ความสำคัญของการฝากครรภ์ก่อน 12 สัปดาห์

ความสำคัญของการฝากครรภ์เพราะการท้องและการคลอดเป็นภาวะเสี่ยงของสุขภาพแม่ท้อง ดังนั้น การฝากท้องตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อน 12 สัปดาห์หรือก่อน 3 เดือน การฝากครรภ์จะช่วยลดอัตราเสี่ยงของความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ได้ มาดูกันว่าการฝากครรภ์สำคัญอย่างไร ติดตามอ่าน

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ความสำคัญของการฝากท้อง

การฝากครรภ์มีความจำเป็นต่อคุณแม่ทุกคน เพื่อให้การตั้งครรภ์เป็นไปด้วยดีจนกระทั่งคุณแม่คลอดลูกออกมาด้วยความปลอดภัย ทารกน้อยมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง การฝากท้องคุณแม่จะได้รับการดูแลและให้คำแนะนำในการปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง เพราะความผิดปกติบางอย่างของคุณแม่และทารก เช่น ความผิดปกติของรก หรือความพิการของเด็กอาจมีผลต่อการเจริญเติบโตและการมีชีวิตรอดของทารกน้อย เพราะโรคบางอย่างถ่ายทอดทางกระแสเลือด การฝากครรภ์จะทำให้คุณแม่ได้ทราบล่วงหน้าว่าคุณแม่และลูกนั้นมีความเสี่ยงด้านสุขภาพหรือไม่

ความสำคัญของการฝากครรภ์ก่อน 12 สัปดาห์

1. การตรวจสุขภาพร่างกายของคุณแม่และทารกอย่างละเอียด

– ในการฝากท้องครั้งแรก ๆ คุณหมอจะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จำเป็น คุณหมอจะซักประวัติการขาดประจำเดือน โรคประจำตัวต่าง ๆ การตั้งครรภ์และการคลอดครั้งที่ผ่านมา ตลอดจนภาวะของทารกในครรภ์ก่อน ๆ เพื่อวินิจฉัยว่า ต้องระมัดระวังหรือเฝ้าดูแลเรื่องใดเป็นพิเศษ

– การตรวจร่างกายโดยละเอียดจะทำให้คุณหมอทราบถึงสุขภาพของคุณแม่ การตรวจขนาดของมดลูกจะสามารถบอกสภาวะของเด็กได้ เช่น มดลูกใหญ่อาจเป็นเพราะเด็กตัวใหญ่ เป็นลูกแฝด หรือมีน้ำคร่ำมากผิดปกติ

– การฝากครรภ์คุณหมอจะทำการตรวจท่าทางของทารกในครรภ์ พร้อมทั้งฟังเสียงหัวใจของทารกก็จะช่วยบอกได้ว่าเด็กยังมีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตแล้ว

– ความสำคัญของการฝากท้อง คุณแม่จะได้รับคำแนะนำจากคุณหมอในการดูแลสุขภาพอนามัยของตนเองอย่างถูกต้อง ให้มีความแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ รวมไปถึงเพื่อลดอันตรายที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆในช่วงตั้งครรภ์ รวมไปถึงการดูแลตนเองหลัง คลอดอีกด้วย

คลิป เชิญชวนคุณแม่มาฟังเสียงหัวใจทารกในครรภ์กันค่ะ

https://www.youtube.com/watch?v=Nyw-LRfbaFc

2. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ

– การตรวจทางห้องปฏิบัติการบางอย่างจำเป็นต้องทำเมื่อมีการตั้งครรภ์ ได้แก่ การตรวจความเข้มข้นของเลือด จะทำให้คุณหมอได้ทราบว่าคุณแม่มีภาวะโลหิตจางหรือไม่ ซึ่งอาจจเกิดจากการรับประทานอาหารไม่ถูกส่วน หรือมีสาเหตุมาจากโรคเลือดอย่างอื่น เพื่อที่คุณหมอจะได้ทำการรักษาอย่างทันท่วงทีเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อทารกในครรภ์

– การตรวจน้ำเหลือง เพื่อดูภูมิคุ้มกันที่มีต่อเชื้อซิฟิลิส ไวรัสอักเสบชนิด บี และ HIV ซึ่งมีความจำเป็น เพราะหากผลตรวจออกมาเป็นบวกจะต้องเตรียมการวางแผนเพื่อป้องกันการถ่ายทอดโรคจากแม่ไปสู่ทารกในครรภ์

