วัคซีนพื้นฐาน คือ วัคซีนจำเป็นตามแผนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้เด็กไทยทุกคนต้องได้รับ โดยเป็นวัคซีนป้องกันโรคสำคัญๆ ที่ติดต่อได้ง่าย หรือโรคที่ก่อให้เกิดอาการรุนแรงอันตรายในเด็กทั้งหมด 10 โรค รวมถึงโรคโปลิโอ ซึ่งปัจจุบันวัคซีนโปลิโอมี 2 ชนิด คือ
1.ชนิดรับประทาน เรียกว่า OPV เป็นวัคซีนที่เตรียมจากเชื้อโปลิโอที่ยังมีชีวิตอยู่แต่ทำให้อ่อนฤทธิ์ลง รวม 3 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์เซบิน 1,2 และ 3 ใช้โดยการหยอดใส่ปาก ซึ่งเป็นการเลียนแบบการติดเชื้อตามธรรมชาติ ทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันเฉพาะที่บริเวณเยื่อบุลำคอและลำไส้อย่างรวดเร็วและอยู่ได้นาน ไม่แนะนำให้ใช้ในเด็กที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือได้ยากดภูมิคุ้มกัน
2.ชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อ เรียกว่า IPV เป็นวัคซีนเชื้อตาย จะอยู่ในรูปของวัคซีนรวม โดยรวมอยู่กับวัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน วัคซีนฮิบ และวัคซีนตับอักเสบบี รวมเป็น 4, 5 หรือ 6 ชนิดในเข็มเดียวกัน สามารถใช้ทดแทนวัคซีนโปลิโอชนิดหยอดได้ สามารถใช้ในเด็กที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง/มีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคดังกล่าวหรือได้ยากดภูมิคุ้มกันได้ อย่างไรก็ดี เมื่อฉีดวัคซีนชนิดนี้ภูมิคุ้มกันไม่ได้เกิดทันทีหลังฉีด จึงไม่แนะนำให้ใช้ในเด็กที่ต้องการให้มีภูมิคุ้มกันเร่งด่วน
สำหรับวัคซีนโปลิโอซึ่งเด็กทุกคนสามารถเข้ารับตามโรงพยาบาล อนามัย หรือศูนย์บริการสาธารณสุขได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายนั้นปัจจุบันเป็นชนิดรับประทานรวม 3 สายพันธุ์ แต่เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า วัคซีนรวมชนิดรับประทานดังกล่าวมีผลข้างเคียง คือ
1. ทำให้เด็กที่รับวัคซีนเป็นโรคโปลิโอ แต่ไม่แพร่ระบาดต่อไปสู่ผู้อื่น พบได้ 1 ในล้านคนที่ได้รับวัคซีน
2.ผลข้างเคียงรุนแรงทำให้เกิดโรคโปลิโอ และทำให้ตัวเชื้อกลายพันธุ์ ถึง 90% ส่วนใหญ่มาจากสายพันธุ์เซบิน 2
ดังนั้น แผนระยะสั้น องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงเปลี่ยนการให้วัคซีนแบบใหม่เป็นการให้วัคซีนชนิดหยอดรับประทาน 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์เซบิน 1 และ 3 เรียกว่า bivalent OPV ( bOPV) ร่วมกับการให้วัคซีนชนิดฉีดสำหรับสายพันธุ์เซบิน 2 เพราะชนิดฉีดไม่ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์
สำหรับแผนระยะยาว WHO แนะนำให้ทุกประเทศหันมาใช้วัคซีน IPV ทดแทนการให้วัคซีนรวม 3 สายพันธุ์ชนิดหยอดรับประทาน ก่อนสิ้นปี 2558 เพื่อให้มั่นใจว่าเด็กที่ได้รับวัคซีน bOPV จะยังคงมีภูมิคุ้มกันต่อโปลิโอไวรัสสายพันธุ์เซบิน 2 ที่ไม่มีอยู่ใน bOPV และในเดือนเมษายน 2559 กำหนดให้โรงงาน หยุดผลิตวัคซีนเดิมชนิด 3 สายพันธุ์ ทุกประเทศจะทำลายวัคซีนเดิมที่เหลือ ซึ่งคาดว่าจะช่วยทำให้ทั่วโลกมีโอกาสบรรลุเป้าหมายปิดฉากสุดท้ายของการกวาดล้างโปลิโอได้มากขึ้นและลดการเกิดโรคโปลิโอที่เป็นผลข้างเคียงจากการได้รับวัคซีนชนิด 3 สายพันธุ์ได้ ขณะนี้หลายประเทศได้ตกลงและดำเนินการตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกแล้ว
นายแพทย์อภิชัย กล่าวต่ออีกว่า สำหรับประเทศไทยมีนโยบายสอดคล้องกับแผนจัดการปิดฉากสุดท้าย ของการกวาดล้างโปลิโอตามมติของการประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลก โดยคณะกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติกำลังพิจารณาการนำวัคซีน IPV มาใช้ในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศ เพื่อให้สามารถจัดซื้อวัคซีน IPV มาใช้ได้ทันในปี 2558 โดยหน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่ในการควบคุมคุณภาพชีววัตถุของประเทศ คือ สถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีหน้าที่หลักในการตรวจวิเคราะห์คุณภาพประกอบการขึ้นทะเบียนและ การรับรองรุ่นการผลิตของวัคซีนก่อนอนุญาตให้จำหน่ายในประเทศ จึงมั่นใจได้ว่ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สามารถรองรับการปรับเปลี่ยนชนิดของวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอในแผนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในเด็กตามนโยบายของประเทศได้ และกวาดล้างโรคโปลิโอให้หมดไปจากโลก
จากข้อมูลทั้งหมดหวังว่าจะเป็นประโยชน์กับคุณพ่อคุณแม่เพื่ออัพเดทข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนให้ลูกน้อยนะคะ
ที่มา : คู่มือวัคซีน 2013 และประเด็นในการสื่อสาร
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
ไข้สมองอักเสบเจอี: โรคร้ายที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน
ตารางวัคซีนสำหรับลูกตั้งแต่แรกเกิดถึงวัยรุ่น
มารู้จักวัคซีนเสริมสำหรับเด็กกันดีกว่า ตอนที่ 1
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!