กินยาคุมกำเนิดมานาน ท้องได้หรือไม่ คำถามที่ผู้หญิงหลายคนสงสัย ซึ่งในปัจจุบันผู้หญิงหลายคนกินยาคุมกำเนิดเพื่อปรับฮอร์โมน บางคนกินเพราะยังไม่พร้อมที่จะมีบุตร แต่ถ้าหากนานไปแล้วพร้อมที่จะมีลูก ซึ่งแน่นอนว่าการใช้ยาคุมกำเนิดนานๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อฮอร์โมนภายในร่างกาย แล้วอย่างนี้ระยะเวลาการหยุดยาคุมนานแค่ไหนจึงจะทำให้ผู้หญิงสามารถตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัย
ยาคุมกำเนิด กินเพื่ออะไร?
หนึ่งในวิธีคุมกำเนิดที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของผู้หญิงคือ การรับประทาน “ยาเม็ดคุมกำเนิด” (Bird Control Pill) ซึ่งเป็นการป้องกันการตั้งครรภ์ชั่วคราว การทำงานของยาคุมกำเนิดจะออกฤทธิ์คล้าย ๆ กับฮอร์โมนในร่างกาย เมื่อรับประทานเข้าไปยาคุมกำเนิดจะเข้าไปทำหน้าที่ควบคุมระบบภายฮอร์โมนภายในร่างกาย ทำให้ช่วงที่รับประทานยาอยู่จะไม่มีไข่ตก และป้องกันการสุกของไข่ ทำให้เชื้ออสุจิไม่สามารถฝังตัวได้ จึงไม่ก่อให้เกิดการตั้งครรภ์แบ่งออกเป็น 3 ชนิดได้แก่
1. ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม
ยาคุมประเภทนี้จะประกอบด้วยเอสโตรเจนและโปรเจสโตเจนรวมกันในเม็ดเดียว ซึ่งมีประสิทธิภาพป้องกันการตั้งท้องสูงมาก และต้องประประทานอย่างสม่ำเสมอ ยาคุมประเภทนี้ดีตรงที่ทำให้ผู้หญิงมีประจำเดือนมาตรงเวลา ลดอาการปวดประจำเดือนที่เคยเป็นบ่อยๆ
2. ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว
ยาคุมประเภทนี้มีฮอร์โปรเจสเตอโรนเท่านั้น สามารถรับประทานได้ทุกวันเพราะมีจำนวน 28 เม็ดพอดี 4 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน สะดวกในการนับรับประทานต่อโดยไม่หลงลืมวัน ยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยวนี้ลดอาการข้างเคียงจากฮอร์โมนเอสโตรเจนแบบประเภท 21 เม็ด
3. ยาคุมกำเนิดชนิดเม็ดแบบฉุกเฉิน
ยาคุมกำเนิดแบบนี้ผู้หญิงควรมีติดตัวไว้ แต่ห้ามรับประทานต่อเนื่อง เพราะใช้เฉพาะในยามฉุกเฉิน เช่น ผู้ชายไม่สวมถุงยาง ถุงยางรั่ว อุบัติเหตุทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งยาเม็ดนี้ให้ฮอร์โมนสูงมากเพื่อลดโอกาสตั้งครรภ์ โดยการคุมกำเนิดวิธีนี้จะให้ประสิทธิภาพภายใน 2 – 3 วัน หรือต้องรับประทานภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์
กินยาคุมกำเนิดมานาน ท้องได้หรือไม่?
