ฉีดวัคซีน ลูกแรกเกิด-6 เดือนแรก
วัคซีนสำคัญต้องฉีดให้ครบทุกเข็ม แม่จ๋าจดให้ครบ ฉีดวัคซีน ลูกแรกเกิด-6 เดือนแรก ทารกต้องฉีดวัคซีนตัวไหนบ้าง ฉีดวัคซีน6เดือนกี่เข็ม ฉีดให้ครบ ป้องกันลูกป่วย โดยเฉพาะลูกแรกเกิด ถึง 6 เดือนแรกของชีวิต
วัคซีนจำเป็นพื้นฐานช่วง 6 เดือนแรกของลูกน้อย
คุณพ่อคุณแม่อาจจะสงสัยว่าวัคซีนสำหรับลูกน้อยวัยทารกมีกี่ชนิดและมีความจำเป็นที่ต้องฉีดเพราะอะไรบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงอายุ 6 เดือนแรก ซึ่งต้องไปฉีดวัคซีนกันไปบ่อยทุกๆ 2 เดือนตั้งแต่แรกเกิด และวัคซีนในช่วงอายุ 6 เดือนแรกล้วนแล้วแต่เป็นวัคซีนป้องกันโรคที่เป็นปัญหาสำคัญที่อยู่ในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข (Expanded Program on Immunization: EPI) อันเป็นวัคซีนพื้นฐานที่เด็กไทยควรได้รับ โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถพาลูกไปรับวัคซีนเหล่านี้ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐบาล
เรามาดูกันดีกว่านะคะว่า วัคซีนพื้นฐานช่วง 6 เดือนแรกของลูกน้อยมีอะไรบ้าง ตามวัยของทารก ดังนี้ค่ะ
วัยแรกเกิด : ฉีดวัคซีนทารกแรกเกิด
- วัคซีนวัณโรค (BCG)
- วัคซีนตับอักเสบบี (HBV)
อายุ 2 เดือน : ฉีดวัคซีนทารก 2 เดือน
- วัคซีนคอตีบบาดทะยักไอกรนและตับอักเสบบีเข็มที่หนึ่ง (DTwP-HB1)
- วัคซีนโปลิโอชนิดหยดครั้งที่หนึ่ง (OPV1)
อายุ 4 เดือน : ฉีดวัคซีน 4 เดือน กี่เข็ม
- วัคซีนคอตีบบาดทะยักไอกรนและตับอักเสบบีเข็มที่สอง (DTwP-HB2)
- วัคซีนโปลิโอชนิดหยดครั้งที่สองร่วมกับชนิดฉีด (OPV2+IPV)
อายุ 6 เดือน : ฉีดวัคซีน6เดือนกี่เข็ม
- วัคซีนคอตีบบาดทะยักไอกรนและตับอักเสบบีเข็มที่สาม (DTwP-HB3)
- วัคซีนโปลิโอครั้งที่สาม (OPV3)
ข้อมูลโดยสรุป ของวัคซีนแต่ละชนิดมีดังนี้ค่ะ
วัคซีนวัณโรค
อัตราการเกิดวัณโรคในประเทศไทยนั้นสูง เด็กทุกคนจึงควรได้รับวัคซีนนี้ตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งจะมีประสิทธิภาพดีต่อการป้องกันโรคระยะแรกในเด็ก โดยเฉพาะวัณโรคเยื่อหุ้มสมอง และวัณโรคชนิดแพร่กระจาย สำหรับวัคซีนสามารถฉีดได้ตั้งแต่แรกเกิด หากไม่ได้รับก็สามารถฉีดได้ ในทุกช่วงอายุ
วัคซีนตับอักเสบบี
โรคไวรัสตับอักเสบบีจะทำให้มีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง ตับแข็ง และอาจเป็นมะเร็งตับในระยะต่อมาได้ จึงจำเป็นที่จะต้องฉีดวัคซีนชนิดนี้ โดยจะต้องฉีดทั้งหมดให้ครบ 3 ครั้งคือ ฉีดวัคซีนในวัยทารกแรกเกิด, ฉีดวัคซีนในอายุ 1-2 เดือน และฉีดวัคซีนในวัย 6 เดือน ทั้งนี้ หากคุณแม่เป็นพาหะของโรคตับอักเสบบีทารกต้องได้รับวัคซีนชนิดนี้ ที่อายุ 1 เดือนเพิ่มอีกหนึ่งเข็มด้วย และได้วัคซีนรวมที่มีตับอักเสบบีอยู่ด้วยที่อายุ 2, 4 และ 6 เดือน ทำให้ทารกจะได้รับวัคซีนตับเสบบีรวมทั้งหมด 5 เข็ม แต่ก็ไม่ได้เป็นอันตรายแต่อย่างใดค่ะ
วัคซีนคอตีบบาดทะยักไอกรน
-