การตรวจปัสสาวะ และการตรวจไข่ขาวในปัสสาวะเพื่อค้นหาความผิดปกติของไต หรือภาวะครรภ์เป็นพิษ นอกจากนี้ความสำคัญของการตรวจปัสสาวะเพื่อให้ทราบว่ามีอาการผิดปกติในทางเดินปัสสาวะด้วยหรือไม่ อาการที่อาจเกิดขึ้น เช่น กระเพาะปัสาวะอักเสบ กรวยไตอักเสบ ซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อย ๆ ในช่วงตั้งครรภ์

– การตรวจปัสสาวะเป็นการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ว่าคุณแม่มีภาวะเบาหวานหรือไม่ ถ้าพบว่ามีภาวะเบาหวานจะได้เตรียมวางแผนในการรักษาต่อไป

– ในช่วงแรกของการตรวจครรภ์จะได้รับการตรวจทุก 4 – 6 สัปดาห์ ส่วนในระยะหลัง ๆ การตรวจครรภ์จะถี่ขึ้นคือ ทุก 1 – 3 สัปดาห์ แล้วแต่ความจำเป็นตามที่คุณหมอพิจารณา

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

สิ่งสำคัญ

คุณแม่ควรให้ความสำคัญในการตรวจครรภ์ให้เป็นไปตามที่คุณหมอนัดหมาย เพื่อจะได้ทราบถึงภาวะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ตอนนี้เจ้าหนูโตขนาดไหนแล้ว เป็นปกติหรือไม่ อยู่ในท่าทางที่ปกติหรือไม่ หรือมีโรคแทรกซ้อนอะไรหรือไม่ เพราะโรคบางชนิดเกิดในช่วงหลังของการตั้งครรภ์ ซึ่งถ้าได้รับการรักษาและป้องกันจะทำให้ปลอดภัยทั้งแม่และลูก

3. การเฝ้าติดตามพัฒนาการทารกในครรภ์

– การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์สามารถวัดได้จากยอดมดลูกที่ใหญ่ขึ้นค่ะ เป็นสัดส่วนของอายุครรภ์กับน้ำหนักของคุณแม่ที่เพิ่มขึ้น เช่น ในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ (ไตรมาสที่ 1) ยอดมดลูกจะยังอยู่ในอุ้งเชิงกราน เมื่ออายุครรภ์ครบห้าเดือนยอดมดลูกจะอยู่ระดับสะดือ และจะอยู่เกือบถึงลิ้นปี่เมื่อใกล้คลอด

บทความแนะนำ อุ้งเชิงกรานแคบ คนท้องคลอดเองได้ไหม

– น้ำหนักของคุณแม่ในช่วงสามเดือนแรกจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะเป็นผลมาจากอาการแพ้ท้อง คลื่นไส้อาเจียน ทำให้รับประทานอาหารได้น้อย หลังจากนั้นน้ำหนักจะเพิ่มขึ้นเป็นลำดับประมาณเดือนละ 1 – 1.5 กิโลกรัม เนื่องจากมีน้ำหนักในส่วนของทารก รก และน้ำคร่ำอยู่ประมาณ 5 กิโลกรัม เป็นส่วนของมดลูกและส่วนอื่นของแม่อีก 7 กิโลกรัม

บทความแนะนำ น้ำหนักตัวระหว่างตั้งครรภ์เพิ่มเท่าไรดี ?

– กรณีที่น้ำหนักของคุณแม่เพิ่มน้อย หยุดเพิ่ม หรือน้ำหนักลดลง รวมไปถึงยอดมดลูกไม่สูงขึ้น อาจแสดงถึงความผิดปกติของทารกในครรภ์แล้วค่ะ เช่น ปัญหาทารกโตช้า หรือทารกเสียชีวิตในครรภ์ ซึ่งคุณหมอต้องทำการตรวจอย่างละเอียดอีกครั้ง มีกรณีตรงข้ามกันคือ อาจเกิดครรภ์แฝด น้ำคร่ำมากผิดปกติมีเนื้องอกของมดลูกในรังไข่ ซึ่งจำเป็นต้องวินิจฉัยสาเหตุที่แน่ชัดอีกที

อ่าน ภาวะครรภ์เสี่ยงที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ คลิกหน้าถัดไป