เราต่างเคยได้รับการเตือนว่า การกินยาคุมนานติดต่อกันหลายปี อาจทำให้ตั้งครรภ์ยากมากขึ้น ทั้งนี้ นพ.พูนศักดิ์ สุชนวณิช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสูติ-นรีเวช โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ประชาชื่น ได้ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับการรับประทานยาคุมกำเนิด ดังนี้
1. กินยาคุมนานๆ แล้วท้องยาก
คุณหมอให้ความรู้ว่า ผู้หญิงที่กินยาคุมกำเนิดแล้วหยุดกิน จะทำให้มีลูกยากนั้น “ไม่เป็นความจริง” เพราะยาคุมกำเนิดมีฤทธิ์เพียงวันเดียวหากไม่ทานต่อเนื่องมีสิทธิ์ท้องได้ง่าย เพราะเช่นนั้นคุณหมอจึงบอกว่าต้องทานยาคุมกำเนิดทุกวัน ยาคุมกำเนิดมีฤทธิ์วันเดียวเท่านั้นวันต่อไปไม่ทานก็หมดฤทธิ์ ก็สามารถท้องได้หรือแม้แต่ทานยาคุมกำเนิดไม่สม่ำเสมอจะส่งผลให้ท้องได้เช่นกัน
2. กินยาคุมนานๆ ทำให้มดลูกแห้ง
ความเชื่อที่ว่า ผู้หญิงที่กินยาคุมกำเนิดมานานทำให้มดลูกแห้งส่งผลให้มีลูกยาก “ไม่เป็นความจริง” แต่ถ้ามีลูกยากอาจเป็นปัญหาที่ตนเองไม่เคยทราบมาก่อนจึงคิดว่าเป็นผลจากยาคุมกำเนิด เพราะการที่มีลูกยากเป็นเพราะฮอร์โมนของเราไม่สมดุล ไม่ใช่เป็นเพราะยาคุมกำเนิด บางคนกินยาคุมมานานเป็น กินยาคุม 12 ปี และเมื่อหยุดกิน ก็สามารถตั้งครรภ์ได้ อย่างไรก็ตาม หากกินยาคุมเพื่อคุมกำเนิด หรือ กินยาคุมปรับฮอร์โมน มาเป็นเวลานาน แล้วอยากมีลูก ควรปรึกษาแพทย์ว่า ควรหยุดกินก่อนตั้งครรภ์เป็นเวลานานเท่าไหร่ เพื่อมีลูก
บทความแนะนำ หยุดยาคุมกำเนิดนานแค่ไหนก่อนมีลูก?
คุณหมอไขข้อสงสัยเกี่ยวกับยาคุมกำเนิด
คำถาม: กินยาคุมกำเนิดมานานๆ จะมีผลต่อทารกในครรภ์หรือไม่
คำตอบ: เมื่อพร้อมจะตั้งครรภ์ หลังจากที่หยุดทานยาคุมกำเนิดไปแล้ว ให้ปล่อยให้ประจำเดือนมาก่อนสัก 3 เดือน จากนั้นค่อยให้ตั้งครรภ์ ส่วนเรื่องการเตรียมตัวก็เหมือนคนทั่ว ๆ ไป คือ การออกกำลังกายให้พอเหมาะ นอนหลับพักผ่อนให้มาก กินอาหารให้ครบ ดื่มน้ำให้มาก และอย่าเครียด ที่เหลือก็อาจจะใช้เครื่องมือเข้าช่วย เช่น ชุดทดสอบวันไข่ตก ที่ทดสอบได้จากน้ำปัสสาวะ ส่วนความเชื่อที่ว่ากินยาคุมกำเนิดมานาน ๆ แล้วทารกในครรภ์จะพิการ สมองไม่ดี ฯลฯ อันนี้ก็ไม่เป็นความจริงอย่างแน่นอน
บทความแนะนำ ปฏิบัติการหาช่วงเวลาตกไข่ สำหรับคนอยากมีลูก
คำถาม: การทานยาคุมกำเนิดเป็นเวลานานเสี่ยงมะเร็งเต้านม จริงหรือไม่?
คำตอบ: ยาคุมกำเนิดเป็นฮอร์โมน การรับฮอร์โมนเป็นระยะเวลานาน ๆ หรือทานฮอร์โมนขนาดสูงเกินไป อาจมีเนื้องอกที่เต้านมได้ ผู้ที่มีความเสี่ยง คือ เดิมฮอร์โมนเพศหญิงอาจจะน้อยอยู่ พอได้ฮอร์โมนจากยาคุมกำเนิดเข้าไปจึงกลับมาเติมเต็มให้สมบูรณ์ขึ้น แต่ถ้าเราไม่ดูแลให้ดี ๆ อยากได้เยอะ ๆ ก็กินขนาดสูง มันก็เกิน อะไรที่เกินก็จะเริ่มมีอันตราย มีก้อนที่เต้านม หรือมีเนื้องอกที่มดลูก เพราะตอบสนองต่อฮอร์โมนดีจะมีการโตเร็วขึ้นได้
บทความที่เกี่ยวข้อง: เรื่องที่ควรรู้ก่อนคิดการฝังยาคุมกำเนิด
คำถาม: กินยาคุมเสี่ยงมะเร็งปากมดลูกหรือไม่?
