การเลือกขวดนม ขวดนมเด็กแรกเกิด ให้เจ้าตัวน้อยควรพิจารณาจากวัสดุที่นำมาผลิต ซึ่งในปัจจุบันขวดนมส่วนใหญ่ผลิตจากพลาสติก แต่ขวดพลาสติกก็มีหลายแบบทั้งขวดใส ขวดขาวขุ่น ขวดสีชา ขวดสีน้ำผึ้ง ทราบไหมคะว่า ขวดนมสีต่างกันมีสรรพคุณที่แตกต่างกันอย่างไร
การเลือกขวดนมพลาสติก ขวดนมเด็กแรกเกิด
ขวดนมพลาสติกเป็นขวดนมที่หาซื้อได้ง่ายและเป็นที่นิยม เนื่องจากมีน้ำหนักเบา ตกไม่แตก หาซื้อง่าย และมีให้เลือกหลายราคาตามกำลังทรัพย์
ขวดนมพลาสติกแต่ละชนิดต่างกันอย่างไร
ขวดนมที่ผลิตจากพลาสติกต่างชนิดกัน จะมีสี การทนต่อความร้อน และอายุการใช้งานที่แตกต่างกัน
- ขวดนม PP ผลิตจากวัสดุ Polypropylene
เนื้อพลาสติกจะมีสีกึ่งโปร่งใส หรือสีขาวขุ่น
ทนอุณหภูมิ -20 – 110 ˚C
มีอายุการใช้งานเฉลี่ย 6 เดือน และอาจเหลือ 3 เดือนถ้านึ่งหรือต้มบ่อยเกินไป
- ขวดนม PES ผลิตจากวัสดุ Polyethersulfone
เนื้อพลาสติกออกสีน้ำผึ้ง หรือสีชา
ทนอุณหภูมิ -50 – 180 ˚C
มีอายุการใช้งานเฉลี่ย 6 เดือน ถึง 1 ปี ขึ้นกับการดูแลรักษา และความถี่ในการต้ม หรือนึ่งฆ่าเชื้อ
- ขวดนม PPSU ผลิตจากวัสดุ polyphenylsulfone
ขวดสีน้ำตาลอ่อน
ทนอุณหภูมิ -50 – 180 ˚C
มีอายุการใช้งานเฉลี่ย 8 เดือน ถึง 2 ปี ขึ้นกับการดูแลรักษา และความถี่ในการต้ม หรือนึ่งฆ่าเชื้อ
นอกจากนี้ คุณภาพของพลาสติกชนิดเดียวกันแต่คนละเกรด ก็ทำให้ขวดนมมีความแตกต่างกันอีกด้วย เช่น ขวด PP ที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกคุณภาพสูงไม่ผสมเศษ ขวดมักจะใสกว่า เป็นต้น
สัญลักษณ์ BPA Free จำเป็นแค่ไหน
คุณแม่อาจเคยได้ยินว่าถ้าซื้อขวดนมให้เลือกที่เป็น BPA Free เนื่องจากเมื่อขวดนมถูกล้างทำความสะอาดบ่อยๆ จะเกิดรอยขีดข่วน เกิดคราบขุ่นๆ รวมถึงเมื่อสัมผัสความร้อนบ่อยๆ สาร BPA ในขวดนมพลาสติกอาจปนเปื้อนลงไปในน้ำนม และหากสะสมเป็นเวลานานอาจก่อให้เกิดผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสมอง เซลล์ประสาท พฤติกรรม การเรียนรู้ และส่งผลต่อความผิดปกติทางพันธุกรรมของเซลล์ในร่างกายได้
ขวดนมที่มีสาร BPA มักเป็นขวดนมรุ่นเก่า ที่ผลิตจากวัสดุ polycarnonate (PC) ซึ่งมีความแข็งใส และทนทาน แต่ในปัจจุบันขวดนมรุ่นใหม่ส่วนมากผลิตจาก polypropylene (PP), polyethersulfone (PES), polyphenylsulfone (PPSU) ซึ่งไม่มีสาร BPA ในกระบวนการผลิตอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมองหาคำว่า BPA Free แต่ควรพิจารณาจากชนิดพลาสติกตามที่ได้กล่าวมา ซึ่งมักจะระบุไว้ที่ข้างกล่องหรือก้นขวดค่ะ
บทความแนะนำ : BPA Free ในของใช้เด็กบอกอะไรคุณแม่
นอกจากขวดพลาสติกแล้ว คุณแม่ยังมีตัวเลือกอื่นๆ ในการเลือกขวดนม ได้แก่
ขวดนม แบบขวดแก้ว
