เป็นเรื่องปกติที่จะมีอาการบวมบริเวณเท้า ข้อเท้า นิ้วมือ นิ้วเท้า รวมทั้งบริเวณขา สำหรับหญิงตั้งครรภ์ คนท้องเท้าบวม เกิดจากอะไร จะเป็นอันตรายกับสุขภาพด้านไหนบ้าง แล้วเราจะสามารถป้องกันได้อย่างไร
คนท้องเท้าบวม เกิดจากอะไร
คนท้องเท้าบวม เกิดจากอะไร แม่ท้องส่วนใหญ่ที่เริ่มเข้าสู่ช่วงไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3 มักจะเผชิญกับอาการเท้าบวมบ่อย ๆ บางครั้งจะมีอาการ เจ็บ และเป็นตะคริวร่วมด้วย อาการคนท้องเท้าบวมเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงตั้งครรภ์
- ขนาดของมดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้น แล้วไปกดบริเวณเส้นเลือดที่ขา ทำให้เลือดไหลเวียนได้ไม่สะดวก
- มีกิจวัตรประจำวันที่จะต้องยืน เดิน หรือนั่งท่าเดิม ๆ เป็นเวลานาน
- รับประทานอาหารที่ทำให้ร่างกายเกิดการสะสมของน้ำ เช่น อาหารรสจัด อาหารที่มีโซเดียมสูง
- การใส่รองเท้าคับ แน่น และร้อน เป็นเวลานาน
โดยปกติคุณแม่ตั้งครรภ์ในช่วงในไตรมาสสุดท้ายมักจะมีอาการเท้าบวม ให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งโดยปกติ เมื่อพักในอิริยาบถที่เหมาะสม อาการบวมก็จะยุบหายไปในช่วงบ่าย ๆ เย็น ๆ แต่หากคุณแม่มีอาการเท้าบวมต่อเนื่อง จนลามไปถึงบริเวณหน้าแข้ง หน้าท้อง บวมตามนิ้วมือ และหน้า ควรรีบพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุของความผิดปกติที่เกิดขึ้นโดยทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของภาวะครรภ์ผิดปกติได้
สาเหตุของอาการเท้าบวมในคนท้อง
อาการเท้าบวมของคนท้องมักจะเป็นอาการแค่ชั่วครั้งชั่วคราวค่ะ และจะหายไปหลังจากที่คุณแม่คลอดลูกน้อยไปแล้ว ซึ่งสาเหตุก็มาจากดังต่อไปนี้
1. ของเหลวในร่างกายเยอะ
การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่เกิดจากฮอร์โมนของคนท้อง ทำให้แม่ตั้งครรภ์มีอาการเท้าบวมเนื่องจากว่าคนท้องมักจะหิวน้ำบ่อย และพอคุณแม่กินน้ำเข้าไปก็ทำให้ปริมาณของเหลวในร่างกายมากจึงเกิดอาการเท้าบวมได้นั่นเองค่ะ
2. เส้นเลือดขอด
เมื่อลูกในท้องมีการเจริญเติบโตที่มากขึ้น ทำให้มดลูกของคุณแม่ขยายตัวตามจึงเกิดการสร้างการกดทับกับเส้นเลือดดำ เมื่อเส้นเลือดดำโดนกดทับทำให้เลือดไหลไม่สะดวกโดยเฉพาะบริเวณขาจึงเกิดอาการบวมและเกิดการปวดได้
3. ความผิดปกติของไต
ระหว่างที่คุณแม่ตั้งครรภ์ไตจะทำงานหนักมาก ทำให้ระบบการทำงานไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอโดยเฉพาะการจัดการน้ำในร่างกาย ทำให้คุณแม่เกิดอาการบวมตามส่วนต่าง ๆ ทั้งใต้ถุงใต้ตา ขา รวมถึงปัสสาวะบ่อยด้วยค่ะ
4. เครื่องแต่งกาย
เครื่องแต่งกายก็มีส่วนสำคัญทำให้คุณแม่เกิดอาการบวมได้ ดังนั้น คุณแม่ไม่ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นจนเกินไป รวมถึงรองเท้าโดยเฉพาะส้นสูงให้ลืมไปได้เลย เพราะทั้งหมดนี้ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวกจึงเกิดอาการบวมได้ค่ะ
5. มาจากอาการเจ็บป่วย
สำหรับคุณแม่ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ หรือโรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ โรคเหล่านี้นอกจากจะทำให้คนท้องเกิดอาการบวมแล้วยังทำให้เกิดอาการเจ็บขา และบริเวณไหล่ด้วย บางทีก็อาจส่งผลให้คุณแม่อ่อนเพลียง่าย และท้องผูกบ่อย ๆ
6. ปัญหาลำไส้
หากคุณแม่มีปัญหาเรื่องการขับถ่าย หรือลำไส้ เป็นโรคอุจจาระร่วง อาการทั้งหมดนี้จะส่งผลให้คุณแม่มีอาการบวมตามขาและเท้าได้เช่นเดียวกันค่ะ
7. อาการครรภ์เป็นพิษ
เมื่อคุณแม่ท้องแก่ขึ้นย่อมมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นตามมา แต่ถ้าคุณแม่มีอาการบวมที่เกิดจากการบวมน้ำ ความดันที่เพิ่มขึ้น การสูญเสียโปรตีนในปัสสาวะ ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของของเหลวในร่างกายอาจทำให้เกิดครรภ์เป็นพิษได้ค่ะ
นอกจากนี้ อาการเท้าบวม ขาบวม ยังเกิดจากเชื้อไวรัส โรคข้อต่อ หลอดเลือดดำ การขาดการออกกำลังกาย โรคอ้วน การนั่งไขว่ห้าง ทางที่ดีถ้าคุณแม่มีอาการเท้าบวมควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางรักษาต่อไปค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : เคล็ดลับ ลดตัวบวม หน้าบวม แบบง่าย ๆ ทำได้แน่นอน !
