แม่แชร์ ญาติแอบป้อนน้ำองุ่นทารก คิดว่าจะหายตัวเหลือง
คุณแม่ชาวจีนรายนี้เผยว่า ที่เธอต้องรีบพาลูกมาโรงพยาบาลเป็นเพราะลูกของเธอกินน้ำองุ่นเข้าไป เนื่องจากญาติผู้ใหญ่บอกว่า หากให้เด็กกินน้ำผลไม้ หรือผงไข่มุกแล้วจะช่วยรักษาภาวะตัวเหลืองได้ แต่ผลที่ลูกของเธอได้รับกลับกลายเป็นตรงกันข้าม ด้วยความที่อาหารเหล่านี้จะไม่สามารถย่อยและดูดซึมในกระเพาะอาหารและลําไส้ของทารกได้ แทนที่อาการจะดีขึ้น ก็กลับแย่ลงจนลูกของเธอเกือบจะเสียชีวิต
อย่างไรก็ตาม เธอไม่เปิดเผยว่าใครเป็นคนป้อนน้ำองุ่นให้กับลูกของเธอ เพียงแต่เธอบอกว่าเธอได้ขอร้องญาติ ๆ ของเธอแล้ว แต่พวกเขาไม่ยอมเชื่อ
พอไปถึงโรงพยาบาล ทารกถูกนำตัวไปรักษายังห้องฉุกเฉิน เมื่อคุณหมอตรวจรักษากลับพบว่าในกระเพาะอาหารของทารกนั้นเต็มไปด้วยน้ำองุ่น คุณแม่จึงโพสต์เรื่องราวผ่านทางสื่อโซเชียล เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้กับคุณแม่ท่านอื่น ๆ ได้ระวังถึงอันตรายจากความเชื่อผิด ๆ ที่ทำให้เธอเกือบต้องสูญเสียลูกน้อยไป
ภาวะตัวเหลือง ในทารกแรกเกิด
รศ. พญ. รวีรัตน์ สิชฌรังษี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดเอาไว้ว่า ภาวะนี้เกิดขึ้นจากการแตกของเม็ดเลือดแดง ทำให้เกิดสารสีเหลืองที่เรียกว่า “บิลิรูบิน” สารนี้จะอยู่ในกระแสเลือด ร่างกายต้องกำจัดออกทางตับ โดยเอนไซน์ในตับจะช่วยเปลี่ยนแปลงก่อนที่จะส่งต่อไปยังลำไส้ และขับถ่ายสารเหลืองออกมาทางอุจจาระมากที่สุด
ดังนั้นหากมีโรค หรือ ความผิดปกติใด ๆ ของร่างกายที่มีผลต่อขั้นตอนเหล่านี้ก็จะส่งผลให้ทารกตัวเหลืองมากกว่าปกตินั่นเอง
สาเหตุของภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดที่พบบ่อยมีอะไรบ้าง?
สาเหตุภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดที่พบบ่อย และมักไม่เป็นอันตรายในทารกแรกเกิด มีสาเหตุจาก ภาวะเม็ดเลือดแดงแตกปกติในเด็กทารกแรกเกิด เมื่อเม็ดเลือดแดงแตกออก ก็จะมีสารเหลืองออกมาด้วย และเนื่องจากเด็กแรกเกิดมีเม็ดเลือดแดงมากกว่าผู้ใหญ่ อีกทั้งเม็ดเลือดแดงในเด็กมีอายุสั้น และยังมีเม็ดเลือดแดงที่สร้างไม่สมบูรณ์ปริมาณมากเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ อีกทั้งการทำงานของตับเด็กแรกเกิดก็ยังไม่สมบูรณ์ จึงกำจัดสารเหลืองได้ช้า ทำให้เกิดภาวะตัวเหลืองแบบปกติ
ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดนี้ พบได้ในทารกแรกเกิดเกือบทุกคน ส่งผลให้ให้ทารกตัวเหลืองเล็กน้อย เมื่ออายุ 3-5 วัน จากนั้นจะค่อย ๆ เหลืองน้อยลงจนหายไปได้เอง
ส่วนทารกตัวเหลืองจากความผิดปกติ จะมีลักษณะที่สังเกตได้คือ เริ่มเหลืองเร็ว เมื่ออายุน้อยกว่า 24 ชั่วโมง และอัตราการเพิ่มของค่าสารเหลืองในเลือดเพิ่มขึ้นเร็วมาก และมีตัวเหลืองนานเกินกว่า 14 วัน โดยเฉพาะทารกที่ไม่ได้ทานนมแม่
สาเหตุของทารกตัวเหลืองจากความผิดปกติที่พบบ่อยได้แก่
- กรุ๊ปเลือดแม่และลูกไม่เข้ากัน ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกมาก พบในแม่เลือดกรุ๊ป O และลูกเป็น กรุ๊ป A หรือ B
- ภาวะเม็ดเลือดแดงแตกมาก เนื่องจากโรคที่เม็ดเลือดแดงผิดปกติ ได้แก่ โรคธาลัสซีเมีย, โรคขาดเอนไซน์ G6PD เด็กที่คลอดโดยใช้เครื่องดูดช่วยคลอดจะมีเลือดออกใต้หนังศีรษะ ซึ่งเลือดที่ออกนี้ทำให้มีเม็ดเลือดแดงที่แตกเพิ่มขึ้น
- เด็กที่มีการทำงานของตับไม่สมบูรณ์ หรือโรคกรรมพันธุ์บางอย่างของตับ ก็ทำให้กำจัดสารเหลืองได้น้อยลง
- นอกจากนี้ ความผิดปกติที่ลำไส้เช่นภาวะลำไส้อุดตัน ทำให้มีการดูดซึมสารเหลืองกลับเข้ากระแสเลือดมากกว่าปกติแทนที่จะขับถ่ายออกไป เด็กจึงตัวเหลืองได้
ทราบได้อย่างไรว่าลูกตัวเหลืองผิดปกติ?
คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้ว่าลูกตัวเหลืองโดยกดที่ผิวของลูก จะเห็นบริเวณที่กดเป็นสีเหลือง ถ้าเห็นสีเหลืองเฉพาะใบหน้าและลำตัว ถือว่าเหลืองไม่มาก แต่ถ้าลงมาที่ขาและเท้า ถือว่าเหลืองมาก ถ้าสงสัยว่าลูกตัวเหลืองมากผิดปกติ ควรรีบมาปรึกษาคุณหมอเพื่อตรวจร่างกาย และเจาะเลือดตรวจระดับสารเหลืองในเลือด
ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด รักษาอย่างไร?
เนื่องจากหากลูกตัวเหลืองมาก จะมีระดับสารเหลือง หรือ บิลิรูบิน ในเลือดสูง ซึ่งสารนี้สามารถเข้าไปที่สมองลูกได้ ถ้ามีระดับที่สูงมาก จะทำให้เกิดอาการผิดปกติของสมองจากภาวะตัวเหลือง มีอาการชัก และอาจมีผลต่อประสาทการได้ยินของเด็ก เด็กจึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาภาวะตัวเหลืองที่ผิดปกติในทารกแรกเกิด ซึ่งมีวิธีการรักษาในโรงพยาบาลโดยการส่องไฟ และการเปลี่ยนถ่ายเลือดหากค่าสารเหลืองสูงมาก
หลังจากการรักษา คุณหมอจะตรวจระดับค่าสารเหลืองซ้ำ ถ้าระดับบิลิรูบินลงมาอยู่ในเกณฑ์ปกติ ก็สามารถกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย
ดูแลอย่างไรไม่ให้ลูกตัวเหลือง เมื่อกลับไปอยู่บ้าน
เมื่อค่าสารเหลืองลดลงแล้ว คุณหมอจะอนุญาตให้กลับบ้านได้ และนัดมาติดตามอาการในภายหลัง
เมื่อพาลูกกลับบ้านแล้ว คุณแม่ควรให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียว ไม่ต้องป้องน้ำ น้ำผลไม้ หรืออาหารอื่น ๆ เพราะการป้อนน้ำไม่ช่วยลดอาการตัวเหลือง การให้ลูกดูดนมแม่อย่างถูกวิธีและดูดบ่อย ๆ เพราะนมแม่คืออาหารดีที่สุดของเด็กทารก
หากลูกซึม ไม่ดูดนม ไม่ค่อยร้อง มีไข้ หรือตัวเย็นกว่าปกติ เหลืองมากขึ้น ท้องอืด อาเจียน ท้องเสียเป็นน้ำมากกว่า 3 ครั้งใน 24 ชั่วโมง หรือถ่ายเป็นมูกหรือเลือดปนแม้แต่ครั้งเดียว ตาลอย กระตุกหรือชักเกร็ง หอบ เขียว อาการหนึ่งอาการใดหรือหลายอาการร่วมกันต้องรีบไปพบคุณหมอทันที แม้ว่าจะยังไม่ถึงเวลานัดก็ตาม
ที่มา sg.theasianparent
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ลูกสมองพิการ พลิกตัวเหมือนจะคว่ำ ตั้งแต่อายุ 1 เดือน ที่แท้ผิดปกติด้านการเคลื่อนไหว
เลี้ยงลูกในห้องแอร์ ลูกจะติดแอร์ไหม ออกข้างนอกยาก เป็นเด็กขี้โรคหรือเปล่า
ลูกแรกเกิดเป็นสิว ทารกเป็นตุ่มหนอง แม่ใช้อะไรทาได้ไหม หรือปล่อยให้หายเอง
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!