หลังจากคลอดลูกแล้ว เป็นช่วงเวลาที่คุณแม่ต้องปรับตัวและพักรักษาฟื้นฟูสุขภาพหลังคลอด ดังนั้นคุณแม่จึงควรหาเวลาดูแลตัวเอง เพราะหากร่างกายมีปัญหาด้านสุขภาพและจิตใจก็อาจส่งผลต่อการเลี้ยงลูกไปด้วย วันนี้เราจะพาไปดู วิธีการ ดูแลตัวเองหลังคลอด ตามความเชื่อของคนโบราณกันค่ะ
ดูแลตัวเองหลังคลอด ด้วย 7 วิธีนี้ รับรองกลับมาสวยเร็วชัวร์!
คุณแม่แรกคลอดการพักฟื้นเป็นสิ่งจำเป็นมาก หลังจากที่พอมีเวลาจากการเลี้ยงลูก แม่ควรหาเวลามาดูแลตัวเองบ้าง เพื่อให้มดลูกเข้าอู่ได้เร็ว ปรับสมดุลของร่างกาย ทั้งยังทำให้คุณแม่กลับมาสวยมีชีวิตชีวาเหมือนเดิม วิธีการ ดูแลตัวเองหลังคลอด ตามความเชื่อของคนโบราณมีทั้งหมด 7 วิธี ดังนี้
1. การอยู่ไฟ
เป็นวิธีโบราณที่ได้ยินบ่อยที่สุด วิธีการคือ ให้คุณแม่หลังคลอดนอนบนกระดานแผ่นเดียว ซึ่งด้านล่างจะก่อไฟไว้ สำหรับระยะเวลาส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วง 7-14 วัน บางคนอาจอยู่ได้เพียง 3 วัน แต่บางคนอาจอยู่นานเป็น 1 เดือน
ประโยชน์ของการอยู่ไฟ คือ ช่วยให้คุณแม่ได้ผ่อนคลาย สร้างความอบอุ่นให้ร่างกาย ที่สำคัญได้ขับน้ำคาวปลาออกมาด้วย และวิธีนี้ได้รับความนิยมอีกอย่างคือ ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น เพราะความร้อนช่วยกระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูกแล้ว ยังช่วยให้แผลฝีเย็บแห้งและหายเร็วขึ้น
2. การประคบสมุนไพร
วิธีนี้ เป็นการนำสมุนไพรสดหรือแห้งหลายชนิดมาโขลกรวมกัน ซึ่งสมุนไพรที่ใช้ส่วนใหญ่ ได้แก่ ไพล ขมิ้นชัน ตะไคร้ มะกรูด การบูร เพราะเวลาถูกความร้อนมันจะระเหยออกมาแล้วส่งกลิ่นหอม ทำให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลายไปด้วย แล้วนำห่อเป็นลูกประคบ จากนั้นเอาไปผ่านไอความร้อน เสร็จแล้วเอามาประคบบริเวณที่ต้องการ เช่น ด้านหลัง ท้อง และขา
ประโยชน์ของการประคบสมุนไพร คือ ช่วยลดการเป็นตะคริว ลดการช้ำบวม ลดการอักเสบ กระตุ้นให้การไหลเวียนของเลือด และช่วยคลายกล้ามเนื้อ แก้ปวดเมื่อย และช่วยให้นมหายคัด
3. การอาบสมุนไพร
เป็นการนำเอาสมุนไพรสดหรือแห้งหลายชนิดมาต้มรวมกับน้ำแล้วเอาน้ำของมันมาอาบ สำหรับสมุนไพรที่ใช้ก็เป็นสมุนไพรชนิดเดียวกับวิธีการประคบ การอาบสมุนไพรแบบโบราณของไทยนั้นจะมีการใช้ร่วมกับการประคบเปียก ประโยชน์ของการอาบสมุนไพร คือ ช่วยให้ร่างกายสดชื่น ผิวหนังสะอาด ลดอาการคัน ลดอาการหวัด คัดจมูก เป็นต้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : รวม! วิธีเลือกซื้อสบู่สมุนไพร อย่างไร ให้ปลอดภัย และเหมาะกับผิวของคุณ
4. การเข้ากระโจม
วิธีนี้ก็เป็นการนำสมุนไพรสดหรือแห้งหลาย ๆ ชนิดเหมือนกับการประคบสมุนไพร และการอาบสมุนไพร เพียงแต่เปลี่ยนมาต้มในหม้อ แล้วนำกระโจมมาครอบหม้อไว้อีกที เพื่อให้ได้รับไอน้ำจากการต้มอย่างเต็มที่ โดยการเข้ากระโจมต้องอยู่ในที่มิดชิดเพื่อให้ร่างกายได้รับไอน้ำอย่างทั่วถึง แต่ในปัจจุบัน การอบสมุนไพรไม่ทำได้ง่ายมากขึ้น เพราะว่ามีตู้ให้อบสำเร็จรูป ซึ่งแม่หลังคลอดควรอบวันประมาณ 20 นาที ระยะเวลา 7 วัน