คำตอบ: คุณหมอพูนศักดิ์ ชี้แจงว่า กินยาคุมกำเนิดไม่ได้เสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูกเสมอไป เพราะช่องคลอดของผู้หญิงจะมีความเป็นกรดอ่อนๆ พอทานยาคุมกำเนิดไป ฮอร์โมนจะเป็นด่างอ่อน ๆ พบว่า บางทีมีการติดเชื้อ มีการอักเสบต่างๆ ง่ายขึ้นเท่านั้นเอง
หากหยุดกินยาคุมกำเนิดจะสามารถท้องได้หรือไม่ และต้องทำอย่างไร?
ในกรณีที่ผู้หญิงรับประทานยาคุมเป็นระยะเวลานานๆ ติดต่อกันตั้งแต่ 5-10ปี ย่อมมีความกังวลใจว่า หากถึงเวลาที่ต้องการตั้งครรภ์นั้น ควรหยุดกินยาเมื่อไรจึงจะเหมาะสมและควรปฏิบัติอย่างไร
1. หยุดยาเม็ดคุมกำเนิด
วิธีที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดเนื่องจากสะดวกและหาซื้อยารับประทานได้เลย แต่การหยุดยานั้น ผู้หญิงหลายคนยังไม่รู้ว่าจะเริ่มจากวันไหนดี ซึ่งการหยุดยาคุมชนิดฮอร์โมนผสมหรือแบบยา 21 เม็ด จะสามารถตั้งครรภ์ได้ภายใน 1-3 เดือนหลังหยุดยา บางคนอาจจะนานถึง 1 ปี เนื่องจากร่างกายจำเป็นที่จะต้องใช้เวลาปรับตัว แต่ถ้าผู้หญิงรับประทานยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยวหรือแบบ 28 เม็ด สามารถตั้งครรภ์ได้ภายใน 1 สัปดาห์หลังหยุดยาแต่อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงเราไม่ได้ตคุมกำเนิดแค่ยาเม็ดอย่างเดียว ลองไปดูกันว่า วิธีคุมกำเนิดอื่นๆ ใช้เวลาตั้งครรภ์หลังการคุมกำเนิดเท่าไร
- แผ่นแปะคุมกำเนิด ซึ่งการคุมกำเนิดแบบนี้ ผู้หญิงสามารถตั้งครรภ์ได้ภายใน 3 เดือนหลังเลิกปฏิบัติ
- วงแหวนคุมกำเนิด วิธีนี้สามารถตั้งครรภ์ได้ภายใน 3 เดือนหลังเอาวงแหวนออก
- ห่วงคุมกำเนิด เป็นวิธีที่ผู้หญิงนิยมมากเช่นกัน โดยเฉพาะผู้หญิงขี้ลืม หากอยากตั้งครรภ์ทำได้ภายในเวลา 1 ปีหลังเอาห่วงออก
- ยาฉีดคุมกำเนิด หรือที่ผู้หญิงชอบไปฉีดยาคุม อาจต้องไปฉีดทุก 3-6 เดือน หากต้องการตั้งครรภ์ก็ สามารถกลับมาตั้งครรภ์ได้ภายใน 10-18 เดือน หลังหยุดฉีดหรือหลังหมดอายุระยะเวลาการคุมกำเนิด
2. หยุดยาแล้วนับวันไข่ตก
เมื่อผู้หญิงหยุดกินยาคุมกำเนิดและหยุดการคุมกำเนิดทุกรูปแบบแล้ว อาจมีปัญหาเรื่องประจำเดือนมาไม่ปกติ เนื่องจากร่างกายเคยชินกับการใช้ยาคุมเพื่อควบคุมฮอร์โมน ซึ่งอาจจะส่งผลให้ร่างกายใช้เวลาปรับตัวสัก 2-3 เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบุคคลด้วยค่ะ เมื่อร่างกายปรับตัวได้แล้ว ไข่ของผู้หญิงจะกลับมาตกเวลาตามปกติ ซึ่งตรงนี้ผู้หญิงอาจต้องให้เวลาตัวเอง อย่าเครียด เพราะหากเครียดในเรื่องต่างๆ ก็อาจทำให้ไข่ตกช้าหรือไม่ตกตามธรรมชาติ