ความสำคัญของการฝากครรภ์ก่อน 12 สัปดาห์

ภาวะครรภ์เสี่ยงที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

การตั้งครรภ์ส่วนใหญ่แล้วมักจะดำเนินการตั้งครรภ์เป็นไปอย่างปกติและราบรื่นจนคลอดเจ้าตัวน้อยออกมาดูโลกอย่างปลอดภัยทุกประการ แต่ในคุณแม่บางรายที่จัดว่าอยู่ในภาวะครรภ์เสี่ยง ซึ่งอาจมีปัญหายุ่งยากซับซ้อนตามมา จึงต้องให้คุณหมอดูแลอย่างใกล้ชิด ปัญหาภาวะครรภ์เสี่ยงที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ ได้แก่

1. โลหิตจาง

คุณแม่ส่วนมากมักจะมีภาวะโลหิตจางเล็กน้อยก่อนการตั้งครรภ์ ร่างกายที่ขาดธาตุเหล็ก เป็นเรื่องที่ต้องเพิ่มเติมเสริมเข้าไปให้เพียงพอเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับแม่และทารกในครรภ์ รวมไปถึงการเสียเลือดในระหว่างคลอดลูก การป้องกันโลหิตจางคุณแม่สามารถทำได้โดยรับประทานอาหารให้ครบห้าหมู่ โดยเฉพาะอาหารที่มีธาตุเหล็กมาก เช่น ตับหมู หากคุณหมอพบว่ามีอาการเลือดจางมากอาจจะจัดธาตุเหล็กเสริมให้

แนะนำเมนูเพิ่มธาตุเหล็ก : ตับหมูผัดดอกกุยช่าย

ส่วนผสม

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

1. ดอกกุยช่ายสด 250 กรัม

2. ตับหมู 200 กรัม

3. น้ำซุปหมู 4 ช้อนโต๊ะ

4. น้ำมัน 1 ช้อนโต๊ะ

5. ซีอิ๊วขาว 1.5 – 2 ช้อนโต๊ะ

6. น้ำตาลทราย 1/2 ช้อนชา

7. น้ำมันพืช 1.5 ช้อนโต๊ะ

8. กระเทียมไทย 5 – 6 กลีบ

วิธีทำ

1. ดอกกุยช่ายสด นำมาล้างให้สะอาด หั่นเป็นท่อนยาวประมาณ 3 เซนติเมตร ตัดส่วนปลายเหลือแยกไว้เป็น 2 ส่วน เพราะส่วนหัวดอกจะนิ่มและอ่อนกว่าส่วนปลายดอก เราแยกไว้เพื่อผัดส่วนปลายดอกก่อน

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

2. สำหรับตับหมู ขอแนะนำวิธีเลือกซื้อตับหมูที่มีความสดนะคะ วิธีการเลือกซื้อ คือ เลือกซื้อตับหมูที่มีสีแดงอ่อนๆ คล้ายกะปิ ไม่มีสีแดงเข้มเหมือนสีเลือดหมู เพราะนั่นคือ ตับที่ไม่สดแล้ว จากนั้นลวกตับก่อนนำมาปรุงอาหาร หั่นตับเป็นชิ้นหนาประมาณ 3-5 มิลลิเมตร ตั้งหม้อต้มน้ำให้เดือด ใส่ตับลงไปต้ม จนน้ำเดือดอีกครั้ง ปิดไฟ แช่ตับไว้ในน้ำนั้น ประมาณ 5 นาที ค่อยเอาขึ้น พักไว้ก่อน

3. สับกระเทียมรอไว้ ตั้งกระทะพอร้อนใส่น้ำมันนำกระเทียมลงเจียวให้หอม จากนั้นตามด้วยตับหมู ผัดตับหมูพอสะดุ้งเท่านั้นนะคะไม่เช่นนั้นตับจะแข็งไม่น่ารับประทาน ใส่กุยช่ายลงผัดต่อ เมื่อผักสุก ตับหมูก็จะสุกพอดี

4. ปรุงรสด้วยน้ำปลา หรือซีอิ๊วขาว ใส่น้ำตาลเพียงหยิบนิ้ว เพื่อรสตัดความเค็มให้กลมกล่อม เป็นอันเสร็จเรียบร้อยพร้อมเสิร์ฟกับข้าวสวยร้อน ๆ อร่อยลืมอิ่มกันเลยค่ะ

ประโยชน์ที่ได้รับ

ดอกกุยช่าย มีสรรพคุณบำรุงร่างกายมากมาย คือ วิตามินเอ ช่วยในการมองเห็น ธาตุเหล็ก ช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดง ช่วยบำรุงน้ำนม เหมือนการทานหัวปลี