5. การอบไอน้ำสมุนไพร
สำหรับวิธีนี้ เป็นการประยุกต์จากการเข้ากระโจมแบบโบราณ เริ่มจากต้มสมุนไพรก่อน แล้วต่อท่อเอาไอน้ำสมุนไพรจากหม้อเข้ามาในห้องอบสมุนไพร สำหรับสมุนไพรที่ใช้แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ด้วยกัน คือ
- สมุนไพรที่มีกลิ่นหอม ซึ่งมีน้ำมันหอมระเหยช่วยรักษาโรคผิวหนัง ปวดเมื่อย อาการหวัดคัดจมูก เช่น ไพล ขมิ้นชัน มะกรูด
- สมุนไพรที่มีรสเปรี้ยว กลุ่มนี้จะมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน ๆ ช่วยชะล้างสิ่งสกปรกและเพิ่มความต้านทานโรคให้กับผิวหนัง เช่น ใบมะขาม และใบหรือฝักส้มป่อย
- สมุนไพรที่เป็นสารหอมระเหยเมื่อถูกความร้อน เช่น พิมเสน การบูร ช่วยแต่งกลิ่น บำรุงหัวใจ ทำให้สดชื่น
- สมุนไพรที่ใช้เฉพาะโรค เช่น ผื่นคัน ใช้เหงือกปลาหมอ ปวดเมื่อยใช้เถาวัลย์เปรียง กระวาน แก้เจ็บตา ตาแฉะ เกสรทั้ง
6. การทับหม้อเกลือ
สำหรับสมุนไพรที่ใช้ ได้แก่ ไพล ว่านนางคำ ว่านชักมดลูก วิธีการ คือ นำสมุนไพรทั้งหมดมาตำให้พอแหลก โดยไม่ต้องปอกเปลือก แล้วนำมาผสมกันก่อนที่จะไปผสมกับการบูรอีกครั้ง จากนั้นวางลงบนผ้าที่จะใช้ห่อ นำใบพลับพลึงกรีดเอาเส้นกลางใบออกวางขวางสลับกันเป็นลักษณะสี่เหลี่ยม วางบนสมุนไพรที่เตรียมไว้บนผ้าห่อ แล้วนำเอาหม้อดินขนาดเล็กใส่เกลือเม็ดไปตั้งไฟจนเม็ดเกลือแตก ใช้เวลาประมาณ 15 นาที ยกหม้อเกลือวางลงบนใบพลับพลึงและสมุนไพรที่เตรียมไว้บนผ้าห่อ หลังจากนั้นห่อผ้าแล้วน้ำมาทับบริเวณท้อง หลัง สะโพก และขา
ประโยชน์ของการทับหม้อเกลือ ได้แก่ ทำให้มดลูกเข้าอู่ได้เร็ว ลดไขมันหน้าท้อง บรรเทาอาการปวดเมื่อย กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต และทำให้น้ำคาวปลาไหลสะดวก
บทความที่เกี่ยวข้อง : ทับหม้อเกลือ หลังคลอด ช่วยให้หน้าท้องแบน มดลูกเข้าอู่เร็ว !
7. การนวดหลังคลอด
การนวดหลังคลอดจะมีท่านวดที่เรียกว่า “การนวดเข้าตะเกียบ” เนื่องจากหญิงหลังคลอดจะมีอาการขัดสะโพกและขา เพราะเกิดจากการขยายตัวของอุ้งเชิงกรานในช่วงตั้งครรภ์และขณะคลอด จนทำให้เกิดอาการดังกล่าว ซึ่งปกติแล้วข้อต่อเหล่านี้สามารถกลับเข้าที่ได้เอง แต่ต้องใช้เวลาสักระยะ แต่การนวดเข้าตะเกียบเป็นการช่วยให้ข้อต่อกลับเข้าที่ได้เร็วขึ้น แต่ต้องเป็นผู้ชำนาญเท่านั้น ที่สามารถทำให้กับแม่หลังคลอดได้ เพราะถ้าไม่มีความชำนาญอาจทำให้เกิดการอักเสบของข้อต่อได้
ทั้ง 7 วิธี นี้ คุณแม่ลองเลือกทำได้ตามความเหมาะสมของแต่ละคน เพราะบางวิธีอาจเพิ่งเคยได้ยินก็ตอนที่ท้องเตรียมตัวคลอดเนี่ยแหละ หรือมีแม่ ๆ คนไหน เคยลองทำทุกวิธีแล้ว หรือบางวิธีที่ได้ผลกับเราที่สุด ลองแชร์ประสบการณ์ให้คุณแม่ท่านอื่นได้นะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
แม่ผมร่วงหลังคลอด เรื่องไม่เล็กที่ต้องรู้! พร้อมวิธีการรับมือ
หลังคลอดใส่กางเกงยีนส์ได้ไหม อ่านก่อนตัดสินใจหยิบมาใส่
พาลูกกลับบ้านหลังคลอด เตรียมตัวอย่างไร มีอะไรที่คุณแม่ควรรู้บ้าง?
ที่มา : ttmed
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!