การจับเจ้าตัวน้อยให้เรอทุกครั้งหลังกินนม หรือการที่เบบี๋ตดออกมานั้น ถือว่าเป็นเรื่องธรรมชาตินะคะ ไม่มีอันตรายต่อทารก แถมยังช่วยไม่ให้ลูกเกิดอาการท้องอืดหรือแหวะนมได้ แต่จะ ทำอย่างไรเมื่อลูกไม่ยอมเรอ และถ้าลูกไม่เรอจะเกิดผลเสียอย่างไรบ้าง ไปติดตามกันค่ะ
ลูกดูดนมเสร็จต้องให้เรอ ทำอย่างไรเมื่อลูกไม่ยอมเรอ
โดยปกติแล้วการดูดนมของทารกนั้น หากดูดในปริมาณที่มากเกินไป หรือในจังหวะที่ลูกหยุดดูด เผลออ้าปากออกจากฐานนม อาจทำให้มีการดูดอากาศเข้าไปด้วย ยิ่งการให้ลูกดูดจากขวดนม ยิ่งมีโอกาสที่จะมีอากาศเข้าไปในท้องลูกได้เช่นกัน จึงทำให้เกิดอาการท้องอืดในทารก หรือมีอาการแหวะนมได้ เนื่องจากกล้ามเนื้อหูรูดของกระเพาะอาหารทารกยังไม่แข็งแรง ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรทำให้ลูกเรอหลังมื้อนมนะคะ
เด็กบางคนที่ไม่ยอมแหวะนมหรือเรอ มักจะชอบดูดนมเป็นจังหวะ ดูดช้า ๆ เอื่อย ๆ หากลูกไม่ยอมเรอหรือแหวะนมออกมา เป็นไปได้ว่าไม่มีลมในท้องหรือดูดนมในปริมาณที่พอดีกับร่างกาย ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่ากังวลค่ะ แต่ถ้าสังเกตว่าลูกมีอาการตัวงอหลังดูดนม แต่ไม่ยอมเรอ แสดงว่าลูกมีลมในท้องมาก ยังไงก็ต้องทำให้เจ้าตัวน้อยเรอออกมาให้ได้ค่ะ ซึ่งถ้าลูกมีลมแต่ไม่สามารถเรอออกมาได้ จะทำให้ปวดท้อง อึดอัด และร้องไห้งอแง
ทำอย่างไรให้เบบี๋เรอออกมา
- หลังกินนมให้อุ้มทารกพาดบ่าให้นานขึ้น โดยให้บริเวณคางของลูกวางอยู่บนบ่า ทำให้ลูกตัวตั้งเข้าไว้ จากนั้นลูบไล่ลมหรือตบเบา ๆ ที่หลัง อุ้มเดินไปมาสักพักลูกก็จะแหวะนมหรือเรอออกมาเอง
- ใช้วิธีวางทารกไว้บนตัก โดยให้วางคว่ำ ใช้มือซ้ายประคองที่คางทารก ให้ลูกเอนโน้มไปข้างหน้าเล็กน้อย และใช้มือขวาค่อย ๆ ตบเบา ๆ บริเวณเอวเร็ว ๆ จะไล่ลมให้ขึ้นมา หรือใช้วิธีลูบช้า ๆ ที่ด้านหลังจากเอวขึ้นมาจนถึงต้นคอ ซึ่งหากลูกมีลมในท้องหรือดูดนมมากเกินไปก็จะแหวะนมหรือเรอออกมา
- ใช้ผ้าอุ่น ๆ วางที่ท้องจะช่วยให้เบบี๋เรอหรือตดออกมา
บางครั้งลูกอาจจะเรอออกมาเป็นเสียงเบามาก จนคุณแม่อาจไม่ได้ยิน ดังนั้นระหว่างที่จะทำให้ทารกเรอนั้นคุณแม่ต้องคอยฟังหรือสังเกตอาการของลูกน้อยให้ดีนะคะ เพราะการทำให้ลูกเรอหรือแหวะนมเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญสำหรับทารก ถ้าลูกไม่ยอมเรอ แต่ตดออกมาได้ ก็ถือว่าโอเคเช่นกันค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : วิธีทำให้ลูกเรอ ทำไมต้องให้ลูกเรอทุกครั้งหลังกินนม ถ้าไม่เรออันตรายไหม
จะรู้ได้อย่างไรว่าทารกกินนมอิ่มแล้ว
เพราะเด็กในวัยแรกเกิดนั้น ยังไม่สามารถสื่อสารออกมาเป็นคำพูดได้ และด้วยความที่คุณแม่มักจะกลัวว่าลูกจะกินนมไม่อิ่ม กลัวว่าลูกจะโตช้าถ้าหากกินนมน้อย จึงพยายามให้ลูกกินนมเยอะ ๆ จนกลายเป็นว่ากินนมเยอะเกินไป กินนมจนล้นกระเพาะ หรือที่เราเรียกกันว่า Overfeeding เราจะรู้ได้อย่างไรว่าทารกกินนมอิ่มแล้ว ในเมื่อเด็กในวัยนี้ยังสื่อสารไม่ได้ ซึ่งวิธีการสังเกตว่าลูกอิ่มแล้วนั้น สามารถทำได้ดังต่อไปนี้
- ถ้าลูกหลับขณะกินนม และคายหัวนมออกเอง แสดงว่าลูกกินอิ่ม
- แต่ถ้าลูกยังไม่คาย เพียงแต่อมหัวนมไว้ หรือดูดแค่เบา ๆ คุณแม่ควรกระตุ้นให้ลูกดูดต่อ
- ลูกมีท่าทางพอใจหลังจากเวลาที่ใกล้จะเลิกให้นมในมื้อนั้น
- ถ้าลูกกินนมเพียงพอ ลูกจะนอนหลับได้ดี ไม่งอแง และตื่นขึ้นมากินนมทุก 2-3 ชั่วโมง เว้นช่วงสัปดาห์แรก ๆ
- ลูกปัสสาวะสีเหลืองอ่อนใส ชุ่มผ้าอ้อมประมาณวันละ 6-8 ครั้ง
- สังเกตจากการถ่ายอุจจาระในสัปดาห์แรก โดยทารกควรจะถ่ายอย่างน้อย 2 ครั้ง ต่อวัน
- น้ำหนักลูกขึ้นตามเกณฑ์ปกติ ไม่มาก หรือน้อยเกินไป
น้ำหนักของทารกปกติในแต่ละเดือนควรเพิ่มขึ้นเท่าไหร่
น้ำหนักของทารกปกติในแต่ละเดือนควรเพิ่มขึ้น ดังนี้
- 0-3 เดือน น้ำหนักลูกควรเพิ่มขึ้น 600-900 กรัม/เดือน
- 4-6 เดือน น้ำหนักลูกควรเพิ่มขึ้น 450-600 กรัม/เดือน
- 7-12 เดือน น้ำหนักลูกควรเพิ่มขึ้น 300 กรัม/เดือน
หากลูกน้อยมีน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นมามากกว่า 35 กรัมต่อวัน หรือ เกิน 1 กก./เดือน แสดงว่าเป็นอาการ Overfeeding ซึ่งลูกน้อยจะรู้สึกอึดอัด ปวดท้อง โยเย ร้องไห้ง่าย แต่ที่ลูกร้องนั้น ไม่ใช่เพราะหิว และหากคุณแม่ยังให้ลูกกินนมอีก เพราะอาจจะคิดว่าที่ลูกร้องไห้เพราะอยากกินนม ก็จะทำให้ลูกอาเจียนออกมา เพราะว่าน้ำนมล้นกระเพาะนั่นเอง
บทความที่เกี่ยวข้อง : น้ำหนักทารกในแต่ละเดือน พ่อแม่รู้ไหมว่าลูกควรหนักและสูงแค่ไหน?
Overfeeding มีอาการอย่างไร
Overfeeding หรืออาการที่ลูกกินนมเยอะเกินไป หรือกินจนล้นกระเพาะ จนแสดงอาการดังต่อไปนี้
- นอนร้องเสียง แอะ ๆ แอะ ๆ คล้ายเสียงของแพะ หรือแกะ
- บิดตัวเยอะ
- มีเสียงครืดคราดในคอ คล้ายมีเสมหะอยู่ในคอ แต่เป็นเสียงของนมที่ล้นขึ้นมาที่คอหอยแล้ว
- แหวะนม อาเจียนบ่อย ออกมาทางปากหรือจมูก
- พุงกางเป็นทรงน้ำเต้าตลอดเวลา
- มีน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นมากเกินไป
Overfeeding อันตรายอย่างไร
- หากลูกกินนมแม่ : อาการ Overfeeding นั้น จะทำให้ลูกรู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัว นอกจากนี้หากลูกอาเจียนบ่อย ๆ กรดจากกระเพาะอาหารจะย้อนออกมา ทำให้หลอดอาหารเป็นแผลได้
- หากลูกกินนมผง : นอกจากลูกจะอึดอัด ไม่สบายตัว และอาเจียนบ่อย จากการถูก Overfeeding ยังจะทำให้ลูกมีพฤติกรรมกินจุ และนำไปสู่โรคอ้วนได้ในอนาคตได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : Over Feeding กินนมเยอะเกินไป น้ำนมเยอะเกินไป น้ำนมน้อยเกินไป แบบไหนอันตราย?
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!