3. หยุดยาแล้วยังตั้งครรภ์ยาก
ว่ากันว่า ผู้หญิงอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไปมักตั้งครรภ์ยาก แต่ในปัจจุบันได้พิสูจน์แล้วว่า ผู้หญิงมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงมากขึ้น สามารถมีบุตรได้ในวัย 40 ได้ แต่ในกรณีที่หยุดกินยาคุมเป็นเวลามาปีกว่าๆ แล้ว กลับไม่มีทีท่าว่าจะตั้งครรภ์ อาจจะต้องปรึกษาแพทย์ถึงเรื่องภาวะมีบุตรยาก ซึ่งคุณหมอจะดูถึงสาเหตุ โดยให้เริ่มต้นโดยการตั้งครรภ์แบบธรรมชาติก่อน จากนั้นถ้ายังไม่สำเร็จ อาจจะต้องใช้วิธีทางวิทยาศาสตร์ ตามความเหมาะของคู่สามีภรรยา
เรื่องเบสิกเกี่ยวกับการคุมกำเนิดที่คนไทยมักไม่รู้
ยาเม็ดคุมกำเนิดที่วางจำหน่ายส่วนใหญ่มีความปลอดภัย แต่บางตัวจะทำงานโดยออกฤทธิ์โดยผ่านตับก่อน บางตัวก็สามารถออกฤทธิ์ได้ทันที จึงไม่ทำให้ตับต้องทำงานหนัก หากใช้เป็นประจำอาจเลือกตัวที่สามารถออกฤทธิ์ได้ทันที โดยไม่เป็นภาระกับตับ ส่วนอาการคลื่นไส้ อาเจียนซึ่งมักจะเกิดขึ้นในช่วงแรก ๆ ที่เริ่มใช้ยานั้น และมักจะเป็นอยู่เพียง 2-3 เดือนแรกในช่วงที่ร่างกายปรับตัวเท่านั้น แต่ถ้าอยากเลี่ยงอาการพวกนี้ อาจเลือกยาคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมนต่ำ
ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนต่ำ vs ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนสูง
ยาคุมที่มีฮอร์โมนสูง มักจะทำให้เกิดผลข้างเคียงคือทำให้คลื่นไส้อาเจียน ดังนั้นควรเริ่มต้นตั้งแต่ฮอร์โมนต่ำ โดยเฉพาะคนที่เพิ่งเริ่มรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด หรือบางคนเมื่อทานยาคุมแล้วเกิดผลข้างเคียง เช่น เกิดการบวมน้ำจนรู้สึกเหมือนน้ำหนักเพิ่มขึ้น ก็ควรเลือกยาคุมที่มีฮอร์โมนลดการคั่งของน้ำในร่างกาย ในกรณีที่ลืมรับประทาน ควรจะทานหมด 28 เม็ด คือ ทานทุกวัน จนกระทั่งมีประจำเดือน เพราะบางทีทานเพียง 21 เม็ด แล้วหยุดทานไปอีก 7 วัน อาจทำให้เราลืมได้ง่ายๆ พอกลับมาทานอีกครั้งอาจทำให้ทานผิดได้
ผู้หญิงแต่ละคนมีความต้องการในการคุมกำเนิดที่แตกต่างกัน
เพราะว่าความต้องการของผู้หญิงในการคุมกำเนิดนั้น อาจมีความแตกต่างกันไป บางคนต้องการเว้นช่วงยาวแต่เลือกใช้วิธีกินยาคุม ซึ่งเป็นวิธีการคุมกำเนิดระยะสั้นจึงต้องกินเป็นเวลานาน ในขณะที่บางคนต้องการคุมกำเนิดระยะสั้น แต่ไปใช้วิธีการคุมกำเนิดที่ค่อนข้างยาว อย่างเช่น ยาฝังคุมกำเนิด หรือห่วงอนามัย จริงๆ แล้วควรเลือกวิธีคุมกำเนิดแบบไหนจึงจะเหมาะสม
ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับยาคุมกำเนิด
พ.ญ.พิณนภางค์ ศรีพหล สูตินรีเวช โรงพยาบาลสมิติเวช ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับยาคุมกำเนิด กินยาคุมผิดวัน ไว้ว่า
1. ความเชื่อ : กินยาคุมกำเนิดนาน ๆ เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม
ความจริง : ยาคุมกำเนิดตามท้องตลาด ประกอบไปด้วยฮอร์โมนสังเคราะห์ 2 ชนิด คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจน และฮอร์โมนโปรเจสติน โดยปกติแล้วความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งของผู้หญิง ขึ้นอยู่กับระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายสูงอยู่นานๆ เช่น มีประจำเดือนก่อนเวลา คือ มีก่อนอายุ 12 ปี, ประจำเดือนหมดช้ากว่ากำหนด หรือหมดหลังอายุ 55 ปี, มีบุตรคนแรกหลังอายุ 30 ปีขึ้นไป, ไม่มีบุตร
ซึ่งฮอร์โมนในยาคุมกำเนิดไม่ว่าจะชนิดทานหรือชนิดฉีด จะอยู่ในร่างกายของเราไม่นานนัก จึงไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง เป็นเพียงการเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อยเท่านั้น แต่ถ้าหยุดยาคุมกำเนิดมากกว่า 10 ปีขึ้นไป ถือว่าไม่มีความเสี่ยงที่เกิดจากยาคุมกำเนิดแน่นอนค่ะ
อย่างไรก็ตาม การรับประทานยาคุมกำเนิด เป็นตัวเลือกของผู้หญิงเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ที่ค่อนข้างปลอดภัย แต่ก็ยังไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ อีกทั้งมีผลข้างเคียงมากกว่าวิธีอื่นๆ ดังนั้น ถึงจะหาซื้อรับประทานง่ายแต่ก็ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนทุกครั้งเพื่อความเหมาะสมต่อร่างกาย หากเกิดอาการแพ้ใดๆ ก็ตาม ควรหยุดรับประทานยาทันที และหาวิธีคุมกำเนิดที่ปลอดภัยต่อไปค่ะ
2. ความเชื่อ : หากกินยาคุมกำเนิด แต่เกิดท้องขึ้นมาลูกจะเสี่ยงเป็นเด็กพิการแต่กำเนิด
ความจริง : เรื่องนี้ไม่เป็นความจริงค่ะ ยาคุมกำเนิดไม่ได้มีผลทำให้เกิดความผิดปกติต่อทารกแต่อย่างใด ต่อให้ลืมทานแล้วเกิดการตั้งครรภ์ขึ้นมาแบบไม่ตั้งใจ แล้วยังทานยาคุมต่อแบบไม่รู้ตัวก็ตาม
3. ความเชื่อ : หากตั้งใจจะท้อง ควรหยุดทานยาคุมกำเนิดสักระยะ ก่อนจะตั้งครรภ์
ความจริง : ไม่จำเป็นค่ะ เพราะฮอร์โมนในยาคุมอยู่ในร่างกายเราไม่นาน (เรียกว่าแป๊บเดียวก็ได้ ขนาดลืมกินยังสามารถท้องได้เลยค่ะ เรื่องนี้จะกล่าวถึงต่อไป) ดังนั้น ยาคุมกำเนิดจึงไม่สะสมในร่างกาย
บทความแนะนำ หยุดยาคุมกำเนิดนานแค่ไหนก่อนมีลูก?