คนท้องเท้าบวมอันตรายไหม
หากคุณแม่มีอาการเท้าบวมที่เกิดจากอาการครรภ์เป็นพิษถือว่าอันตราย เพราะเมื่อของเหลวที่อยู่ในร่างกายเกิดมีแรงดันเพิ่มขึ้น อาจนำไปสู่การทำงานที่ผิดปกติของไตทำให้การไหลเวียนเลือดของคนท้องมีอาการที่ผิดปกติ รวมถึงภายในรกด้วย ซึ่งอาจทำให้ลูกในท้องได้รับออกซิเจน และสารอาหารไม่เพียงพอ ทำให้ทารกในครรภ์ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ตามปกติ และอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้
คนท้องเท้าบวมตอนกี่เดือน
โดยปกติคนท้องจะเริ่มมีอาการเท้าบวมตอนอายุครรภ์ประมาณ 5 เดือนขึ้นไป หรือช่วงการตั้งครรภ์ในไตรมาส 2 และไตรมาส 3 เนื่องจากน้ำหนักตัว และน้ำหนักครรภ์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คนท้องบางคนพบว่ามีอาการเท้าบวมในช่วงใกล้คลอด
อาการเท้าบวมที่ถือว่าเป็นปกติ คือ อาการเท้าบวมบริเวณหลังเท้า และไม่ควรเกินข้อตาตุ่มขึ้นไป หากมีอาการบวมถึงบริเวณหน้าขา บวมตามตัว ถือว่าเป็นอาการบวมที่ผิดปกติ และคุณแม่ท้องควรรีบพบแพทย์ทันที เพราะเสี่ยงกับอาการครรภ์เป็นพิษได้
คนท้องเท้าบวมแค่ไหน ถือว่าผิดปกติ
อาการเท้าบวม แม้ว่าจะเป็นเรื่องธรรมดา ที่มักจะเกิดขึ้นกับหญิงตั้งครรภ์ทั่วไป แต่หากอาการบวมนั้นลามขึ้นมาถึงบริเวณตาตุ่ม หน้าแข้ง ตัวบวม หน้าบวม อาการบวมเหล่านี้ เรียกว่าบวมผิดปกติ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่าอาจเกิดอาการครรภ์เป็นพิษ หรือมีภาวะแทรกซ้อนได้ ดังนั้น คุณแม่จำเป็นจะต้องรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุโดยทันที
อาการบวมที่ผิดปกติ อาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมอยู่ด้วย เช่น มีอาการหน้ามืด เวียนศีรษะอยู่บ่อยครั้ง ปัสสาวะมีสีขาวขุ่นปะปน เนื่องจากการรั่วของโปรตีน ตาพร่ามัวในระยะ 2 – 3 เดือน ใกล้คลอด เป็นต้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : 100 สิ่งแม่ท้องต้องรู้ ตอนที่ 51 อาการบวมน้ำในคนท้อง เป็นอย่างไร
วิธีลดอาการเท้าบวมของคนท้อง
- ลดการทานเค็ม อาหารรสจัด เพราะเมื่อคนท้องกินเค็มมากเท่าไหร่ยิ่งทำให้ร่างกายกักเก็บน้ำไว้มากเท่านั้น และยิ่งทำให้คนท้องเกิดอาการบวมมากยิ่งขึ้นค่ะ ทางที่ดีคุณแม่ควรงดทานเค็ม และอาหารรสจัดลงนะคะ
- ทานอาหารที่มีวิตามิน เพราะวิตามินเหล่านี้จะช่วยเข้าไปบำรุงหลอดเลือด และลดปริมาณของเหลวในร่างกายลงได้ ซึ่งจะทำให้อาการเท้าบวมของคนท้องลดน้อยลงค่ะ
- ดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ เพราะอาการเท้าบวมจะยิ่งแย่ลงหากร่างกายขาดน้ำ
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เพราะน้ำหนักที่เกินมาตรฐานจะทำให้เกิดอาการบวมของเท้าได้ง่ายขึ้น และยังส่งผลต่อปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาอีกด้วย