– ตับหมู เป็นแหล่วงรวมสารพัดวิตามินบี ทั้ง บี2 และ บี3 ช่วยบำรุงผิวพรรณ ทำให้ประสาทและกล้ามเนื้อทำงานดี ช่วยปรับการรับรู้ในที่แสงสว่างไม่เพียงพอ บี6 และ บี12 ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง ช่วยบำรุงประสาทและสมอง และมีธาตุเหล็ก ช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดง

2. เบาหวาน

คุณแม่ที่เป็นโรคเบาหวานก่อนตั้งครรภ์แล้วนั้น ต้องได้รับการดูแลควบคุมตรวจเช็คน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติสม่ำเสมอ โดยคุณหมอจะให้อินซูลิน โดยปรับขนาดที่เหมาะสม รวมถึงคุณแม่ต้องระมัดระวังในเรื่องการรับประทานอาหาร และต้องไปพบคุณหมอบ่อยกว่าปกติ บางรายพบภาวะเบาหวานอย่างอื่น ๆ ระหว่างตั้งครรภ์ซึ่งจะหายไปเองหลังจากคลอดไม่นาน

บทความแนะนำ อาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำช่วยควบคุมเบาหวานได้

3. ปากมดลูกปิดไม่สนิท

ในช่วงตั้งครรภ์ปากมดลูกจะปิดสนิทจนถึงวันคลอด แต่ถ้าคุณแม่มีอาการแท้งซ้ำหลังช่วง 3 เดือนแรก อาจเกิดจากมดลูกไม่แข็งแรง และปากมดลูกปิดไม่สนิทคุณหมอมักจะให้การรักษาโดยการผ่าตัดเล็กเพื่อเย็บรูดปากมดลูกให้ปิดสนิทตั้งแต่ช่วงแรกของการตั้งครรภ์ค่ะ และจะนำไหมเย็บนี้ออกเมื่อเจ็บท้องคลอด

บทความแนะนำ ความเสี่ยงเมื่อแม่ท้องมีภาวะปากมดลูกปิดไม่สนิท

4. ครรภ์เป็นพิษ

เป็นอาการที่พบบ่อยในช่วงตั้งครรภ์ช่วงท้าย มักมีอาการความดันโลหิตสูงเกิน 140/90 น้ำหนักตัวของคุณแม่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ข้อเท้า หรือมือบวม ตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะ หากความดันโลหิตขึ้นสูงมากและควบคุมไม่ได้จะเกิดอันตรายมาก อาจทำให้คุณแม่ชักหรือหมดสติได้

คุณหมอจะแนะนำให้คุณแม่พักผ่อนมาก ๆ และจัดยาลดความดันให้ งดอาหารที่มีรสเค็มจัด ถ้าอาการรุนแรงจะต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเพื่อให้คุณหมอดูแลอย่างใกล้ชิด และหากจำเป็นอาจต้องกระตุ้นเพื่อเร่งคลอดเพื่อความปลอดภัยของแม่และทารกในครรภ์

5. ทารกเติบโตไม่ปกติในครรภ์

ทารกเติบโตไม่ปกติในครรภ์ และจะตัวเล็กมาก น้ำหนักตัวน้อย ภาวะเช่นนี้มักเกิดจากคุณแม่ที่สูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์ รกไม่สมบูรณ์ หรือมีปัญหาด้านสุขภาพ เช่น เบาหวาน ซึ่งถ้าตรวจพบว่า ทารกตัวเล็กผิดปกติ คุหมอจะต้องดูแลใกล้ชิดตลอดการตั้งครรภ์

6. ฝาแฝด

การตั้งครรภ์แฝดอาจส่งผลให้คุณแม่เกิดภาวะเลือดจาง ครรภ์เป็นพิษ หรือทารกนอนในท่าผิดปกติจึงควรไปตรวจครรภ์อย่างสม่ำเสมอ การตั้งครรภ์ลูกแฝดมีผลทำให้คุณแม่รู้สึกเหนื่อยมากกว่าปกติ ต้องดูแลตนเพิ่มมากขึ้นนะคะและพักผ่อนให้มาก ต้องระมัดระวังเรื่องการทรงตัวเวลาเดิน

7. ตกเลือด

ถ้ามีการตกเลือดในช่องคลอดไม่ว่าจะตั้งครรภ์กี่สัปดาห์ก็ตามต้องรีบพบคุณหมอโดยด่วนนะคะ และต้องนอนพัก ถ้ามีอาการตกเลือดในช่วงก่อน 28 สัปดาห์ อาจเกิดการแท้งได้ ถ้าหลังจากนี้อาจเป็นเพราะรกลอกตัวก่อนกำหนด หรือรกเกาะต่ำซึ่งคุณหมอจะต้องดูแลอย่างใกล้ชิด