- คอตีบเป็นโรคติดเชื้อที่ทำให้มีอาการคออักเสบร้ายแรงเพราะอาจทำให้เกิดภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจและมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงคือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
- บาดทะยักเป็นโรคติดเชื้อที่ร้ายแรงเพราะทำให้เกิดอาการชักเกร็งกล้ามเนื้อไม่ทำงานตามปกติและอาจรุนแรงถึงขั้นหยุดหายใจได้
- ไอกรนเป็นโรคที่ทำให้เกิดอาการไออย่างรุนแรงจนถึงขั้นหยุดหายใจหรือเขียวได้ในเด็กเล็ก
วัคซีนคอตีบบาดทะยักไอกรนมีทั้งแบบชนิดทั้งเซลล์ (whole cell- DTwP) และชนิดไร้เซลล์ (acellular-DTaP) ซึ่งแตกต่างกันที่ชนิดของวัคซีนไอกรน โดยวัคซีนคอตีบบาดทะยักไอกรนชนิดไร้เซลล์จะทำจากส่วนประกอบเฉพาะบางส่วนของเชื้อโรค ทำให้มีปฏิกิริยาข้างเคียงได้แก่ปวดบวมแดงบริเวณที่ฉีด หรือมีไข้ น้อยกว่าวัคซีนชนิดทั้งเซลล์ สามารถใช้ทดแทนวัคซีนคอตีบไอกรนชนิดทั้งเซลล์ได้ วัคซีนชนิดไร้เซลล์มักอยู่ในรูปแบบวัคซีนรวม 5 หรือ 6 โรคคือจะเป็นวัคซีนที่มีส่วนประกอบของวัคซีนโปลิโอชนิดฉีดและวัคซีนตับอักเสบบีและวัคซีนฮิบร่วมด้วย
สำหรับวัคซีนคอตีบบาดทะยักไอกรนที่อยู่ในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุขเป็นชนิดทั้งเซลล์ จะอยู่ในรูปแบบวัคซีนรวมกับตับอักเสบบี (DTwP-HB)
วัคซีนคอตีบบาดทะยักไอกรนจะฉีดในเด็กอายุ 2, 4, 6, 18 เดือน และมีเข็มกระตุ้นที่อายุ 4-6 ปี
วัคซีนโปลิโอ
โรคโปลิโออาจทำให้เกิดอาการรุนแรงในเด็กจนถึงขั้นเป็นอัมพาตของแขนขาแบบเฉียบพลัน กล้ามเนื้อลีบ หรือเกิดอัมพาตของระบบทางเดินหายใจจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
วัคซีนโปลิโอมี 2 ชนิดคือชนิดรับประทาน (Oral Poliomyelitis Vaccine : OPV) และชนิดฉีด ((Inactivated Poliomyelitis Vaccine : IPV) วัคซีนชนิดนี้มักให้พร้อมกับวัคซีนคอตีบบาดทะยักไอกรนคือที่อายุ 2, 4, 6, 18 เดือน และกระตุ้นที่อายุ 4-6 ปี รวมทั้งหมดเป็น 5 ครั้ง วัคซีนโปลิโอตามแผนการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุขจะให้เป็นชนิดหยอด 5 ครั้ง ร่วมกับชนิดฉีด 1 ครั้ง ที่อายุ 4 เดือน
วัคซีนจำเป็นพื้นฐานทั้ง 4 ชนิดที่กล่าวมาในช่วงวัย 6 เดือนแรกของลูกน้อยเป็นวัคซีนที่สำคัญมากหากลูกไม่ได้รับอาจทำให้มีการติดเชื้อที่รุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรที่จะละเลยวัคซีนเหล่านี้ ทั้งนี้หากมีเหตุจำเป็นหรือลืมฉีดวัคซีนในช่วงใดช่วงหนึ่งก็ควรจะรีบไปรับการฉีดทันทีที่ทราบ ซึ่งอาจจะต้องมีการปรับเลื่อนเวลาในการฉีดเล็กน้อย โดยไม่ได้มีอันตรายแต่อย่างใดค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
แม่แชร์ ญาติแอบป้อนน้ำองุ่นทารก คิดว่าจะหายตัวเหลือง สุดท้ายลูกเกือบตาย
ทำไมทารกนอนกัดฟัน ลูกฟันขึ้น ลูกเครียด ลูกป่วยไหม อันตรายหรือเปล่า
การดูแลอาการป่วยที่พบบ่อยในทารก อาการป่วยทารก อันตราย ที่พ่อแม่ต้องรู้!
ทารกน้อยหายใจเสียงดัง มีน้ำมูก จากภาวะ nasal snuffles ลูกป่วยหนักหรือเปล่า
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!