ดูแลฟัน ลูกน้อยด้วยจากเคล็ดลับคุณแม่หมอฟัน
แต่ข่าวดีก็คือการป้องกันฟันผุและโรคเกี่ยวกับเหงือกและฟันของลูกน้อยไม่ได้ยากอย่างที่คุณพ่อคุณแม่คิดเลยค่ะ แต่กลับเป็นการลงทุนที่แสนจะคุ้มค่า ที่จะสร้างสุขภาพในช่องปากที่ดีและส่งผลต่อสภาพอารมณ์และบุคลิกของเด็กด้วย และอย่าลืมว่าไม่มีคำว่าสายเกินไปที่จะเริ่มต้นเปลี่ยนนิสัยและ ดูแลฟัน ของลูกน้อย เรามีเคล็ดลับการดูแลฟันแบบคุณแม่ที่เป็นหมอฟันจาก Colorado Parent มาฝากกันค่ะ
1. เริ่มต้นดูแลฟันลูกตั้งแต่เนิ่น ๆ
คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มต้นที่จะดูแลฟันลูกน้อยตั้งแต่ซี่แรก ด้วยการพาไปพบหมอฟัน ถึงบางทีมันอาจจะดูเร็วไป แต่ความจริงแล้วไม่เลย เพราะการไปพบคุณหมอครั้งแรกนั้นจะเป็นการให้คุณและลูกน้อยได้รู้จักการแปรงฟันและการดูแลรักษาฟันที่ถูกวิธี โดยคุณหมอฟันจะสอนวิธีการแปรงฟันที่ถูกต้อง ให้เคล็ดลับเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จะช่วยแปรงฟันให้สำเร็จ
เพื่อป้องกันฟันผุควรแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 2 นาที ไม่มีการยกเว้น ย้ำว่าห้ามลืมแปรงเด็ดขาด และอย่าลืมใช้ไหมขัดฟันด้วย เพราะการแปรงฟันเพียงอย่างเดียวจะทำความสะอาดที่ผิวฟันได้ 60 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่ได้ทำความสะอาดซอกฟันด้านใน นอกจากนี้การดื่มน้ำให้มาก ๆ หลังอาหารก็จะเป็นการช่วยลดจุลินทรีย์ในช่องปากได้ด้วย
2. ต้องแปรงฟันให้เป็นกิจวัตร
สิ่งที่คุณแม่หมอฟันจะทำเป็นสิ่งแรกและสิ่งสุดท้ายของวัน และทำเป็นประจำในทุก ๆ วัน ก็คือการแปรงฟันให้ลูกน้อย 2 นาที คุณแม่หมอฟันมักถูกผู้ปกครองถามว่าจะจูงใจเด็ก ๆ ให้ยอมแปรงฟันได้อย่างไร คำตอบคือ เราไม่ต้องจูงใจเด็ก ๆ เลย เมื่อเราอยู่บ้านเดียวกันก็เพียงแต่ทำไปด้วยกันกับเขา โดยคุณหมอยังบอกว่าเด็กส่วนใหญ่ที่อายุต่ำกว่า 8 ขวบยังไม่มีทักษะการแปรงฟันที่คล่องแคล่วนัก ฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องคอยช่วยเหลือ ส่วนเด็กที่อายุมากกว่า 8 ขวบ คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องหมั่นเช็คดูว่าลูกแปรงฟันสะอาดแล้วรึยัง อย่างไรก็ดี ถึงการทำให้การแปรงฟันเป็นกิจวัตร ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะสนุกสนานไม่ได้ ให้คุณพ่อคุณแม่ลองแปรงฟันด้วยกันกับลูก ร้องเพลงสนุกสนาน จะเต้นไปด้วยก็ไม่ว่ากัน ลองดูสิว่าลูกคุณชอบแบบไหน
3. อาหารที่กินเข้าไปก็สำคัญ