4. ความเชื่อ : ผู้หญิงที่กินยาคุมกำเนิดมานานจะทำให้มีลูกยาก
ความเชื่อ : ไม่เป็นความจริง การมีลูกยากเป็นเพราะฮอร์โมนของเราไม่สมดุล ไม่ใช่เป็นเพราะยาคุมกำเนิด ที่สำคัญหลังจากหยุดกินยาคุมสามารถเริ่มตั้งครรภ์ได้ทันที โดยทั่วไปไข่จะตกหลังจากหยุดยาคุมไปแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ และประจำเดือนจะเริ่มมาหลังจากหยุดยาคุมแล้วประมาณ 4-6 สัปดาห์
บทความแนะนำ ปฏิบัติการหาช่วงเวลาตกไข่ สำหรับคนอยากมีลูก
5. ความเชื่อ : ยาคุมกำเนิดป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 100%
ความจริง : ไม่จริงค่ะ ยาเม็ดคุมกำเนิดไม่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้อย่าง 100% ซึ่งการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดอย่างถูกต้องจะช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ประมาณ 99.7% เท่ากับมีโอกาสล้มเหลวได้ประมาณ 0.03 % หากใช้อย่างไม่ถูกต้อง รับประทานไม่ตรงเวลา ลืมกินยาคุมกำเนิด ฯลฯ หากเป็นเช่นนี้ โอกาสท้องจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 9% ทีเดียว
6. ความเชื่อ : ยาคุมกำเนิดไม่ได้มีประโยชน์แค่คุมกำเนิดเท่านั้น แต่ยังแต่ยังช่วยลดสิวบนใบหน้าได้ด้วย
ความจริง : จริงค่ะ เพราะยาคุมกำเนิดไม่ได้มีประโยชน์เฉพาะป้องกันการท้องเท่านั้นนะคะ ยังมีประโยชน์อื่น ๆ อีก ดังนี้
- ช่วยให้กระดูกแข็งแรง จากผลการวิจัยพบว่า ยาคุมกำเนิดจะช่วยควบคุมฮอร์โมนภายในร่างกายให้อยู่ใน ระดับสมดุล จึงช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนในผู้หญิงก่อนและหลังหมด ประจำเดือนได้
- ช่วยลดภาวะการเกิดสิว หน้ามัน และขนดก เพราะยาคุมกำเนิดบางชนิดจะมีฮอร์โมนที่ออกฤทธิ์ต่อต้านฮอร์โมนเพศชาย จึงช่วยทำให้อาการดังกล่าวลดลงได้
- ช่วยลดอาการผิดปกติก่อนมีประจำเดือน โดยยาคุมกำเนิดจะมีส่วนช่วยบรรเทาและลดระยะเวลาของอาการผิดปกติก่อนมีประจำ เดือน เช่น อ่อนเพลีย หงุดหงิดง่าย วิตกกังวล ท้องอืด มือเท้าบวมหรือปวดเมื่อยตามตัว
- ช่วยลดอุบัติการณ์ของมะเร็งรังไข่ เนื่องจากยาคุมกำเนิดจะป้องกันไม่ให้มีการตกของไข่ ดังนั้น จึงไม่มีผลกระทบต่อผิวของรังไข่ และทำให้ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ที่ผิวรังไข่
- ช่วยลด การอักเสบในอุ้งเชิงกราน เพราะฮอร์โมนในยาคุมกำเนิดจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของมูกบริเวณปากมดลูก โดยทำให้เหนียวข้นขึ้น จึงช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อโรคผ่านเข้าไปในโพรงมดลูกและอุ้งเชิงกราน
7. หากทานยาคุมแผงแรกแล้วรู้สึกมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะคล้ายคนแพ้ท้อง แสดงว่ามีอาการแพ้ยาให้หยุดกินทันที
