ทารกไซส์ปกติควรมีน้ำหนักตัวเท่าไหร่
น้ำหนักตัวที่เหมาะสมสำหรับเด็กแรกเกิดควรอยู่ระหว่าง 2,500 – 4,000 กรัม
0-3 เดือน น้ำหนักตัวควรเพิ่มขึ้น 700 – 800 กรัมต่อเดือน
4-6 เดือน น้ำหนักตัวควรเพิ่มขึ้น 500 – 600 กรัมต่อเดือน
7-9 เดือน น้ำหนักตัวควรเพิ่มขึ้น ประมาณ 400 กรัมต่อเดือน
10-12 เดือน น้ำหนักตัวควรเพิ่มขึ้น ประมาณ 300 กรัมต่อเดือน
คุณแม่สามารถดูว่าลูกน้อยของเรามีน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานหรือเปล่า โดยดูตามเกณฑ์ด้านล่างนี้ค่ะ
น้ำหนักตัวเด็กหญิง
3 เดือน – 4.2-6 กิโลกรัม
6 เดือน– 5.5-8.5 กิโลกรัม
9 เดือน – 6.8-10.3 กิโลกรัม
12 เดือน – 7.5-11.5 กิโลกรัม
น้ำหนักตัวเด็กชาย
3 เดือน – 4.5-6.5 กิโลกรัม
6 เดือน– 6-9 กิโลกรัม
9 เดือน – 7.5-11 กิโลกรัม
12 เดือน – 8.2-11 กิโลกรัม
ควรชั่งน้ำหนักลูกน้อย บ่อยแค่ไหน?
คุณแม่ไม่จำเป็นต้องเพิ่มความเครียดให้ตัวเองด้วยการชั่งน้ำหนักลูกน้อยทุกวัน เพราะน้ำหนักของทารกอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ซึ่งอาจเพิ่มขึ้นตามปริมาณนมที่ลูกกินเข้าไปก่อนชั่งน้ำหนัก หรือลดลงเมื่อลูกขับถ่าย
ความถี่ในการชั่งน้ำหนักลูกน้อย แบ่งได้ตามอายุ ดังนี้
- 2 สัปดาห์ – 6 เดือน – ควรชั่งเดือนละ 1 ครั้ง
- 6-12 เดือน – ควรชั่งทุก 2 เดือน
- 12 เดือนขึ้นไป – ควรชั่งทุก 3 เดือน
จากความถี่ด้านบน คุณแม่คงเห็นแล้วนะคะว่า ทุกครั้งที่คุณแม่พาลูกน้อยไปฉีดวัคซีนก็จะได้รับการชั่งน้ำหนักอยู่แล้ว ดังนั้น คุณแม่ไม่จำเป็นต้องกังวลมากเกินไปในการจดบันทึกน้ำหนักลูกน้อยทุกวันค่ะ
เด็กตัวใหญ่คือเด็กแข็งแรงจริงหรือ?
น้ำหนักเฉลี่ยของทารกแรกเกิดคือ 3,000 กรัม หากทารกมีน้ำหนักมากกว่า 4,000 กรัม ถือว่าเป็นเด็กตัวใหญ่
ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า น้ำหนักตัวที่มากเกินไปอาจทำให้ทารกคลานช้าและเดินช้า และแม้ว่าทารกตัวใหญ่อาจไม่จำเป็นต้องกลายเป็นเด็กอ้วน แต่เด็กอ้วนมีแนวโน้มที่จะโตเป็นผู้ใหญ่อ้วนในอนาคต
ส่วนทารกที่มีน้ำหนักแรกเกิดน้อย มีแนวโน้มที่จะเกิดโรคต่างๆ ในวัยผู้ใหญ่ เช่น โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคความดันโลหิตสูง และโรคหลอดเลือดหัวใจ
จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมพ่อแม่ถึงได้เป็นกังวลกับน้ำหนักตัวของลูกน้อย เพราะหากลูกน้ำหนักตัวมากเกินไปก็เสี่ยงเป็นโรคอ้วนและพัฒนาการล่าช้า แต่หากลูกน้ำหนักน้อยเกินไปก็อาจเกิดปัญหาสุขภาพต่างๆ ตามมา
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น น้ำหนักตัวไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของลูกนะคะ ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องพิจารณาควบคู่กันไป เช่น ความสูง โครงสร้างกระดูก เชื้อชาติ ระยะเวลาที่อยู่ในครรภ์ พันธุกรรม และแม้แต่การกินนมแม่หรือนมผง และอื่นๆ
นอกจากนี้คุณแม่อาจประเมินสุขภาพของลูกในเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง หากลูกกินได้ อึหรือฉี่ปกติ ฉี่ใสหรือเป็นสีเหลืองอ่อน ตาสดใส ผิวดูมีสุขภาพดี เคลื่อนไหวแขนและขาคล่องแคล่ว มีพัฒนาการด้านต่างๆ เหมาะสมกับวัย มีความสุขและขี้เล่น ก็ไม่น่ามีอะไรน่าเป็นห่วงค่ะ
อย่างไรก็ดี หากคุณแม่มีความกังวลใดๆ เกี่ยวกับสุขภาพของลูกน้อย ควรปรึกษาแพทย์จะดีที่สุดค่ะ
ที่มา sg.theasianparent.com
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
เคลียร์ข้อสงสัย ลูกกินนมแม่ ไม่ถ่ายได้กี่วัน
ลูกตัวเล็ก เลี้ยงไม่โต ควรทำอย่างไร?
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!