ฝีหลังคอหอยในทารก
สำหรับสาเหตุของภาวะนี้ คุณหมอสันนิษฐานว่า ฝีหลังคอหอยในทารก น่าจะเกิดจากการที่ไปกวาดยา เกิดการบาดเจ็บบริเวณด้านหลังของคอหอย และมีการติดเชื้อตามมา
โรคฝีหลังคอหอยคืออะไร?
โรคฝีหลังคอหอย (retropharyngeal abscess) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น group A streptococcus, S. aureus หรือ เชื้อในกลุ่ม anaerobic bacteria มักพบในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี สาเหตุส่วนมากเป็นผลจากการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินหายใจ เช่น จมูก ทอนซิล คอหอย หูชั้นกลาง หรือ ไซนัส นำมาก่อน สาเหตุอื่นๆที่พบได้ในเด็กเล็กอายุไม่เกิน 3 ปีอาจเป็นผลจากการกวาดยาที่คอ ในผู้ใหญ่อาจเกิดจากการกลืนติดกระดูกไก่ หรือก้างปลาที่คอ และเกิดแผลติดเชื้อแบคทีเรีย
การกวาดยาทำอย่างไร?
การกวาดยา คือการเอายาป้ายในลำคอโดยใช้นิ้วมือ ทำโดยหมอแผนโบราณ (ซึ่งอาจไม่ได้มีคุณวุฒิทางการแพทย์) มักทำในเด็กเล็ก ไม่เกิน 2-3 ขวบ ที่มีอาการป่วยต่างๆ เช่น มีไข้ มีตุ่มขึ้นในปากและลำคอ
โดยใช้ยาเม็ดบดรวมกับพืชสมุนไพรตามแต่ละสูตร โดยใช้นิ้วชี้ป้ายยาที่เตรียมไว้ แล้วเอานิ้วที่มียาแหย่เข้าปากและป้ายลงไปในลำคอเด็กตรงตำแหน่งหลังคอหอยในท่านอนหงาย
โดยมีความเชื่อแต่โบราณว่า การกวาดยาจะสามารถรักษาโรคบางอย่างได้ โดยอาจกวาดยาเพียงครั้งเดียวก็หาย หรือต้องมากวาดยาติดต่อกันหลายๆวัน ทั้งนี้ ไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์การแพทย์แผนปัจจุบันสนับสนุนผลการรักษาด้วยวิธีการนี้อย่างชัดเจน
ข้อควรระวังของการกวาดยาคืออะไร?
การกวาดยาโดยทั่วไปมีจุดประสงค์เพื่อรักษาโรคแบบแผนโบราณ ไม่ได้มีอันตรายร้ายแรง แต่มีข้อควรระวังคือหากกวาดยาลงไปในลำคอด้วยนิ้วที่ไม่สะอาด หรือกวาดแรง อาจจะทำให้เกิดแผลในคอ โดยเฉพาะที่หลังคอหอย และเกิดลุกลามจนเกิดภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญคือ ฝีหลังคอหอยได้ ซึ่งหากเกิดในเด็กเล็ก อาจเป็นอันตรายร้ายแรงจากภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นจนถึงแก่ชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
อาการของโรคฝีหลังคอหอยในเด็กเป็นอย่างไร?
- เด็กที่เป็นโรคนี้จะมีไข้สูง
- เจ็บคอ
- กลืนลำบาก
- เบื่ออาหาร
- น้ำลายไหลตลอดเพราะกลืนน้ำลายไม่ได้
- คอบวม คอแข็ง
- บางรายมีอาการหายใจลำบาก หอบเหนื่อย จากการอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนบน
การวินิจฉัยโรคฝีหลังคอหอยทำได้อย่างไร?
คุณหมอจะวินิจฉัยโรคนี้จากประวัติอาการและการตรวจร่างกายดังที่กล่าวมาข้างต้น ร่วมกับการส่งตรวจเอกซเรย์คอด้านข้างซึ่งจะพบเงาหนาบริเวณหลังคอหอยจนดันหลอดอาหารและกล่องเสียงออกไป ทั้งนี้คุณหมออาจพิจารณาส่งเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ CT หรือ MRI เพิ่มเติม เพื่อช่วยยืนยันการวินิจฉัยโรคและเห็นขอบเขตได้ชัดเจนว่ามีการอักเสบติดเชื้อจนเป็นฝีลามออกไปมากถึงระดับไหน และเพื่อประโยชน์ในการเตรียมผ่าตัดระบายหนองออกด้วย
การรักษาโรคฝีหลังคอหอยทำได้อย่างไร?
คุณหมอจะรับผู้ป่วยโรคนี้ไว้รักษาในโรงพยาบาลทุกราย เพื่อให้ยาปฏิชีวนะชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ เฝ้าระวังการอุดกั้นทางเดินหายใจ โดยหากพบว่ามีการอุดกั้นทางเดินหายใจก็จะรีบใส่ท่อช่วยหายใจทันที และผ่าตัดระบายเอาฝีหนองออก และเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อน เช่น การแตกกระจายของฝีหนองเข้าไปในช่องอก อย่างใกล้ชิด
หากลูกมีอาการไข้สูง คอบวม น้ำลายไหลตลอด หายใจลำบาก หลังจากการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินหายใจ หรือหลังจากไปกวาดยาที่คอมา อาจเป็นโรคฝีหลังคอหอยได้ คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาลูกไปพบคุณหมอทันทีนะคะ
เครดิตภาพ : https://www.slideshare.net
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
วิธีตัดเล็บทารก ตัดเล็บให้ลูกอย่างไร ให้ปลอดภัยไม่เข้าเนื้อ
5 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการเลี้ยงดูทารก จากประสบการณ์กุมารแพทย์
ไม่อยากให้ลูกต้องป่วยบ่อย ต้องสอนลูกให้ทำแบบนี้
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!