ขวดนมแบบขวดแก้วนั้น มีข้อดีคือ ลดความเสี่ยงจากสาร BPAในพลาสติกเมื่อถูกความร้อน และเกิดรอยขีดข่วนยากกว่าขวดพลาสติก ขวดนมแก้วมีอายุการใช้งานไม่จำกัด จนกว่าจะแตก หรือมีรอยขีดข่วนในขวดมาก แต่มีข้อเสียคือ มีน้ำหนักมากกว่า ตกแตกได้ง่าย ราคาแพงกว่า และมีไม่กี่ยี่ห้อให้เลือก
ขวดนมลดอาการโคลิค
หากเจ้าตัวน้อยมีอาการงอแงรุนแรงในช่วง 3 เดือนแรก โดยร้องต่อเนื่องกันนานเป็นชั่วโมง และมักจะร้องในเวลาเดิมๆ อุ้มก็ไม่หยุดร้อง ให้ดูดนมก็ไม่ยอมกินนมง่ายๆ กํามือจิกเท้างอขา หลับตาแน่น สลับกับเบิกตาโพลง เรียกอาการนี้ว่า โคลิค ซึ่งอาจเกิดจากการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ ร่วมกับอาการปวดท้องจากแก๊สในกระเพาะอาหารเป็นตัวกระตุ้น คุณแม่อาจเลือกใช้ขวดนมลดอาการโคลิค ที่ออกแบบมาเพื่อให้ลมเข้าท้องขณะดูดนมน้อยลง อย่างไรก็ตามไม่มีขวดนมแบบไหนที่สามารถป้องกันอาการโคลิคได้ 100% มีแต่ช่วยลดอาการโคลิคให้น้อยลงเท่านั้น วิธีที่ดีที่สุด คือการไล่ลมออกจากท้องเจ้าตัวน้อย ด้วยการจับเรอเป็นพักๆ ระหว่างกินนม และหลังกินนมทุกครั้งค่ะ
บทความแนะนำ 5 วิธีปราบโคลิคให้ทารกอย่างได้ผล
การเลือกขวดนมที่ดีที่สุดขึ้นอยู่กับความพอใจ และกำลังทรัพย์ของแต่ละครอบครัว ความปลอดภัยของขวดนมยังขึ้นอยู่กับการใช้งานที่เหมาะสม ควรเปลี่ยนขวดนมตามอายุการใช้งานของพลาสติกแต่ละชนิด หรือเมื่อขวดนมเริ่มบุบเบี้ยว หรือขวดนมขุ่นมาก หรือมีรอยขีดข่วนมากขึ้นอย่างชัดเจน
การเลือกจุกนม
จุกนม มีไซส์ให้เลือกตามอายุของลูก เด็กแรกเกิดควรใช้ไซส์ s หรือ ss ซึ่งมีรูเล็ก เพราะเด็กจะดูดได้ช้าและน้อย เนื่องจากกล้ามเนื้อในช่องปากและระบบการกลืนยังไม่ค่อยมีแรง ถ้ารูกว้างไปจะทำให้เด็กสำลักได้ เมื่อลูกโตขึ้น ทานนมเยอะขึ้นค่อยเปลี่ยนไซส์ให้ใหญ่ขึ้น รูที่จุกนมใหญ่ขึ้นจะทำให้น้ำนมไหลเร็วขึ้น เพียงพอต่อความต้องการของเจ้าตัวน้อยค่ะ จุกนมมีอายุการใช้งานประมาณ 3 เดือน จึงควรเปลี่ยนจุกนมทุก 2-3 เดือน
จุกนมมี 2 ชนิด ได้แก่
- จุกนมยาง จุกนมที่ทำจากยางพาราจะเป็นสีน้ำตาล มีความนิ่มมากกว่าจุกนมซิลิโคน ทนความร้อน 100 ˚C มีอายุการใช้งานปกติ 3 เดือน แต่หากผ่านความร้อนสูงบ่อย อายุการใช้งานอาจเหลือไม่ถึง 1 เดือน
- จุกนมซิลิโคน เป็นสีขาวใส มีความคงทนและอายุการใช้งานมากกว่าจุกนมยาง ทนความร้อน 120 ˚C มีอายุการใช้งาน 6 เดือน ถ้าดูแลอย่างถูกวิธี แต่อายุการใช้งานอาจเหลือ เดือนครึ่ง ถึง 2 เดือน หากผ่านความร้อนสูงบ่อยเกินไป
นอกจากนี้เด็กแต่ละคนมีแรงดูดที่ต่างกัน คุณแม่ต้องคอยสังเกต ถ้าเมื่อไรที่ลูกดูดนมไปได้สักพักแล้วร้องโยเย หรือหลับไปไม่นานก็ตื่นเพราะหิว นั่นอาจจะเป็นเพราะว่ารูจุกนมเล็กเกินไป น้ำนมไหลไม่ทันใจ คุณแม่ควรเปลี่ยนขนาดจุกนม หรือเจาะรูให้ใหญ่ขึ้นโดยใช้เข็มเย็บผ้าที่ฆ่าเชื้อแล้ว
จำเป็นต้องนึ่งขวดนม จุกนมทุกวันหรือไม่?
พ.ญ.สิทธิ์ธีราห์ ชโรเต้อร์ อธิบายว่า การนึ่งหรือต้มขวดนมและจุกนมทุกวันจะทำให้ขวดนมพลาสติกและจุกนมเสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ การล้างด้วยน้ำสบู่อุ่นๆ หรือล้างด้วยน้ำร้อนผสมน้ำยาล้างขวดนมหลังใช้งานก็เพียงพอแล้ว
การขยันทำให้ปลอดเชื้อมากเกินไป กลับเป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมให้เชื้อที่ทนความร้อน และสร้างสปอร์ได้เพิ่มมาก และเจ้าตัวน้อยจะอาจได้สารพวกโพลีเมอร์ หรือฟอร์มัลดีไฮด์ปนเปื้อนออกมาจากพลาสติกที่เสื่อมสภาพแทน
ทั้งนี้สมาคมกุมารแพทย์อเมริกัน และ USFDA แนะนำให้ต้ม หรือนึ่งฆ่าเชื้อขวดนม และอุปกรณ์ปั๊มนมเฉพาะครั้งแรกที่ใช้งาน จากนั้นให้ล้างด้วยน้ำสบู่ หรือน้ำยาล้างขวดนมผสมน้ำอุ่น ทุกครั้งหลังใช้งานก่อนผึ่งให้แห้ง โดยไม่ให้ใช้ผ้าเช็ด
กรณีที่ต้องต้ม หรือนึ่งฆ่าเชื้อทุกวัน คือช่วงทารกป่วย เช่น ท้องร่วง หรือ เป็นฝ้าขาวในปาก คุณแม่ที่กังวล อาจนึ่งหรือต้ม ทุก 3-4 วัน สำหรับนมชง อาจนึ่งหรือต้มทุก 1 สัปดาห์สำหรับนมแม่ หากมีการปล่อยให้นมบูดคาขวด ต้องต้มหรือนึ่งฆ่าเชื้อใหม่เสมอ
อย่างไรก็ตาม ไม่มีกฎตายตัว หากบ้านมีสภาพแวดล้อมที่ไม่สะอาด อยู่ใกล้แหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค อาจพิจารณาต้ม หรือนึ่งให้บ่อยขึ้นได้ สำหรับคุณแม่ที่กังวลมาก หรือมีความจำเป็นที่จะต้องฆ่าเชื้อทุกวันจริง ๆ แนะนำให้ใช้ขวดนมแก้วแทนพลาสติกจะดีกว่า หรือขยันเปลี่ยนขวดนมพลาสติกตามอายุการใช้งาน หรือใช้ยาฆ่าเชื้อสำหรับแช่ขวดนมโดยเฉพาะผสมน้ำเย็น แช่ขวดนมแทนการต้มฆ่าเชื้อ ก็มีประสิทธิภาพสูง และถนอมพลาสติกได้ดี
ข้อมูลจาก พ.ญ.สิทธิ์ธีราห์ ชโรเต้อร์
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
แก้อย่างไร?ลูกไม่เอาเต้าเฝ้าแต่ขวดนม
ป้องกันฟันผุ เมื่อลูกติดขวดนมก่อนนอน
แชร์ประสบการณ์หรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับวิธีเลือกขวดนมเด็ก ได้ที่นี่!
ขวดนม ของเด็ก จุกนมของเด็ก จะมีวิธีการเลือกอย่างไรบ้างคะ
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!