อาหารไม่ใช่เพียงเรื่องของน้ำหนักตัวหรือรอบเอวเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของสุขภาพในช่องปากด้วย คุณหมอฟันมักพบเด็กวัยเตาะแตะที่ฟันผุเพราะอาหารที่รับประทานเข้าไป โดยพ่อแม่ส่วนใหญ่มักคิดว่าตัวเองทำถูกแล้วที่ให้ลูกกินนม กินขนมจุบจิบ และกินน้ำผลไม้ตลอดวัน ซึ่งทำให้เด็ก ๆ กินไม่หยุดทั้งวัน อันที่จริงพ่อแม่ต้องเข้าใจว่าทุกครั้งที่ลูกกินอะไรก็ตาม ค่า pH ในปากของลูกจะเปลี่ยนไปซึ่งจะทำให้เกิดแบคทีเรีย ตามมาด้วยจุลินทรีย์ตัวการของฟันผุ และขนมกรุบกรอบลูกอม อาหารสำเร็จรูปทั้งหลาย ก็เป็นอาหารหลักของเจ้าจุลินทรีย์ในปากเลยทีเดียว
4. พาลูกไปพบหมอฟันอย่างสม่ำเสมอ
หัวใจสำคัญในการสร้างนิสัยที่ดีในการดูแลช่องปากให้กับเด็กก็คือการให้เด็กสร้างความคุ้นเคยและซึมซับเรื่องการดูแลปากและฟันบ่อย ๆ ฉะนั้นก็ควรหมั่นพาลูกไปพบหมอฟันด้วย ถึงจะมีค่าใช้จ่ายแต่รับรองว่าคุ้มค่าแก่การลงทุนแน่นอน โดยมีงานวิจัยว่า เด็กที่ไปพบหมอฟันครั้งแรกเมื่ออายุ 1 ขวบนั้น จะมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาช่องปากต่ำกว่าเด็กที่ไปพบหมอฟันครั้งแรกเมื่ออายุ 5 ขวบ ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ และแน่นอนว่าความเจ็บปวดจากปัญหาในช่องปากที่ต้องพบเจอก็น้อยลงด้วย การไปพบคุณหมอฟันสม่ำเสมอจึงถือเป็นการลงทุนที่จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาที่อาจจะต้องเสียไปในอนาคต
5. เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูก
แน่นอนว่าจะให้ลูกปฏิบัติอย่างไรนั้น พ่อแม่ก็ควรปฏิบัติอย่างเดียวกัน เพื่อสร้างนิสัยที่ดีทั้งในการแปรงฟันและการกินอาหาร เพื่อสุขภาพที่ดีในช่องปาก ก็ต้องเริ่มที่พ่อแม่เป็นตัวอย่าง หากพ่อแม่และคนในครอบครัวมีนิสัยไม่ดูแลปากและฟันแล้ว ก็เป็นการยากที่ลูกน้อยจะมีสุขภาพฟันที่ดีได้ และหากคุณเกิดกลัวหมอฟัน คุณอาจจะต้องเปลี่ยนให้คนอื่นพาลูกไปหาหมอฟันก็เป็นอีกทางที่แนะนำค่ะ
เราจะดูแลฟันของเด็กเล็กอย่างไร
การทำให้ลูกมีนิสัยในการรักษาสุขภาพปากและฟันที่ดีเป็นสิ่งสำคัญต่อสุขภาพที่คุณสามารถสอนเขาได้ โดยรวมถึงการสอนเด็กให้แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง ใช้ไหมขัดฟันอย่างถูกวิธี ลดการรับประทานอาหารว่าง และพบทันตแพทย์อย่างส่ำเสมอ
ทันตแพทย์ส่วนใหญ่จะแนะนำให้เด็กเริ่มรับการตรวจเมื่อเมื่ออายุครบ 2 ปี นอกจากจะเป็นการตรวจดูการเจริญเติบโตของฟันแล้ว ยังเป็นโอกาสของคุณในการเรียนรู้พัฒนาการของฟัน ความต้องการฟลูออไรด์ การช่วยให้เด็กรักษาความสะอาดของปากและฟันด้วยตนเอง การจัดการกับนิสัยเด็ก (เช่นการติดจุกนมหลอก) อาหารและโภชนาการ และการป้องกันความเจ็บป่วยของเหงือกและฟันอีกด้วย