- ออกกำลังกายบริเวณเท้า และข้อเท้า ให้มีความยืดหยุ่น และแข็งแรง ด้วยการกระดกปลายเท้าขึ้น – ลง และหมุนข้อเท้าช้า ๆ ไป – มา เป็นประจำ จะช่วยให้ระบบไหลเวียนของเลือดดีขึ้น และสามารถช่วยลดอาการบวมลงได้
- นอนยกเท้าสูง โดยการใช้หมอนรองขา ในแต่ละวัน ควรหาโอกาสนอนราบ แล้วยกเท้าให้สูงกว่าระดับของหัวใจ 2 – 3 ครั้ง จะช่วยให้ระบบการไหลเวียนของเลือดดีขึ้น
- ทานอาหารที่บำรุงไต เช่น ส้ม มะนาว ผักชีฝรั่ง ขึ้นฉ่าย กระเทียม ส้มเขียวหวาน หัวหอม ซึ่งคุณแม่อาจทานอาหารที่ใช้วัตถุดิบเหล่านี้ในการปรุงก็ได้ค่ะ
- หลีกเลี่ยงการเดิน หรือยืนนาน ๆ หากจำเป็น ควรที่จะพักบ่อย ๆ ด้วยการนั่งแล้วยกเท้าให้สูงขึ้น เพื่อให้เกิดการไหลเวียนของเลือดที่ดี
- ไม่นั่งไขว่ห้าง เพราะจะทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก ส่งผลให้เท้าบวมได้ หากจำเป็นจะต้องนั่งทำงานเป็นเวลานาน ๆ ควรหาช่วงเวลาพัก เพื่อปรับเปลี่ยนอิริยาบถ ด้วยการเหยียดขาตรง หมุนข้อเท้า หรือลุกเดินบ้าง เพื่อให้เกิดการไหลเวียนระบบเลือด ลม ภายในร่างกายให้ดีขึ้น
- เสื้อผ้า – รองเท้า ที่ใส่จะต้องไม่รัดแน่น หรือคับจนเกินไป เพราะจะทำให้เลือดไหลเวียนได้ไม่สะดวก กรณีที่คุณแม่มีอาการเท้าบวม คุณแม่จำเป็นจะต้องเปลี่ยนรองเท้าตามขนาดของเท้าที่เปลี่ยนไป โดยเลือกขนาดที่พอดี ส้นเตี้ย และยึดเกาะพื้นได้ดี
- แช่เท้าในน้ำอุ่น ประมาณ 15 – 20 นาที จะช่วยบรรเทาอาการปวด บวม ที่เท้าได้
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะการนอน จะช่วยให้ร่างกายรู้สึกถึงความผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้การทำงานภายในร่างกาย สามารถทำงานได้ดีเช่นกัน
หากปฏิบัติตามวิธีต่าง ๆ เหล่านี้แล้ว อาการเท้าบวมยังคงมีอยู่ ควรเข้ารับการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อตรวจหาสาเหตุของอาการดังกล่าว ว่ามีปัญหาจากสุขภาพทั่วไป หรือเป็นอาการแทรกซ้อน ที่จะต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนหรือไม่ เพราะบางครั้งปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ใช่เพียงแค่คุณแม่ แต่ส่งผลถึงตัวลูกน้อยที่อยู่ในครรภ์ของคุณแม่ได้ด้วยเช่นกัน
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
10 อาการคนท้องหลังคลอด แม่ผ่าคลอด-แม่คลอดลูกเอง ต้องเจอกับอะไรบ้าง
ท่าออกกำลังกายคนท้อง ลดอาการปวดหลัง ท่าบริหารง่าย ๆ ทำได้บนที่นอน (มีคลิป)
เทคนิคการหายใจสำหรับคนท้อง แม่ท้องเตรียมคลอดต้องฝึกการหายใจอย่างไรให้ถูกวิธี
ที่มา : motherhow
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!