความจำเป็น เช่น ในกรณีที่มีลูกแฝดสอง หรือสามแม่ก็จะสามารถผลิตน้ำนมได้พอสำหรับลูกทุกคน แต่หลังจาก 2-3 เดือนแรกผ่านไปฮอร์โมนโปรแล็คตินจะค่อย ๆ ลดลงสู่ระดับปกติพร้อม ๆ กับที่การผลิตน้ำนมของแม่ก็จะปรับไปตามความต้องการของลูกร่างกายจะไม่ผลิตน้ำนมส่วนเกินอีกต่อไป
ทำอย่างไร ถ้าน้ำนมมีมากเกินไป
คุณแม่บางคนมีน้ำนมมากโดยธรรมชาติ หรือบางคนอาจจะกระตุ้นมากไปจนมีน้ำนมมากเกิน หากต้องการลดปริมาณน้ำนมโดยไม่ให้มีผลกระทบกับจำนวนครั้งในการดูดของลูก หรือต้องหย่านมลูกสามารถทำได้โดยการจำกัดการดูดนมของลูก ให้ดูดเพียงข้างเดียวในแต่ละมื้อ (ทิ้งระยะห่างระหว่างมื้อ 3 – 4 ชม. หรือนานกว่า) แล้วสลับข้างในมื้อถัดไปการทำเช่นนี้น้ำนมจะสะสมอยู่ในเต้าเต็มที่ก่อนที่จะเปลี่ยนข้าง (มีน้ำนมสะสมมากๆ —> การผลิตจะลดลง)
ที่มา : vejthani , pobpad
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
สารอาหารน้ำนมแม่ 100 สิ่งที่คุณแม่หลังคลอดต้องรู้ ตอนที่ 47 ประโยชน์น้ำนมแม่
วิธีเก็บน้ำนม 100สิ่งแม่หลังคลอดต้องรู้ ตอนที่45 เก็บอย่างไรให้มีคุณภาพอยู่ตลอดเวลา ?
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!