บทความแนะนำ รกลอกตัวก่อนกำหนด อาการที่แม่ท้องต้องระวัง

8. การแท้งลูก

คือ การสิ้นสุดการตั้งครรภ์ลงก่อน 28 สัปดาห์ พบได้ 1 ใน 5 ของการตั้งครรภ์ และส่วนใหญ่จะเกิดในช่วง 12 สัปดาห์แรก ซึ่งมักจะเกิดจากความผิดปกติของทารกเอง หากเกิดกรณีเช่นนี้ต้องรีบพบคุณหมอโดยด่วนค่ะ

บทความแนะนำ ไลฟ์สไตล์ของแม่ท้องที่เสี่ยงแท้ง

อ่าน หลักการเลือกสถานที่ฝากครรภ์ คลิกหน้าถัดไป

หลักการเลือกสถานที่ฝากครรภ์

การฝากครรภ์คุณแม่ควรเลือกฝากครรภ์กับทางโรงพยาบาล เพราะทางโรงพยาบาลจะได้ทำประวัติ รวมถึงคุณหมอจะได้ตรวจวินิจฉัยและให้คำแนะนำในการดูแลตนเองของคุณแม่ว่า เมื่อตั้งครรภ์แล้วสิ่งใดที่คุณแม่ควรปฏิบัติและสิ่งใดที่ควรหลีกเลี่ยง และอะไรบ้างที่ควรงดเว้นโดยเด็ดขาด นอกจากนี้ คุณหมอจะฉีดวัคซีนป้องกันหรือสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้ด้วย รวมถึงกำหนดวันคลอด แต่สำหรับคุณแม่มือใหม่อันจะลังเลว่าจะฝากครรภ์ที่ไหนดี มีหลักการเลือกสถานที่ฝากครรภ์มามาแนะนำค่ะ

1. ระยะทางจากบ้านไปโรงพยาบาล ต้องดูที่ความสะดวกในการเดินทาง ไม่ควรห่างไกลกันมากนัก

2. คุณหมอที่เชี่ยวชาญในการรับฝากครรภ์ครรภ์ก็มีความสำคัญเพราะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่คุณแม่มือใหม่เป็นอย่างมาก

3. ห้องคลอด ห้องพักรักษาตัว หากเป็นไปได้ขออนุญาตเจ้าหน้าที่เพื่อขอเข้าไปดูห้องคลอดและห้องพักว่าเป็นอย่างไร เพื่อให้มั่นใจได้ว่าดีที่สุดสำหรับคุณแม่และลูกน้อย

4. การบริการและการดูแลผู้ป่วย สำหรับคุณแม่มือใหม่ทั้งหลายคงกังวลเรื่องการบริการและการดูแลไม่ใช่น้อย ดังนั้น ต้องหาข้อมูลเยอะหน่อยนะคะว่าโรงพยาบาลใดให้บริการแบบใดบ้าง

5. ค่ารักษาพยาบาล ข้อนี้คงต้องยึดหลักความพึงพอใจและพอเหมาะเป็นหลัก เพราะสำหรับโรงพยาบาลบางแห่งจะมีค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์ค่อนข้างสูง ขึ้นอยู่กับความพร้อมที่คุณพ่อคุณแม่ต้องพิจารณาค่ะ ที่สำคัญควรสอบถามเรื่องค่ารักษาเหล่านี้ล่วงหน้าก่อนการตัดสินใจ

จะเห็นได้ว่า ความสำคัญของการฝากครรภ์ก่อน 12 สัปดาห์นั้นมีความสำคัญมากเพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งครรภ์คุณภาพต่อไป เพื่อให้ทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์ปลอดภัย และดำเนินการตั้งครรภ์จนคลอดทารกออกมาโดยสมบูรณ์

ร่วมบอกเล่าและแชร์ประสบการณ์ในช่วงตั้งครรภ์ คลอดบุตร รวมถึงการเลี้ยงดูทารกน้อย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวอื่น ๆ กันนะคะ หากมีคำถามหรือข้อสงสัย ทางทีมงานจะหาคำตอบมาให้คุณ

อ้างอิงข้อมูลจาก

หนังสือ เรื่องน่ารู้ คู่มือแม่ท้อง ผู้เขียน พ.ญ.ภักษร เมธากูล

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ท้องแล้ว ควรฝากครรภ์เมื่อไหร่ดี?

แม่ตั้งครรภ์เฮได้สิทธิฝากครรภ์และคลอดลูกฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย