ทารกกินนมแม่ แบบไหนที่ส่งผลต่อการให้นมของแม่
#ทารกที่ไม่ยอมกินนมแม่
โดยปกติแล้วเมื่ออุ้มทารกเข้าเต้า สัญชาตญาณของทารกแรกเกิดจะสามารถดูดเต้าของคุณแม่ได้ทันที การที่ลูกไม่ดูดนมแม่หรือไม่ยอมกินนมแม่อาจมีหลายสาเหตุ เช่น ลูกคันเหงือกเมื่อฟันเริ่มขึ้น หรือหายใจไม่สะดวกเนื่องจากเป็นหวัด คุณแม่มีหัวนมสั้น มีน้ำนมมากหรือน้อยเกินไป อุ้มไม่ถูกท่า มีแผลในปาก ลูกไม่สบาย เป็นต้น วิธีแก้คือ ลองเปลี่ยนท่าให้นม เขี่ยปากเบา ๆ เพื่อกระตุ้นให้ลูกอ้าปากเข้าเต้า การให้นมถูกท่าจะช่วยให้ลูกดูดนมแม่ได้ง่ายขึ้น ลองปรับแก้ไขให้ตรงกับสาเหตุ และสร้างบรรยากาศในการนอนของลูกเพื่อง่ายต่อการกินนมได้มากขึ้น
#ลิ้นเป็นฝ้าขาว
ฝ้าขาวที่ลิ้น หรือภายในช่องปากบริเวณเพดานปากหรือกระพุ้งแก้ม คือเชื้อราที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นกับทารกตั้งแต่แรกคลอดถึง 6 เดือนถือเป็นอาการที่ปกตินะคะ คราบสะสมที่เกิดเป็นเชื้อราขึ้นนี้อาจเกิดจากนมที่ลูกกินเข้าไป จึงเกิดเชื้อแบคทีเรียสะสมเป็นฝ้าหนาอยู่ที่ลิ้นของเจ้าตัวเล็ก พอมีคราบขาวจากเชื้อราเยอะหรือหนามาก เด็กเล็กมักจะมีอาการงอแงไม่ยอมกินนม กินนมน้อยส่งผลให้น้ำหนักตัวลด เพราะว่าลูกเจ็บปากที่เกิดจากเชื้อราจับตัวอยู่ในปากนั่นเอง แถมเชื้อรานี้ยังแพร่ไปยังเต้านมของคุณแม่ขณะที่ลูกกินนมอีกด้วย จุดเหล่านี้อาจแตกเป็นสะเก็ดและคันซึ่งส่งผลทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บเต้านม ดังนั้นเมื่อพบว่าลูกมีฝ้าขาวในช่องปาก ควรพาเจ้าตัวน้อยไปพบแพทย์รักษาอาการเพื่อป้องกันการติดเชื้อทั้งแม่และลูกนะคะ
ปัญหาที่ทำให้แม่มีน้ำนมน้อยหรือให้ลูกกินนมลำบาก เกิดจากอะไรได้อีก อ่านหน้าถัดไปกันค่ะ >>
#ลูกชอบกินนมข้างเดียว
ทารกบางรายช่างเลือก ชอบกินนมข้างเดียว ดูดแต่ข้างที่ถนัด เพราะข้างที่ลูกไม่ชอบดูดนั้น อาจมีน้ำนมพุ่งแรงเกินไป เมื่อไม่ค่อยดูดน้ำนมจึงผลิตออกมามาก หรือกลายเป็นว่าเมื่อไม่ค่อยดูดน้ำนมอีกข้างจึงไม่ค่อยผลิตออกมา ทำให้มีน้ำนมน้อยหรือไม่มีน้ำนมเลยก็ได้ วิธีแก้คือ
- ลองให้ลูกกินนมข้างที่ไม่ชอบ ในท่าเดียวกับข้างที่ลูกชอบกิน หรือท่าลูกถนัดเต้าขวาก็ลองอุ้มเข้าเต้าซ้ายก่อน หรือให้นมลูกในท่าฟุตบอลเพื่อให้แก้มซ้ายของลูกสัมผัสเต้าเหมือนกับการดูดที่เต้าขวา ลูกอาจคิดว่านี่คือเต้าที่ชอบดูดก็เลยยอมดูด การทำเช่นนี้เพื่อกระตุ้นให้เต้านมทั้งสองข้างผลิตน้ำนมเพิ่มขึ้นในปริมาณที่เท่ากัน และควรสลับให้ลูกได้ดูดทั้งสองข้างนะคะ
- นมข้างที่ลูกไม่ชอบดูดอาจเป็นเพราะมีน้ำนมพุ่งแรง สามารถแก้ได้โดยการปั๊มน้ำนมออกก่อนเอาลูกเข้าเต้าเพื่อให้เหลือนมน้อยลง แล้วให้ดูดในท่านอนตะแคง เพื่อไม่ให้น้ำนมไหลพุ่งขึ้น หรือคุณแม่นอนหงายแล้วลูกนอนคว่ำบนตัวแม่ กดเต้านมด้านล่างเพื่อให้หัวนมชี้ลงพื้นขณะลูกดูด น้ำนมจะได้ไม่สำลักขึ้นจมูก
#เจอลูกน้อยกัดหัวนม
เจอลูกกัดหัวนม ในขณะให้นมนี่ไม่สนุกเลยใช่ไหมค่ะ แม่บางคนทนเจ็บไม่ไหวเลิกให้นมลูกไปเลยก็มี โดยเฉพาะยิ่งในช่วงที่ลูกฟันขึ้น แม่คุณเอ้ย! แต่ความจริงแล้วลูกจะไม่กัดหัวนมในขณะดูดนมแม่นะคะ แต่คุณแม่อาจโดนลูกกัดหัวนมในตอนเริ่มให้นมกับตอนกินเสร็จต่างหาก เป็นช่วงเวลาที่คุณแม่ต้องระวัง เพราะตอนที่จะถอนหัวนมออกจากปากลูก กลไกตามธรรมชาติของการขยับเหงือกและฟันทำให้โดนกัดหัวนมได้ ลองแก้ปัญหานี้ด้วยการให้ลูกอ้าปากกว้าง ๆ เพื่อที่หัวนมแม่จะได้เข้าไปลึก ๆ ในปากลูก ไม่โดนฟันและเหงือก พยายามให้ลูกอมบริเวณลานนม ก็จะช่วยป้องกันการกัดหัวนมได้ หรือหายางกัดเพื่อลดอาการคันเหงือกในระหว่างที่ไม่ได้กินนม
ผลการศึกษาค้นคว้าพบว่าเด็กที่เริ่มโตขึ้นจะไม่กัดหัวนมแม่ตอนกินนม ถ้าคุณแม่ฝึกให้ลูกสบตาแม่อยู่ตลอด เช่นในตอนที่คุยกับลูกหรืออ่านนิทาน วิธีนี้จะทำให้ลูกเคยชินกับการสบตาแม่และคอยจ้องแม่เวลากินนม เพื่อที่ลูกจะคอยฟังว่าแม่จะพูดอะไร หากเข้าใจกลไกตามธรรมชาติและรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ที่เจ้าตัวเล็กมีผลต่อการกินและให้นม คุณแม่ยังคงให้ลูกน้อยได้กินนมแม่ต่อไปเพื่อสุขภาพที่ดีของลูกนะคะ
ข้อมูลอ้างอิงจาก : www.sanook.com
บทความเกี่ยวข้องที่น่าสนใจ :
ทำไมให้นมแม่มันยากขนาดนี้! แม่แชร์ ปัญหาให้นมลูก ที่เจอบ่อยที่สุดพร้อมวิธีแก้
10 ประโยชน์ที่ยกให้ “นมแม่” ชนะเลิศ
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!