ความจริง : การกินยาคุมแผงแรก แล้วมีอาการคล้ายคนแพ้ท้อง ทำให้บางคนคิดว่าแพ้ยาหรือตั้งครรภ์ หากเกิดอาการเช่นนี้ไม่ต้องตกใจ และให้กินยาต่อไปจนครบแผง พอแผงต่อไปร่างกายจะเริ่มปรับตัวเข้ากับยาและมีอาการน้อยลงเรื่อย ๆ เอง อาการดังกล่าวเป็นเพียงผลข้างเคียงของยาเท่านั้น
8. ความเชื่อ : ทานยาคุมกำเนิดทำให้อ้วน
ความจริง : ขึ้นอยู่กับชนิดของยาและตัวบุคคล ถ้าเป็นคนที่อ้วนง่ายหรือมีแนวโน้มจะอ้วนง่ายอยู่แล้ว กินไปก็จะเห็นผลทันตา แต่ถ้าเป็นคนผอม กินเข้าไปยังไงก็ไม่อ้วนค่ะ
9. ความเชื่อ : กินยาคุมย้อนศร & กินยาคุมผิดวัน ต้องท้องแน่นอน
ความจริง : ไม่เป็นไรค่ะ ยาคุมกำเนิดชนิด 21 เม็ด จะสลับกินเม็ดไหนก็ได้ แต่ที่ให้กินเรียงกันไปก็เพื่อความสะดวกและกันลืม เช่น ต้องกินเม็ดที่ 10 แต่กลับไปกินเม็ดที่ 20 ก็ไม่เป็นไร พอวันที่ 11 ก็กินของวันที่ 11 ไปตามปกติ จนถึงวันที่ 20 ก็ให้กลับมากินของเม็ดที่ 10 ที่เราข้ามไป เนื่องจากทุกเม็ดมีตัวยาและขนาดยาเหมือนกัน แต่ในกรณีของยาคุมกำเนิดหลายระยะที่แต่ละเม็ดจะไม่เท่ากัน วันที่ 10 ก็ต้องกลับมากินเม็ดที่ 10 แล้วกินต่อไปเรื่อย ๆ ร่วมไปกับการใช้วิธีการคุมกำเนิดอื่น ๆ
10. ความเชื่อ : ทานยาคุมกำเนิดทำให้น้ำนมลด
ความจริง : การกินยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมหลังคลอดทันที อาจมีผลต่อการผลิตน้ำนมได้ ควรรอประมาณเดือนครึ่งแล้วจึงค่อยเริ่มกินยาคุมกำเนิด เพราะจะทำให้ปริมาณของน้ำนมไม่เปลี่ยนแปลงหรืออาจลดลงบ้างเพียงเล็กน้อย ที่สำคัญไม่มีผลต่อลูกน้อยแต่อย่างใด ให้ลูกกินนมแม่ได้ตามปกติ สำหรับคุณแม่บางรายที่มีปริมาณน้ำนมน้อยอยู่แล้ว คุณหมอจะจ่ายยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมนโปรโจสโตเจนเพียงอย่างเดียวให้คุณแม่ในช่วงที่ให้นมลูก ซึ่งยาคุมกำเนิดชนิดนี้จะไม่ทำให้น้ำนมแม่ลดลงแต่อย่างใด
บทความแนะนำ คุมกำเนิดระหว่างให้นมลูกอย่างไรดี
ได้ทราบข้อเท็จจริงกันแล้วนะคะเกี่ยวกับยาคุมกำเนิด หากคุณแม่หรือผู้ที่ยังไม่ต้องการมีลูก การใช้ยาคุมกำเนิดเป็นตัวเลือกที่ดีและสะดวกในการใช้งาน แต่ต้องใช้ตามคำแนะนำตามฉลากยาหรือปรึกษาเภสัชกร เพื่อจะได้รับประทานได้อย่างถูกต้องและลดความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ได้จริง
ร่วมบอกเล่าและแชร์ประสบการณ์ในช่วงตั้งครรภ์ คลอดบุตร รวมถึงการเลี้ยงดูทารกน้อย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวอื่น ๆ กันนะคะ หากมีคำถามหรือข้อสงสัย ทางทีมงานจะหาคำตอบมาให้คุณ
บทความที่น่าสนใจ
มะเร็งเต้านม อันตรายที่ผู้หญิงไม่ควรมองข้าม
ยังไม่พร้อมมีลูกคนต่อไป!!สารพัดวิธีคุมกำเนิดช่วยคุณได้
ผลข้างเคียงที่เกิดจาก การกินยาคุมกำเนิด
วิธีกินยาคุม คุณผู้หญิงควรกินยาคุมยังไง หรือกินตอนไหนบ้าง
ที่มา: manager , babytrick , worldwideivf
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!