ควรเน้นกับเด็กว่าการพบทันตแพทย์เป็นสิ่งที่ดี โดยอธิบายให้เด็กเข้าใจว่าการไปพบทันตแพทย์เป็นประจำจะช่วยให้เรามีสุขภาพของเหงือกและฟันที่ดี ทัศนคติดังกล่าวจะสามารถช่วยเพิ่มโอกาสที่ลูกของคุณจะไปพบกับทันตแพทย์อย่างส่ำเสมอไปตลอดชีวิตของเขา
เราควรจะทำอย่างไรเมื่อฟันของเด็กเริ่มขึ้น
ฟันจะเริ่มขึ้นเมื่ออายุประมาณ 6 เดือน จนกระทั่ง 3 ปี ซึ่งจะทำให้เด็กมีเหงือกที่นุ่ม จนทำให้เด็กรู้สึกรำคาญ คุณอาจจะนวดเหงือกของเด็กด้วยนิ้วของคุณ ช้อนคันเล็กเย็นๆ หรือ ยางกัดที่แช่เย็น นอกจากนี้ยังสามารถใช้เจลแก้ปวดสำหรับเด็กเมื่อฟันเริ่มขึ้น ควรปรึกษากับทันตแพทย์หรือกุมารแพทย์ก่อนใช้ ถ้าลูกของคุณมีอาการเป็นไข้เมื่อฟันเริ่มขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจสอบหาสาเหตุ
วิธีการแปรงฟันให้กับเด็กที่ถูกต้องเป็นอย่างไร
เป็นการดีที่คุณจะคอยดูเวลาเด็กแปรงฟันจนกระทั่งอายุ 6 ปี โดยปฏิบัติดังนี้
- ใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ที่ได้รับการรับรองจาก ADA ขนาดเท่ากับเมล็ดถั่ว และคอยระวังอย่าให้เด็กกลืนยาสีฟัน
- ใช้แปรงสีฟันที่ขนแปรงอ่อนนุ่ม โดยแปรงฟันให้ทั่วทุกซี่ด้านใน ตามบริเวณที่คราบแบคทีเรียจะสะสม และแปรงตามร่องเหงือกโดยแปรงขึ้นและลง
- ทำความสะอาดด้านนอกด้วยการแปรงแบบเดียวกัน
- แปรงที่บริเวณบดเคี้ยวอาหารด้วยการแปรงแบบเดียวกัน
การดูดนิ้วจะเป็นปัญหาหรือไม่ และเราจะแก้ไขได้อย่างไร
การดูดนิ้วเป็นสิ่งปกติในเด็กทารก อย่างไรก็ตาม นิสัยการดูดนิ้วอาจก่อให้เกิดปัญหาในการเจริญเติบโตของปากและขากรรไกร ตลอดจนตำแหน่งของฟัน ถ้ามีการดูดนิ้วหลังจากที่ฟันขึ้นแล้วในช่วงอายุ 4-7 ปี อาจทำให้เด็กมีฟันหน้ายื่น และการขบฟันผิดปกติ ซึ่งจะเป็นปัญหาเวลาโตขึ้น เช่นทำให้ฟันเสื่อมก่อนวัยอันควร มีโอกาสที่ฟันจะผุได้มากขึ้น และเคี้ยวอาหารไม่สะดวก การดูดจุกนมหลอกหลังจากฟันขึ้นแล้วก็สามารถก่อให้เกิดปัญหาเช่นเดียวกันได้
วิธีที่ดีที่สุดในการจัดการกับการดูดนิ้วคือการจูงใจในทางบวก ไม่ใช่การใช้คำพูดหรือพฤติกรรมทางลบ ลูกของคุณอาจจะทำเพียงเพราะว่าเป็นธรรมชาติของเด็ก ควรใช้คำชมเมื่อเด็กไม่ดูดนิ้ว หรือพยายามแก้ไขความกังวลอันเป็นสาเหตุของการดูดนิ้วของเด็ก คุณอาจจะเอาผ้าพันแผลมาพันที่นิ้วเด็ก หรือใส่ถุงมือเพื่อเตือนใจเด็กไม่ให้ดูดนิ้ว การทาสิ่งที่ให้รสขมที่นิ้วอาจจะช่วยได้โดยต้องปรึกษาแพทย์เพื่อให้สั่งยา
ที่มาจาก : https://www.colgate.com/th-th/oral-health/life-stages/childrens-oral-care/how-do-i-care-for-my-toddlers-tee
บทความ อื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ทำอย่างไรให้ลูกแปรงฟัน
ลำดับเวลาฟันน้ำนมหลุดของเด็ก
น้ำตาล: ภัยร้ายใกล้ตัวลูก
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!